จากประชาชาติธุรกิจ
ถ้า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปลายเดือนสิงหาคมนี้รัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมีการตัดริบบิ้นเปิดตัวโครงการ ครีเอทีฟอีโคโนมี่ : ครีเอทีฟ ไทยแลนด์อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้
แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธ ไม่ได้ก็คือ ครีเอทีฟอีโคโนมี่ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย จริงอยู่ ในสินค้าทั้ง 15 ประเภทที่จัดว่าเป็นธุรกิจที่อยู่ในขอบข่ายของครีเอทีฟอีโคโนมี่นั้น คนไทยอาจจะทำงานมานานแล้วและทำมาอย่างต่อเนื่องด้วย แต่พอมาใส่กรอบความคิดเชิงนโยบายว่าด้วยครีเอทีฟอีโคโนมี่เข้าไปนั้น เชื่อว่าหลาย ๆ องค์การหรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่อยากจะมีส่วนกับแนวคิดก็ยังไม่เข้าใจว่า อะไร แบบไหน ถึงจะเรียกว่า ครีเอทีฟ อีโคโนมี่ หรือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
เพื่อ ให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ครูใหญ่ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ องค์กรที่ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นแห่งแรกๆ อธิบายว่า มีอยู่ 3 ปัจจัยสำคัญที่เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วเรียกว่า เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
ประการ แรก เป็นการถ่ายทอดความคิดที่ผ่านจากตัวบุคคลและถ่ายทอดมาเป็นความคิดสาธารณะ ที่มีผลกระทบกับคนหมู่มาก มีคุณค่าต่อสังคมและเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่าง ให้เข้าใจ สมมุติว่า "ผมแต่งเพลง ร้องเพลง แต่ร้องกันอยู่ในบ้าน ร้องให้ลูกฟัง อันนี้คือผมมีความคิดสร้างสรรค์ธรรมดาๆ ซึ่งใครก็มีได้ ช้างวาดรูป หมูวาดรูป แต่เมื่อผมนำเพลงที่แต่งไปร้องต่อสาธารณชน มีการนำเพลงที่ผมแต่งไป ต่อยอดในตลาด มีคนฟัง มีคนซื้อเพลงที่ผมทำ ถือได้ว่ามีผลกระทบต่อสังคม แบบนี้ถึงจะเรียกว่า ครีเอทีฟอีโคโนมี่ เพราะมีผลทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม"
ประการที่ 2 ต้องเป็นความคิดที่สมบูรณ์ ความหมายก็คือ สามารถนำเอาไปปฏิบัติได้ ทดลองได้ มันจะมีกระบวนการทำจากสิ่งที่เป็นความคิด นำไปสู่ปฏิบัติ ให้เห็น ให้เกิดเป็นรูปร่าง หรือพูดง่ายๆ ทำจากสิ่งที่เป็นนามธรรม สร้างให้เกิดรูปธรรม
ประการที่ 3 ความคิดสร้างสรรค์ที่ว่านี้จะมีจำนวนที่น้อยมาก ในชีวิตหนึ่งอาจจะมีแค่ 3-4 ความคิดเท่านั้น
"จริงๆ ความคิดหรือไอเดียของคนเรานั้นบรรเจิดมาก วันวันหนึ่งอาจจะมี 300 ความคิด แต่ความคิดที่สามารถพัฒนานำไปต่อยอดให้เกิดเป็นความคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่อ พัฒนาต่อไปจนเกิดเป็นครีเอทีฟอีโคโนมี่นั้น 3-4 ความคิดก็ถือว่าดีมากแล้ว ทั้งนี้เพราะครีเอทีฟอีโคโนมี่คือการปั้นความคิดความฝันให้เกิดเป็นรูปธรรม ทางธุรกิจ พอเกิดเป็นธุรกิจก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นครีเอทีฟอีโคโนมี่ไม่ใช่แค่เรื่องความคิดความฝันเท่านั้น"
ทั้ง นี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดแบ่งเป็น 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็น 4 กลุ่ม 15 สาขา คือ 1.วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เช่น งานฝีมือ การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ธุรกิจอาหารไทย และการแพทย์แผนไทย
2.ศิลปะ ได้แก่ ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ 3.สื่อ ได้แก่ ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ กระจายเสียง เพลง และ 4.งานสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ใช้สอย คือ ออกแบบ แฟชั่น สถาปัตยกรรม โฆษณา และซอฟต์แวร์