จากประชาชาติธุรกิจ
ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชื่อดัง วิตกนักการเมืองเล่นกล คว่ำร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลั่น เชื่อใจ ขุนคลังกรณ์ จาติกวณิช แต่ไม่ไว้ใจ บรรดาแลนด์ลอร์ด รอบข้างรัฐมนตรี ประชาชาติออนไลน์ เปิดชื่อ เจ้าที่ดินรายใหญ่ ใน 5 รัฐบาล
พรุ่ง นี้แล้ว 25 สิงหาคม ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...ซึ่งยกร่างโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี การเดินทางไกลของร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องใช้เวลามากกว่า 15 ปี
แต่ยังไม่ทันที่ ร่างกฎหมายจะเข้าสู่ที่ประชุมครม. กระแสเคลื่อนไหว คว่ำร่างกฎหมายก็แพร่สะพัดไปทั่วทั้งวงการเมือง
ล่าสุด ทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ปล่อยข่าวว่า กฎหมายนี้จะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ซึ่งฝ่ายการเมืองกังวลว่าจะทำให้ประชาชนต่อต้าน รวมถึงการต่อต้านจาก ส.ส.ในสภาที่ครอบครองที่ดินจำนวนมาก ดังนั้นจึงกำลังหาแนวทางลดแรงต่อต้าน
แม้ว่า หลักการจะถูกทั้งในเรื่องการปรับปรุงระบบภาษีท้องถิ่นให้ทันสมัย หรือในแง่การกระจายรายได้ แต่แรงต้านและคลื่นใต้น้ำจากกลุ่มทุน แลนด์ลอร์ด ก็เริ่มรุนแนงมากขึ้น และเหตุผลในการคว่ำร่างกฎหมายที่ได้ผลมากที่สุดก็คือ การโจมตีว่า คนยากคนจน จะเดือดร้อน ต้องเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่ ภาระภาษีของเกษตรกรและชาวบ้านทั่วไป ต่ำมาก
ล่าสุดขุนคลังได้ออกมายกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท
ประชาชาติออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เจ้าของโครงการวิจัย เรื่อง นโยบายและมาตรการการคลัง เพื่อความเป็นธรรมในการกระจายรายได้พบว่า
ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ภาษีที่ดินตอบโจทย์ได้ 2 อย่าง คือ 1.รัฐสามารถหารายได้มาใช้จ่ายให้กับสังคมในเชิงสวัสดิการ อาทิ คนพิการ ชรา ที่รัฐมีหน้าที่ต้องดูแลคนกลุ่มนี้ โดยไม่ต้องไปดูว่าเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากอัตราภาษีที่จะเก็บนั้นอยู่ในขั้นต่ำมากเพียง 0.1-0.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
2.เมื่อมีการเก็บภาษีคนที่มีที่ดินมากๆ ก็จะไม่กล้าเก็บที่ดินเหล่านั้นให้ว่างเปล่าไร้ประโยชน์เป็นเวลานาน
" ผมเชื่อว่า การเก็บภาษีในอัตราเพียง 0.1-0.2 เปอร์เซ็นต์ เป็นการประนีประนอมกับแลนด์ลอร์ดอย่างแน่นอน ที่เราเสนอนี้ยังไม่ถึง 0.5 เปอร์เซ็นต์เลย ถ้าจะให้ได้ผลจริงๆ อย่างน้อยต้องเก็บในอัตรา 1 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แค่ 0.5 เปอร์เซ็นต์เราถือว่าขอเงินบริจาคมาช่วยคนแก่ช่วยเด็ก"
นักเศรษฐศาสตร์การเมืองผู้นี้ วิเคราะห์ว่า กฎหมายฉบับนี้ โอกาสที่จะผ่านการพิจารณาจากการประชุมสภาในอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เนื่องจากนักการเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นแลนด์ลอร์ด นิยมกว้านซื้อถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก
"ถ้าผมฟัง คุณกรณ์ จาติกวณิช รมว.กระทรวงการคลัง ก็พอมีความหวังอยู่ แต่ถ้าไปฟังพรรคพวก เพื่อนคุณกรณ์ แล้วก็เหนื่อยเหมือนกัน ในพรรคประชาธิปัตย์เองบางคนก็ไม่เห็นด้วย คุณจะเห็นว่านักการเมืองสายใต้ไม่เห็นด้วย นักการเมืองส่วนหนึ่งเอา อีกส่วนหนึ่งไม่เอา คำถามคือส่วนไหนมากกว่า"
"หลักการเองก็มีผลกระทบกับผลประโยชน์ของนักการเมือง แล้วนักการเมืองเป็นคนออกพระราชบัญญัติ มันก็เลยลำบาก แถมเจ้ากระทรวงต่างๆ มีที่ดินมหาศาล แล้วนักธุรกิจใหญ่ๆ ก็อยู่เบื้องหลังนักการเมือง ในรัฐบาลมีบางส่วนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่าลืมว่ารัฐบาลเป็นพรรคร่วม แล้วเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคุณเข้าใจระบบการเมืองไทยมันยังไม่ข้ามผ่าน การเมืองธนามาตยาธิปไตย หมายความว่า ปืนกับเงินมาจับมือกัน ที่เห็นบางพวกลุกขึ้นมาคัดค้านอมาตยาธิปไตย
แต่ลึกๆ จับมือกันตลอดเวลา ถ้ากลุ่มทุนรู้สึกว่าเขากำลังสูญเสียมากเกินไป เขาก็พร้อมจะให้ทหารยึดอำนาจ เพราะวิธีการยึดอำนาจมันมีหลายรูปแบบ ถ้าทหารรู้สึกว่าเขาอยากได้ประโยชน์มากๆ เขาก็ไปดึงกลุ่มทุนมา เพราะฉะนั้นลึกๆ เป็นอย่างนี้ตลอดมา ผมไม่เคยเชื่อว่าฝ่ายหนึ่งต่อต้านทหาร ฝ่ายหนึ่งหนุนทหาร มันไม่ใช่ เพราะทหารกลุ่มหนึ่งจับมือทุนกลุ่มหนึ่ง แล้วทุนอีกกลุ่มหนึ่งก็จับมือกับทหารอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นอย่างนี้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้ามันมีจุดที่ประนีประนอมกันได้ ฝ่ายหนึ่งอยากจะเห็นสังคมเป็นธรรมกับผู้ที่สูญเสียประโยชน์จับมือกันได้ กฎหมายฉบับนี้ก็ผ่าน ถ้ามีฝ่ายที่เสียดุลเกินไปแล้วไม่ยอม มันก็ล้ม ซึ่งผมว่ากฎหมายนี้จะผ่านยากมาก"
ดร. ณรงค์ กล่าวถึงงานวิจัย เรื่อง นโยบายและมาตรการการคลัง เพื่อความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ว่า ปัจจุบัน กฎหมายและมาตรการทางภาษีที่ไม่ส่งเสริมให้มีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก และภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม มีผลให้คนที่รวยอยู่แล้วก็ยิ่งรวยขึ้น ขณะที่รายได้ของคนจนมีแต่ทรงกับทรุด
"จาก การศึกษาพบว่า ผู้ถือครองจำนวนที่ดินในกรุงเทพฯมากที่สุดนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคล การถือครองที่ดินในเขตกรุงเทพฯชั้นในมีการกระจุกตัวมาก โดยเฉพาะบริเวณที่เป็น commercialize (การใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์) อาทิ เยาวราช ปทุมวัน ซึ่งเป็นที่ดินของทรัพย์สินฯอยู่มาก แต่การใช้งานของทรัพย์สินฯนั้นมีความยืดหยุ่นมาก ส่วนไหนที่จำเป็นให้คนยากคนจนอาศัย ก็จะมีการยืดหยุ่นทั้งค่าเช่าและระยะเวลา โดยที่หากที่ดินเหล่านี้ไปอยู่ในมือของเอกชนก็จะถูกนำไปใช้ทางด้านการค้า เป็นหลัก ที่ดินอยู่ในความครอบครองของทรัพย์สินฯ จะเป็นมิตรกับคนยากคนจนมากกว่า"
ในขณะที่การถือครองที่ดินในต่างจังหวัด งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เริ่มที่จะมีการกระจุกตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะ จ.ชลบุรี หรือ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งพื้นที่ที่พบว่าการถือครองที่ดินกระจุกสูงตัวเหล่านี้ คือพื้นที่ซึ่งได้ถูกพัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรม
"ข้อสังเกตก็คือว่า พื้นที่ไหนก็ตามที่เข้าสู่ภาวะการค้า เป็นที่ดินเชิงพาณิชย์ หรือที่ดินเชิงอุตสาหกรรม การกระจุกตัวจะสูงมาก ซึ่งมีแนวโน้มที่น่ากลัว จากงานวิจัยและจากการคาดการณ์ของผมเองว่า ที่ไหนก็ตามที่มีการพัฒนาเป็นเขตพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมการกระจุกตัวจะสูงมาก แล้วคนจำนวนมากที่อยู่ในเขตเหล่านั้นไม่มีที่ดินเลย ซึ่งพบได้เยอะ ประการต่อมาก็คือว่า การขยายตัวของเมือง มันพัฒนาเร็วมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อบต.จำนวนมากกลายเป็นเทศบาล ตำบล เริ่มเป็นเขตเมือง การกระจุกตัวก็เริ่มเกิดขึ้นทันที แล้วเมื่อเขตเมืองเริ่มขยายตัว มันก็ไปสอดคล้องกับภาวะที่ดินทางด้านเกษตร ที่ชาวนาส่วนใหญ่ชราภาพ แล้วชาวนารุ่นใหม่อายุ 15-30 ปีไม่มีแล้ว จึงเกิดสภาพที่ว่าชาวนารุ่นเก่าเริ่มหมดอายุขัย ไม่มีคนมาสานตา ที่ดินจึงหลุดมือ เพราะแก่แล้วก็ไม่อยากเก็บ"
"เพราะฉะนั้น อีก 10 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มว่าการกระจุกตัวของที่ดินจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสถานการณ์ที่ผมบอกนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเก็บภาษีที่ดิน คนที่มีที่ดินในเขตการค้าอุตสาหกรรมราคาจะสูง ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนน้อย ดังนั้นการเก็บภาษีจากคนส่วนน้อยเหล่านี้ที่มีที่ดินมากๆ มันสมควร เพื่อเอารายได้ตรงนี้มาใช้จ่าย ถ้าเรามองว่ารัฐกำลังเดินหน้าประชานิยม ลดแลกแจกแถมอยู่ คำถามคือว่าแล้วรัฐจะเอาเงินมาจากไหน การลดแลกแจกแถมในบางสถานการณ์มันจำเป็น ของเราอีกประมาณไม่เกิน 12 ปีข้างหน้า เราจะเข้าสู่สังคมชราภาพ"
"หมายความว่า สังคมใดก็ตามที่มีตัวเลขผู้เกษียณอายุ 14 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ขณะนี้เรามี 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว ณ วันนั้นค่าใช้จ่ายคนแก่จะสูงมาก คุณจะเอาเงินที่ไหนมาดูแลคนแก่ ในฐานะที่เขาทำประโยชน์ให้กับสังคมมายาวนาน เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องมีช่องทางที่จะหารายได้ จะกู้เงินอย่างนี้ตลอดไปได้อย่างไร ช่องทางที่สภาที่ปรึกษาฯเสนอก็คือตัวเลขจำนวนที่ดิน แค่คุณเก็บภาษีแค่ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีที่ดิน 100 ไร่ คุณเก็บได้แค่ 60 ไร่ เราก็จะมีรายได้ถึงปีละ 1.5 พันล้านบาท ถ้าเก็บได้เต็มที่ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์จะมีรายได้ 2 พันกว่าล้านบาท"
( ล้อมกรอบ เปิดแลนด์ลอร์ดรายใหญ่ 5 รัฐบาล ) หากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ แน่นอนว่า ภาระภาษีในการถือครองที่ดินของกลุ่มแลนด์ลอร์ดย่อมต้องเพิ่มมากอย่างไม่ต้อง สงสัย
ล่าสุด ประชาชาติออนไลน์ เปิดบัญชีทรัพย์สิน โดยเฉพาะพอร์ตที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของนักการเมือง ใน 5 รัฐบาลคือ รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลขิงแก่ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลชุดปัจจุบัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อตามไปดูว่า ใครคือ เจ้าที่ดินตัวจริง
จากการตรวจสอบแลนด์ลอร์ดตัวจริงเสียงจริง น่าจะได้แก่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ผู้ก่อตั้งพรรคชาติไทยพัฒนา
บนเส้นทางการเมืองถึงวันนี้ "หลงจู๊" บรรหาร แห่งสุพรรณบุรี มีที่ดินสะสมทั้งในกรุงเทพฯ สุพรรณบุรี ชัยนาท และนนทบุรี รวม 201 แปลง มูลค่ารวม 1,707.4 ล้านบาท ยังไม่นับรวมบ้าน 3 หลัง มูลค่า 73 ล้านบาท
แต่ถ้านับรวมเฉพาะที่ดินนายบรรหารและคุณหญิงแจ่มใส มีที่ดินรวมกันประมาณ 1,893 ไร่ โดยเฉพาะที่ดินทำเลทองย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ รวมมูลค่า 176 ล้านบาท ถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน 180 ล้านบาท และบริเวณ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 850 ล้านบาท
ขณะที่รัฐบาลโอบามาร์ค รัฐมนตรีที่มีที่ดินมากที่สุด ได้แก่นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง มี 42 แปลง 580.7 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นที่ดินใน จ.ระยอง จ.เชียงใหม่ และ จ.สระบุรี นอกจากนี้ยังมีบ้าน 3 หลัง มูลค่ารวม 63.8 ล้านบาท นับเฉพาะบ้านแขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ (ดอนเมือง) หลังเดียว มีมูลค่าถึง 50 ล้านบาท
นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวฯ และภริยา มี 16 แปลง 379.3 ล้านบาท ส่วนบ้านมี 2 หลัง มูลค่า 40 ล้านบาท นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ภริยาและบุตรไม่บรรลุนิติภาวะ มี 32 แปลง 324.9 ล้านบาท ส่วนบ้าน 3 หลัง มีมูลค่ารวมกัน 40.5 ล้านบาท
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน และภริยา มีรวมกัน 24 แปลง 220.4 ล้านบาท
แลนด์ลอร์ดที่ออกจาก ครม.มาร์คไปแล้ว คือนายชาติชาย พุคยาภรณ์ อดีต รมช.เกษตรฯ ภริยาและบุตรไม่บรรลุนิติภาวะ มีที่ดินรวม 145 แปลง 340.5 ล้านบาท ส่วนสิ่งปลูกสร้างมีรวมกับภริยา 66 หลัง ส่วนใหญ่เป็นบ้านและอาคารชุด มูลค่ารวมกันประมาณ 61.5 ล้านบาท
อีกคนคือนักการเมืองรุ่นเก๋าลายคราม นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน และภริยา มีที่ดินรวม 51 แปลง 104.8 ล้านบาท ส่วนสิ่งปลูกสร้างมีรวมกัน 13 หลัง มูลค่า 123.1 ล้านบาท ส่วนนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน มีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 8 หลัง มูลค่า 17 ล้านบาท
ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีที่ดินเพียง 2 แปลง 19.5 ล้านบาท
"เทพเทือก" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ มีทรัพย์สิน 98.2 ล้านบาท นับเฉพาะที่ดินมี 50 แปลง มูลค่า 79.4 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นที่ดินใน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนสิ่งปลูกสร้างมีคอนโดมิเนียมเขตบางเขน 1 ห้อง และบ้านพักที่ ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 2 หลัง รวมมูลค่า 5.9 ล้านบาท
ขณะที่รัฐมนตรีที่รวยที่สุดใน ครม.มาร์ค คือนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และภริยา มีที่ดินรวม 26 แปลง 147.1 ล้านบาท
แลนด์ลอร์ดตัวจริงอีกคนในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. นอกจากทรัพย์สิน 600 กว่าล้านบาทแล้ว คุณชายหมูยังมีที่ดินสะสม 40 แปลง 72-2-60 ไร่ มูลค่า 590 ล้านบาท
เอาเข้าจริงแล้ว คุณชายสุขุมพันธุ์ได้รับที่ดินมรดกจากพระบิดา 25 แปลง 13-1-60 ไร่ อยู่ในกรุงเทพฯ 12 แปลง ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 3 แปลง ส่วนที่ดินของคุณชาย จำนวน 15 แปลง อยู่ใน ต.บางปลากด อ.องครักษ์ จ.นครนายก 1 แปลง ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 1 แปลง ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 1 แปลง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ 9 แปลง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 3 แปลง รวมมูลค่า 480.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปในรัฐบาลชุดก่อนๆ จะพบว่า "ที่ดิน" คือของสะสมยอดฮิตของบรรดารัฐมนตรีเสมอมา
สมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีรัฐมนตรีถือครองที่ดิน 763 แปลง หรือเฉียด 6,000 ไร่ มูลค่ามากกว่า 2.2 พันล้านบาท อดีตรัฐมนตรีแลนด์ลอร์ด ได้แก่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ และคู่สมรสมี 60 แปลง 144 ไร่ 148.6 ล้านบาท
นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกฯ และคู่สมรส มีที่ดินรวมกัน 95 แปลง 489 ไร่ 227.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นที่ดินใน จ.เลย และ จ.เชียงใหม่ นายโอฬารยังมีบ้าน 3 หลัง รวมมูลค่า 12 ล้านบาท
อีกคนคือนายประสงค์ โฆษิตานนท์ อดีต รมช.มหาดไทย และคู่สมรส มีมูลค่าที่ดินรวมกันเฉียด 300 ล้านบาท
ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มีเจ้าพ่อแลนด์ลอร์ดหลายคนเช่นกัน ได้แก่ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง และคู่สมรส มี 32 แปลง 78 ล้านบาท โดยเป็นของหมอเลี้ยบ 17 แปลง 19 ล้านบาท ส่วนนางปราณี คู่สมรส มี 32 แปลง 59 ล้านบาท
ส่วนใหญ่เป็นโฉนดที่ดินใน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี (17 แปลง) อ.เมือง จ.ปทุมธานี (3 แปลง) อ.หางดง จ.เชียงใหม่ (2 แปลง) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา น.ส.3 ก. อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ (2 แปลง) น.ส.3 ก. อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี (1 แปลง) ที่ดินใน จ.นครปฐม (2 แปลง) และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี (1 แปลง)
ส่วนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของหมอเลี้ยบและนางปราณี มีรวมกัน 9 หลัง มูลค่ารวม 10 ล้านบาท
นายวุฒิพงษ์ ฉายแสง อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ มีที่ดิน 29 แปลง 34.2 ล้านบาท ส่วนนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช มี 74 แปลง 189.5 ล้านบาท ขณะที่นายสรวงศ์ เทียนทอง ลูกป๋าเหนาะ มี 32 แปลง 60 ไร่ มูลค่า 83.1 ล้านบาท
นักสะสมที่ดินอีกคนใน ครม.สมัคร คือพลโทหญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ อดีต รมว.พลังงาน มีที่ดิน 13 แปลง มูลค่ารวมราว 291.2 ล้านบาท
ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีต รมว.มหาดไทย มีที่ดินรวมกันกับภริยา 12 แปลง 165 ไร่ มูลค่า 78.5 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.หนองคาย ที่ดินในเขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน
ในยุครัฐบาลขิงแก่ภายใต้ท็อปบูต คมช.แลนด์ลอร์ดใน ครม.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี อดีตนายกฯ ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด ได้แก่นายปิยบุตรและนางสุจินตนา ชลวิจารณ์ มีที่ดินรวมกัน 137 แปลง รวมมูลค่า 808.6 ล้านบาท
ส่วนแลนด์ลอร์ดคนอื่นๆ ได้แก่ พล.อ.สุรยุทธ์ และภริยา มีที่ดินรวม 11 แปลง มูลค่ารวม 22.8 ล้านบาท เป็นโฉนดที่ดินใน ต.บางคุ้ง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี (4 แปลง)
อ.เมือง จ.ลพบุรี 1 แปลง ต.น้ำอ้อม อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 2 แปลง มีนบุรี กทม. 1 แปลง พญาไท กทม. 1 แปลง และใน อ.บางเสาธง สมุทรปราการ 2 แปลง
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรมว.คลัง ยุคขิงแก่ มีที่ดิน 11 แปลง มูลค่าราว 55.2 ล้านบาท แบ่งเป็นโฉนดใน ต.ลำต้อยติ่ง อ.หนองจอก กรุงเทพฯ 2 แปลง
คลองหลวง ปทุมธานี 1 แปลง ต.บางจาก อ.พระโขนง กรุงเทพฯ 3 แปลง ต.พาหุรัด อ.พระนคร กรุงเทพฯ 3 แปลง และพระโขนงฝั่งเหนือ กรุงเทพฯ 2 แปลง นอกจากนี้ยังมีบ้านอีก 4 หลัง มูลค่าราว 1.5 ล้านบาท
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกฯ และ รมว.พัฒนาสังคมฯ และคู่สมรส มีที่ดินรวม 16 แปลง มูลค่า 87.1 ล้านบาท เป็นโฉนดใน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 4 แปลง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 1 แปลง ในกรุงเทพฯ 2 แปลง กำแพงแสน จ.นครปฐม 2 แปลง ที่ดินใน จ.ลำพูน 1 แปลง จ.ลพบุรี 1 แปลง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 1 แปลง จ.ชลบุรี 3 แปลง และใน จ.ระยอง 1 แปลง
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน และคู่สมรส มีที่ดินรวม 17 แปลง 206.7 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.อุทัยธานี และ จ.ปทุมธานี ส่วนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างมี 6 หลัง รวม 79.6 ล้านบาท
นายสิทธิชัย โภคัยอุดม อดีต รมว.ไอซีที และคู่สมรส สะสมที่ดินรวม 34 แปลง มูลค่า 417 ล้านบาท นายอารีย์ วงศ์อารยะ และคู่สมรส 48 แปลง มูลค่ารวม 86.6 ล้านบาท กว่าครึ่งเป็นที่ดินใน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี และ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ขิงแก่แลนด์ลอร์ดอีกคน คือนายนิต พิบูลสงคราม อดีต รมว.ต่างประเทศ มีที่ดิน 5 แปลง ในประเทศ 4 แปลง ต่างประเทศ 1 แปลง (199 Ford Hill Rd.Jewett,NYX) มูลค่ารวม 260.2 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 20 หลัง มูลค่า 41.8 ล้านบาท ส่วนใหญ่คือคอนโดฯ และอาคารชุด
ส่วนใน ครม.ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีใครถือครองที่ดิน คิดเป็นจำนวนแปลงมากเท่ากับ "คุณหญิงหน่อย" สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายสมยศ ลีลาปัญญาเลิศ สามี ที่สะสมที่ดินแปลง จำนวน 864 แปลง มูลค่าประมาณ 782.2 ล้านบาท ส่วนมากเป็นที่ดินในต่างจังหวัด ได้แก่ปทุมธานี ลพบุรี นครราชสีมา นครนายก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างรวมกัน 6 หลัง 61.9 ล้านบาท
แลนด์ลอร์ดตัวจริงอีกคน คือนายกันตธีร์ ศุภมงคล อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ร่ำรวยที่ดินมากถึง 191 แปลง มูลค่ารวมราว 2,955 ล้านบาท เรียกว่ากินได้ไปตลอดชีวิต รวมทั้งบ้านและสิ่งปลูกสร้างรวม 11 หลัง รวมมูลค่าประมาณ 130.5 ล้านบาท
ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีที่ดินเพียง 3 แปลง มูลค่า 1.1 ล้านบาท ผิดกับคุณหญิงพจมาน ภริยา ที่มีมากถึง 123 แปลง มูลค่ารวมประมาณ 2,079 ล้านบาท ไม่นับรวมบ้าน 5 หลัง มูลค่ารวม 588 ล้านบาท และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ 37 แห่ง มูลค่ารวม 289.6 ล้านบาท