สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อุปสรรคในการกู้เงิน

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์:


ผ่านไปแล้วกับงานแถลงข่าวใหญ่ของกระทรวงการคลังกับมาตรการอัดฉีดสินเชื่อเข้าสู่ระบบชนิดรวดเร็วทันใจที่เรียกว่า... สินเชื่อฟาสต์แทร็ก...

งานนี้ทั้ง 6 ธนาคารรัฐถือว่างานเข้าเต็มๆ มือ เพราะนอกจากต้องฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศ กู้ยืมแล้ว ยังต้องเร่งสปีดการทำงานให้เร็วถึงเร็วที่สุดอีกด้วย

ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายคงจะหนาวกันพอสมควร ถ้าหากยังไม่ลุกขึ้นมาขยับตัวกันบ้าง...มีหวังถูกแย่งตลาดไปไม่น้อย แถมลูกค้าดีๆ ก็อาจเปลี่ยนใจไปใช้บริการของธนาคารรัฐกันบ้างนะครับ

สำหรับธนาคารรัฐจะสามารถให้บริการได้รวดเร็วทันใจสมดั่งชื่อโครงการหรือไม่อย่างไรนั้น...ผมว่าคงต้องแฟร์ๆ กันทุกฝ่าย หมายความว่า...ธนาคารกับลูกค้าคงต้องร่วมด้วยช่วยกันคนละครึ่งถึงจะวิน-วิน

ลูกค้าเองก็คงต้องช่วยตระเตรียมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกคนก็คงจะทราบดีว่าข้อมูลอะไร...เอกสารอะไร...ที่ธนาคารจำเป็นต้องใช้ ในการพิจารณาสินเชื่อ ถ้าไม่แน่ใจก็ควรจะโทรศัพท์สอบถามกับเจ้าหน้าที่ธนาคารให้เคลียร์ก่อน

ส่วนธนาคารเองก็คงต้องเตรียมคน...เตรียมงาน...เตรียมกระบวนการ การให้บริการตั้งแต่ลูกค้าเข้าประตูจนถึงขั้นตอนการเบิกเงินกู้ ซึ่งกรณีของธนาคารรัฐก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่ามีขั้นตอน...ระเบียบ... ข้อบังคับ...มากกว่าธนาคารเอกชน

ตรงนี้จึงควรจัดกระบวนทัพรับมือเสียแต่เนิ่นๆ

ประเด็นหนึ่งที่อยากพูดถึงในวันนี้ คือเรื่องสำคัญที่ธนาคารทั้งหลายจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อไม่ ให้เกิดเป็นหนี้มีปัญหา ในอนาคต...นั่นคือ...ความสามารถชำระหนี้ของผู้กู้

ความสามารถชำระหนี้ของผู้กู้ไม่ว่ากิจการประเภทใดก็ตาม เจ้าหน้าที่สินเชื่อจะมีการวิเคราะห์จากยอดรายการรับ-จ่ายของกิจการนั้นๆ และเพื่อให้แน่ใจว่าตัวเลขที่ลงไว้ในบัญชีเป็นของจริง

ในทางปฏิบัติก็จะต้องมีการเช็กตรวจสอบยันกับตัวเลขการเดินบัญชี ที่มีอยู่กับธนาคาร...ไม่ว่าจะเดินอยู่ในบัญชีกระแสรายวันหรือบัญชีออม ทรัพย์ของกิจการก็สุดแล้วแต่

ตรงนี้ล่ะครับ...ที่มักเป็นปัญหา

เป็นปัญหา...เพราะว่าผู้ประกอบการเอ็สเอ็มอีส่วนใหญ่ที่ค้าขายรับ-จ่าย เป็นเงินสด มักจะไม่เอาเงินผ่านเข้าระบบบัญชี

รับเงินมาพอถึงเวลาต้องจ่ายก็หยิบควักจากลิ้นชักจ่ายไปเลย ซึ่งทำให้รายได้-รายจ่ายของกิจการที่เกิดขึ้นทุกเดือน ไม่ไปปรากฏอยู่ในรายการบัญชีธนาคารของกิจการอย่างที่ควรเป็น

กิจการบางแห่งมีรายได้มากมายเดือนละ 2-3 ล้านบาท แต่พอดูจากสเตตเมนต์บัญชีของกิจการกลับมีตัวเลขหมุนเวียนแค่หลักแสนต้นๆ

บางแห่งตัวเลขแตกต่างกันลิบลับยังไม่พอ ยังกระจายไปอยู่ในบัญชีกิจการบ้าง บัญชีส่วนตัวของกรรมการบ้าง เรียกว่ามั่วกันไปหมด จนไม่อาจทำให้ธนาคารเชื่อได้ว่าจะมีรายได้จริงอย่างที่อธิบายไว้

ซึ่งก็เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ประเด็นด้านความสามารถชำระหนี้ของกิจการอ่อนยวบทันที

รายได้น้อย กำไรต่ำ ความสามารถชำระหนี้แย่...แค่นี้ยังไม่พอ หนักเข้าอาจถูกมองว่าพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ กลายเป็นปัญหาเรื่องขาดคุณสมบัติไปอีกกระทง มีสิทธิสอบตกตั้งแต่รอบแรกเลยก็เป็นได้

ส่วนใหญ่ที่พบเห็นมักจะเป็นกิจการประเภทที่มีรายรับรายจ่ายเป็น เงินสด เช่น โรงแรม รีสอร์ต ภัตตาคาร ร้านอาหาร กิจการค้าปลีกค้าส่ง และธุรกิจบริการต่างๆ บางรายกู้เงินไม่ได้ หรือกู้ได้วงเงินน้อยกว่าที่ต้องการอย่างน่าเสียดาย

ผมจึงอยากแนะนำให้ท่านผู้ประกอบการทั้งหลายควรจะให้ความสำคัญกับ การบันทึกบัญชีให้ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินบัญชีของกิจการอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยสร้างเครดิตที่ดีของธุรกิจในระยะยาว ทั้งกับหุ้นส่วนหรือสถาบันการเงินที่จะไปใช้บริการ

รายได้ที่เป็นเงินสดควรจะนำเข้าผ่านบัญชีของกิจการ จะเข้าทุกวันหรือรวมๆ กันก็ได้ และเมื่อถึงเวลาจะต้องจ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นค่าของ ค่าคน และค่าใช้จ่ายจิปาถะ ก็ควรจะเบิกจ่ายออกจากบัญชีให้เป็นเรื่องเป็นราว

เสียเวลานิดหน่อย แต่ทำให้เป็นระบบ เจ้าของกิจการจะได้มองเห็นผลการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน เวลาจะไปกู้ธนาคารก็ไม่ต้องเสียเวลาอธิบายความมากมาย ทุกอย่างว่ากันอย่างตรงไปตรงมา การพิจารณาสินเชื่อก็จะได้ไวดังที่รัฐบาลตั้งใจไว้

ช่วยกันคนละครึ่งทางแบบนี้ได้...ทุกฝ่ายก็ไม่ต้องหงุดหงิดหัวใจ ธนาคารรัฐก็จะได้ไม่ถูกต่อว่าเหมือนอย่างที่ผ่านมา บรรดาคนทำงานทั้งหลายก็จะได้ไม่เสียกำลังใจในการทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ผู้คนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้

view