จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ธเนศ วีระศิริ อ.พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต thanesvee@yahoo.com: |
เมื่อ 2 ฉบับที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงปัญหาส่วนต่อเติมที่ใช้เสาเข็มสั้น และปัญหาที่อาจเกิดจากการต่อเติมบ้านด้วยเสาเข็มยาว มีท่านผู้อ่านหลายท่านสอบถามมาถึงเรื่องการเลือกใช้เสาเข็มว่า ควรเลือกอย่างไรจึงจะทำให้ส่วนต่อเติมไม่แยกออกจากตัวบ้าน ซึ่งเคยได้กล่าวไว้แล้วในฉบับก่อนๆ แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามบทความคลายข้อสงสัย ใคร่ขอทบทวนดังนี้ครับ
ควรเลือกใช้เสาเข็มเช่นใดจึงจะไม่เกิดปัญหา?
เมื่อใดก็ตามที่มีการต่อเติมบ้าน ต้องคำนึงถึงเสมอว่าส่วนที่ต่อเติมจะมีน้ำหนักลงดิน และไม่ว่าส่วนต่อเติมนั้นจะมีน้ำหนักมากหรือน้อย ก็ทำให้ดินเกิดการยุบตัวได้ การยุบตัวของดินทำให้ส่วนต่อเติมเกิดการทรุดตัวแตกต่างจากตัวบ้าน ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการยุบตัวที่เกิดขึ้น ถ้าต้องการให้ส่วนต่อเติมทรุดตัวน้อยๆ ไม่ต่างระดับจากตัวบ้านมากนัก ก็ควรให้ส่วนต่อเติมวางอยู่บนเสาเข็มที่หยั่งลงในชั้นดินแข็งที่ยุบตัวน้อย ซึ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ชั้นดินเหนียวแข็งจะอยู่ที่ระดับความลึกมากกว่า 16 ม.
- สำหรับส่วนต่อเติมชั้นเดียวที่มีน้ำหนักไม่มาก เรามักคิดว่าใช้เสาเข็มยาวเพียง 6 ม. น่าจะเพียงพอ แต่ท้ายที่สุดก็ยังเกิดปัญหาทรุดตัวนั้น ทั้งนี้เพราะปลายเสาเข็มอยู่ในชั้นดินเหนียวอ่อนที่ยุบตัวได้ง่าย แม้จะเลือกใช้เสาเข็มกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีเสาเข็มหลายต้นก็ยังทรุดตัวอยู่ดี เพราะเมื่อดินอ่อนยุบตัวเสาเข็มที่วางอยู่บนดินก็จะยุบตามกัน
- ส่วนต่อเติมที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ไม่ควรใช้เสาเข็มที่มีความยาวเพียง 6 ม. แม้ว่าจะทำเป็นเสาเข็มกลุ่มก็ตาม เพราะจะมีโอกาสเกิดการทรุดตัวได้มาก ควรเลือกใช้เสาเข็มที่มีความยาวใกล้เคียงกับเสาเข็มของบ้าน หรือยาวไม่น้อยกว่า 16 ม. เช่น เสาเข็มเจาะซึ่งสามารถกำหนดให้มีความยาวใกล้เคียงกับตัวบ้านได้ เป็นต้น หากพื้นที่คับแคบมากไม่สามารถทำเสาเข็มเจาะได้ ควรเลือกใช้เสาเข็มเหล็กที่ต่อเป็นท่อนๆ แล้วตอกลงดินโดยใช้ปั้นจั่นตัวเล็กๆ
- สำหรับส่วนต่อเติมเพียงชั้นเดียว หากใช้เสาเข็มยาวจะเสียค่าใช้จ่ายมากไม่คุ้มกับการใช้งาน ยังคงใช้เสาเข็มยาวเพียง 6 ม. ได้ แต่ต้องยอมรับว่าส่วนต่อเติมจะทรุดตัวมากกว่าตัวบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้น ควรแยกส่วนต่อเติมให้ขาดออกจากตัวบ้าน โดยทำเสาเข็มรองรับส่วนต่อเติมทั้งสี่มุมของพื้นที่ที่จะต่อเติมนั้น
- ไม่ควรเชื่อมโครงสร้างของส่วนต่อเติมเข้ากับตัวบ้าน ไม่ว่าส่วนต่อเติมนั้นจะใช้เสาเข็มสั้นหรือยาว เพราะในระยะแรกส่วนต่อเติมจะขยับทรุดตัวมากกว่าและจะดึงรั้งให้บ้านแตกร้าว ได้
- ก่อนกำหนดความยาวเสาเข็มในส่วนต่อเติม ควรทราบความยาวเสาเข็มของตัวบ้านที่แน่นอนก่อน เพราะหากส่วนต่อเติมใช้เสาเข็มที่มีความยาวมากกว่าจะเกิดปัญหาภายหลังได้ เช่นกัน สภาพเช่นว่านี้ตัวบ้านหลักจะทรุดตัวมากกว่าส่วนต่อเติม (ตามที่กล่าวถึงในตอนที่แล้ว) ซึ่งเคยเป็นกรณีปัญหาที่พบเห็นมาแล้วหลายแห่ง
สำหรับท่านที่กำลังประสบปัญหาก่อสร้างส่วนต่อเติมด้วยเสาเข็มสั้น ไปแล้ว หากมีปัญหาเรื่องฐานรากเกิดการทรุดตัวไม่เท่ากัน ก็สามารถแก้ไขได้โดยการเสริมฐานรากด้วยเสาเข็มยาว เสาเข็มที่เหมาะจะใช้เสริมคือ เสาเข็มเหล็กชนิดที่ต่อเป็นท่อนๆ แล้วกดลงดินโดยใช้แม่แรงไฮดรอลิก เสาเข็มประเภทนี้ติดตั้งได้ง่ายในพื้นที่ที่คับแคบและไม่จำเป็นต้องรื้อถอน ทำลายผนังหรือคานที่มีอยู่ แต่จะมีราคาแพง
หากคิดค่าทำเสาเข็มแล้วราคาเกินค่าก่อสร้างใหม่ อาจลองปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เช่น หลังคา เป็นวัสดุเบาก่อนเพื่อช่วยลดน้ำหนักและชะลอการทรุดตัวลง แต่หากยังเกิดการทรุดตัวมากอยู่ จนอาจเป็นอันตรายกับผู้อยู่อาศัย ก็ควรรื้อถอนแล้วทำใหม่ โดยใช้หลักการตามที่แนะนำข้างต้นครับ
สำหรับท่านที่มีปัญหาเรื่องบ้านต้องการปรึกษาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดรายการ “คลินิกช่างพบประชาชน” ขึ้นที่บริเวณชั้น 1 อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ทุกวันเสาร์ปลายเดือน โดยครั้งถัดไปจะตรงกับวันเสาร์ที่ 26 ก.ย. 2552 เริ่มตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. ท่านที่มีความสนใจเข้าร่วมกิจรรม กรุณาโทร.แจ้งชื่อและปัญหาของท่านเพื่อเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าที่ โทร. 02-319-2708 ถึง 10 ต่อ 310 รับไม่เกิน 20 ท่าน และเป็นบริการฟรีครับ