จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ศิรารัตน์ อรุณจิตต์ บลจ.บัวหลวงจำกัด: |
“สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดจะเกิดปัญหา
ข่าวสารข้อมูลที่ได้รับมา โปรดพิจารณาศึกษาก่อน “เชื่อ” ตาม”
ทุกวันนี้นักลงทุนได้บริโภคข่าวสารต่างๆ มากมายทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ตหรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ ความ เคลื่อนไหวของทั่วโลกรับรู้กันได้อย่างง่ายดายเสมือนโลกใบนี้แคบ ลงทุกที ยิ่งนักลงทุนมีข่าวสารที่ได้รับรู้มากเท่าไหร่ ข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนก็จะมากขึ้นเท่านั้น แต่ท่านเคยคิดหรือไม่ว่าข่าวสารที่ท่านได้รับมานั้นน่าเชื่อถือสักเพียงใด ท่านเชื่อทุกข่าวสารที่ได้รับมาอย่างทันทีแล้วลงทุนตามข่าวบ้างหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นท่านกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากข่าวสารที่ได้รับมาเหล่านั้น แล้ว
ผู้เขียนเพียงต้องการให้ผู้อ่านทั้งหลายพิจารณาไตร่ตรองถึงข้อมูล ที่ได้รับมาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนแล้วจึงเชื่อและนำไปปรับใช้ ไม่ได้เชื่ออย่างไร้เหตุผล ดั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม แคว้นโกศล ที่เรียกว่า “กาลามสูตร” หรือ “เกส ปุตตสูตร” ซึ่งเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษก่อนเชื่อ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนได้ ดังนี้
1.อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา เพราะสิ่งที่ฟังตามกันมานั้น อาจมีการบิดเบือน ปรับเปลี่ยนข้อมูลหรือการสื่อความผิดพลาดไประหว่างการสื่อสารของแต่ละคนที่ ฟังตามกันมาได้ อย่างเช่น เขาว่าบริษัท A จะประกาศผลประกอบการออกมามีกำไรมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งในความเป็นจริงคนพูดครั้งแรกอาจแค่กล่าวว่าบริษัท A จะประกาศผลประกอบการออกมามีกำไรเพิ่มมากขึ้น หากนักลงทุนไม่ได้ใช้สติไตร่ตรองและหาข้อมูลสนับสนุนก่อนแล้วไปลงทุนในหลัก ทรัพย์นั้นทันทีก็จะเกิดความผิดพลาดจากการลงทุนได้ ดังนั้น เราต้องเชื่อตามเหตุผล อย่าเชื่อตามเขาว่า
2.อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่า เล่าสืบๆ กันมา เพราะสิ่งที่คนเล่าต่อๆ กันมานั้น อาจมีทั้งจริงทั้งไม่จริงปะปนกันไป อาจเป็นความเชื่อเก่าที่เวลาผ่านมานานแล้ว แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปก็ได้ อย่างเช่น ใครๆ ว่าบริษัทนี้ดีมาก เป็นบริษัทใหญ่ตั้งมานาน ไม่มีทางขาดทุนแน่ๆ ลงทุนได้ไม่ต้องกลัว ไม่เสี่ยงแน่นอน นักลงทุนที่ดีก็อย่าเพิ่งเชื่อตามนั้น เพราะสิ่งที่ใครๆ ว่ามาดังข้างต้น อาจจะเป็นไปได้ในอดีต แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันอาจมีคู่แข่งมากขึ้น ผู้บริหารอาจเปลี่ยนแปลงไป ผลประกอบการของบริษัทอาจจะแย่ลงก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เล่าต่อๆ กันมา ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องยึดถือว่าถูกต้องเสมอไป
3.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ อย่างเช่น มีแหล่งข่าวบอกว่าบริษัท A จะเข้าซื้อกิจการของบริษัท B หากไม่เป็นความจริงดังข่าวเล่าลือแล้ว การลงทุนก็จะเกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้น นักลงทุนต้องระลึกไว้เสมอว่าอย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
4.อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา เพราะบางครั้งทฤษฎีในตำราไม่สามารถนำมาใช้กับชีวิตจริงได้เสมอไป เราต้องมีการปรับเปลี่ยนพิจารณา และเลือกใช้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยทฤษฎีนี้ใช้ได้ดีกับตลาดหลักทรัพย์แบบนี้ ในขณะเดียวกันกลับไม่มีประสิทธิภาพกับตลาดอีกแห่งหนึ่งได้
5.อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรรกะ ซึ่งเป็นการคิดเดาเอาเอง โดยบางคนอาจคิดเดาเอาเองว่าคงจะเป็นอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนี้ ซึ่งคำว่า “คงจะ” แสดงถึงความไม่แน่นอน เช่น มีข่าวออกมาว่าเครื่องจักรของบริษัท A เสีย จึงต้องหยุดการผลิตกะทันหัน เราจึงคิดเดาไปว่าราคาหุ้นของบริษัท A ต้องตกลงมาแน่ๆ จึงตัดสินใจขายหุ้นทิ้งไปก่อน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง บริษัท A สามารถจัดการซ่อมแซมเครื่องจักรและจัดการกับปัญหาการผลิตได้ในวันนั้นทันที จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นแต่อย่างใด ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งเชื่อจากการคิดเดาเอาเอง เพราะจะเกิดความผิดพลาดได้เสมอ
6.อย่าเพิ่งเชื่อโดยการอนุมาน อย่างเช่น การคาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัท A ในไตรมาส 3 ปี 2552 จะดีมาก เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาเป็นแบบนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในปีนี้ผลประกอบการของบริษัท A อาจจะไม่ได้ดีตามที่คาดคะเนไว้ก็ได้ โดยนักลงทุนต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่นประกอบด้วย
7.อย่าเพิ่งเชื่อโดยการตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ หรือคิดตรองตามแนวเหตุผล เพราะสิ่งที่เราเห็นนั้น อาจไม่ได้เป็นไปตามที่ปรากฏก็เป็นได้ อย่างเช่น กำไรสุทธิในงบการเงินของบริษัท A มีผลประกอบการที่ดีมาอย่างเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้วผลประกอบการของบริษัทกำลังย่ำแย่ จึงมีการตบแต่งบัญชีให้กำไรดูดีในสายตาของนักลงทุน ซึ่งหากเราเชื่อตามงบการเงินที่เห็นโดยไม่ได้ตรึกตรองอย่างถี่ถ้วน ตรวจสอบหมายเหตุในงบการเงินว่ากำไรที่ดูดีมาจากอะไร เงินที่เราลงทุนไว้ก็มีความเสี่ยงที่จะสูญค่าไปได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าประมาทกับสิ่งที่เห็นแล้วเชื่อว่าเป็นไปตามนั้น
8.อย่าเพิ่งเชื่อโดยการเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน หรือเข้ากับความเชื่อของตน เพราะตนเชื่ออย่างนี้อยู่แล้ว เมื่อมีใครมาพูดแนวคิดแบบเดียวกันให้ฟัง ก็ยอมรับว่าใช่และถูกต้อง ซึ่งไม่ได้แน่นอนเสมอไป เพราะสิ่งที่เราเชื่อมาก่อนนั้นอาจจะผิดก็ได้ เช่น เราเชื่อว่าหลักทรัพย์ B น่าลงทุน เมื่อมีคนมาพูดถึงหลักทรัพย์ B ในทำนองเดียวกัน เราก็เชื่ออย่างสนิทใจและเข้าไปลงทุนทันที ซึ่งบางครั้งสิ่งที่เราคิดและเชื่อนั้นอาจผิดพลาดได้ หากไม่ได้ใช้การพิจารณาที่ดี ฉะนั้น อย่าเพิ่งเชื่อโดยสิ่งนั้นเข้ากันได้กับความเชื่อของตน
9.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ หรือเห็นว่าผู้พูดควรเชื่อได้ เพราะคนที่พูดนั้นแม้ว่าจะมากด้วยประสบการณ์หรือมีตำแหน่งที่ใหญ่โต น่าเชื่อถือ แต่สิ่งที่พูดมาอาจจะผิดได้ จึงควรฟังหูไว้หู แล้วพิจารณาดูให้ดีก่อน แล้วจึงค่อยเชื่อ
10.อย่าเพิ่งเชื่อด้วยเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา ข้อนี้ไม่ได้บอกว่าไม่ให้เชื่อครูบาอาจารย์ แต่หมายความว่าอย่าเพิ่งเชื่อโดยไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อน ทั้งนี้ เพราะครูอาจพูดผิดหรือทำผิดได้ จึงต้องฟังแล้ว ไตร่ตรองให้ดี แล้วจึงเชื่อ
จากหลัก “กาลามสูตร” ที่ไม่ให้เชื่อตามเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราสามารถเชื่อได้คือ ให้เชื่อตัวเองโดยการพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อนว่าสิ่งที่เขาพูดกันนั้นดี หรือไม่ดี ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ดังนั้น หากเราใช้สติปัญญาและเหตุผลในการพิจารณาข่าวสารข้อมูล ไม่ยึดถือ เชื่อถือ หรือปลงใจเชื่อในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้รับรู้มาอย่างขาดการไตร่ตรองก่อน ความเสี่ยงในการใช้ข้อมูลจะสามารถลดลงได้ ดั่งคำกล่าวที่ว่า “ผู้ ที่ไม่เชื่อใครเลยคือ คนโง่ ผู้ที่เชื่ออะไรง่ายๆ คือ คนงมงาย ผู้ที่รู้จักรับฟังผู้อื่นและวิเคราะห์เหตุผลด้วยปัญญา ชื่อว่า ปราชญ์”