สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

7 วันกับฮีตโธรว์ : ส่องเศรษฐกิจโลก

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ฐาปนา:



ต้อง ยอมรับว่า “ทำเท่” จริงๆ สำหรับท่าอากาศยานลอนดอนฮีตโธรว์ ที่หลังจากถูกตำหนิติติงในสารพัดเรื่อง ในที่สุดผู้บริหารก็ตัดสินใจทำการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่ ด้วยการว่าจ้างนักเขียน อลาน เดอ บอตทอน ให้มาใช้ชีวิต กิน นอน สอดส่องสายตาไปทั่วทั้งอาคารผู้โดยสารที่ 5 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนจะออกไปเขียนเป็นหนังสือ เพื่อบรรยายให้ผู้อ่านได้เห็นภาพตามไปด้วยว่า เทอร์มินัล 5 ก็มีดีกับเขาเหมือนกัน

อันว่าเทอร์มินัล 5 ของสนามบิน ฮีตโธรว์นี้ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ต้นปี ด้วยสารพันปัญหา ตั้งแต่เริ่มต้นก็เกิดระบบขนส่งกระเป๋าผู้โดยสารขัดข้อง ทำให้กระเป๋ามาช้า กระเป๋าหาย และเรื่อยไปจนถึงเป็นเหตุที่ทำให้หลายเที่ยวบินต้องเลื่อน หรือยกเลิกไป

เรียกได้ว่าเริ่มต้นมาไม่ค่อยจะดีนัก สำหรับอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่แห่งนี้ที่ ผู้บริหารของสนามบินฮีตโธรว์ตั้งใจจะให้เป็นดาวเด่น ด้วยการออกแบบมาอย่างทันสมัย และพรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

อย่าง ไรก็ตาม แม้ว่าเทอร์มินัล 5 นี้ จะเปิดให้บริการแล้ว แต่ก็ยังไม่เต็มรูปแบบนัก เพราะยังจะต้องทำโน่นนิด นี่หน่อยเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยคาดว่าจะมีการเปิดให้บริการแบบเต็มประสิทธิภาพจริงๆ ในปี 2558 ซึ่งจะมีทั้งโรงแรมขนาดใหญ่ให้บริการ แก่ผู้โดยสารด้วย

แต่ตอนนี้หลังจากเริ่มด้วยฤกษ์ไม่สวย ก็เลยต้องหาทางประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรู้ ถึงความมีดีที่มีอยู่ก่อน การที่สนามบิน ฮีตโธรว์จ้างบอตทอนมา ก็ด้วยเป้าหมายให้เขาเขียนประสบการณ์การเดินทางอย่างทันสมัย การใช้ชีวิตแบบผู้โดยสารที่มีอะไรให้ทำเยอะแยะ มากกว่าการเข้าแถวรอ

งานนี้บอตทอนต้องเดินไปเดินมาในอาคารผู้โดยสารขาออก สัมภาษณ์ผู้โดยสาร พนักงานของท่าอากาศยาน และของ สายการบินต่างๆ รวมถึงศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในฮีตโธรว์อย่างละเอียด

บอตทอน ซึ่งเป็นนักเขียนขายดีคนหนึ่งบอกว่า ตามสัญญาที่สนามบินฮีตโธรว์จ้างให้มาเขียนหนังสือนี้ เป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เจ้าหน้าที่ของสนามบินจะ ต้องให้ความร่วมมือให้เขาเข้าถึงทุกจุดที่ต้องการ รวมทั้งให้สิทธิในการเขียนอะไร ก็ได้ที่อยากจะเขียน แม้ว่าเขาจะไปเจอจุดอ่อนของสนามบินเข้าให้ก็ตาม

เรียกว่าผู้บริหารฮีตโธรว์มั่นอกมั่นใจในบริการ และตัวสนามบินมาก ถึงกับเปิด ไฟเขียวให้บอตทอนเขียนแบบไหนก็ได้ และผู้บริหารก็เชื่อว่า โครงการนี้จะทำให้ ผู้อ่านเห็นภาพรวมของสนามบินได้กว้างขึ้น ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง

สำหรับตัวนักเขียนเอง บอตทอนบอกว่า ตามปกติแล้วสนามบินเป็นสถานที่ซึ่งคนไม่ค่อยอยากไป เพราะคิดว่าต้องทนทรมานกับการเข้าแถวรอ และเสียเวลามาก แต่ตัวเขาเองยังเห็นว่า สนามบินเป็นสถานที่ น่าสนใจ น่าพิศวง โดยเฉพาะฮีตโธรว์ เทอร์มินัล 5 ที่มีการออกแบบ และใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาให้บริการ ในขณะเดียวกันสนามบินก็เป็นแหล่งที่น่าสนใจในความหลากหลายของผู้คน

“ถ้าต้องการให้มนุษย์ดาวอังคารไปไหนสักแห่ง ที่สามารถเห็นความแตกต่างของมนุษย์ เห็นจุดต่ำสุด และสูงสุดของผู้คน เห็นความทันสมัย ก็ต้องมาสนามบิน” เขากล่าว

ที่ผ่านมาฮีตโธรว์ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่ง ในสนามบินที่ยุ่ง วุ่นวายที่สุดแห่งหนึ่ง ของยุโรป เพราะมีผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนมาก

ไมค์ บราวน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของสนามบินฮีตโธรว์บอกว่า การเปิดสนามบินให้นักเขียนเข้ามาดู เพื่อเขียนหนังสือถึงตัวสนามบิน เป็นก้าวที่กล้าหาญ ท้าทาย และไม่ว่าอะไรก็ตามที่บอตทอนเห็นในสนามบินแห่งนี้ จะถูกเขียนลงในหนังสือ ที่จะตีพิมพ์ในเดือน ก.ย.นี้ โดยหนังสือจำนวน 1,000 เล่มแรกจะถูกนำมาแจกฟรีให้ผู้โดยสารในสนามบิน ฮีตโธรว์ได้อ่านกัน เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีอะไรดีๆ ในสนามบินแห่งนี้บ้าง

อันที่จริงแนวคิดในเรื่องการให้นักเขียนมาเขียนเรื่องราวเชิงประชา สัมพันธ์ให้นี้ ไม่ได้มีเฉพาะที่สนามบินฮีตโธรว์เท่านั้น แต่เป็นแนวคิดที่มีการทำมาแล้วกับสถานที่หลายแห่ง อย่างที่โด่งดังที่สุดก็ตอนที่รัฐบาลควีนส์แลนด์ ของออสเตรเลีย ประกาศหา ผู้มาทำงานที่ดีที่สุดในโลก คือเที่ยวอย่างเดียวเป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมเงินเดือนสูง ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องเขียนเรื่องราวประสบการณ์การเที่ยวให้ทั่วโลกได้รู้

นอกจากนั้น ห้างสรรพสินค้าบางแห่ง โรงแรมหรู ฯลฯ ต่างก็พากันใช้บริการของนักเขียน ที่ถูกเชื้อเชิญให้มาทดลองบริการจริงๆ แล้วเขียนเป็นประสบการณ์ดีๆ ออกมา แนวคิดของสนามบินฮีตโธรว์จึงไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่ก็ยังถือว่าเป็นแนวคิดที่ยังใช้ได้ ขายได้ และเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ดี

ประเทศไทยเราเองก็ยังอาจจะ “ขอยืม” แนวคิดนี้มาใช้ได้กับหลายๆ เรื่อง เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ระยะหลังๆ มานี้ก็มีปัญหาไม่ใช่น้อย รวมทั้งอาจจะปรับใช้แนวคิดไปสู่การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น เชิญรายกาโทรทัศน์ต่างประเทศมาถ่ายทำรายการ ฯลฯ ซึ่งปกติก็มีการทำกันอยู่แล้ว แต่คงต้องทำให้ถี่ขึ้น และจุดสำคัญคือ การเปิดโอกาสให้สื่อ หรือนักเขียนได้แสดงออกอย่างเต็มที่ อะไรดีก็ว่าไปตามดี อะไรไม่ดีก็ต้องเปิดโอกาสให้มีการกล่าวถึง

ผู้ประกอบการในหลายกิจการ ไม่ค่อยยอมให้มีคนกล่าวถึงในเรื่องไม่ดี ทั้งๆ ที่หากรับฟังอย่างเปิดใจแล้ว การรับรู้ รับทราบถึงเรื่องที่ไม่ดีภายในธุรกิจของตนเองนั้น จะทำให้ได้โอกาสในการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น อย่างเช่นในกรณีของบอตทอนกับสนามบินฮีตโธรว์ ซึ่งมีข้อตกลงยอมให้เขียนอะไรก็ได้ตามที่นักเขียนได้เจอ ก็จะเป็นการบอกกับ ผู้อ่านว่า แม้บทความนี้จะเกิดขึ้นเพราะความต้องการประชาสัมพันธ์สนามบิน ฮีตโธรว์ แต่ก็เป็นไปภายใต้มาตรฐานของการเป็นสื่อมวลชนที่ดี และพร้อมรับฟังความเห็นทั้งสองด้าน ไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดอาการ “เอียน” กับการยัดเยียดว่าอะไรก็ดีไปหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่นักประชาสัมพันธ์รุ่น ใหม่ควรจะใส่ใจ และนำไปปฏิบัติ

view