สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส่องกฎหมายค้าปลีก วอนมาจากคนทำงาน : คอลัมน์ส่องความคิด

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :บานาน่า:



ปัญหา เรื่องห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่กำลังจะทำให้ร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อ ที่เปิด 24 ชม. ตกที่นั่งลำบาก ยังคงไม่จางคลายไป เพราะกฎหมายที่ออกมา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

ล่าสุด เมื่อได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับ วิโรจน์ จุนประทีปทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ได้ให้ข้อคิดในฐานะที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการค้าปลีกมาจนอายุ 65 ปี ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้าน สะดวกซื้อ และร้านโชห่วยอยู่รวมกันในสังคมไทยต่อไปได้อย่างมีความสุขทุกฝ่าย โดยที่ผลประโยชน์สูงสุดตกเป็นของประชาชนคนไทย

ข้อเสนอของวิโรจน์ประกอบด้วย 1.กฎหมายที่จะออกมานี้จะต้องบังคับและเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างเท่า เทียมกัน เช่น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มอบส่วนลด ในปริมาณมาก เมื่อประชาชนไปซื้อสินค้าจะต้องซื้อสินค้าในปริมาณมากด้วย และต้องอยู่ห่างนอกเมืองไป 10–15 กม. เพื่อช่วยเหลือร้านสะดวกซื้อและร้านโชห่วยให้อยู่รอดได้

สำหรับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เปิดมาก่อนหน้าที่กฎหมายจะกำหนดให้ อยู่ห่างจากเมืองไป หรือความเป็นเมืองเกิดขึ้นรอบๆ ภายหลัง ก็ต้องการวางกฎในการเปิดปิดห้างโดยกำหนดให้เปิดช้าและปิดเร็วขึ้น เพื่อให้ร้านโชห่วยและร้านสะดวกซื้อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ใน ช่วงเวลาที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ปิด

นอกจากนี้ ร้านสะดวกซื้อก็อาจต้องถูกจำกัดเวลาในการเปิด โดยอาจจะไม่อนุญาตให้เปิด 24 ชม. หรือกำหนดให้เปิดได้ในเวลาที่ร้านโชห่วยปิด หรือกำหนดให้จำหน่ายสินค้าบางอย่างได้ในบางช่วงเวลา และจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายได้ในบางช่วงเวลา

2.การตั้งองค์กรกลางเพื่อช่วยเหลือร้านโชห่วยในแง่ของการแข่งขัน ทางด้านราคาปัจจุบัน เพราะร้านโชห่วยแยกกันซื้อในปริมาณน้อย ทำให้อำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าเป็นไปอย่างจำกัด สินค้าที่ซื้อมาขายจึงมีต้นทุนที่สูง ทำให้ต้องขายในราคาแพง เกิดช่องว่างระหว่างราคาสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่กับร้านโชห่วย จึงทำให้ ผู้บริโภคไม่ต้องการซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยหากไม่จำเป็นจริงๆ

ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการจะพยุงให้ร้านโชห่วยอยู่ต่อไปได้ ก็ควรจะตั้งองค์กรกลางขึ้นมาต่อรองทางด้านราคา หรือรับซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ในปริมาณมาก แล้วมาขายต่อให้ร้านโชห่วยในราคาถูก ทำให้ร้านโชห่วยขายสินค้าอย่างเดียวกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ในราคาที่ไม่ ห่างกันมากนัก ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคหันกลับมาซื้อสินค้าในร้านโชห่วยได้อย่างสบายใจมากขึ้น

3.รัฐบาลต้องให้ความรู้กับร้านโชห่วย เนื่องจากผู้ประกอบการร้านโชห่วยส่วนใหญ่ทำเพราะต้องการรายได้เสริม และคนทำส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับการทำตลาดค้าปลีกค่อนข้างน้อย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้กับผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องการจัดวางสินค้าให้เป็นระเบียบ หยิบจับง่าย การเลือกสินค้าที่หมุนเวียนเร็วมาวางจำหน่าย การทำบัญชีรายรับรายจ่าย การทำบัญชีของเข้าของออก เพื่อวางแผนจัดการในการซื้อครั้งต่อไป และสอนเรื่องการให้บริการว่าควรมีความสุภาพ อ่อนน้อม เพื่อมัดใจลูกค้าให้กลับมาซื้อบ่อยๆ เพียงเท่านี้ ร้านโชห่วยก็สามารถขายสู้กับร้านสะดวกซื้อได้แล้ว

4.มาตรการทางด้านภาษีด้วยการประเมินรายได้ เช่น ร้านโชห่วยร้านนี้คาดว่าจะมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 5 หมื่นบาท ยกเว้นภาษี 10% ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ถึง แต่ภาษีนี้กลับไปเก็บกับร้านสะดวกซื้อแทน ทำให้ร้านสะดวกซื้อจะต้องขายสินค้าในราคาที่แพงกว่าร้านโชห่วยเล็กน้อย เมื่อร้านสะดวกซื้อแข่งขันทางด้านราคากับร้านโชห่วยในบางรายการไม่ได้ ร้านสะดวกซื้อซึ่งมีกำลังทรัพย์ กำลังการต่อรอง และกำลังมีปัญหา จึงหาทางออกด้วยการขายสินค้าที่แตกต่างไปจากร้านโชห่วยก็จะอยู่ได้ เช่น อาจจะเน้นอาหารแช่แข็งที่ร้านโชห่วยไม่ขาย ขายหนังสือ หรือซีดี เป็นต้น

จากวิธีการแก้ปัญหา 4 ข้อดังกล่าว ดูแล้วก็น่าจะแก้ปัญหาให้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ และร้านโชห่วย สามารถอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข เพียงแต่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องจะยอมฟังตัวจริง เสียงจริงของคนที่อยู่ในวงการค้าปลีกหรือไม่ เพราะหากไปให้คนร่างกฎหมายค้าปลีกที่ไม่ได้อยู่ในวงการค้าปลีก ก็เป็นการแก้ปัญหาอย่างคนตาบอด ไม่รู้ว่าทางสว่างอยู่ที่ไหนกันแน่

วิโรจน์ ยังกล่าวย้ำว่า หากยังไม่แน่ใจก็สามารถไปเรียนรู้วิธีการจัดการของประเทศที่ห้างค้าปลีก ร้านโชห่วย และร้านสะดวกซื้ออยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข แล้วลองนำมาเปรียบเทียบใช้กับประเทศไทย เท่านี้ก็หาทางออกได้แล้ว

view