สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร้านเล็ก ใจใหญ่

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : พรชัย จันทโสก



ธุรกิจหนังสือถูกครอบงำด้วยสำนักพิมพ์ใหญ่และร้านเครือข่าย ที่ยืนของร้านหนังสือเล็กๆ อยู่ตรงไหนในวันที่คนไทยอ่านหนังสือน้อยกว่าอัพบล็อก

เวลา จะซื้อหาหนังสือดีๆ อ่านสักเล่ม จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องหอบสังขารไปถึงห้างสรรพสินค้าที่มีแต่คนพลุกพล่าน ถ้าในแต่ละชุมชนหรือหมู่บ้านมีร้านหนังสือเล็กๆ และขายหนังสือดีๆ...แค่สักครึ่งหนึ่งของร้านสะดวกซื้อ ก็คงดีไม่น้อย

แต่ในความจริงการที่ร้านหนังสือขนาดเล็กหรือ stand alone จะสามารถหยัดยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองนั้น ถือว่าค่อนข้างลำบากเพราะระบบธุรกิจหนังสือถูกกำหนดด้วยสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ และร้านหนังสือเครือข่าย (chain)

ฉะนั้น ร้านหนังสือขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่อยู่รอดมาได้ นอกจากใจและไม่ถือสาอะไรกับผลกำไรเท่าหยิบมือแล้ว

พวกเขามี "โปรโมชั่นพิเศษ" บางอย่างที่ร้านใหญ่ๆ ไม่มี
  
ตำนาน 'ร้านหนังสือเดินทาง'

คอนักอ่านทั้งหลายโดยเฉพาะแถวย่านบางลำพู-ถนนพระอาทิตย์ และถนนผ่านฟ้า-ย่านราชดำเนินนอก คงจะรู้จัก ร้านหนังสือเดินทาง (passport bookshop) เป็นอย่างดี ล่าสุด "หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง" หรือ หนุ่ม-อำนาจ รัตนมณี กำลังจะเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ คำถามของหลายๆ คนเริ่มผุดขึ้นทันที...แล้วร้านหนังสือของเขาล่ะ..จะปิดไปด้วยไหม!

เขาบอกข่าวดีว่าร้านหนังสือไม่ได้ปิด แต่ว่าจะมีน้องที่สนิทกันมาดูแลแทนช่วงที่เขาไปอยู่นิวซีแลนด์ 1 ปี เพื่อติดตามคนรักไป

'ร้านหนังสือเดินทาง' ในวันนี้ใช้เวลาเดินทางมาถึง 8 ปี ร้านหนังสือเล็กๆ น่ารักๆ แห่งนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของถนนสายพระอาทิตย์ แต่ปัจจุบันได้ย้ายบ้านใหม่มาอยู่ถนนผ่านฟ้า-ย่านราชดำเนินนอก

สมัยแรกๆ ของการเปิดร้านนับว่าลำบากมากทีเดียวเพราะธุรกิจหนังสือไม่ได้ปรานีปราศรัย กับร้านหนังสือเล็กๆ ของคนรักหนังสือคนหนึ่งเอาเสียเลย ยิ่งไปกว่านั้นการขายแทบจะไม่มีกลิ่นอายของการอ่านที่แสนเพลิดเพลินมากมาย นัก หรือพูดสั้นๆ ง่ายๆ ว่าคนอ่านหนังสือน้อย เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นเรื่องของใจรักและการทุ่มเทอย่างหนักด้วยการใช้ ชีวิตอยู่ที่ร้านทั้งกลางวันกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่หลอมรวมสิ่งที่รัก การงาน และชีวิตเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะให้ร้านมีลมหายใจอยู่รอดได้

"8 ปีที่ยืนด้วยตัวมันเอง ถ้าถามว่าอยู่ได้ด้วยรายละเอียดหรือเงื่อนไขแบบไหน ร้านหนังสือจำเป็นต้องมีหนังสืออย่างเดียวไหม ย้อนกลับไปตอนเริ่มต้นคิดที่จะทำร้านหนังสือนั้น คิดว่าต้องเป็นร้านที่อัดเข้าไปได้ทุกมิติ ทั้งตา หู กาย ใจ แต่รูปธรรมคืออะไร แทนที่ลูกค้าจะเข้ามาซื้อแล้วกลับเลย คือร้านของผมจะมีบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง จะมีของตกแต่งแปลกๆ มาขายด้วย มีชาและกาแฟไว้ขาย

"ผมว่าการมีลักษณะอย่างนี้อย่าคิดว่าเป็นเรื่องผิด เพราะน้ำชา-กาแฟกับร้านหนังสือเดินทางเป็นคอนเซ็ปท์เดียวกัน มันเป็นที่พักผ่อนของคนอารมณ์ใกล้เคียงกัน ร้านของผมอยู่ได้ด้วยลักษณะนี้แหละ บางคนมาแล้วไม่อยากรีบกลับ จะถามหาว่ามีกาแฟไหม การมีกาแฟไว้ในร้านหนังสือมันไม่ใช่เรื่องเแปลก เพราะทุกวันนี้ร้านขนาดใหญ่มีกันหมดแล้ว" หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง กล่าว

ลมหายใจเล็กๆ ท่ามกลางพายุใหญ่

หรือการขายอย่างอื่นในร้านหนังสือ จะเป็นการบอกอย่างสุภาพๆ ว่า "ขายหนังสืออย่างเดียว ร้านไปไม่รอด"? 

แต่กรณีร้านหนังสือเดินทาง ต้องวงเล็บต่อท้ายด้วยว่า ถ้าใจไม่รักและขาดแรงทุ่มเท

"ระบบหนังสือทุกวันนี้พื้นที่หน้าร้านกับหนังสือที่ผลิตออกมามันไม่สมดุล กัน ร้านขนาดใหญ่เขาจะให้พื้นที่หน้าร้านกับหนังสือของสำนักพิมพ์ตัวเองก่อน ถ้าหนังสือเล่มนี้ขายช้า ครบสามเดือนก็จะถูกคัดออกจากเชลฟ์ แม้ว่าจะเป็นหนังสือดีก็ตาม ถ้านักอ่านคนนั้นเข้ามาในร้านหลังจากสามเดือนก็จะไม่มีโอกาสได้เจอหนังสือ เล่มนี้

ฉะนั้น หนังสือที่หาไม่เจอในร้านอื่น กลายเป็นว่ามาหาเจอในร้านของผม จริงๆ มันไม่ได้พิเศษพิสดารอะไร แต่มันเป็นอย่างนี้เอง พอเราเอาตรงนั้นมาไว้ตรงนี้ กลายเป็นการสร้างสมดุลขึ้นมา เพราะระบบที่ใหญ่โตมันมีช่องว่างให้เราอยู่ ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสืออย่างเดียวเท่านั้น จับคาแรคเตอร์ให้ชัด ถ้าขายแบบยิงดะหรือจับฉ่ายมันก็อยู่ไม่ได้ และที่สำคัญผมจะเลือกหนังสือเข้ามาในร้านเอง" 

ด้าน กบ-ธัญกร เทียนธวัช เจ้าของร้านหนังสือตรงปากซอยเอกมัย 10 อย่าง ร้าน Blue Door หรือ ร้านประตูสีฟ้า ที่เพิ่งเปิดมาได้ 2 ปี เริ่มต้นจากความเป็นคนชอบอ่านหนังสือเช่นเดียวกับเพื่อนๆ ร่วมหุ้น

เธอเล่าว่า "ตอนเปิดร้านปีแรกๆ จะมีขายหนังสือเพียวๆ ส่วนกาแฟ เครื่องดื่ม และอาหารตามมาทีหลัง ถ้าขายหนังสือเพียงอย่างเดียว อยู่ไม่ได้"

เพราะลำพังตัวหนังสือ มีกำไรน้อย คนอ่านก็น้อย ฉะนั้น ประกอบกับมาร์จินแค่ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยิ่งอยู่ในทำเลใจกลางเมือง เค่าเช่าสูง ซึ่งต้องแลกมากับปริมาณคนเข้าร้าน ต่อมาร้านประตูสีฟ้าจึงต้องเพิ่มเมนูอาหารและกาแฟเข้าไป
"อย่างเดียวที่ยึดไว้คือความสุข น่าจะเป็นคล้ายๆ กันทุกร้าน" กบหมายถึงร้าน stand alone

ไม่ต่างจาก ภคนันท์ เสนาขันธ์ รุ่งแสง เจ้าของ ร้านบุ๊คมาร์ค (Bookmark) ตั้งอยู่ชั้น 1 อาคาร The Third Place Bangkok ย่านทองหล่อ ซอย 10 สะท้อนปัญหานี้ว่า

"เปิดมาได้ 2 ปี ขาดทุนมาตลอด ขนาดยังไม่รวมค่าเช่าเพราะบังเอิญเจ้าของตึกเป็นคนรู้จักกันเป็นการส่วนตัว และมีใจให้ร้านหนังสืออยู่แล้ว เขาเลยเจ้าของตึกยกพื้นที่ให้เราใช้ ถ้ารวมค่าเช่าด้วยตายเลย โดยธรรมชาติของร้านหนังสือ คนขายหนังสือกับคนทำหนังสือมันได้แค่ส่วนต่างจากเปอร์เซ็นต์ ราคาหนังสือมันแพงตั้งแต่ต้น ค่าแรงขั้นต่ำ 100 กว่าบาท หนังสือราคา 200 กว่าบาทมานานแล้ว คนที่อยากอ่านก็ไม่สามารถซื้อได้ จริงๆ หนังสือมันเป็นของฟุ่มเฟือย แต่เป็นของฟุ่มเฟือยทางปัญญา นักเขียนเองก็ได้เงินนิดเดียว โดนกดราคากันหมด"

ส่วนทางออกของปัญหานี้เธอบอกว่า ร้านหนังสือเล็กๆ ต้องรวมตัวกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เพราะทุกวันนี้โดนร้านใหญ่ควบคุมหมด

"ร้านพวกนี้นอกจากผลิตแล้วยังรับขายอีกด้วย ถ้าเป็นสำนักพิมพ์เดี่ยวๆ เล็กๆ ก็ไม่รับวางขาย เขามองเป็นธุรกิจอย่างเดียว โดยพื้นฐานแล้วร้านเล็กสู้ไม่ได้ ถ้าเกิดว่าจะสู้ให้อยู่ได้ก็ต้องสู้ด้วยเลือดเนื้อและหัวใจเท่านั้น คิดว่าร้านเล็กๆ ต้องมารวมกันเพื่อจะให้มีอำนาจในการต่อรอง"

ทุกวันนี้ ภคนันท์ เผยว่าร้านยังบุ๊คมาร์คเปิดต่อไปได้แบบ พออยู่-พอกิน
    
เอกลักษณ์โดดเด่น และเป็นมากกว่าลูกค้า

การสร้างบรรยากาศภายในร้านให้โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์และเป็นกันเองนั้น เป็นจุดแข็งสำคัญของร้านเล็กๆ

อย่าง "ร้านหนังสือเดินทาง" จะมีโปสการ์ดสวยๆ มาแขวนไว้ให้เลือกหยิบ ทั้งยังรับฝากขายหนังสือและของทำมือของคนหนุ่มสาว ขาดไม่ได้คือกาแฟหอมกรุ่นและของตกแต่งสวยงาม

"การเลือกทำเลผมยืนยันว่ามีผล เพราะตอนอยู่ถนนพระอาทิตย์ถือว่ารายได้ค่อนข้างดี แต่ว่าต้นทุนค่าเช่าร้านสูงมาก ค่าเช่าบังคับให้ผมต้องเปิดร้านตลอดทั้ง 7 วันเป็นเวลา 4 ปี ชีวิตอย่างนั้นมันไม่สมดุล พอย้ายมาอยู่ตรงปัจจุบัน ลูกค้าหายไปกว่าครึ่ง ลูกค้าเดิมยังตามมา ค่าเช่าก็นุ่มนวลมากกว่าเดิม พอเป็นอย่างนี้รู้สึกชีวิตมีความสุขมาก สามารถไปใช้ชีวิตอย่างอื่นได้ ไปว่ายน้ำ ไปเตะบอลได้" หนุ่ม เล่า

เช่นเดียวกับ "ร้านประตูสีฟ้า" ซึ่งเจ้าของร้านจะเป็นคนคัดเลือกหนังสือด้วยตัวเอง กบ-ธัญกร บอกว่า ความต่างอย่างหนึ่งของที่ร้าน คือ จะไม่จัดมุมเบสท์เซลเลอร์ แต่จะขายหนังสือหายาก หาร้าน(ใหญ่)อื่นๆ ไม่มี บรรยากาศในร้านถูกออกแบบให้รู้สึกสบาย ใช้ทำกิจกรรมต่างหรือจัดประชุมได้ 

"คิดว่าคนที่อยู่ในร้านนานที่สุดคือเรา ไม่ใช่ลูกค้า เพราะลูกค้าอย่างดีครึ่งวันเขาก็กลับ เลยทำให้มีบรรยากาศอย่างที่เราอยากอยู่ กลายเป็นการคัดสรรคนคอเดียวกัน เพื่อนกลายเป็นลูกค้า เดี๋ยวนี้คนมาแล้วได้กำไรอย่างหนึ่ง คือไม่เหงา นอนกินข้าวอ่านหนังสือได้สบาย ลูกค้าที่เจอระหว่างวันคือคนที่อยากเจอแล้ว ถามว่ามันคือกำไรอย่างหนึ่งไหม มันก็ใช่ บางทีต้องนิยามใหม่ ถ้าไปคิดทุกอย่างเป็นตัวเลขหมด คงอยู่ไม่ได้ เพราะว่าธุรกิจหนังสือที่เป็นอยู่มันไม่เอื้อ

หัวใจหลักคือความเอาจริงเอาจังกับมัน สำคัญกว่านั้นคืออย่าเฟค อย่าหลอกตัวเอง อย่าหลอกคนอื่น อย่าหลอกลูกค้า ถ้าเป็นอย่างนั้นจะอยู่ไม่ได้นานหรอก...

...ทำอย่างที่รู้สึกจริงๆ คนบางคนสัมผัสได้" นุ่มๆ จาก หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง

    * 10 เคล็ดลับการทำร้านหนังสือจาก Mr.QC

ผมจะให้คำแนะนำในการทำร้าน stand alone หรือว่าร้านหนังสือแบบโดดเดี่ยวผู้น่ารักได้ประมาณ 10 เคล็ดลับ ถ้ารอดก็โชคดีไป...แต่ถ้าไม่ไหวก็ตัวใครตัวมันนะครับ!!

1.สร้างความเป็นกันเองกับลูกค้า : ถ้าเป็นร้านหนังสือเปิดใหม่ในพื้นที่ตรงนั้น-ย่านนั้น คุณต้องสอบถามว่าเขาต้องการหนังสืออะไร ถ้าในร้านไม่มีจะต้องรีบสอบถามไปยังสำนักพิมพ์เพื่อจัดหามาให้และต้องทำให้ ลูกค้าเชื่อว่าไปที่ร้านอื่นไม่มี แต่ถ้ามาที่นี่ต้องได้แน่นอน...

2.การสร้างความซื่อสัตย์ : คิดว่าความซื่อสัตย์มีความสำคัญมาก แม้แต่แม่ค้าขายขนมยังต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้าในเรื่องของรสชาติและราคา

3.การศึกษาเรื่องทำเลที่ตั้งของร้าน : การเปิดร้านขายหนังสือทำเลมีส่วนสำคัญมากเหมือนกัน ถ้าทำเลดี มีคนพลุกพล่านและร้านหนังสือที่มีการตกแต่งที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะจะมี โอกาสแจ้งเกิดได้

4.การบริหารข้อมูลคลังสินค้า : การทำร้านหนังสือให้ประสบความสำเร็จนั้น มีความจำเป็นอย่างมากในเรื่องการบริหารคลังสินค้า เพราะในการทำธุรกิจสมัยใหม่คุณจะต้องควบคุมสินค้าคงคลังให้ดี

5.ต้องมีการวางแผนการจัดการและบริหารที่ดี : ถ้าสามารถควบคุมรายจ่ายเบื้องต้นได้ อาทิ 'ค่าเช่าพื้นที่' จะดีมาก นอกจากเรื่องการบริหารรายจ่ายแล้ว เรื่องบริหารหนังสือให้ทันกระแสความต้องการของลูกค้าก็สำคัญมาก

6.ทำธุรกิจร้านหนังสืออย่ามุ่งหวังเรื่องกำไรจนเกินไป : คนทำร้านหนังสือจนประสบความสำเร็จนั้นจะต้องเอาความสุขมาเป็นกำไรชีวิต มากกว่ากำไรเรื่องเงินทอง ต้องมีความรู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้ช่วยสร้างอนาคตให้กับ ผู้อ่านทั้งหลาย

7.ทำร้านหนังสือต้องมีคุณธรรม : หมายความว่าจะต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และที่สำคัญต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง

8.ทำร้านหนังสือต้องศึกษาให้รอบด้านก่อนจะเปิดกิจการ : การลงทุนทำธุรกิจสักอย่างต้องมีความพร้อมหลายๆ อย่างประกอบกัน ถ้าในหัวใจมีแค่ความอยากเพียงอย่างเดียวขอแนะนำว่าอย่าเสี่ยงดีกว่า เพราะอาจจะได้ไม่เท่าเสีย

9.อย่าทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านหนังสือของคุณซ้ำซากจำเจ : เพื่อทำให้ลูกค้าที่มาเลือกซื้อไม่เกิดความรู้สึกจำเจ ซ้ำซาก เจ้าของร้านที่ดีต้องพยายามสรรหาหนังสือดี น่าอ่าน เพื่อจูงใจลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ

10.อย่าไปกลัวร้านใหญ่ จงเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส : ไม่ต้องกลัวว่าจะสู้ร้านใหญ่ไม่ได้ เพราะอย่างน้อยร้านหนังสือของคุณก็เป็นอิสระกว่าในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อเอาใจลูกค้าในพื้นที่ ฉะนั้นโอกาสในการพลิกแพลงรูปแบบต่างๆ นั้นร้านเล็กมีโอกาสมากกว่า

(หมายเหตุ : Mr.QC เป็นนามปากกาเจ้าของคอลัมน์ 'ธุรกิจบนกองกระดาษ' ในหนังสือพิมพ์ 'จุดประกายวรรณกรรม-กรุงเทพธุรกิจ')

view