จากประชาชาติธุรกิจ
บทวิเคราะห์ สาเหตุที่คนไทยชื่นชอบ รายการ"คุยข่าว-เล่าข่าว" แบบสุด ๆ เบื้องหลังความสำเร็จของ ทีวี ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 นักวิชาการชี้เหมือนโซ้ยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กินง่าย โดนใจคนเมืองที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ และเข้าถึงวิถีชีวิตคนชนบทที่ชอบวิธีการสื่อสารแบบปากต่อปาก
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชาติออนไลน์ นำเสนอสกู๊ปพิเศษสุดฮอต เรื่อง สงครามข่าวบนจอทีวี ศึกชิงเรตติ้ง-เม็ดเงินโฆษณา โอกาสทองเศรษฐีใหม่ นักเล่าข่าว ปลายสัปดาห์ เราขอเสนอ บทวิเคราะห์ สาเหตุที่ คนไทย ชื่นชอบ รายการคุยข่าว เล่าข่าว แบบสุด ๆ เพื่อค้นหาเบื้องหลังความสำเร็จของ ทีวี ช่อง 3 ช่อง 7 และฟรีทีวีช่องอื่นๆ ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในสงครามข่าวผ่านจอแก้ว
.... ดร.พิรงรองรามสูต รณะนันทน์ อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้รายการเล่าข่าวเกิดขึ้นตามช่องฟรีทีวีในเมืองไทยอย่างดาษดื่นนั้น
1. เนื่องมาจากยุคนี้ได้ก้าวเข้าสู่ความเร่งรีบ มนุษย์ต้องทำงานแข่งกับเวลามากขึ้น เลยทำให้มีเวลาบริโภคข่าวจากสื่อทางอื่นน้อยลง พวกเขาจึงหันไปเสพข่าวที่มีรูปแบบย่อยข่าว เพราะแค่นั่งอยู่หน้าจอทีวีก็มีคนสรุปข่าวให้ฟังสามารถรับรู้เหตุการณ์ที่ เกิดขึ้นได้ทันที
และ 2. ถ้าเปรียบรายการเล่าข่าวเป็นอาหาร ก็เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่สะดวก กินง่าย ไม่มีขั้นตอนกรรมวิธียุ่งยาก ซึ่งรายการแบบนี้ นอกจากคนในเมืองจะชอบแล้ว มันยังได้เข้าไปในวิถีชีวิตคนชนบท ที่ชอบวิธีการสื่อสารแบบปากต่อปากด้วยเหมือนกัน จึงทำให้รายการประเภทนี้ได้กลายเป็นวัฒนธรรมการเล่าข่าวไปเสียแล้ว ขณะที่ ธีระ ธัญไพบูลย์ ผู้ประกาศข่าวรายการข่าวข้น คนข่าว และลูกหม้อเนชั่น เห็นว่าการมีรายการเล่าข่าว ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชน อย่างเมื่อก่อนโทรทัศน์ก็จะมีแต่การอ่านข่าวธรรมดา พูดไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทุกวันนี้การมีรายการเล่าข่าว ก็ทำให้ข่าวดูมีสีสันขึ้น เนื่องจากผู้สื่อข่าวสามารถใส่ความคิดเห็น และสามารถเล่าเท้าความถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์นั้นๆ ได้ ก็ถือว่าให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพิ่มเติม ยกตัวอย่างกรณีข่าวขโมยนอตเสาไฟฟ้า ถ้าผู้เล่าข่าวรู้ภูมิหลังของข่าวนี้ ก็สามารถบอกได้ว่า เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งนี้ มันเคยมีมาแล้ว 2-3 ครั้ง
ดังนั้น การมีรายการเล่าข่าวแบบนี้ บางคนก็อาจจะไม่ชอบ เนื่องจากชอบข่าวลักษณะแบบเดิมมากกว่า คือไม่ต้องใส่ความคิดเห็นของคนอ่านลงไป แต่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะชอบ เพราะข่าวแบบนี้ มันดูมีสีสัน ผู้ดำเนินรายการมีลูกรับลูกคู่กัน ดูแล้วทำให้พวกเขาเกิดอารมณ์ร่วมไปกับสถานการณ์นั้นๆ ด้วย
ธีระ อธิบายประโยชน์ของรายการเล่าข่าว ว่ามันสามารถอธิบายความซับซ้อนของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ให้คนดูเข้าใจได้ง่าย แต่ทั้งนี้ข่าวจะมีคุณค่าดูน่าเชื่อถือได้ ก็ต่อเมื่อคนเล่าทำการบ้านมาอย่างดี ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง มีการเรียบเรียงคำพูดเวลานำเสนอ ไม่เล่าข่าวแบบนกแก้วนกขุนทอง มีความเข้าใจในเรื่องที่เล่า สามารถเอาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันมาเทียบเคียงให้คนดูได้เห็น แต่ที่ผมพูดอย่างนี้ ผมก็ไม่ได้สรุปหรอกนะ ว่ารายการข่าวลักษณะไหนดีกว่ากัน สุภาพร โพธิ์แก้ว เห็นว่า รายการข่าวประเภทเล่าข่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรายการข่าวโทรทัศน์ที่ เดิมใช้ผู้ประกาศข่าว และผู้ประกาศข่าวจะต้องรักษาระยะห่างของตนเองกับผู้ชมโดยไม่เข้าไปเกี่ยว ข้องกับเนื้อหาของข่าว ไม่วิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลในข่าว มุ่งเสนอข่าวแบบตรงๆ ไปตรงมาเพราะจะต้องให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของข่าว อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบข่าวโทรทัศน์นั้นเริ่มต้นที่โทรทัศน์ ท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา ปี 1971 หน่วยงาน FCC ประกาศใช้กฏข้อบังคับว่าด้วยการเข้าถึงชั่วโมงไพรม์ไทม์ (Prime-time Access Rule หรือ PTAR) โดยมีจุดประสงค์สองประการ คือ หนึ่งเพื่อป้องกันสถานีแม่ผูกขาดเวลาออกอากาศในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด เนื่องจากในสมัยนั้นสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเป็นสถานีลูกสังกัดอยู่ในสถานีแม่ เครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องใช้ข่าวและสารคดีจากสถานีแม่ตลอดเวลา และสองเพื่อกระตุ้นสถานีท้องถิ่นให้ผลิตรายการของตัวเองให้มากขึ้น ทันทีที่ PTAR มีผลบังคับใช้ สถานีท้องถิ่นก็เริ่มคิดหาทางโดยใช้แหล่งเงินทุนจากผู้สนับสนุนรายการ เริ่มด้วยการดัดแปลงรายการข่าวท้องถิ่นของตนเองให้เป็นรายการสนุกสาน เบาๆ ไม่ซีเรียส ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง สามารถทำให้รายการข่าวซึ่งปกติเป็นรายการที่มีผู้ชมไม่มาก กลายเป็นรายการที่ขายได้ มีการแย่งผู้สนับสนันรายการกันรุนแรงไม่แพ้รายการประเภทอื่นๆ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับรายการข่าวคือ รูปแบบการนำเสนอและการออกแบบฉากโดยใช้กราฟิกแสงสีต่างๆ ให้ดูตระการตาขึ้น แต่ละสถานีแข่งกันตั้งชื่อรายการให้สะดุดหู เช่น "ABC News" "CBS News" Al Primoผู้อำนวยการข่าวของสถานีโทรทัศน์ WXYZ TV สถานีลูกในสังกัด ABC ที่เมือง Detroit กล่าวถึงหลักการสำคัญๆ ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในรายการข่าวว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างความรู้สึกร่วมกับคนดู ผู้สื่อข่าวจะต้องใช้วิธีพูดและวิธีเขียนข่าวซึ่งมีรายละเอียดมากพอที่จะทำ ให้ชาวบ้านทั่วไปนึกออกและเกิดอารมณ์คล้อยตามได้ และหลักการสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ทีมข่าวเองจะต้องรู้สึกสนุกและมีใจเป็นมิตรกับคนดู เพื่อว่าเวลารายงานข่าวต่อหน้ากล้อง จะได้ดูเป็นธรรมชาติ ไม่ฝืนและเกร็ง วิธีการของ Primo นี้ เรียกว่า "Happy talk" ซึ่งเฟื่องฟูมากในยุคนั้น นอกจากนั้น Primo ยังได้ใช้วิธีจัดลำดับข่าวแบบไม่ตายตัว ข่าวพยากรณ์อากาศ หรือข่าวกีฬาก็สามารถสลับขึ้นมาเป็นข่าวต้นๆ ได้ หากคิดว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ
ในสหรัฐอเมริกา เรียกรายการสนทนาข่าวว่า "Infotainment" หรือ "Soft News" เป็นธุรกิจนำเสนอข่าวในรูปแบบใหม่ที่ดึงดูดคนดูและโฆษณาด้วยการผสมผสาน ระหว่างการสื่อข่าวและความบันเทิงเข้าไว้ด้วยกัน รายการแบบ NEWS talk ในสหรัฐอเมริกานั้นมีลักษณะเป็นการหยิบยกประเด็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ที่เป็นประเด็นร้อนมาพูดถกเถียงกันเพื่อขยายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องจริงชีวิตจริงของผู้คน (Human Drama/ Human Interest) ซึ่งรวมถึงชีวิตของคนธรรมดาจนถึงคนดัง (Celebrity) ยิ่งเป็นเรื่องที่สามารถสร้างอารมณ์เข้าถึงให้กับคนดูได้ยิ่งเป็นที่นิยม นอกจากนี้รายการรูปแบบนี้จะมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาออกความคิดเห็นมา สัมภาษณ์ บางรายการมีการให้โทรศัพท์หรืออีเมล์เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นแบบสดๆ ประเด็นสำคัญที่รายการคุยข่าวบ้านเราถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ การใช้หนังสือพิมพ์มาอ่านในรายการ กิตติ สิงหาปัด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
"ผมคิดว่าหนังสือพิมพ์มีความจำเป็นในการนำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์บางครั้ง ผมเคยไปยุโรป ไปอเมริกา ที่นั่นตอนเช้าก็มีรายงานสดจากตรงโน้น รายงานสดจากตรงนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏว่าเอาหนังสือพิมพ์มาอ่านเหมือนเราเลย นี่คือวิวัฒนาการของการนำเสนอข่าว มันไปได้หมด ข้อมูลข่าวสาร จากนั้นมันก็มีเรื่องของเราต้องให้เกียรติกับหนังสือพิมพ์มากขึ้น ก็ต้องเอ่ยชื่อฉบับเขา แต่ก่อนไม่ได้บอกว่าเอามาจากไหนก็ต้องบอก ที่บอกว่าการหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่านมีความจำเป็นนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง บางเรื่องไว้เป็นฐานข้อมูล บางแหล่งในเวบไซต์ก็เอามาเพราะข้อมูลข่าวสารเป็นข้อมูลที่ต้องบริหารข้อมูล มากขึ้น" แต่ กิตติ สิงหาปัด กลับมองว่า "คุณจะมาอ่านหนังสือพิมพ์ให้คนอื่นฟังทำไม เพราะหนังสือพิมพ์ชาวบ้านก็อ่าน วิธีการถ้าคุณจะนำเสนอข่าวจากหนังสือพิมพ์ ก็เป็นเพียงแต่สำรวจบางประเด็น ซึ่งเราต้องการเปรียบเทียบว่าแต่ละฉบับมีการวางประเด็นต่างกันยังไง คุณต้องมีข่าวของคุณเอง คนอ่านเขาก็ต้องอ่านหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว คนที่ทำรายการต้องรู้ว่าข่าวในหนังสือพิมพ์น่ะมันเป็นข่าวที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เมื่อวาน หนังสือพิมพ์ถึงมาตีพิมพ์ แต่เราเป็นทีวี คุณเรียลไทม์ คุณทำไมเอาข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวาน 9 โมง มานั่งอ่านเช้าอีกวันหนึ่ง 7 - 8 โมง คุณเป็นทีวี คุณก็มีเหมือนกันก็ต้องไปหาเรื่องคืบหน้ากว่านั้นเอาภาพอย่างอื่นที่เป็นภาพ เคลื่อนไหวไม่ใช่ภาพนิ่งๆ ของหนังสือพิมพ์ มันฆ่าวิชาชีพตัวเองไงถ้าทำแบบนั้น มันเป็นวิธีที่ง่ายแต่ทำให้วงการไม่พัฒนา" ในขณะที่ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการ ′สยามเช้านี้′ แสดงความเห็นถึงรายการเล่าข่าวผ่านหน้ากระดาษในเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 764 ว่า เป็นการอธิบายข่าวที่เกิดขึ้นให้เห็นกลไก และวิเคราะห์ไปข้างหน้าว่าจะเดินไปอย่างไรมากกว่าการนำข่าวขึ้นมาอ่าน
"จะไปเล่าข่าวของเมื่อวานนี้ ก็จะเป็นข่าวที่มีอยู่แล้วในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับตอนเช้า ซึ่งแฟนประจำของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับเขาก็อ่านเองได้อยู่แล้ว โดยที่เราไม่ต้องนั่งอ่านให้ฟังอีกรอบ มีคนเคยตั้งข้อสังเกตให้ฟังเหมือนกันว่า แทนที่เราจะทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนหนึ่งแขนงให้เป็นกลไกส่งเสริมกัน กลายเป็นว่าโยนภาระสื่อมวลชนไปให้สิ่งพิมพ์ทั้งหมด"
เธอรู้สึกว่า โดยธรรมชาติ สื่อวิทยุและโทรทัศน์เป็นสื่อที่เร็วกว่าหนังสือพิมพ์หลายเท่า แต่ถ้าไม่ใช้ธรรมชาตินั้น แทนที่สิ่งพิมพ์จะพึ่งพาทีวีให้ช่วยตามข่าวให้เดินเร็วขึ้น จากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวสดๆ ใหม่ๆ หรือเปิดประเด็นวิเคราะห์เรื่องเพื่อเดินหน้ารับช่วงต่อกันไป ก็กลายเป็นว่าทีวีหันกลับไปพึ่งสิ่งพิมพ์อยู่ฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม เหตุผลนอกจากความง่าย ความสนุก ความเร็ว ความเป็นกันเองที่ทำให้รายการคุยข่าว "ฮิต/ป๊อป" ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญจากฝั่งผู้รับสาร (receiver) กล่าวโดยสรุป รายการแบบคุยหรือเล่าข่าวมีหน้าที่ที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. ช่วยอธิบายข่าว 2. ช่วยตีความและเลือกมุมที่จะวิเคราะห์มุมที่จะเพิ่มเติมและข้อสังเกต และ 3. ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ วัฒนะชัย ยะนินทร ได้ประมวลเหตุผล 10 ประการที่รายการ News talk ได้รับความนิยมไว้ดังนี้
1. ต้นทุนการผลิตรายการต่ำ
2. เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของสื่อทีวี เจาะขยายฐานกลุ่มคนดูได้กว้างขึ้น
3. เอเจนซี่ และสปอนเซอร์ตอบรับ ยิ่งนำพิธีกรคนดังมาเป็นผู้ดำเนินรายการ
4. คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ นิยมดูทีวีมากกว่า
5. กระแสการแข่งขันของสื่อทีวี ช่องไหนมี ช่องเราต้องมีด้วย
6. รายการข่าวมีอายุรายการยืนยาว เมื่อเปรียบเทียบกับละครที่มีตอนอวสาน
7. ผู้ชมนิยมดู เพราะฟังแล้วไม่เครียด
8. ชื่นชอบตัวพิธีกรข่าว
9. สามารถเลือกเสพข่าวสารได้สะดวก เพราะรายการข่าวจะคัดเลือกมานำเสนอ
10. การผลิตแบบข้ามสื่อด้วยการนำรายการข่าวผลิตโทรทัศน์มาออกอากาศวิทยุ ทำให้คนฟังกว้างขึ้น เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือจากฝั่งตัวสื่อสารมวลชนเอง (sender & channel) "การหลอมรวมสื่อ และ สัมพันธบทที่ไร้พรมแดนข้อมูลข่าวสาร" ที่ทำให้รายการคุยข่าวฮิตได้ ประการแรก - sender/ผู้ผลิตข่าวสาร ที่ในปัจจุบันเป็นทั้งนักข่าว ผู้ประกาศข่าว พิธีกร ซึ่งอาจทำทั้งข่าวหนังสือพิมพ์ อ่านข่าววิทยุ รายงานข่าวโทรทัศน์ เป็นผู้อ่านข่าว และวิเคราะห์ข่าวไปในตัว และเป็นพิธีกรรายการต่างๆ เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร และหลายคนเป็นดาราแลละพรีเซ็นเตอร์โฆษณาด้วย
ตัวผู้ส่งสาร ไม่ได้มี "บทบาท/ฟังก์ชั่น" เดียวอีกต่อไป หากแต่ผสมกลมกลืนบทบาทตนเองเข้ากับแวดวงอาชีพสื่อมวลชนแขนงต่างๆ อย่างกลมกลืน และใช้บทบาทเหบ่านี้อย่างชาญฉลาดในการนำเสนอตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญข่าวใน รายการข่าว ผ่านบุคลิกและความเป็นตัวของตัวเองอย่างมีมูลค่าทางการตลาด "สรุยทธ" มีความดุ เผ็ด เด็ด มัน
"กนก" มีความสนุก ตลก ประนีประนอม ไทยๆ
"ธีระ" มีความสุขุม คม นุ่ม ลึก การ "ขายตัวเอง" ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญข่าว ผู้เล่าข่าวที่มีความรู้ (บางรายมี เหมือนว่าจะรู้") นั้นกลายเป็น "สิ่งกระตุ้น/เรียกความสนใจ" จากผู้ชมได้มาก เพราะปัจจุบันเราไม่ได้ชมเฉพาะข้อเท็จจริงจากเนื้อหาข่าว แต่เรายังเสพติด "ความสนุกสนาน/กลวิธี/ลีลา/บุคลิก ของผู้เล่าข่าว" ด้วย
พิธีกร ข่าวจึงกลายมาเป็นผู้ที่มีอิทธิพล "เหนือ/เทียบเท่า" ตัวข่าว ข่าวมิใช่สินค้าเพียงอย่างเดียวในรายการ แต่ตัวพิธีกรก็เป็นตัวสินค้า คือมีความเป็น "แบรนด์" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สำหรับเทคนิคสร้าง "ความใกล้ชิด" นี้ "สรยุทธ" อธิบายไว้ในนิตยสาร Positioning Magazine มิถุนายน 2552 "ต้องมี Contact อะไรบางอย่าง ต้องสื่อสารกับคนดูเหมือนเขานั่งอยู่กับเรา สมัยก่อนบางวันผมทำรายการแล้วรู้สึกไม่สนุก เพราะรู้สึกว่า Contact เขาไม่ถึง ถ้าวันไหนสนุก ก็ Contact ถึง"
เขาเล่าได้มากขึ้นว่าหลักในการ Contact ให้ถึงผู้ชมคือ
1. มีพื้นฐานข่าว มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องใช้เวลา ต้องสร้าง และมันไม่มีทางลัด ทำให้การเล่าข่าวมาจากความเข้าใจ เนื้อหาอยู่ในหัว
2. มีความเป็นมนุษย์ พิธีกรข่าวไม่ใช่ผู้วิเศษ ผิดพลาดได้ เก่งและไม่รู้ได้ แต่ให้เป็นธรรมชาติ ไม่โอเวอร์ แต่ก็ต้องไม่จืด ข้อมูลจากการสำรวจของ AC Nielsen Media Research สำรวจออกมาว่า เหตุผลหลักๆ ในการเลื่อกรับชมข่าวคือ "พิธีกร" ส่วนปัจจัยด้านความรวดเร็ว การเกาะติดทันเหตุการณ์นั้น รองลงมา ขณะที่คุณภาพของข่าวด้านความน่าเชื่อถือ การวิเคราะห์ข่าวนั้นเป็นปัจจัยลำดับท้ายๆ
ตารางแสดง 5 เหตุผลแรกในการเลือกชมข่าวแต่ละช่อง
ช่อง/อันดับ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 เนชั่น แชนแนล ASTV
อันดับ 1 พิธีกร พิธีกร พิธีกร พิธีกร เกาะติดข่าวร้อน พร้อมรายงาน 24 ชม.
อันดับ 2 เกาะติดข่าวร้อน น่าเชื่อถือ รวดเร็วอัพเดต รวดเร็วอัพเดต น่าเชื่อถือ น่าเชื่อถือ
อันดับ 3 วิเคราะห์เชิงลึก วิเคราะห์เชิงลึก น่าเชื่อถือ เกาะติดข่าวร้อน วิเคราะห์เชิงลึก พิธีกรข่าว
อันดับ 4 รวดเร็วอัพเดต รวดเร็วอัพเดต เกาะติดข่าวร้อน น่าเชื่อถือ รวดเร็วอัพเดต เกาะติดข่าวร้อน
อันดับ 5 พร้อมรายงาน 24 ชม. เกาะติดข่าวร้อน วิเคราะห์เชิงลึก วิเคราะห์เชิงลึก ความเป็นช่องข่าว ความเป็นช่องข่าว
ที่มา : Nielsen ปี 2008 จากนิตยสาร Positioning Magazine
ประการที่สอง - channel/ช่องทางการสื่อสาร ปัจจุบันเราเสพข่าวผ่านสื่อต่างๆ มากกมาย ข่าวมิได้เป็น "สิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว-มีสังกัดที่อยู่ที่ชัดเจน" อีกต่อไปแล้ว ในอดีตเราสนใจข่าวๆ หนึ่งว่ามาจากไหน ฉบับไหน ช่องไหน ข่าวเป็นเหมือนสินค้า "ที่เกือบจะมีลิขสิทธิ์" เพราะการแข่งขันกันของสื่อที่ "เน้นที่ประเด็นเนื้อหา"
ในอดีตวัฒนธรรมการคัดลอกข่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการเสียเกียรติและอุดมการณ์วิชาชีพ แต่สำหรับยุคปัจจุบัน ไม่มีใครสนใจเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นเราจึงเห็นภาพพิธีกรข่าวหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่าน เปิดเว็บไซต์ข่าวอ่านพาดหัวข่าวเด่นของวัน การเชื่อมโยงสำนักข่าวต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ
ข่าวเป็นสินค้าที่ไร้ลิขสิทธิ์ ไร้พรมแดน เสรี และแพร่กระจายรวดเร็วมากขึ้นในโลกไซเบอร์สเปซ
เกิด แนวคิดเรื่อง "economics of news" หรือ การประหยัดจากข่าว ซึ่งเมื่อข่าวชิ้นหนึ่งๆ ถูกผลิตขึ้นมา ต้นทุนมีค่าคงที่ (เช่น 10,000 บาท) ข่าวชิ้นนี้ก็จะต้องถูกใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด ในรายการข่าวทั้งเช้า สาย บ่ายเย็น (ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของข่าว-แง่มุม-ประเด็น-ความยาวของข่าว) ในสื่อทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ ข้อความสั้น (sms) โดยที่ต้นทุนของข่าวยังมีค่าคงที่
ช่องการสื่อที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดนี้เป้นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนในรายการข่าวปัจจุบันจึงต่ำลง และง่ายที่จะเสพมากขึ้น
รายการ คุยข่าว ในสถานการณืปัจจุบันจึงเป็นรายการที่ "มีต้นทุนด้านเนื้อหาข่าวต่ำ แต่กลับมีต้นทุนทางด้านผู้เล่าข่าวสูง" ซึ่งเป็นภาวะที่สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพข่าวที่จะได้รับในปัจจุบัน
ข้อมูลจากการสำรวจ ของ AC Nielsen Media Research สำรวจความนิยม ส่วนแบ่งผู้ชม และอัตราค่าโฆษณาในรายการข่าว (ยกเว้นข่าวเบรก/ข่าวต้นชั่วโมง) ที่เรตติ้งสูงสุด 10 อันดับแรก ณ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2552 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมือง พบว่ามีเพียง 2 ช่องสถานีเท่านั้นที่มีความนิยมสูงสุดจากผู้ชม คือช่อง 7 และช่อง 3
รายการเรื่องเล่าเช้านี้ เป็นรายการที่มีส่วนแบ่งผู้ชมสูงสุด คือ 50% แม้ว่าช่อง 7 จะมีอัตราค่าโฆษณาโดยเฉลี่ยสูงกว่า แต่ก็เป็นเพราะ "อัตราค่าเช่าโดยรวม" มีสัดส่วนแพงกว่า เนื่องจากคนส่วนมากนิยมดูช่อง 7 ตารางสำรวจความนิยม ส่วนแบ่งผู้ชม และอัตราค่าโฆษณาในรายการข่าว
รายการ ช่อง เรตติ้ง สัดส่วนผู้ชม อัตราโฆษณาต่อนาที (บาท)
1. ข่าว 20.00 น. 7 9.8 41% 330,000
2. ข่าวภาคค่ำ 19.40 น. 7 8 33% 330,000
3. ข่าว 3 มิติ 3 7.5 35% 260,000
4. ข่าว 20.00 น. 3 6 25% 330,000
5. ประเด็นเด็ด 7 สี 7 4.7 20% 300,000
6. เรื่องเล่าเช้านี้ 3 4.3 50% 175,000
7. เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ 3 4.3 36% 230,000
8. เรื่องเด่นเย็นนี้ 3 3.1 27% 175,000
9. เที่ยงวันทันเหตุการณ์ 3 3 26% 120,000
10. ก๊วนข่าวเช้าวันหยุด 3 3 43% 150,000
ที่มา : POSITIONING รวบรวมจากข้อมูล AC Nielsen Media Research ตารางนี้แสดงให้เห็นว่ารายการข่าวเป็นรายการที่ "สามารถทำเงินได้" เพราะอัตราค่าโฆษณานี้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับรายการละคร การทำให้รายการข่าว "ขายได้" จึงสามารถกำหนดเวลาไพรม์ไทม์ใหม่ได้ ช่วงเวลาเช้า 06.00 - 08.00 น. จึงเป็นเวลาทองใหม่ (new prime time)
ทั้งหมดนี้เป็นทั้งปัจจัยเอื้อ และปัจจัยหนุนให้รายการคุยข่าว/เล่าข่าวในปัจุบัน "ฮิต" ติดกระแสจนยากที่จะยั้งอยู่ได้ ตารางสรุปคุณลักษณะของรายการข่าว/สนทนาข่าว/สนทนา คุณลักษณะ รายการข่าว รายการสนทนาข่าว รายการสนทนา
1. เนื้อหา " รายงานข่าวหนัก/เบาทุกประเภท
" เรียงลำดับข่าวตามแบบแผนที่ตายตัว " นำเสนอเรื่องราวทีอยู่ในความสนใจของคนดู (human interest)
" สาระเบาๆ, เน้นปัญหาสังคม, หากเป็นข่าวการเมือง/เศรษฐกิจจะนำเสนอแบบผิวเผิน
" ไม่เรียงลำดับข่าวตามแบบแผนที่ตายตัว " นำเสนอเรื่องราวที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกร่วมในรายการ
" เน้นเสนอเรื่องราวเพียงไม่กี่ประเด็นใน 1 ตอนออกอากาศ
2. ผู้ประกาศข่าว/พิธีกร " มีเพียงคนเดียวหรือมากกว่า 1 คนก็ได้
" มีหน้าที่อ่านข่าวตามบทที่มีผู้เขียนและผ่านการตรวจแก้จากบรรณาธิการข่าว " มักมีพิธีกรมากกว่า 1 คน ได้แก่ พิธีกรหลักและพิธีกรรอง
" มีหน้าที่ในการอธิบายเรื่องราวและบอกที่มาที่ไปของข่าว แสดงความคิดเห็นในข่าว
" มีลักษณะผสมผสานระหว่างพิธีกรรายการสนทนากับผู้ประกาศข่าว
" เล่าข่าวด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย " มักใช้พิธีกรมากกว่าหนึ่งคน
" เน้นที่ให้ความสำคัญกับตัวพิธีกร
" ทำหน้าที่พูดคุยกับผู้ร่วมรายการ
3. แขกรับเชิญและผู้ร่วมรายการ " ไม่มี " ไม่มี เพราะเน้นทีให้ตัวพิธีกร หรือ ผู้ดำเนินรายการเป็นจุดเด่นของรายการ " แขกรับเชิญเป็นจุดเด่นที่ทำให้ รายการน่าสนใจ
4. บรรยากาศในรายการ " เป็นทางการ
" ไม่เน้นฉากใหญ่โต อลังการเพื่อดึงความเข้าใจจากผู้ชม " เน้นเล่าเรื่องเพื่อสร้างความบันเทิง สนุกสนาน และง่ายต่อการติดตาม
" ไม่เน้นฉากใหญ่โต อลังการ " ให้ความสำคัญกับฉาก เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกตื่นตาตื่นใจ
5. สไตล์และรูปแบบการนำเสนอ " แบ่งตามเกณฑ์เวลาออกอากาศ เช่น ข่าวเช้า กลางวัน ข่าวไพรม์ไทม์
" แบ่งตามเกณฑ์เนื้อหา เช่น รายการข่าวหนัก, รายการข่าวเบา " ขึ้นอยู่กับรสนิยมของกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย
" มี การวิจารณ์ว่าผู้ประกาศข่าวเหล่านี้ไม่ใช่ "นักข่าว" ที่แท้จริง แต่เป็นเพียงแค่ "News Actors" หรือนักแสดงสื่อข่าวที่มีความสามารถในการแสดงให้ผู้ชมเชื่อว่ามีความน่า เชื่อถือในการนำเสนอข่าวมากกว่าที่จะเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในจิต วิญญาณของผู้สื่อข่าว " ขึ้นอยู่กับรสนิยมของกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย
6. เวลาออกอากาศ " ออกอากาศสด " ออกอากาศสด " สดหรือบันทึกเทป เหตุ-ผลของการกำเนิดรายการคุยข่าว/เล่าข่าวที่มักใช้อธิบายกันคือ
1) ด้วยภาวะสังคมที่เร่งรีบ บวกด้วยปริมาณข้อมูลข่าวสารที่มีมากมากจนไม่สามารถมีเวลาให้กับมันได้ทั้งหมด
2) (สถานีโทรทัศน์) จึงกำหนดให้ผู้ประกาศข่าวเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้เรียบเรียง/ย่อย/ข่าวสาร ข้อมูลปริมาณมหาศาลนั้นให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายๆ สบายๆ เข้าใจได้ง่าย เพราะผู้เล่าข่าวจะอธิบายเล่าเรื่องข่าวสารที่ยากๆ นั้นให้ง่ายขึ้น
และ 3) ด้วยเพราะสังคมไทยเป็นสังคมของการพูด (มุขปาถะ) ไม่ใช่สังคมของการอ่าน
เหล่านี้จึงที่มาของความนิยมในรายการคุยข่าว/เล่าข่าวในปัจจุบัน เพราะตอบสนองสังคมผู้ชมได้ ข้อดีของรายการคุยข่าวเล่าข่าวต่อผู้ชม คือ ช่วยให้ผู้ชมติดตามข่าวมากขึ้น (อาจเป็นเพราะข่าวถูกย่อยให้ง่ายขึ้น และสนุกขึ้นเพราะผู้เล่าสนุก เล่าเก่ง ตลก เป็นกันเอง)
ข้อดีของรายการคุยข่าวเล่าข่าวต่อผู้ผลิต คือง่าย สะดวก ถูก และกำไรดี แต่ประเด็นปัญหาสำหรับรายการคุยข่าวเล่าข่าวในทางวารสารศาสตร์คือ
1) การผสมปนเปกันระหว่าง "ข้อเท็จจริง" กับ "ความคิดเห็น" กล่าวคือ ผู้เล่า/คุยข่าวจะนำเสนอข้อมูลที่เป็นเนื้อข่าวปนไปกับคามคิดเห็นความรู้สึก ส่วนตัวของผู้เล่า เนื่องจาก "กลวิธีการเล่าเรื่อง" คือการที่ผู้เล่าจะต้อง "ทำความเข้าใจ/จำ/รับรู้เรื่องราวข้อมูลนั้นๆ" จากนั้นจึง "แปลงสารออกมาในรูปแบบของความเข้าใจของตนเอง" ซึ่งในกระบวนการทำความเข้าใจนี้เองที่มีการ "ตีความส่วนตัว" และเป็นช่องว่างให้ความคิดความรู้สึกส่วนตัวของผู้เล่าปะปนมาในเนื้อหาข่าว เพราะรายการ(อ่าน/รายงาน) ข่าว คือ
= ผู้ประกาศ + ข่าว + ด้วยวิธีการรายงาน + ปราศจากคติ/ความคิดเห็น
= news anchors + news + report + without bias and opinion
= ข้อเท็จจริง (facts) - ภายใต้บรรยากาศเคร่งขรึม จริงจัง เป็นทางการ แต่ รายการ(คุย/เล่า) ข่าว คือ
= พิธีกรข่าว + ข่าว + ด้วยวิธีการเล่าเรื่อง + มีอคติ/ความคิดเห็น
= news actors + news +narrative + with bias and opinion
= ข้อคิดเห็น (opinion) - ภายใต้บรรยากาศเป็นกันเอง สบายๆ ไม่เป็นทางการ เมื่อข่าวไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่มีความคิดเห็นเข้ามาปะปน ข่าวจึงไม่ใช่ข่าว แต่เป็นความเข้าใจของผู้เล่าซึ่งอาจมีอคติ/ความคิดเห็นในเชิงตัดสินให้คุณ ให้โทษ 2) ก่อให้เกิดภาวะชี้นำความคิดทางสังคมให้ไปในทางใดทางหนึ่งได้ เพราะข้อมูลในรายการคุยข่าวเป็นข้อคิดเห็นที่มีส่วนของข้อเท็จจริงและความ คิดเห็นปะปนมาด้วย ผ่านลีลาการคุยข่าวการเล่าข่าว ซึ่งลีลาการคุยเหล่านี้ล้วนแฝงความคิดเชิงคุณค่า การที่เรารับชมข่าวเหล่านี้ซึ่งมีความสนุกสนาน ความตลก ความเบา ความง่าย ความหวือหวา ผ่านการเล่าเรื่อง จบข่าวหนึ่งชิ้นก็เชื่อมโยงต่อกับข่าวอีกชิ้น และบางครั้งก็กลับมาพูดคุยถึงข่าวอีกชิ้นก่อนหน้านี้ หรือเชื่อมโยงกับประสบการณ์ชีวิต ทัศนคติส่วนตัวของผู้เล่า ก็ย่อมที่จะมีความโน้มเอียงในข้อมูลนั้น ผู้ชมที่รู้ไม่เท่าทัน หรือรู้เท่าทันแต่ด้วยภาวะเวลาที่เร่งรีบ ไม่มีเวลานั่งคิดพิจารณาข้อเท็จจริง ก็มักจะเชื่อเอาตามที่ผู้เล่า
และ ยิ่งสื่อโทรทัศน์เปลี่ยนรายการข่าวแบบอ่านรายงานปกติมาเป็นแบบคุยข่าว/เล่า ข่าวกันหมด ปัจจุบันคงเหลือการรายงานข่าวแบบอ่านข่าวเพียงไม่กี่รายการ บางช่องมีเฉพาะการรายงานข่าวพระราชสำนักและข่าวต้นชั่วโมงเท่านั้น 3) ก่อให้เกิดภาวะการขาดความหลากหลายของ/ข้อมูลความคิดเห็น เพราะรายการคุยข่าว/เล่าข่าวปัจจุบันที่ปรากกฎในสื่อโทรทัศน์เกือบทุกช่อง /ทุกรายการนั้นนำข้อมูลมาจากสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อเย็น (หนังสือพิมพ์คือสื่อเย็นเพราะ ซื้อวันนี้ ตีตราวันพรุ่งนี้ แต่เนื้อหาของเมื่อวานนี้ ขณะที่สื่อโทรทัศน์นั้นสามารถอาศัยความได้เปรียบที่สามารถรายงานสดได้) เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นการทำลายคุณสมบัติเด่นของสื่อโทรทัศน์เรื่องความสด ทันสมัย และด้วยความมักง่ายของการผลิตรายการคุยข่าวที่เพียงคัดเลือกเอาข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับ (ซึ่งความหลากหลายของข่าวสารในหนังสือพิมพ์ก็มีอยู่ระดับหนึ่ง) เมื่อผู้คุยข่าวหยิบเอาข่าวเด่นๆ ที่มีในเกือบๆ ทุกฉบับมาเล่ารายงาน จึงทำให้แทนที่ข่าวในสื่อโทรทัศน์จะมีภาพ มีข้อมูลที่แตกต่าง รอบด้าน มีความหลากหลายที่เพิ่มขึ้นจากสื่อหนังสือพิมพ์ กลับไม่มี
หนังสือพิมพ์นั้น ข่าวชิ้นเดียวกันยังมีให้เลือกอ่านจากหลายๆ ฉบับ แต่ละฉบับก็มีการคัดเลือกข่าวมาตีพิมพ์แตกต่างกันตามแต่บรรณาธิการของตน แต่ผู้คุยข่าวเล่าข่าวกลับมีเพียงไม่กี่คน บางคนก็ปรากฏตัวในหลายช่องกลายเป็นผู้กำหนดความคิดให้กับสังคมไป เพราะกระทำตนเป็นผู้คัดเลือกข่าวสารคนที่สองซึ่งก็เลือกข่าวจากบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ต่างๆ นั้นเอง 4) เกิดภาวะปรสิตในระบบข้อมูลข่าวสาร ทำให้ระบบสื่อสารมวลชน/สังคมไม่พัฒนา เนื่องจากกระบวนการคัดลอก/ผลิตซ้ำ/ข่าวสารจากหนังสือพิมพ์สู่สื่อโทรทัศน์ ทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังกันระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเอง เพราะผู้เล่าข่าวผ่านสื่อโทรทัศน์มิได้ต้องรับผิดชอบการทำข่าว เพียงแต่ทำหน้าที่อ่านและรายงาน เมื่อมิได้ทำข่าวเอง จึงมิจำเป็นต้องร่วมรับผิดชอบหรือมีความรู้สึกตระหนักต่อความยากลำบากในการ ทำข่าวที่ต้องลงไปค้นคว้าข้อมูลบุคคลจากการสัมภาษณ์ ไม่ต้องลงแรงไปสืบค้นข้อมูลเอกสาร ภาพถ่าย มิต้องเผชิญกับ "ภาวะอันตรายจากการทำข่าว" เพียงแต่ซื้อหนังสือพิมพ์วันละไม่กี่ร้อย ก็สามารถทำรายการข่าวและขายเวลาโฆษณาได้นาทีละแสนสองแสนบาท ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการผลิตข่าวที่มีคุณภาพ เช่นข่าวเจาะ ข่าวสืบสวน ข่าวคอร์รัปชั่น ที่ควรแจกจ่ายให้กับทีมข่าวซึ่งมีหลายชีวิตเพื่อการพัฒนาการทำข่าว กลับตกไปอยู่กับค่าตัวของผู้เล่าข่าว/คุยข่าวค่าตัวแพงไม่กี่คน ภาวะปรสิตสื่อนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานข่าวโทรทัศน์แบบรายการคุยข่าว/เล่าข่าวย่อมขาดความเข้าใจ และตระหนักในจรรยาบรรณ จริยธรรมทางวิชาชีพไป หรือคำนึงถึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
เมื่อไม่ได้ทำข่าวเอง ก็ไม่ตระหนักในจริยธรรมสื่อมวลชนและความรับผิดชอบต่อสังคม
เมื่อไม่ต้องรับผิดชอบต่อสื่อสังคม ก็ทำให้สังคมไม่พัฒนาไปในทางที่ควรจะเป็น
ใน ระบอบสังคมแบบประชาธิปไตย ความหลากหลายของข้อมูลและความคิดเห็น เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่หากผู้ชมเปิดหน้าจอโทรทัศน์และเจอแต่รายการคุยข่าวเล่าข่าว ก็ทำให้ผู้ชมขาดทางเลือกในการรับชมข่าวสารข้อเท็จจริงล้วนๆ ไป กลายเป็นสังคมข้อมูลข่าวสารที่มีความคิดเห็นปนเปื้อน บิดเบือน 5) ปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในรายการคุยข่าว/เล่าข่าว เช่น เรื่องโฆษณาแฝงที่มีในรายการ การโฆษณาที่ยาวเกินกว่าที่กำหนดไว้ เช่นโฆษณาข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมห้างร้านต่างๆ การแจกทั้งเสื้อ ทั้งหนังสือหรือของขวัญร่วมสนุกกับผู้ชมทางบ้าน การตั้งคำถามผ่านระบบข้อความสั้น หรือการแสดงความคิดเห็นผ่านรายการ ที่อาจไม่ค่อยเป็นประโยชน์ต่อเนื้อหาข่าวมากเท่ายุคแรกเริ่มของกิจกรรมนี้ Bonnie Anderson อดีตผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NBC และ CNN ได้กล่าวไว้ในหนังสือ News Flash ว่า "ฉันเรียกคนเหล่านี้ว่า นักแสดงสื่อข่าว เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือ ให้คนดูที่ตัวของพวกเขา ไม่ใช่เนื้อหาสาระของข่าว" และถ้าคนดูติดรายการ เรตติ้งเพิ่ม เงินเพิ่ม ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง (celebrity) ภายในระยะเวลาอันสั้น มีรายได้ค่าตัวแพง ๆ ทั้งหมดอาจแสดงให้เห็นภาพว่า ขณะที่เรากำลังมีการปฏิวัติทางเทคโนโลยี เข้าสู่ยุค 3.0 ที่ซึ่งข้อจำกัดทางเทคโนโลยีไม่มีความหมายอีกต่อไป เราเรียกมันว่าการพัฒนา แต่ขณะเดียวกันคุณภาพข่าวสารกลับเป็นสิ่งที่เราไม่ให้ความสำคัญกับมันอีกต่อ ไป
ความเป็นห่วงว่ารายการคุยข่าวจะมาชี้นำความคิดผู้คนในสังคมนั้น มีส่วนจริงอยู่มิน้อย แต่การแก้ไขปัญหาที่โยนให้สมาคมวิชาชีพลงมารับผิดชอบนั้น อาจไม่เพียงพอ องค์กรสื่อโทรทัศน์นั่นเองที่ควรรับเอาเรื่องนี้ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพราะประเด็นปัญหาทางวารสารศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากรายการคุยข่าวเล่าข่าวนั้น มิใช่เรื่องที่ "เบาๆ สนุกๆ ไม่ซีเรียส" แต่กลับเต็มไปด้วย "ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมข้อมูลข่าวสารที่อ่อนเปลี้ยและอันตรายในสังคม ประชาธิปไตย" รายการคุยข่าวทำให้ผู้ชมเสพติดความคิดเห็น มิใช่ ข้อเท็จจริงอีกต่อไป
.................................................................................................
( หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้ มาจากงานวิจัยของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) )