สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุณค่าของจรรยาบรรณธุรกิจ (ตอนที่2) : ธุรกิจก้าวไกลใส่ใจธรรมาภิบาล

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ยุทธ วรฉัตรธาร ที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้านการพัฒนาการกำกับดูแล กิจการบริษัทจดทะเบียน:


บท ความครั้งที่แล้วได้ยกตัวอย่างเนื้อหาจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทที่ถือว่ามี มาตรฐานดีมากบริษัทหนึ่งไปแล้ว 3 หมวด ยังเหลืออีก 3 หมวด ขอเล่าต่อให้ฟังดังนี้  

4.ผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจ ส่วนนี้ประกอบด้วยการรับของขวัญหรือสิ่งของจากผู้ติดต่อ ซึ่งต้องกำหนดระเบียบให้ชัดเจนว่ากรณีใดที่รับได้หรือรับไม่ได้ เช่น เทศกาลปีใหม่ มูลค่าของขวัญที่รับได้ต้องไม่เกินกี่บาท แม้จะมีการกำหนดมูลค่าไว้ไม่มาก ก็ยังมีแนวทางตัวอย่างของกรณีที่ไม่ควรรับหรือต้องไม่รับ เช่น ระบุไว้ชัดเจนว่าการรับสิ่งของใดๆ จากลูกค้า แม้ว่ามูลค่าจะไม่ผิดระเบียบ แต่หากมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจรายการค้าขายใดๆ ไม่ว่าจะปัจจุบันหรืออนาคต ต้องปฏิเสธการรับโดยเด็ดขาด เป็นต้น

ถัดไปเป็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หลักการคือ การตัดสินใจรายการค้าขายใดๆ ต้องยึดผลประโยชน์บริษัทเป็นหลัก ไม่หาประโยชน์ใส่กระเป๋าจากการใช้อำนาจหน้าที่ หรือเอื้อประโยชน์ให้ผู้อื่นจนทำให้บริษัทเสียประโยชน์ โดยหวังผลมีเอี่ยวให้ตัวเองด้วย นอกจากนี้ยังมีแนวปฏิบัติต่อคู่แข่งที่ต้องยึดถือกติกาและกฎหมายการแข่งขัน ทางการค้า ไม่ทำธุรกิจใดๆ ที่พัวพันกับการฟอกเงิน ตลอดจนแนวปฏิบัติในการค้าขายกับคู่ค้า (Supplier) คู่ค้าต้องปฏิบัติค้าขายกับบริษัทโดยเข้าใจจรรยาบรรณของบริษัท เช่น ไม่ติดสินบนพนักงานหรือผู้บริหารของบริษัท เป็นต้น

5.ชุมชนและสังคม กำหนดชัดเจนว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมใดๆ ที่ต้องให้ สินบนหรือเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน เพราะถือว่าคอร์รัปชันเป็นศัตรูของการพัฒนาและความก้าวหน้าของมวลมนุษย์ ยึดมั่นในความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง เคารพในขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมในชุมชนที่บริษัทมีธุรกิจการค้า ปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นและส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนา ชุมชน โดยคำนึงถึงเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ด้วย สุดท้ายเป็นแนวปฏิบัติในการติดต่อสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล ภายนอกอื่นๆ เช่น สื่อ ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ นายหน้าธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น

6.ทรัพย์สินของบริษัทและความซื่อสัตย์ทางการเงิน แนว ปฏิบัติในหมวดนี้เน้นเรื่องการผลิตข้อมูล รายงานต่างๆ และบัญชีที่จะต้องมีความถูกต้อง สมบูรณ์ ได้มาตรฐาน แนวปฏิบัติในการดูแลป้องกันและการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และลิขสิทธิ์อื่นๆ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายใน การรักษาความลับ และความปลอดภัยของข้อมูล

จรรยาบรรณธุรกิจ : เครื่องมือสร้างบรรษัทภิบาลที่ดี

ประมวลจากเนื้อหาทั้งหมดข้างต้น เป็นที่ชัดเจนว่าแนวปฏิบัติทั้งหลายเป็นการให้ยึดถือปฏิบัติในสิ่งที่ถูก ต้อง ถูกกฎหมาย มีจริยธรรม ซึ่งสอดคล้องกับหลักการบรรษัทภิบาลที่ดีว่า ต้องประกอบธุรกิจตามกฎหมาย มีจริยธรรม คำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เกี่ยวข้อง นโยบายบรรษัทภิบาลที่ดีเน้นในเรื่องโครงสร้างและกระบวนการของการกำกับดูแล ซึ่งเหมือนกับมีรูปแบบ แต่ไม่มีเนื้อหาสาระการปฏิบัติในเชิงลึกของแต่ละบุคคล จรรยาบรรณจึงเปรียบเสมือนสาระและเป็นเครื่องมือให้มีการปฏิบัติอย่างเป็น รูปธรรมให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณจึงมีคุณค่าต่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม และความยั่งยืนของกิจการ นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีจึงแนะนำให้ทุกบริษัทควรมีจรรยาบรรณเป็นลาย ลักษณ์อักษร มีแล้วต้องสื่อสารทำความเข้าใจและส่งเสริมให้ยึดมั่นและถือปฏิบัติ

คาถาจริยธรรม

อาจมีผู้สงสัยจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า จรรยาบรรณมีไว้เหมือนมีคัมภีร์ประดับหิ้ง เหมือนศีลธรรมพูดกันเยอะแยะไม่เห็นมีใครสนใจจะจำและปฏิบัติ แต่ในองค์กรธุรกิจผมเห็นว่าไม่ยึดถือไม่ได้ การไม่ปฏิบัติมีโอกาสเกิดผลกระทบต่อผลประกอบการ ภาพลักษณ์ชื่อเสียงและความยั่งยืน จึงขอส่งท้ายด้วยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ (ไม่ใช่พระพุทธเจ้านะครับ) ที่แนะนำวิธีป้องกันไม่ให้ประพฤติผิดจรรยาบรรณง่ายๆ ไว้ 2 วิธี คือ

วิธีแรก สัญญาณต่อไปนี้ให้ระมัดระวังอาจมีการประพฤติผิดจรรยาบรรณ ควรเตรียมวิธีป้องกันไว้เนิ่นๆ

1) ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น 2) ก็ไม่เห็นมีใครได้รับความเดือดร้อน 3) หมูก็ยังเป็นหมูวันยังค่ำ 4) อย่าทำตัวเป็นพระอรหันต์หน่อยเลย 5) เรื่องนี้รู้แค่เรา 2-3 คนเท่านั้นนะ 6) ทำครั้งนี้ครั้งเดียวก็แล้วกัน 7) ต้องหาวิธีอื่นให้ได้ 8) วิธีนี้ได้ผลแน่นอน ถ้าคุณ ... (แค่ใจถึงเท่านั้น) 9) ผมเดือดร้อนจริงๆ ไม่ทำผมไม่รอดแน่

วิธีที่สอง ตอบคำถาม 3 ข้อ เหมือนจำคาถาก่อนตัดสินใจทำรายการทุกครั้ง

1) เรามีความซื่อสัตย์ในทุกๆ เรื่องที่กำลังจะทำหรือไม่? 2) เรื่องที่กำลังทำเป็นธรรมกับทุกฝ่ายหรือไม่? 3) เราได้รับผลประโยชน์ (หรือได้รับเงิน) มากเกินไปหรือไม่? (ถ้ารับไม่ได้แล้วไปรับเท่าไหร่ก็ถือว่ามากเกินไปนะครับ)

view