สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข่าวดีได้รับการยืนยัน

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :เจียรนัย อุตะมะ:


แม้ว่าตัวเลขการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2552 จะยังติดลบ 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่าฟื้นตัวเร็วจากติดลบ 7.1% เมื่อไตรมาสแรก และดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะติดลบ 5.2% ถือเป็นการฟื้นในรูปตัว V เล็กๆ ก็ว่าได้ แต่ถ้าจะให้แน่ว่าระยะยาวเป็นอย่างไร
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ตัวเลขขยายตัวเศรษฐกิจปี 2552 (GDP) ว่าจะติดลบ 3.0% ถึงลบ 3.5% (จากเดิมติดลบ 2.5% ถึงลบ 3.5%) ไม่ต่างจาก Bloomberg Consensus มากนัก (ที่คาดว่าจะติดลบ 3.5% และกลับมาเพิ่มขึ้น 2.9% ในปี 2553)

ยืนยันข่าวที่ดีขึ้นที่ว่านี้ด้วยผลการจัดงาน Thai Corporate Day ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต ที่จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่นักลงทุนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ห่วงแต่ปัญหาทางการเมือง

การนำเสนอข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต่อนักลงทุนใน 2 ประเทศนี้ เกิดขึ้นภายหลังผลประกอบการไตรมาส 2 ของบจ. ประกาศออกมา โดยมีบริษัทเข้าร่วมงานหลายอุตสาหกรรม

ที่ประเทศสิงคโปร์มีบริษัทเข้าร่วมงาน 5 บริษัท คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) บริษัท บางจากปิโตรเลียม (BCP) บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) และบริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL)

ที่ฮ่องกง มีบริษัทที่เข้าร่วมงาน คือ บริษัท บางจากปิโตรเลียม (BCP) บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) และบริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) โดยมีผู้ให้ความสนใจมากกว่า 230 ราย

ความกังวลอันดับแรกของนักลงทุนต่างชาติ คือ ปัญหาทางการเมืองของไทย และการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยนักลงทุนหลายรายสงสัยว่า รัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะมีอำนาจไปได้อีกนานแค่ไหน

บจ.ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ มีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มที่ค่อยๆ ดีขึ้น และแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย ตราบใดที่ยังคงเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ บจ.ยังยอมรับในมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และเชื่อว่าสภาวะเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นต่อเนื่องไปยังปี 2553 ผลักดันโดยการฟื้นตัวขึ้นของกิจกรรมการค้าทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และการใช้จ่ายสาธารณะ

บริษัทที่เข้าร่วมงานมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อปี 2553 โดยรู้สึกว่าปี 2552 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดแล้ว เนื่องจากมีปัจจัยลบต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ความวุ่นวายทางการเมือง ตัวเลขการส่งออกที่ลดลงอย่างมาก และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยากขึ้น เนื่องจากความกังวลต่อความเสี่ยงเรื่องเครดิต (Credit Risk) ที่มากขึ้น และการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของ เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009

อย่างไรก็ตาม บริษัทชั้นนำนี้ไม่มีความกังวลในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่ง เงินทุน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงมีสภาพคล่องสูง ขณะที่ฐานะทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง แต่คงมีความกังวลในเรื่องที่ธนาคารเริ่มให้ความระมัดระวังการให้กู้ยืมมาก ขึ้น ดังนั้นบริษัทบางแห่งจึงออกหุ้นกู้ เพื่อทำให้ต้นทุนและเงินทุนคงที่

ฐานะทางการเงินของบริษัทชั้นนำยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่การบริหารกระแสเงินสดยังคงเป็นสิ่งแรกที่ทุกบริษัทคำนึงถึง และแม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาเลวร้ายบริษัทก็ยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลไว้เท่า เดิม

หลายบริษัทยอมรับว่าผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 นั้นออกมา ดีกว่าที่คาดไว้ในช่วงต้นปี 2552

กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดูเหมือนว่าจะมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่ลดลง มากที่สุด ซึ่งทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มีอำนาจในการต่อรองราคามากขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ มาตรการกระตุ้นภาษีที่มีอยู่ และการแข่งขันด้านสินเชื่อเพื่อการบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่รุนแรงขึ้น ยังช่วยกระตุ้นการซื้อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อีกด้วย

ด้านบล.โนมูระ โบรกเกอร์ญี่ปุ่น คาดว่าสหรัฐและเศรษฐกิจโลกจะไม่กลับสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงอีก ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

ประการแรก ลักษณะพิเศษของภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยในครั้งนี้กินวงกว้างและรุนแรง ทำให้ความต้องการของโลกหดตัวอย่างรุนแรง เพราะผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวอย่างหนัก เพราะกลัวความไม่แน่นอนว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ทำให้กลุ่มของปัจจัยลบที่ทำให้เกิดภาวะวิกฤตไม่น่าจะเกิดขึ้น

ประการที่สอง การดำเนินนโยบายของประเทศต่างๆ นั้นเร็วกว่ามากเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นทำในอดีตในด้านการดำเนินนโยบายของ ประเทศต่างๆ ในวิกฤตรอบนี้ มีความรวดเร็วและใช้ทุกวิธีเพื่อดึงเศรษฐกิจขึ้นมาจากภาวะถดถอย ต่างจากญี่ปุ่นในทศวรรษ 2533 ที่รับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างเชื่องช้ามาก เช่น เมื่อเริ่มเข้าสู่วิกฤตในปี 2533 แต่กว่าที่ธนาคารกลางจะใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ก็คือ เมื่อเดือนก.พ. 2542 และกว่าจะใช้ Quantitative Easing ก็จนกระทั่งเดือนมี.ค. 2544

ขณะที่สหรัฐที่เริ่มวิกฤตเมื่อฤดูร้อนปี 2550 แค่เพียง 2 ปี สหรัฐได้ใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว 2 รอบ มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบสถาบันการเงินมีการทำ Stress Test และการผ่อนคลายเชิงปริมาณ

โนมูระ เชื่อว่าการส่งออกของเอเชียผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ไม่ควรคาดว่าการฟื้นตัวของการส่งออกจะแข็งแกร่ง

โนมูระได้สร้างดัชนีชื่อ Leading Index of Asian Export (LIAE) ซึ่งประกอบด้วยดัชนี 8 ตัว ได้แก่ OECD Leading Economic Index, China Import, Baltic Dry Freight Index, US ISM Index, US ISM Index (Import), US Semiconductor Global Sale, US Semiconductor Book to Bill Ratio และ US Manufacturers’ New Orders for Computer and Electronic Products เพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกของเอเชีย โดย LIAE จะชี้นำการส่งออกของเอเชียได้ 3 เดือน ขณะนี้ LIAE ที่โนมูระจัดทำนั้น ส่งสัญญาณว่าการส่งออกของเอเชียจะหดตัวน้อยลงเหลือ 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนในเดือนก.ย.นี้ เทียบกับที่ลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนในเดือนมิ.ย.

แต่การฟื้นตัวของการส่งออกจะไม่แข็งแกร่ง เนื่องจากการ Re-Socking จะช่วยตัวเลขส่งออกได้ระยะสั้น ในที่สุดต้องได้แรงหนุนจากความต้องการขั้นสุดท้าย ไม่ใช่การเพิ่มสินค้าคงคลัง หรือความต้องการโดยรวมของโลกยังอ่อนแอ เนื่องจากตลาดแรงงานยังอ่อนแอ ความมั่งคั่งของครัวเรือนยังลดลง และผู้บริโภคยังออมเพิ่มขึ้น

นี่คือความคืบหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจล่าสุด...

view