สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บรรษัทภิบาลดีสร้างมูลค่าเพิ่มจริงหรือ? (ตอนที่ 1)

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ยุทธ วรฉัตรธาร:


มีคนจำนวนมากมัก มีข้อสงสัยหรือมีข้อโต้แย้งอยู่เสมอว่าการทำตัวเอง (บริษัท) ให้มีบรรษัทภิบาล ที่ดีทำให้กิจการมีกำไรดีขึ้นได้จริงหรือ ทำดีมีแต่ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แล้วจะไปสู้คู่แข่งได้อย่างไร

คู่ แข่งหลบภาษี ต้นทุนต่ำ เพราะใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ต้องจ้างบุคคลภายนอกมาเป็นกรรมการตรวจสอบตามกฎของสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์

แต่บรรษัทภิบาลดีบอกว่า บริษัทจดทะเบียนต้องทำธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย ต้องมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 3 คน แถมยังต้องเป็นบุคคลภายนอกที่มีความเป็นอิสระ นอกจากนี้ยังมีกฎข้อบังคับและข้อแนะนำให้ปฏิบัติอีกมากมาย ซึ่งเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารอีกจำนวนมากเห็นว่านอกจากต้องเสียค่าใช้จ่าย แล้ว บางครั้งยังต้องเสียความยืดหยุ่น เสียอำนาจ ขาดความคล่องตัวในการตัดสินใจ เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บางคนถึงกับท้อแท้ใจอยากจะเอาบริษัทออกจาก ความเป็นบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ให้รู้แล้วรู้รอดไป

ฟังเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการแล้วบ่อยครั้ง ก็รู้สึกคล้อยตามและเห็นใจ เพราะผู้กำกับดูแลบริษัท จดทะเบียนบางครั้งก็คิดถึงแต่เรื่องรูปแบบมากเกินไปจนลืมไปว่ามีวิธีอื่นๆ ให้ยึดถือปฏิบัติให้ได้สาระตามเจตนารมณ์ แต่ด้วยเพราะความมั่นใจว่าการมีบรรษัทภิบาลที่ดีมีโอกาสทำให้กิจการมีกำไรดี ด้วยศักยภาพ การแข่งขันที่เข้มแข็งขึ้น ช่วยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน บ่อยครั้งก็มีความรู้สึกว่าเสียงสะท้อนเหล่านี้เป็น สิ่งท้าทายของผู้มีหน้าที่ส่งเสริม และพัฒนาให้บริษัท จดทะเบียนมีบรรษัทภิบาลที่ดีว่าจะมีวิธีการอย่างไร ที่ทำให้เสียงสะท้อนเหล่านี้เปลี่ยนมาเป็นกระบอกเสียง ช่วยป่าวร้องให้คนอื่นๆ เห็นว่าการประกอบธุรกิจโดยยึดถือหลักการบรรษัทภิบาลที่ดีนั้นดีจริงๆ ทำแล้วสบายใจ ทำแล้วยังมีกำไร สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจการ ได้จริงๆ

ผมเองก็ถูกท้าทายด้วยเสียงสะท้อนข้างต้น จึงเพียร พยายามศึกษาทั้งจากผู้รอบรู้และบทความ ตำราเรื่องบรรษัทภิบาล เพื่อหากุญแจไปเปิดประตูหามูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นสิ่งมีค่ายิ่งที่เจ้าของ กิจการและผู้ถือหุ้นทั่วไปแสวงหา ผมค่อนข้างมั่นใจว่าสิ่งที่ผมค้นพบและเข้าใจน่าจะเป็นกุญแจดอกนั้น จึงใคร่ขอบอกเล่าความเข้าใจในลำดับต่อไป

ความหมาย ‘มูลค่าเพิ่ม’

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ามูลค่าเพิ่มหมายถึงอะไร โดยทั่วไปเวลาเราพูดถึงคำว่ามูลค่าในความหมายของธุรกิจ เรามักหมายถึง มูลค่าของกิจการ มูลค่ากิจการจะเป็นกี่สิบกี่ร้อยล้านบาท มาจากราคาหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นของบริษัทนั้นๆ ราคาหุ้นในที่นี้คือราคาตลาด ดังนั้น เมื่อราคาหุ้นสูงขึ้น มูลค่ากิจการก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ที่สำคัญอยู่ที่ว่าราคาหุ้นจะดีขึ้นหรือสูงขึ้นได้อย่างไร สูงขึ้นเพราะมีใครมาปั่นราคาทำให้มูลค่าสูงขึ้นได้ไหม คำตอบก็คือได้ แต่ไม่มีทางยั่งยืน เลิกปั่นเมื่อไหร่ราคาหุ้นก็ตก เพราะไม่มีพื้นฐานรองรับราคาที่ขึ้น ในหลักการที่ถูกต้องราคาหุ้นจะดีบริษัทต้องมีกำไร ราคาหุ้นจะยืนอยู่ได้นานและสูงขึ้น กิจการของบริษัทต้องสามารถทำกำไรได้และดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดีก็ยังสามารถทำกำไรได้แม้จะน้อยลง หรืออาจขาดทุนแต่ก็ขาดทุนน้อยกว่าคนอื่น เพราะการมีบรรษัทภิบาลที่ดีนอกจากช่วยสร้างศักยภาพในการทำกำไรแล้ว ยังเป็นเกราะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน

บรรษัทภิบาลดีช่วยสร้างสมรรถนะการทำกำไรได้อย่างไร?

ทำกำไรให้ดีได้อย่างไร? ง่ายมากเลยครับ ขายสินค้าให้ได้ราคาดี ขายให้ได้เยอะๆ ผลิตสินค้าให้ได้ต้นทุนต่ำ บริหารกิจการให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด สูตรนี้ไม่มีผิดแน่นอน แต่ออกจะกำปั้นทุบดินไปหน่อย การประกอบกิจการให้มีกำไรดี มีความมั่นคงยั่งยืน มีสองมิติที่ต้องนำมาพิจารณา มิติหนึ่งคือ การประกอบธุรกิจบนพื้นฐานของการมีบรรษัทภิบาลที่ดีหรือการมีการกำกับดูแลที่ ดี อีกมิติหนึ่งคือ การบริหารหรือการจัดการที่ดี

การประกอบธุรกิจบนพื้นฐานของการมีบรรษัทภิบาล ที่ดีให้แนวทางไว้ว่า ปัจจัยแรกที่ทุกธุรกิจต้องคำนึงถึงคือ กำไร ไม่มีกำไรไม่มีทางอยู่ได้ แต่ต้องทำกำไรภายใต้การปฏิบัติตามกฎหมายและมีจริยธรรม มีโอกาสควรคืนกำไรสู่สังคมด้วยวิธีใดก็ตามที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตมวลมนุษย์

สำหรับการประกอบธุรกิจบนพื้นฐานของการบริหารจัดการที่ดี ศาสตร์หนึ่งของการบริหารจัดการแบบง่ายๆ เขาบอกว่าปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจต้องมี

1.ผู้บริหารและพนักงานที่ดี มีความสามารถ มีความซื่อสัตย์

2.มีเงินทุนเพียงพอ

3.มีสินค้าดี มีคุณภาพ มีตลาดให้ขายสินค้าได้

4.มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ

โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า

view