จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ Biz Oops !
โดย Why U Why
ว่า กันว่าบนโลกเราวันนี้เต็มไปด้วยมายาคติหรือความเชื่อที่ไม่เป็นจริง ความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการทางการตลาดและการโฆษณา ไม่เว้นกระทั่งการบริโภคอาหาร ด้วยความพยายามสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับผู้บริโภค โดยเมื่อบริษัท ยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าเป็นการถูกกระตุ้นให้ต้องบริโภคอาหารขยะ แทนที่จะบริโภคอาหารในท้องถิ่น การบริโภคผลไม้ที่มาจากต่างชาติแทนที่จะบริโภคผลไม้ที่ผลิตในประเทศ ทั้งที่ของอย่างหลังมีคุณค่าและรสชาติที่เหนือกว่า
และการเติบโตของ บรรดายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม อาหารก็นำมาซึ่งความล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย เพราะพวกเขาจะต้องถูกกดดันด้วยราคาค่าจ้าง และราคาผลผลิตที่ถูกกว่าโดยไร้ซึ่งอำนาจต่อรอง
ถ้ามองผิวเผินบางคน อาจมองว่าเราจำเป็นต้องจำนนต่อระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วในอีกด้านหนึ่งมีคนกลุ่มเล็กๆ พยายามสร้างทางเลือกและพยายามรักษาการผลิตอาหารในท้องถิ่น ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย โดยหันมาบริโภคอาหารในท้องถิ่น
เพราะนอกจาก จะดีต่อสุขภาพผู้บริโภค ในเวลาเดียวกันยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกร รวมไปถึงการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งข้ามประเทศด้วย การเติบโตของสินค้าประเภทออร์แกนิกที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ การพัฒนาบนทิศทางที่ว่านี้ แนวโน้มในการบริโภคอาหารของคนทั้งโลกจำนวนหนึ่งจึงกำลังถอยกลับไปจากการ บริโภคสินค้าอาหารในกระแสหลัก
และกลุ่มคนพวกนี้เองที่พยายามตั้งคำ ถามกับผู้คนที่ยังไม่หลุดออกจากวงจรนี้ว่า "คุณลืมไปแล้วหรือไม่ หรือคุณใส่ใจแค่ไหนที่จะอยากรู้ว่าผักที่เรากำลังบริโภค
ในทุกมื้อนั้นมาจากที่ไหน และที่มาเหล่านั้นทำลายชีวิตผู้คน สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสุขภาพผู้บริโภคหรือไม่"
ใน อิตาลีจึงมีธุรกิจเกษตรรายหนึ่งที่ชื่อ "Le Verdure Del Mio Orto ที่แปลว่า ผักที่มาจากสวนของตัวเอง" พวกเขาพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ และน่าจะถือเป็นไอเดียที่สุดล้ำในวันนี้ในธุรกิจการเกษตร เพราะพวกเขาไม่ใช่องค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นการ ผลิตในเชิงปริมาณ หากแต่พวกเขาให้ความสำคัญในเชิงคุณค่ากับทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรรายย่อยใน ท้องถิ่น
ด้วยการให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของแปลงผักได้ด้วยตัว เองผ่านทางเว็บไซต์ โดยที่ไม่ต้องมาลงมือทำ ผู้บริโภคเพียงสมัครเป็นสมาชิก เลือกขนาดพื้นที่ที่ต้องการซึ่งเหมาะกับขนาดของครอบครัว และเลือกได้ว่าในพื้นที่ของตัวเองนั้นอยากให้ปลูกผักชนิดใดในสัดส่วนเท่า ไหร่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ 60 ตารางเมตรสำหรับคน 2-3 คนในครอบครัว และปลูกผัก 6 ชนิด โดยผู้บริโภคจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายปี ในราคา 850 ยูโร หรือตกราว 6 หมื่นบาท แต่เมื่อเทียบกับผักที่ปลอดสารพิษที่จะได้รับการจัดส่งจากแปลงผักของตัวเอง ส่งตรงถึงบ้านทุกๆ อาทิตย์แล้วก็ถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง และตกวันละไม่ถึง 200 บาทต่อวันซึ่งราคาขนาดนี้สำหรับค่าครองชีพอย่างในประเทศอิตาลีแล้วก็ถือว่า ราคาไม่สูงมาก ดังนั้นนอกจากจะได้ในเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง นี่จึงยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับระบบผลิตอาหารในท้องถิ่น รวมถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ไอเดียที่ว่าจึงเป็นอีกแนวโน้ม หนึ่งที่น่าสนใจมากที่สุด ที่สามารถปรับมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าของภาคเกษตรในบ้านเรา รวมถึงคนที่กำลังต้องการสร้างธุรกิจใหม่ อย่างคำกล่าวที่ว่า โลกนี้เต็มไปด้วยความคิดใหม่ เพียงแต่ใครจะหยิบจับและทำให้มันเป็นจริงได้หรือไม่ก็เท่านั้น