สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐีใหม่..โอกาส ตลาดของขวัญ แดนมังกร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



ตลาดของขวัญ ของชำร่วย ที่มีอัตราเติบโตสูงตามการเกิดขึ้นของเศรษฐีใหม่ในจีน กำลังเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการไทย เข้าสู่ตลาดนี้

จีนได้ ชื่อว่าเป็นตลาดใหญ่ แต่อารมณ์ผู้ประกอบการยังคงกล้าๆกลัวๆที่จะเข้าไปเจาะตลาดจากเสียงลือเสียง เล่าอ้างต่างๆ ที่ได้รับการปฏิเสธจากทูตพาณิชย์

โดยเฉพาะตลาดของขวัญของชำร่วย ที่มีอัตราเติบโตสูงตามการเกิดขึ้นของเศรษฐีใหม่ในจีน

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ นครเซียงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวถึงภาวะตลาดของขวัญของชำร่วยในจีนว่า สัดส่วนคนรวยในประเทศจีนที่ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค โดยเริ่มให้ความสำคัญกับสินค้าที่สะท้อน"รสนิยม"มากขึ้น ทำให้สินค้านำเข้า และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ที่มีดีไซน์ ค่อยๆเข้าไปตีตลาดในจีน บนปัจจัยเอื้ออำนวยจากกำแพงภาษีที่ลดลง ทำให้สินค้าเหล่านี้เกิดความสามารถในการแข่งขัน

กลายเป็นอีกหนึ่ง "ทางเลือก" ของบรรดาเศรษฐีใหม่ในจีน ที่ชอบแสวงหาสินค้าแปลกใหม่ไว้เป็นของขวัญให้แก่กัน แม้ว่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อหดตัว แต่ไม่ใช่ตลาดจีนที่สินค้าของขวัญของชำร่วยยังคงมาแรงแซงโค้ง

"เศรษฐีในเมืองจีน เดิมเคยซื้อสินค้าจีน ก็หันไปซื้อสินค้าแบรนด์เนม ทำให้สินค้าแบรนด์เนมต่างชาติเข้าไปทำตลาดเยอะมาก ภาษีที่เคยเป็นอุปสรรคก็ลดลง ความรวยที่เพิ่มขึ้นยังทำให้พวกเขารู้สึกว่าสินค้าแบรนด์เนมไม่แพงอีกต่อไป"

เขายังบอกด้วยว่า เศรษฐีเงินล้านในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะยอมควักเงินเพื่อซื้อสินค้าที่มีราคาแพงขึ้นเพียงเพราะรู้สึกพอใจ โดยเฉพาะ "กลุ่มนักธุรกิจจีน" ที่นิยมลงทุนสร้างความประทับใจแรก (First Impression) เพื่อสร้างสัมพันธ์ทางการค้าด้วยสินค้าราคาแพง

โดยบางบริษัทถึงขั้นทำสัญญาระยะยาว (ลองเทอม คอนแทร็กซ์) เพื่อสั่งซื้อขวัญของชำร่วย เตรียมไว้ให้กับคู่ค้ากัน "ยกปี" โดยเฉพาะสินค้าเพื่อสุขภาพ

“มูลค่าการซื้อสินค้าต่อครั้งนับว่าสูงมาก สำหรับบางบริษัทที่ผูกปิ่นโตสั่งซื้อของชำร่วยให้กับคู่ค้า ดังนั้นตลาดของขวัญของชำร่วยในจีนถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ แต่ต้องเริ่มทำตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไป“ เขากล่าว

นอกจากนี้ ตลาดของขวัญของชำร่วยในจีน ยังมีคู่แข่งน้อยราย เพราะผู้ส่งออกส่วนใหญ่ยังคงฝังใจเพราะถูกลอกเลียนแบบสินค้า จนเข็ดขยาดตลาดจีน

ในเรื่องนี้ ดร.ไพจิตร ยังยืนยันว่าสถานการณ์ในวันนี้เปลี่ยนไปมาก ประเทศจีนเติบ โตอย่างรวดเร็วพร้อมกับโอกาสที่เปิดกว้างรอให้ผู้ประกอบการไทยไปทำตลาด แต่ต้องสำรวจตลาดและคู่แข่งให้ถ่องแท้ก่อนกำหนดยุทธศาสตร์ทางการตลาดเรียก ว่าต้องทำการบ้านอย่างหนัก หากอยากจะประสบความสำเร็จในตลาดจีน

และบอกด้วยว่า จีนถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ เรียกว่าเที่ยวทั้งปีก็ไม่หมด ดังนั้นสินค้าไทยประเภทของที่ระลึกจึงเหมาะที่จะใช้เจาะตลาดด้านธุรกิจท่องเที่ยวในจีน

"ของชำร่วยมี ขายเยอะมาก ที่ไหนมีแหล่งท่องเที่ยวก็ขายได้หมด รวมไปถึงความร่วมมือกับคู่ค้าที่เป็นกลุ่มประชาสัมพันธ์ โฆษณา และกลุ่มเอเจนซี่จัดงานอีเวนท์ต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด"

เขายังเชื่อว่า หากผู้ประกอบการไทยบุกตลาดอย่างจริงจัง ด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในจีน หลังจากที่เศรษฐกิจในตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป กำลังซื้อหดหาย จีนจะเป็นตลาดที่เข้ามาพยุงยอดส่งออก หากเป็นไปตามแผนกระตุ้นตลาดไทยมีโอกาสขยายการส่งออกสินค้าของขวัญของชำร่วยไปจีนมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2552

"ของขวัญของชำร่วยเป็นสินค้าที่มีราคาแพง ครอบคลุมตั้งแต่ อาหาร เครื่องประดับ เซรามิก ปีๆหนึ่งจีนนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้กว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การที่ไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังจีนเพียง 6,000 ล้านบาท จึงถือว่าน้อยมาก"

อย่างไรก็ตาม จีนเองก็เริ่มตื่นตัวและระแวดระวังกับการเข้ามาตีตลาดสินค้าของขวัญของชำร่วยมากขึ้น หลังจากพบว่าตลาดนี้โตเร็วกว่าที่คิด เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับตลาดของขวัญของชำร่วย ระบุว่า นักธุรกิจจะใช้เงินซื้อของขวัญให้แก่กัน ในราคาไม่ต่ำกว่า 25,000 บาทต่อชิ้น ขณะที่คนทั่วไปจะใช้เงินซื้อประมาณ 500-2,000 บาทต่อชิ้น

ขณะที่สินค้าไทยมีจุดแข็งตรงความความมีเสน่ห์ อารมณ์ความเป็นไทย และยังเริ่มมีแบรนด์ โดยในปีนี้จะเป็นปีแรกที่กรมส่งเสริมการส่งออกเข้ามาสนับสนุนสมาพันธ์ผลิต ภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ ที่รวบรวมกลุ่มผู้ประกอบการของขวัญฯ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการกว่า 20 ราย เข้าไปร่วมงานแสดงสินค้าของขวัญของชำร่วยในจีน ด้วยการจัดบูทศาลาไทย (Thai Pavilion) ถือเป็นการสร้างแบรนด์ไปในตัว

ขณะที่แกรี่ หลิว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเสินเจิ้น ผู้จัดแสดงสินค้าของขวัญและ ของเด็กเล่น (China Shenzhen International Toys & Gifts Fair) ครั้งที่ 17  ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 ตุลาคม 2552  บอกว่า งานนี้ถือเป็นงานแสดงสินค้าของขวัญและของเด็กเล่นที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยที่ผ่านๆมามีผู้ซื้อเข้าร่วมงานมากถึง 1.2 แสนราย

โดยในปีนี้ขนาดของงานแสดงสินค้าจะใหญ่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมของผู้ประกอบการงานแสดงสินค้าด้านของขวัญและของชำร่วยโดยตรง เพื่อจัดซื้อสินค้ากระจายไปจำหน่ายในมณฑลต่างๆในประเทศจีน

สำหรับไทยพาวิลเลียนจะมีผู้ประกอบการประมาณ 20 รายเข้ามางานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ซึ่งต่างจากเดิมที่ผู้ประกอบการมักจะเข้าร่วมแสดงสินค้าผ่านผู้ค้า(เทรดดิ้ง คอมพานี)จากจีน

เขาบอกว่าการที่ผู้ประกอบการไทยได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของขวัญของชำร่วย ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะเจรจาทางธุรกิจกับผู้ซื้อทั่วทุกมุมโลก รวมถึงตลาดจีนซึ่งมีกำลังซื้อสูงขึ้น

เขายังระบุว่า สินค้าไทยถือเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการทำตลาด เพราะสินค้าจีนใน สายตาผู้ซื้อเป็นสินค้าที่มีภาพลักษณ์ไม่สู้ดีนัก ทำให้ผู้ซื่อเกิดความไม่มั่นใจ โดยเฉพาะของเล่นเด็ก ที่เคยตรวจพบสารเคมีปนเปื้อน รวมถึงการปนเปื้อนเมลามีนในนม ทำให้ผู้นำเข้าหลายรายหันมานำเข้าสินค้าของเล่นและของขวัญจากไทยแทน โดยเฉพาะสินค้าที่ทำจากไม้

นอกจากนี้ สินค้าข้าวหอมมะลิ และสินค้าตกแต่งบ้านที่มีดีไซน์และเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยังเป็นอีกสองกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการทำตลาดในจีน

ทั้งนี้ ช่องทางการเข้าทำตลาดในจีน มีอยู่ 2 ช่องทาง ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ซึ่งสามารถระจายสินค้าไปยังร้านค้า และห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการไทยจึงควรรู้จักผู้ค้าส่งรายใหญ่ในแต่ละพื้นที่ไว้ ขณะที่ลูกค้าอีกกลุ่มคือ ลูกค้าที่เป็นบริษัท ืที่นิยมสั่งซื้อสินค้าเพื่อเป็นของขวัญให้กับคู่ค้า โดยจะมอบหมายให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ จะเป็นผู้ทำหน้าที่จัดหา จึงเป็นอีกช่องทางการตลาดที่ผู้ประกอบการไทยต้องเข้าให้ถึง

view