จากประชาชาติธุรกิจ
" ประชาชาติออนไลน์" นำเสนองานวิจัย " สถาบันพระปกเกล้า" เปรียบเทียบ 2 รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี อดีตนายกฯ 8 ปี 5 เดือน กับ ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่อยู่ในอำนาจนานที่สุดในโลกถึง 31 ปี เปรียบเทียบแบบปอนด์ต่อปอนด์ ชำแหละจุดเด่นจุดด้อยของสองผู้นำ เป็นครั้งแรกในโลกออนไลน์
ช่วงเวลา 8 ปี 5 เดือนของ ป๋าเปรม หรือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บนเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจ การเมืองไทย ไปอย่างมาก
ขณะที่ 31 ปีของ ลี กวน ยู ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สิงคโปร์ ได้ Big Change สิงคโปร์จากเกาะเล็กๆ กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก
วันนี้ ป๋าเปรม อายุ 89 ปี ขณะที่ ลี กวน ยู อายุ 86 ปี
ป๋า ไม่มีลูก ไม่มีทายาทการเมืองทางตรง แต่บารมีป๋าคับแผ่นดิน ลี กวน ยู เป็นพ่อของ ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ คนปัจจุบัน
2 คน 2 คม มีจุดเหมือนและจุดต่างที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
วันนี้ 2 ผู้นำ 2 ผู้ยิ่งใหญ่ ถูกนำมาเปรียบเทียบกันเป็นครั้งแรก ในงานค้นคว้าอิสระของนักศึกษาหลักสูตรผู้นำการเมืองยุคใหม่ สถาบันพระปกเกล้า
@ 1. นักบริหาร VS มืออาชีพ
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้บริหารที่รู้จักใช้คนเป็นอย่างดี แยกแยะบุคคลที่ทำงานกับท่าน ไม่ว่าในคณะรัฐมนตรี คณะที่ปรึกษา ปลัดกระทรวงต่างๆ อธิบดี ท่านได้เอาใจใส่ แล้วก็เห็นว่าท่านรู้จักบุคคลต่างๆ ที่ประกอบกันเข้ามาทำงาน ซึ่งคุณสมบัติและเป้าหมายในการทำงานนี้ ยากที่ผู้นำประเทศคนใดจะมีอย่างท่าน ซึ่งปัจจัยนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอันหนึ่งสำหรับผู้ที่รับภาระเป็นผู้นำ ประเทศที่จะทำผลงานให้ลุล่วงไปได้เป็นอย่างดี
สำหรับความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์คือรัฐบาลนายลี กวน ยู เน้นการให้ "มืออาชีพ" เข้าจัดการเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มที่ นักการเมืองและคณะรัฐมนตรีจะคุมเฉพาะนโยบายกว้างๆ เท่านั้น จะไม่ไปก้าวก่ายในรายละเอียดของการบริหารงาน นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามชักจูงให้บรรดานักธุรกิจและนักการจัดการที่มีความ สามารถโดดเด่นทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบและบริหารกิจการบ้านเมือง โดยยอมให้บุคคลเหล่านั้นยังคงถือหุ้นของกิจการต่างๆ อยู่ได้ แต่ถ้าเมื่อใดพบว่าบุคคลเหล่านี้ทุจริตหรือบริหารงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ แก่ส่วนตนก็จะไล่ออก และยื่นฟ้องร้องต่อศาล นอกจากนี้รัฐบาลยังจัดระบบภายในประเทศเอื้ออำนวยแก่คนที่มีความรู้ความ สามารถให้รู้สึกอยากทำงานให้แก่ส่วนรวมโดยที่ไม่มีระบบเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้คนอย่างมืออาชีพจริงๆ @ 2. คานอำนาจกองทัพ VSซื้อใจข้าราชการ
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้บริหารจัดการที่ดี แม้มาจากการเป็นทหาร เป็นผู้นำหน่วยกำลังพลมาโดยตลอด เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ สามารถคานอำนาจระหว่างกองทัพกับรัฐสภาได้เป็นอย่างดี ทั้งที่สื่อมวลชนชอบเขียนว่าสมัยท่านเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลับเข้าใจประชาธิปไตยเป็นอย่างดี ทั้งที่มีประสบการณ์มาจากกองทัพ ท่านเป็นคนกลางที่รักษาดุลอำนาจระหว่างรัฐสภากับกองทัพได้ ไม่ให้ก้ำเกินซึ่งกันและกัน ทำให้ประชาธิปไตยคลายตัวไปได้ตลอดระยะเวลา 8 ปี 5 เดือน ท่านสามารถจัดการให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในกรอบได้ ไม่ก้าวล้ำไปมากกว่าที่ควรจะเป็น เช่น เมื่อมีปฏิวัติรัฐประหารอย่างไม่เปิดเผย 2 ครั้ง ท่านก็จัดการได้ เมื่อรัฐสภาก้าวก่ายทหารหรือดำเนินการนอกกรอบ ท่านสามารถตีกรอบประคองให้มีเสถียรภาพทางการเมืองให้รัฐสภาพัฒนาตนเองด้วย การจัดการที่ดีเข้ากับทั้ง 2 ฝ่ายได้
ลี กวน ยู ตระหนักว่า ข้าราชการเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้การบริหารประเทศก้าวหน้าหรือล้มเหลว ดังนั้น เมื่อพรรคกิจประชาชนเข้ามาเป็นรัฐบาลจึงทำการปฏิรูประบบราชการ มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทางการเมืองให้แก่ข้าราชการ เพื่อสร้างความสำนึกทางการเมืองและหน้าที่ มีการจัดระบบอัตราเงินเดือนใหม่ โดยเพิ่มเงินเดือนให้กับผู้น้อยและลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง รัฐบาลสิงคโปร์แถลงว่ารัฐบาลไม่สนใจว่าข้าราชการคนไหนมีวุฒิการศึกษาเป็น เช่นไร ขอให้เป็นข้าราชการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอก็จะให้โอกาสก้าวหน้าด้วยกันทั้ง นั้น ข้าราชการที่ไร้ประสิทธิภาพจะโดนให้ออกโดยไม่สนใจว่าทำงานมาแล้วกี่ปีหรือมี วุฒิการศึกษาเป็นเช่นไร และรัฐบาลยังวิงวอนให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องความประพฤติของข้าราชการทั้ง หลายแล้วรายงานให้ทางราชการทราบด้วย ข้าราชการที่ไม่พยายามศึกษานโยบายของรัฐบาล ทำงานสวนทางกับเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้จะถูกให้ออกจากข้าราชการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนักบริหารจัดการที่ดีที่จะผลักดันข้าราชการให้มีส่วน ร่วมในการพัฒนาประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย
@ 3. ไม่สนการเมือง VS กำจัดฝ่ายตรงข้าม
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รู้จักวิธีในการจัดองค์กรในกระบวนการตัดสินใจได้ เพราะองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีท่านจัดเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมาจากฝ่ายการเมือง สภาผู้แทนราษฎร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รู้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้รับการเลือกตั้งมาโดยวิธีใดก็ตาม เขามีภาระหน้าที่จะต้องดูแลผู้เลือกเขา เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีคงคาดหวังในเรื่องที่จะทำให้เขานึกถึงผลประโยชน์ของ ประเทศชาติไม่ได้ ขณะเดียวกันความรู้ความสามารถของรัฐมนตรีกลุ่มนี้คงคาดหวังสูงไม่ได้ เพราะมาจากการเลือกตั้ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงมีรัฐมนตรีอีกประเภทหนึ่งที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ประวัติไม่เคยด่างพร้อยมีบารมี ได้รับการยอมรับนับถือในวงราชการมาทำงานให้
แต่การกระทบกระทั่งกันระหว่างรัฐมนตรีทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะมีบ้าง ซึ่งพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ปกป้องให้รัฐมนตรีฝ่ายหลังให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น แม้บางเรื่องจะประนีประนอมกันบ้าง เพราะความจำเป็นของรัฐมนตรีการเมือง เช่น นโยบายการประกันราคาข้าว มันสำปะหลัง สินค้าเกษตรไม่ได้ผล สูญเสีย แต่บางทีจะต้องทำและดูแลอย่างใกล้ชิด
การโกง ฉ้อราษฎร์บังหลวง พอถึงจุดหนึ่ง หากเกินไปก็มีการปลดรัฐมนตรีคนนั้นออกไป ด้วย มีหลักฐานอย่างชัดเจน ทำให้รัฐมนตรีการเมืองยำเกรงท่าน ไม่กล้าละลาบละล้วงล่วงเกิน ระมัดระวังไม่กล้าทำอย่างโจ่งแจ้งเหมือนสมัยหลังจากท่านพ้นตำแหน่ง เมื่อมีปัญหาฝ่ายการเมืองรุกขอตำแหน่งเพิ่มและมีปัญหาระหว่างรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองและรัฐมนตรีที่ทำงาน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย โดยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธาน เพื่อให้จำนวนคณะรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายมีจำนวนใกล้เคียงกัน ได้มีการแต่งตั้ง ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อให้การทำงานของฝ่ายเศรษฐกิจเข้มแข็งและรัดกุมขึ้น เพื่อให้การพิจารณาเรื่องราวต่างๆ เป็นไปด้วยเหตุและผล ด้วยหลักวิชาการและข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่โอนเอียงตามกระแสการเมืองของคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่ เพราะรัฐมนตรีการเมืองส่วนใหญ่ไม่ชำนาญด้านเศรษฐกิจ
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ใช้เวลา 80% ของเวลาทั้งหมดของท่านแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเงินการคลังของปรเทศ แต่ใช้เวลาเพียง 20% ในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพราะไม่ต้องห่วงพรรคการเมือง หัวคะแนนของท่าน เพราะไม่ได้มาจากพรรคการเมือง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาจากคนกลาง
ส่วน ลี กวน ยู เป็นผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีเสียงข้างมากในสภาสนับสนุน ซึ่งก็คือเผด็จการโดยสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง เพราะมีสมาชิกฝ่ายค้านในสภาเพียง 2 คนเท่านั้น ลี กวน ยู มีวิธีการปกครองโดยปราบปรามนักการเมืองฝ่ายค้าน หรือผู้ที่ไม่เห็นด้วย ด้วยการออกกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงภายใน หรือเรียกว่าการปกครองโดยกฎหมาย (Rule By Law) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลของลี กวน ยู ได้ใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างรุนแรง โดยให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามให้ขังลืมบรรดาผู้ต่อสู้เอกราช ของชาติตนได้ เขาใช้กฎหมายฉบับนี้มาสยบฝ่ายค้านคือสมาชิกพรรคบาบิซาน
นายกรัฐมนตรีลี กวน ยู มีปณิธานอย่างแน่วแน่มั่นคงว่า ตราบใดที่ตนเป็นหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐบาลของตนจะต้องมือสะอาด ไม่มีการคอร์รัปชั่น ทุจริต ปราศจากข้อครหา มลทินใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังได้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาด ซึ่งมีบทลงโทษปรับไว้สูงมากอย่างเฉียบขาด โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร จนสร้างประเทศสิงคโปร์ให้เป็นเมืองที่สะอาดปราศจากขยะ มีระเบียบวินัยต่อพลเมืองของสิงคโปร์
@ 4. เข้าใจสังคมไทย VS วิสัยทัศน์กว้างไกล
พล เอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้าใจสังคมไทยดีกว่านักการเมือง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อธิบายตลอดเวลาว่าชนบทโครงสร้างเป็นอย่างไร ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเป็นอย่างไร มีสภาพเศรษฐกิจความเป็นอยู่อย่างไร เมื่อพวกเราได้ร่างแนวความคิดในการที่จะให้มีแผนพัฒนาชนบทในแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ท่านกรุณาให้คำแนะนำพวกเรามาก มิเพียงให้พวกเราให้ความเห็นท่านเท่านั้น ท่านให้ข้อมูลความรู้ ข้อเท็จจริงของชนบทอย่างมาก เช่น วัฏจักรความยากจนในชนบท คือความไม่รู้ ความเจ็บป่วย ความยากจนนั้นเป็นตัวกำหนดซึ่งกันและกัน
ความไม่รู้นั้นไม่รู้ไปหมด แม้แต่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ตนเองมีอยู่ ท่านเคยเล่าว่า เมื่อครั้งเป็นทหารอยู่ในสนามรบ เมื่อทหารหิวน้ำเข้าไปในหมู่บ้านขอมะพร้าวอ่อน ชาวบ้านตัดให้หมดทุกต้น เมื่อถามเขาว่าเอาเท่าไหร่ เขาบอกไม่เคยขาย ก็ไม่เอาละกัน ให้ฟรี เขามีทรัพยากรอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่ จึงถูกคนภายนอกเอารัดเอาเปรียบทำให้จน และเจ็บป่วย ว่ากันว่าความจนวัดได้จากปริมาณเม็ดโลหิตแดงในเส้นเลือด หากจางมาก จนมาก จางน้อย จนน้อย ท่านได้สนับสนุนให้โครงการพัฒนาชนบทบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 5 เพราะฉะนั้น แม้ท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มิได้อ้างว่ามาจากประชาชน แต่ท่านเข้าใจประชาชน สภาพปัญหาเศรษฐกิจ สังคมของคนยากจนในชนบทเป็นอย่างดี
ลี กวน ยู เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและเข้าใจประเทศสิงคโปร์ได้ดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่ประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ อย่างมากนั้นไม่ใช่เพราะการที่ประเทศตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เพียงอย่างเดียว หากแต่การมีผู้นำประเทศอย่างนายลี กวน ยู ก็นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าผู้นำประเทศไม่สามารถใช้จุดยุทธศาสตร์นั้นให้เกิดประโยชน์เต็มที่ กับประเทศ การพัฒนาก็ไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ เพราะด้วยภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจนั้นจะเห็นได้ ว่าไม่ได้มีเฉพาะที่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น หากแต่ประเทศอียิปต์และปานามาก็อยู่ในภูมิศาสตร์ที่คล้ายคลึงกับสิงคโปร์ ซึ่งมีลักษณะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าด้วยเหมือนกัน แต่การพัฒนาประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าสิงคโปร์
กล่าวได้ว่าที่ตั้งของประเทศเป็นเพียงปัจจัยรองเท่านั้น ปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าได้นั้นก็คือผู้นำ และสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศได้นั้นเกิดจากฝีมือของลี กวน ยู อย่างแท้จริง ลักษณะการบริหารประเทศของลี กวน ยู อาจไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนหลายคน แต่เขาก็สามารถทำให้สิงคปร์เปลี่ยนจากประเทศที่ยากจน อ่อนแอ กลายมาเป็นประเทศที่แข็งแกร่ง และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระดับแนวหน้าของโลกได้
@ 5. ป๋าเปรม 8 ปี 5 เดือน VS ลีกวนยู 31 ปี
พล เอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนักประชาธิปไตยตัวยง มีจิตสำนึกที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง 8 ปี 5 เดือน ท่านไม่เคยใช้อำนาจเผด็จการ ใช้อำนาจเพื่อความเป็นธรรมและใช้ธรรมเป็นอำนาจ แม้ว่าจะมีกองทัพหนุนอยู่ก็ตาม แต่การตัดสินปัญหาแต่ละวิธี การมองปัญหา วิธีแก้ปัญหา ท่านมองประโยชน์ของประชาชนและของประเทศเป็นที่ตั้ง มิได้มองประโยชน์จากพรรคใดพรรคหนึ่ง เมื่อกองทัพหนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไม่ได้เข้าข้างกองทัพในการจัดงบประมาณ หากมีการออกนอกกรอบ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประชุมลงโทษ ไม่ใช่ว่ามาจากทหารแล้วเข้าข้างทหาร เช่น หลายกรณี ทั้งการซื้ออาวุธ หรือฝูงบิน
นอกจากนั้น พลเรือนซึ่งดูแลเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศสามารถออกความเห็นได้ เต็มที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้เรียกผู้นำเหล่าทัพมาฟังชี้แจงเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จัดให้พบที่ทำเนียบ แต่อาจไม่เป็นข่าว วิธีทำเช่นนี้ หากเข้าข้างกองทัพคงไม่ทำ เมื่อฝ่ายการเมืองสมัยนั้นเสนอโครงการ ถ้าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง ท่านก็กีดกันขัดขวางโดยวิธีการปลดรัฐมนตรี ที่มีข่าวบ่อยครั้งมาก
ในช่วง 31 ปี ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของลี กวน ยู บริหารประเทศอย่างยาวนาน แม้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกจะมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่จากการที่เขาได้ประกาศสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเอาจริงเอาจัง และลิดรอนอำนาจนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาด ถึงกับมีผู้ขนานนามระบอบการปกครองของสิงคโปร์ว่าเป็น "เผด็จการประชาธิปไตย" หลังจากอยู่ในอำนาจมาเป็นระยะเวลานานจนได้ชื่อว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก" ลี กวน ยู เริ่มวางมือจากการบริหารประเทศโดยตรงตั้งแต่ปี 2532 โดยให้นายโก๊ะ จ๊ก ตง รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ตัดสินนโยบายสำคัญของรัฐบาลแทน แต่ในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของลี กวน ยู
@ 6. อดทนอดกลั้นสูง VS โผงผาง เคร่งเครียด
พล เอกเปรม มีความอดทนอดกลั้นสูง และเข้าใจวิธีที่จะแก้ไขบางอย่าง เช่น กรณีที่ท่านเข้ามาครั้งแรกถูกสื่อปรามาสดูถูกเหยียดหยาม กล่าวหาโจมตี ถึงขนาดเรียกร้องให้ใส่ชุดดำกันทั้งเมืองเพื่อขับไล่ท่าน และได้รับสมญานามว่าเตมีย์ใบ้ หน้าเบื่อบ้าง เป็นนายกรัฐมนตรีที่น่าเบื่อที่สุด บางครั้งถูกกล่าวหาใส่ความในเรื่องส่วนตัว ซึ่งไม่มีมูลความจริง ท่านก็อดกลั้น ซึ่งไม่เชื่อว่าจะอดกลั้นได้มากขนาดนั้น อันแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง แม้กระทั่งการถูกชกที่สนามกีฬาหัวหมาก เมื่อคราวที่ท่านไปงานของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ท่านก็ไม่ได้แสดงออกถึงความโกรธเคือง อาฆาตมาดร้าย แต่กลับแสดงความเมตตาผู้ที่ทำร้ายท่าน กลับดูแลและเข้าใจพฤติกรรมของเขา หรือว่ากรณีหลายกรณี ท่านไม่แสดงความอาฆาตมาดร้าย
ส่วน ลี กวน ยู มีทักษะทางด้านอารมณ์ที่ไม่แน่นอน แตกต่างจาก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ ได้แก่
- ความเป็นคนโผงผางต่อกรณีการกล่าวประณามรัฐยะโฮร์ในมาเลเซียว่ามีชื่อเสียง เสื่อมเสียเพราะมีการฆ่ากัน มีแต่อันธพาลและโจรขโมยรถทั้งนั้น จนเขาต้องกล่าวขอโทษข้ามพรมแดน
- ความเป็นคนเคร่งเครียดจริงจังไปหมดทุกเรื่อง
- ความไม่อดทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น
- ความไม่ไว้วางใจผู้อื่น เช่น กรณีโก๊ะ จ๊ก ตง ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจอะไรจะต้องอยู่ในสายตาของลี กวน ยู ทุกเรื่อง และด้วยความที่ลี กวน ยู เป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคกิจประชาชน เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น แทนที่จะให้พรรคตัดสินใจแก้ปัญหา ลี กวน ยู จะต้องเป็นผู้ชี้ขาดเอง อย่างไรก็ตาม ด้านหนึ่ง ลี กวน ยู เป็นคนมีความอ่อนโยน มีมนุษยสัมพันธ์ การแสดงออกต่อสื่อมวลชน เช่น การช่วยเหลือผู้โดยสารที่ติดในรถกระเช้า ความเป็นวีรบุรุษ
@ 7. เงียบถอยเข้าบ้านเมื่อเกิดวิกฤต
พล เอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ในรอบ 8 ปี 5 เดือนที่ท่านอยู่ เมื่อมีวิกฤตการณ์มากมาย ท่านจะเงียบถอยเข้าบ้านเมื่อเกิดวิกฤต ไม่แสดงอาการตระหนก ค่อยคิดปรึกษาหารือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และสามารถค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปได้เสมอ การที่คนจะเป็นอย่างนี้ได้ ขั้นแรกต้องมีศีล ไม่มีใครสงสัยเลยว่าท่านทำได้ เพราะท่านไม่เคยทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่เคยทุศีล งานบางอย่างยังพูดไม่ได้ ท่านก็ไม่พูด เมื่อรู้ว่าจะพูดตรงกันข้ามกับความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้จึงพูดมากไม่ได้ ก่อนจะพูดอะไรในภาวะเศรษฐกิจ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีก ถ้าเสียหายก็ไม่พูด ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสร้างบารมีได้อย่างรวดเร็วในฐานะนายกรัฐมนตรี และเมื่อท่านปลอดจากการทุศีล ท่านจึงมีความเชื่อมั่น เมื่อมีความเชื่อมั่น ทำให้มีสติ เมื่อมีสติ สมาธิ ก็ไม่ตระหนก แม้เหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต ท่านก็ไม่ตระหนก เช่น มีหลายครั้งที่เหตุการณ์เป็นอันตรายถึงชีวิต ท่านตั้งสติมั่นอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็มีปัญญา มีหนทางแก้ไขปัญหา
@ 8. เตือน ไม่ให้คนที่ทำงานใกล้ชิด เหลิง
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไม่เคยส่งเสริมคนที่ทำงานใกล้ชิดให้เหลิง ให้ระมัดระวังอยู่เสมอ ความคิด ความอ่าน คำพูด คำจา อย่างเช่น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่ทำงานด้านเศรษฐกิจกับท่าน กล่าวว่า ท่านไม่เคยแสดงออกว่าฟังเราคนเดียวหรือเชื่อเรา ทุกครั้งที่ไปแสดงนโยบายเศรษฐกิจ ท่านจะซักถามแง่มุมต่างๆ อย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เราตั้งตัวอยู่ในความประมาทในการชี้แจงเศรษฐกิจ เราต้องเตรียมตัวอย่างหนัก เตรียมข้อมูลอย่างดี นึกถึงทุกแง่ทุกมุมเท่าที่จะนึกได้ มิฉะนั้นจะตกม้าตาย มีที่ปรึกษาหลายท่านถูกซักไปซักมาตกม้าตายตลอด 8 ปี 5 เดือน เท่ากับเป็นการฝึกความรับผิดชอบต่อความคิดเห็นของตนเอง ต้องเตรียมพร้อมที่จะชี้แจงเรื่องเศรษฐกิจในทุกแง่มุม ท่านเปิดโอกาสให้ชี้แจงอย่างเต็มที่ แม้เราอายุยังน้อย ได้ให้เกียรติแก่เรา และสอนให้รู้จักรับผิดชอบในภารกิจของเรา
@ 9. ไม่ใช้เวลาฟุ่มเฟือยไร้สาระ VS เปลี่ยนแปลงประเทศ
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีลักษณะของผู้นำประเทศชาติให้พ้นวิกฤต โดยศึกษาเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา จัดเวลา ไม่ใช้เวลาฟุ่มเฟือยไปกับเรื่องไร้สาระ ท่านศึกษาเรื่องต่างๆ ยากๆ ในทางเศรษฐกิจ การเมือง ปัญหาความมั่นคงของประเทศ ความขัดแย้งของคนในเมือง คนในชนบท และท่านทำความเข้าใจเป็นอย่างดี ไม่ฉาบฉวย แม้ว่าในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จะมีปัญหารุมเร้าทุกด้าน ทั้งความมั่นคง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลับเข้าใจปัญหาต่างๆ แสดงว่าได้ใช้เวลาศึกษาปัญหาไตร่ตรองตลอดเวลา พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขยันด้านความคิด หาข้อมูล ไตร่ตรอง ชีวิตในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เคยใช้เวลาในการมีความสุขส่วนตัว มีตารางการทำงานแน่นอนว่าตอนเช้าทำอะไร กลางวันทำอะไร เย็นทำอะไร เข้านอนเมื่อไร ติดตามสื่อทุกประเภท รวมถึงสื่อต่างประเทศตลอดระยะเวลา 8 ปี 5 เดือน ในช่วงภาวะวิกฤต พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แก้ปัญหาได้ลุล่วงทีละเปลาะจนประสบความสำเร็จ จนเป็นที่ยอมรับของคนทั้งในและนอกประเทศเป็นอย่างดี ท่านมีระเบียบวิธีคิดชัดเจน วิชาการทางทหารหรือพลเรือน ระเบียบวิธีคิดคล้ายกัน มีขั้นตอนเรื่องเหตุและผล วิธีคิด ท่านมีความเป็นนักวิชาการและมีประสบการณ์
ส่วน ลี กวน ยู ได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้แก่สิงคโปร์ เขาสามารถพลิกฐานะสิงคโปร์จากเกาะเล็กๆ ที่ไร้ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินที่สำคัญในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เนื่องมาจากลี กวน ยู และทีมงานเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง นั่นคือการที่เศรษฐกิจสิงคโปร์อยู่ภายใต้การผูกขาด ซึ่งเดิมมีคาร์เตลของอังกฤษ และนายธนาคารของสิงคโปร์เป็นเจ้าพ่อผูกขาด ลี กวน ยู ได้ทำลายระบบผูกขาดนี้ แล้วเปิดประเทศสิงคโปร์ให้ธนาคารของประเทศต่างๆ เข้ามาตั้งดำเนินการแข่งขันโดยเสรี เช่น ธนาคารเชสแมนฮัตตัน ของร็อกกี้ เฟลเลอร์ และธนาคารนาร็อดนีของโซเวียต และอนุญาตให้ทุกธนาคารรับฝากเงินเป็นเงินตราสกุลต่างๆ ได้โดยไม่จำกัด สิงคโปร์ได้เชิญชวนทุนต่างประเทศมาลง โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่รับสินบน ไม่คอร์รัปชั่น รวมถึงเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพในการทำงานบริการอย่างรวดเร็วทันใจ ทำให้เป็นที่เชื่อถือทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์เป็นที่ยอมรับและยกย่องแก่นานาชาติในที่สุด
@ 10. รัฐบุรุษ ผู้ก้าวลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่ลงจากตำแหน่งได้อย่างสง่างาม ท่านรู้ว่าท่านได้ปฏิบัติภารกิจต่อประเทศชาติในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติหลาย เรื่องได้สำเร็จลุล่วง ไม่ว่าความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจย่ำแย่ได้ลุล่วงสู่ภาวะดีแล้ว ระบรัฐสภาเข้มแข็ง ท่านรู้เวลาเหมาะสมที่จะก้าวลงจากตำแหน่งโดยไม่หวงแหนแต่ประการใด ก่อนก้าวลงจากตำแหน่ง ท่านขอโหวตเสียงจากที่ปรึกษาทุกคนเป็นเสียงลับ ให้เขียนในกระดาษถึงผลดีผลเสียในการก้าวลงจากตำแหน่ง ใส่ซองลับให้ท่านเป็นรายบุคคล ห้ามปรึกษากัน แล้วส่งให้ท่าน พรรคการเมืองเสนอให้ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวของประเทศไทยที่ก้าวลงจากตำแหน่งอย่างสง่างาม คงไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดก้าวลงจากตำแหน่งได้สง่างามขนาดนี้
ลี กวน ยู เป็นผู้มีชื่อเสียงควบคู่มากับสิงคโปร์ที่เป็นเอกราช เป็นนายกรัฐมนตรีที่นานพอที่จะทำให้ผู้คนมีความเคยชินเมื่อเอ่ยถึงสิงคโปร์ เขาได้รับยกย่องว่าเป็นรัฐบุรุษจากนานาประเทศ ในฐานะนักการเมืองผู้ประสบผลสำเร็จในการสร้างสิงคโปร์ให้เป็นประเทศที่มี ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสร้างสภาพแวดล้อมให้ชีวิตมีคุณภาพ