จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :บุดดี เบลลี: |
เมื่อ รัฐบาลมีแนวคิดที่จะนำเรื่องพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ตื่นตระหนกกันไปว่า หากนำภาษีดังกล่าวมาใช้แล้วจะเป็นการเพิ่มภาระภาษีหรือไม่ แต่เมื่อฟังแนวคิดจากนักวิชาการและผู้ที่อยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ มองว่าภาษีดังกล่าวเป็นประโยชน์
สำหรับต่างประเทศจะเรียกว่าภาษีทรัพย์สิน เก็บจากทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ แต่ในไทยจะหมายถึงอสังหาริมทรัพย์ เช่น ถ้าเป็นโรงงาน ก็นำเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาคำนวณภาษี โดย ไม่รวมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพดานอัตราภาษีมี 3 อัตรา คือไม่เกิน 0.5% สำหรับอัตราทั่วไป ไม่เกิน 0.1% สำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่ประกอบการเชิงพาณิชย์ และไม่เกิน 0.05% สำหรับที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
สำหรับในกรณีที่ดินว่างเปล่าให้เก็บภาษีตามอัตราทั่วไป แต่หากยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อีกให้เสียภาษีเพิ่มอีก 1 เท่า ในทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2% ต่อปีของ ฐานภาษี
ทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ พระราชวัง ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ และทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติ รวมถึงจะมีการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อยที่ทรัพย์สินมีมูลค่าต่ำกว่ากำหนด
โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการ มูลนิธิ ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ภาษีดังกล่าวนี้มีอัตราต่ำมาก เช่น คนคนหนึ่งมีบ้านราคา 1 ล้านบาท เสียภาษี 0.1% หรือเพียงปีละ 1,000 บาท หรือเดือนละ 83 บาท ซึ่งยังถูกกว่าเก็บค่าขยะ และดูแลชุมชนเสียอีก
นอกจากนี้ ยังเป็นภาษีที่ใช้เฉพาะชุมชนท้องถิ่น ที่ จัดเก็บภาษี นำรายได้ไปพัฒนาชุมชนของตนเอง โดย ไม่ต้องพึ่งเงินของภาครัฐ จากปัจจุบันรายได้ของท้องถิ่น 80% มาจากการอุดหนุนของรัฐ มีเพียง 20% เท่านั้นที่ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บรายได้เอง
ทั้งนี้ ยังเป็นการตัดวงจรอุบาทว์ การโกงกิน และโอกาสที่จะรั่วไหล เพราะนักการเมืองหรือข้าราชการประจำนั้นทำได้ยากเพราะเงินที่ได้จะถูกนำไป พัฒนาท้องถิ่น ประชาชนจึงมีความรู้สึกเป็นเจ้าของภาษี ต่างจากในปัจจุบันที่รัฐบาลกลางส่งงบประมาณมาให้ส่วนท้องถิ่นใช้ คนในท้องถิ่นจึงไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของเงินดังกล่าว ทำให้เกิดปรากฏการณ์วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง เป็นการทุจริต ประพฤติไม่ชอบไป
เช่นเดียวกับสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ระบุว่า การเก็บภาษีที่ดินยังช่วย ให้เกิดการใช้ประโยชน์ของที่ดินให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีนักเก็งกำไร นายทุนเก็บไว้แล้วไม่ใช้ประโยชน์ ทำให้คนกลุ่มนี้ซึ่งมีสัดส่วน 10% ของคนทั้งประเทศ ถือที่ดินอยู่มากกว่า 100 ไร่ต่อคน ที่ไม่นำที่ดินออกมา ใช้ประโยชน์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ 90% มีที่ดินเฉลี่ยต่อคนไม่ถึง 1 ไร่
ความแตกต่างตรงนี้ หากมีภาษีที่ดินบังคับใช้จะทำให้คนที่มีที่ดินเยอะทยอยปล่อยที่ดินออกมา เพราะคนที่มีที่ดินเปล่าจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง
ก่อนหน้านี้ ร่างพ.ร.บ.กฎหมายดังกล่าวได้ถูกเลื่อนวาระการพิจารณาจากการประชุมคณะ รัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าแต่ทั้งนี้กระทรวงการคลังเตรียมจะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า หากมีประโยชน์ต่อ ส่วนรวมอย่างแท้จริง จะไม่ต้องสะดุดขวากหนาม ใดๆ อีก