จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :สายลมแสงแดด: |
เพราะมีสภาพคล้ายดั่งเมืองปิดท่าม กลางอ้อมกอดแห่งขุนเขา น่านจึงเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่อยู่ในฝันของนักเดินทางหลายต่อหลายคน
น่าน... นามนี้สั้นนัก แต่กลับเป็นที่ ต้องตาต้องใจ หลายคนฝันที่จะเดินทางไปสัมผัสน่านสักครั้ง และเมื่อได้มาเยือนแล้วมักหลงใหลดินแดนเล็กๆ แห่งนี้อย่างยากจะถอนตัว เช่นเดียวกับผมที่เดินทางมาน่านอยู่บ่อยครั้ง แต่ละครั้งมักเก็บเกี่ยวความสุขจากน่านในหลากหลายแง่มุม ทั้งศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และป่าเขาสีเขียวสด ซึ่งกลายเป็นฉากธรรมชาติที่ทำให้น่านดำรงอยู่ในหัวใจคนรักธรรมชาติเสมอมา
ไม่เพียงขุนเขาเท่านั้น น่านยังเป็นแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญของภาคเหนือ ปัจจุบันคือ อ.บ่อเกลือ ซึ่งเป็นถิ่นที่ที่ทำให้ผมต้องตก ตะลึงกับการผลิตเกลือในแบบโบราณของชาวบ้านที่ยังคงพบเห็นกันในยุคนี้ ในอดีตแม้น่านเป็นเพียงนครรัฐเล็กๆ แต่เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเกลือซึ่งเป็นทรัพย์ในดินที่หาได้ยากทางภาคเหนือ และค่อนข้างมีความสำคัญมากในสมัยโบราณ เช่นนี้เองจึงเย้ายวนให้พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์นครเชียงใหม่อยากได้เมืองน่านมาครอบครอง จึงจัดทัพกรีธามายึดเมืองน่านได้ในท้ายที่สุด ทำให้น่านตกเป็นอาณาจักรใต้อาณัติของล้านนาโดยสมบูรณ์นับแต่นั้นมา
บ่อเกลือสินเธาว์อยู่ห่างจากตัวเมืองน่านประมาณ 80 กิโลเมตร ชาว อ.บ่อเกลือ นอกจากจะมีอาชีพทำนาทำไร่แล้วยังมีอาชีพทำเกลือสินเธาว์อีกด้วย บ่อเกลือนี้มีมาแต่โบราณอยู่ในเขต อ.บ่อเกลือ สมัยก่อนนอกจากเป็นที่ต้องตาของอาณาจักรล้านนาแล้ว เกลือจากน่านยังเป็นสินค้าขึ้นชื่อที่ส่งขายไปยังสุโขทัย เชียงตุง หลวงพระบาง เลยไปถึงสิบสองปันนาเลยทีเดียว ในอดีตคาดว่าคงมีอยู่หลายบ่อ แต่เดี๋ยวนี้แห้งเกือบหมดแล้วครับ เหลืออยู่เพียง 2 บ่อเท่านั้น ตั้งอยู่ในบ้านบ่อหลวงอันเป็นพื้นที่เริ่มต้นของที่ราบแคบๆ ระหว่าง เทือกเขาริมน้ำมาง ซึ่งในบริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน 8 หมู่บ้าน
บ้านบ่อหลวงนี้มีบ่อเกลือสาธารณะอยู่ 2 บ่อ ชาวบ้านมักเรียกว่าบ่อเหนือและ บ่อใต้ บ่อเหนืออยู่ริมแม่น้ำมาง ส่วนบ่อใต้ห่างออกไปราว 500 เมตร ติดเชิงเขาท้ายหมู่บ้าน ทั้งสองบ่อกรุขอบด้วยคอกไม้กันดินปากหลุมถล่มและมีนั่งร้านสำหรับยืนตักน้ำ เกลืออยู่ข้างๆ ทั้งสองบ่อนี้มีน้ำเกลือซึ่งมีความเข้มข้นสูงกว่าบ่ออื่นๆ
ชาวบ้านยังคงต้มเกลือด้วยวิธีแบบดั้งเดิม โดยตักน้ำเกลือจากบ่อส่งผ่านมาตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพัก การทำเกลือนำน้ำเกลือที่ตักจากบ่อมาต้มในกระทะประมาณ 4-5 ชั่วโมงให้น้ำเกลือระเหยแห้ง จากนั้นก็จะนำไม้พายมาตักเกลือใส่ตะกร้าที่แขวนไว้เหนือกระทะเพื่อให้น้ำ เกลือไหลลงมาในกระทะ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยจนน้ำในกระทะแห้งหมด แล้วจึงตักน้ำเกลือจากบ่อมาใส่ลงไปใหม่ หลังจากนั้นใส่ถุงวางขายกันหน้าบ้าน เกลือเมืองน่านไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือทะเลนะครับ จึงต้องมีการเติมสารไอโอดีนก่อนจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว
ว่ากันว่าการจะนำน้ำเกลือออกจากบ่อนั้นต้องทำพิธีเลี้ยงผีเมืองและ เจ้ารักษาบ่อเกลือกันก่อน โดยทำทุกปีในวันแรม 8 ค่ำเดือน 5 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “งานแก้ม” ในสมัยก่อนกินเวลานานถึง 7 วัน แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียง 3 วันเท่านั้น
นอกจากจะได้ชมการสาธิตต้มเกลือในแบบโบราณแล้ว ยังดื่มด่ำกับภูมิทัศน์ของ อ.บ่อเกลือ ที่ชื่นตาชื่นใจด้วยป่าเขาลำเนาไพร โดยเฉพาะในเขต ต.บ่อเกลือใต้ นั้นเป็นพื้นที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติขุนน่านซึ่งอุดมไปด้วยผืนป่าและธารน้ำ
จากเรื่องราวของเกลือโบราณ ผม อำลา อ.บ่อเกลือ ด้วยความรู้ที่อิ่มเต็มในสมองพร้อมๆ กับความสุขที่เอ่อล้นเต็มหัวใจ มุ่งหน้าต่อไปยังอุทยานแห่งชาติดอยภูคาเพื่อพักแรมคืนกันที่นั่น เรากางเต็นท์กันแบบเรียบง่ายบริเวณลานกางเต็นท์ ที่มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำไว้บริการพร้อมสรรพ
ไอเย็นกลางสายลมลอยมาปะทะผิวกายจนต้องกระชับเสื้อคลุมแนบตัว อุทยานแห่งชาติดอยภูคานี้เป็นอีกหนึ่งกล่องดวงใจของ จ.น่าน ที่มีความสำคัญไม่แพ้ความงดงามทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ทุกคนสามารถสัมผัส ได้
พื้นที่ของอุทยานครอบคลุมถึง 8 อำเภอ คือ อ.เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง เชียงกลาง ปัว ท่าวังผา สันติสุข แม่จริม และบ่อเกลือ เรียกว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่มีทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่าที่มีความ สำคัญต่อระบบนิเวศน์ รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำน่าน ลำน้ำปัว ลำน้ำว้า ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของชาว จ.น่าน
อีกทั้งยังมีความสำคัญในอดีตอีกด้วย เชื่อกันว่าเทือกเขาดอยภูคาเป็นเมืองเก่าของบรรพบุรุษของคนเมืองน่าน และในปัจจุบันนี้ก็ยังมีศาลเจ้าพ่อภูคาอันเป็นที่เคารพสักการะของชาว จ.น่านและบุคคลทั่วไป
มาถึงดอยภูคากันแล้ว ถ้าในช่วงเดือนก.พ.–มี.ค. จะได้เห็นความงดงามของต้นชมพูภูคาที่จะออกดอกในช่วงระยะเวลานั้น ต้นไม้ชนิดนี้ถือเป็นหนึ่งเดียวในโลก และในเมืองไทยก็พบเพียงที่เดียวคือที่ป่าของดอยภูคาแห่งนี้ ชมพูภูคาเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงถึง 25 เมตร ส่วนพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือต้น เต่าร้างยักษ์หรือเต่าร้างน่านเจ้า จัดเป็นไม้เฉพาะถิ่นของดอยภูคา และยังไม่มีรายงานว่าพบที่ใดในโลกอีกด้วย และพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่พบครั้งแรกในประเทศไทย ณ ดอยภูคาแห่งนี้ คือ ก่วมภูคา เป็นไม้ผลัดใบ พืชวงศ์เดียวกับเมเปิล ลำต้นสูงประมาณ 15-20 เมตร ใบอ่อนสีแดงเว้า 5 แฉก ใบแก่สีเขียว 3 แฉก นอกจากนี้ยังมีต้นไม้หายากอีกหลากหลายชนิดให้ได้ตามหามาชมเป็นขวัญตากันล่ะ ครับ
ค่ำคืนเคลื่อนตัวผ่านมาทักทาย มีเพียงเสียงหรีดหริ่งเรไรดังระงมในรัตติกาล อากาศเริ่มเย็นลงทุกขณะ ภาพทิวเขาสูงต่ำสลับไปมาถูกห่มคลุมใต้เงาของความ มืดที่กลืนกินทุกสิ่งให้กลายเป็นสีดำสนิท ความวังเวงในบรรยากาศพาให้ผมและผองเพื่อนต้องเข้านอนเร็วกว่าปกติ เพื่อตื่นขึ้นมารับไอแดดยามเช้า
และนี่คือตำนานบทหนึ่งของน่าน และทำให้น่านดำรงเสน่ห์ที่น่าค้นหาตราบนานเท่านาน