จากประชาชาติธุรกิจ
บทบรรณาธิการ
ถือ เป็นความพยายามครั้งสำคัญที่เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาโครงการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือครีเอทีฟ อีโคโนมี่ (Creative Economy) โดยนอกจากจะมีกำลังหลักในการขับเคลื่อนอย่าง นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบโดยตรงแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคนก็ประสานเสียงออกมา แสดงบทบาทสนับสนุนแนวทางดังกล่าวอย่างชัดเจน
ทั้งยังเป็นแนวทางที่ อยู่ภายใต้ความคาดหวังว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการวางกรอบการพัฒนา เศรษฐกิจไทย หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกและการถดถอยของเศรษฐกิจ ส่งออกแสดงผลอย่างรุนแรงกับภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการคนไทย การคิดใหม่ในลักษณะของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าจากรูปแบบการผลิต-บริการแบบเดิมๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดี เหมาะสม และมั่นคงในระยะยาว
รูปธรรมที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจนก็ คือ ประเด็นที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาให้ข้อมูลว่า จะมีการจัดสรร งบประมาณจำนวน 3,800 ล้านบาท เป็นโครงการนำร่องสำหรับโครงการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการจัดงบประมาณจากงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือ SP2 ไปแล้ว จำนวน 20,130 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน 15 อุตสาหกรรมนำร่อง
มีรายละเอียดโครงการติดตามออกมา อย่างต่อเนื่องว่า ในงบฯ 3,800 ล้านบาท จะนำไปดำเนินโครงการ "ครีเอทีฟซิตี้" ในเมืองเป้าหมาย เช่น กรุงเทพฯ, สุโขทัย ดำเนินโครงการฟื้นฟูมรดกโลกอยุธยา ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจร ฯลฯ ซึ่งต้องถือว่าเป็นความตั้งใจที่ดี ที่จะยกระดับการผลิต สินค้า บริการ ตลอดจนองค์ความรู้ เอกลักษณ์ต่างๆ ของไทยให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นทุนสำหรับการแข่งขันบนเวทีโลกในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักก็คือ เรื่องใหม่ในลักษณะดังกล่าวจะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเผยแพร่ไปสู่ประชาชนในวงกว้าง ทุกระดับ เพื่อให้เกิดการรับรู้และเข้าใจตรงกัน สามารถเข้าถึงมาตรการสนับสนุน รวมถึงได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวอย่างทั่วถึง เพราะกล่าวสำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว นิยามของความเป็น "ครีเอทีฟ อีโคโนมี่" ก็ยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องอธิบาย สร้างความเข้าใจพอสมควร
และที่ สำคัญที่สุดสำหรับการจุดพลุ เปิดประเด็นเรื่องครีเอทีฟ อีโคโนมี่ นั่นคือ รัฐบาลยังต้องกำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจน กำหนดเป้าหมายในระยะเวลาต่างๆ อย่างเป็น รูปธรรมว่า ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ครีเอทีฟ อีโคโนมี่ จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย และนำไปสู่รูปแบบใหม่หรือความสำเร็จในลักษณะใดบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น การขยายความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมพื้นฐานเพื่อรองรับในระยะยาวก็เป็นสิ่งจำเป็น และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง มากกว่าที่จะเป็นการประชาสัมพันธ์เพียงแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น