สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การปรับโครงสร้างชนบทไทยกับปัญหาที่มองไม่เห็น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : พิรอบ แต้มประสิทธิ์



กระบวนการอำนาจรัฐและตลาดเป็นบริบทสำคัญของ"เสรีนิยมใหม่"ที่ เข้าไปปรับโครงสร้างชนบทไทย ผู้คนอยู่อย่างไร้ตัวตน เสี่ยงและไร้อำนาจควบคุมชีวิต

ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์  อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวปาฐกถา 60 ปีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เรื่อง "การปรับโครงสร้างชนบทไทยกับปัญหาที่มองไม่เห็น" โดยเกริ่นนำงานวิทยานิพนธ์ของเขาปี 2524ว่า การเปลี่ยนแปลงชนบทในกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยม สังคมชนบทมีการเปลี่ยนแปลงในขณะนั้น โดยชาวนาที่ทำนาเช่า เกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ภาพที่เห็นเจ้าของนามีการตวงข้าวกัน มีการแชร์ครึ่งกัน  ชาวนาได้ผนวกเข้ากับระบบการผลิตแบบทุนนิยม  และต่อมาหลังการทำนามีการปลุกพืชเกษตรเชิงพาณิชย์ ถั่วเหลืองครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งปลูกหอมหัวใหญ่  ระบบการผลิตไม่ได้เป็นแบบทุนนิยมเสียทั้งหมด  เช่นกันกรณีใช้น้ำทำนาด้านหนึ่งชาวนาใช้น้ำจากการทำหมืองฝายและด้านหนึ่งตอก น้ำบาดาลใส่น้ำทำนา

ดร.อานันท์ กล่าวว่าเมื่อไปศึกษาชนบท พบว่ามีการเชื่อมโยงกับอำนาจภายนอกมาก ที่มีทั้งรัฐและระบบตลาด  เช่นมีการนำวัว ควายไปขายในตลาด การทำเหมืองฝาย มีการใช้น้ำในนาถึง 3 หมื่นไร่  มีความแตกต่าง การกระจายตัวและเหลื่อมล้ำในชุมชนอย่างมหาศาล โดยบางคนไม่มีข้าวในนาจนต้องรับจ้าง มีความขัดแย้งกันมาก คนจำนวนมากไม่มีพื้นที่ทำนา คนที่มีนาก็ให้เช่าจำนวนมาก และมีการแย่งน้ำกันเกิดขึ้น

โดยสรุปในปี2523-2524 กระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างชนบทในยุคพัฒนาแบบทุนนิยม มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชนบท(Agrarian Tranformation)  เน้นมุมมองเฉพาะด้านการผลิต ที่ดึงเข้าสู่ระบบทุนนิยม เห็นการเปลี่ยนแปลงผ่านความขัดแย้งและความรุนแรงในท้องถิ่น และมีความสัมพันธ์กับรัฐและทุน มีการเอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมต่างๆระหว่างกลุ่มคนที่มีความสามารถ ในการเข้าถึงทุนแตกต่างกัน จนนำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดร.อานันท์ กล่าวว่า แต่เมื่อมีพลังขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างชนบทในปัจจุบัน เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ หรือเสรีนิยมใหม่ จะเห็นการทำงานของกลไกตลาดเสรีที่ไร้พรมแดน ในยุคหลังการพัฒนา( post-Development) หากไม่นำการรื้อปรับโครงสร้างชนบท(Rural  restructuring) ก็จะไม่เข้าใจการปรับตัวของโครงสร้างชนบท  ดูเสมือนว่ามีกลไกทำงานได้ด้วยตัวเองของระบบทุนนิยม แต่เมื่อมองการทำงานตามกลไกตลาด มองเฉพาะการผลิต"อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมอง"การบริโภค"ที่มีหลายอย่าง ซึ่งในวิชาสังคมวิทยา ต้องเข้าใจถึงกระบวนการ การบริโภค ความหมาย ความรู้  อุดมการณ์  เข้าไว้ด้วยกัน จึงทำให้ได้ภาพกระจ่างชัด

"มองชนบทว่ามีการโดดเดียวไม่ได้ เพราะมีความเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เป็น Community chain มีการค้าชายแดน ข้ามพรมแดน เป็นภาพปรากฏที่มองเห็นกัน ทำเขื่อนประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมีการซื้อน้ำกลับมา"

ในงานวิทยานิพนธ์ วาทกรรมการพัฒนา:กรณีศึกษาปลาบึก เมื่อเปิดเสรีทางการค้ากับจีนเข้ามามีการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ฝ่ายกระแสกลุ่มอนุรักษ์ ได้ใช้วาทกรรมต่อสู้ให้หยุดล่าปลาบึกที่ว่ากระบวนการพัฒนาให้คนในท้องถิ่น ที่จับปลาบึกมาก่อนให้หยุดจับปลาบึก โดยพยายามกีดกันคนท้องถิ่นออกจาก ทรัพยากรธรรมชาติ โดยกระแสอนุรักษ์ได้ใช้ความรู้ วาทกรรมในการครอบงำคนท้องถิ่น ต้องยึดความรู้การพัฒนาจากภายนอก

แต่ชาวบ้านได้ดำเนินการต่อรองช่วงชิงในการร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และใช้ความรู้ วาทกรรม ตอบโต้สู้กับอำนาจกระแสพัฒนาที่มาจากภายนอก ที่กระแสอนุรักษ์พยายามกีดกันไม่ให้จับปลาปึก เพื่อคนท้องถิ่นต้องการเข้าไปจัดการทรัพยากรท้องถิ่นได้            

ความหมายตรงนี้ ดร.อานันท์ ตั้งคำถามว่า ตลาดเสรีทำงานได้เองจริงหรือ? จึงต้องมองด้านภาพที่ปรากฏและด้านที่มองไม่เห็น ทั้งบทบาทของภาครัฐ และวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ  กระบวนการเชิงซ้อน  ทั้งการขายสินค้า และการบริโภค และความหมาย ทำงานผ่านวาทกรรมการพัฒนา และการครอบงำความรู้ทั้งสิ้น

รวมไปถึงบริบทสำคัญของ"เสรีนิยมใหม่"ที่มาจากธนาคารโลก เป็นปัจจัยหลัก ในการจัดสรรทรัพยากร ที่ดิน และสภาพแวดล้อม ว่ามีการพลิกผันเปลี่ยนแปลง อาทิการเปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นปัจเจกชน  การออกเอกสารสิทธิ   การเปลี่ยนที่ดินให้เป็นสินค้า โดยการส่งเสริมการขยายตัวของพืชพาณิชย์ เช่น การปลูกยาง  ปาล์มน้ำมัน  เมื่อมีการปลูกพืชพาณิชย์ ก็เป็นการเปลี่ยนที่ดินให้เป็นสินค้า หมายความว่าทำให้มูลค่าที่ดินมีค่ามากขึ้น อย่างกรณีน้ำก็เช่นกัน ถ้ามีการสร้างเขื่อน เมื่อเกิดพลังงาน  น้ำก็มีมูลค่าเปลี่ยนไป

ในพื้นที่ชายขอบชนบทภาคเหนือได้มีการขยายตัวปลูกยางพาราขนาดใหญ่  โดยการเปลี่ยนทรัพยากรที่ดินให้เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น  รัฐขยายอำนาจรัฐเหนือพื้นที่(Territorialization)มาสู่การถอนอำนาจรัฐออกจาก พื้นที่ (De-Territorialization) โดยให้กลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน ส่งเสริมให้มีการ ปลูกยาง ขยายเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวน

ดร.อานันท์ กล่าวว่ารัฐได้ขยายพื้นที่เข้าไปในอนุรักษ์ และออกกฎหมายมาบังคับ มีการครอบงำทางความรู้ และบอกชาวบ้านว่าการทำไร่เกษตรมันล้าหลังทำไม่ได้ แต่ถ้ามีการปลูกยางพาราจะดีกว่าการปลูกพืชไร่ ตรงนี้ได้ถามชาวบ้าน เขาตอบว่าถ้าปลูกข้าวจะถูกจับในป่าอุทยานแห่งชาติ ถ้าปลูกยาง สามารถปลูกข้าวได้  ซึ่งการปลูกยางพารามีความซับซ้อนแฝงอยู่ โดยถ้าปลูกยางนั่นหมายความว่าทันสมัย แต่ถ้าปลูกข้าว หมายถึงล้าหลัง ชาวบ้านได้ต่อรองหันไปปลูกยาง เพื่อให้ได้ใช้พื้นที่ป่าทำไร่ข้าว ซึ่งถูกรัฐห้ามไว้ โดยการปลูกยางพารา เพื่อไม่ให้ถูกจับ

เช่นเดียวกับการปลูกยางในภาคอีสาน ที่บ้านกุดชุม รัฐมีนโยบายให้ปลูกยางพารา  แต่ต่อมามีการลดการปลูกยาง หันกลับไปส่งเสริมการปลูกพืชอุตสาหกรรมและพืชทดแทนพลังงาน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาด

และกรณีเขื่อนปากมูล รัฐได้เข้าไปสร้างเขื่อนได้มีการเปลี่ยนทรัพยากรทุน จนมีการแย่งชิงทรัพยากรส่วนรวมกันขึ้น จนรัฐขยายอำนาจเข้าไปควบคุมทรัพยากร แล้วเข้ามาเปลี่ยนเป็นทุนของตัวเอง

"กระบวนการขยายอำนาจรัฐเหนือพื้นที่(Territorialization)ได้ยอก ย้อน จากการปลูกยางที่ภาคเหนือ และอีสานได้มีการยอกย้อนกลับไปกลับมา โดยรัฐมีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ รองรับการขยายตัวของตลาด"ดร.อานันท์ กล่าว 

ดร.อานันท์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างในการเข้าถึงทรัพยากร ซับซ้อนและยอกย้อน ที่เป็นปัญหามองไม่เห็น ที่บทบาทของรัฐในเชิงนโยบาย โดยการครอบงำความรู้  กระบวนการยอกย้อนไปมาของการขยายอำนาจรัฐ เหนือทรัพยากร เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาด การกีดกันและการช่วงชิงทรัพยากรอย่างเข้มข้นและรุนแรง จนทำให้ท้องถิ่นสูญเสียอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร  ความไม่มั่นคงและความเสี่ยงในการดำรงชีวิตของคนชายขอบและกลุ่มชาติพันธุ์

การปรับโครงสร้างชนบทมีคำถามว่า ชาวนาถูกผลักออกจากภาคเกษตรหมดแล้วจริงหรือ ? โดยที่การช่วงชิง และการกีดกันการเข้าถึงที่ดินเกษตร มีกระบวนการเบียดขับออกจากการเป็นชาวนา เพราะจากปรากฏการณ์ขายที่นากันจำนวนมาก ที่นากลายเป็นของนายทุนต่างชาติ  การใช้พื้นที่เกษตรกรรมซับซ้อนมากขึ้น  พื้นที่อยู่ภายใต้การกำกับของตลาดหรือ"กลไกเชิงสถาบัน" อำนาจการตัดสินใจ อยู่ที่อำนาจภายนอก เชื่อมโยงอยู่กับรัฐ และการตลาดโลก

ดร.อานันท์ กล่าวหลายพื้นที่ในชนบท มีการจ้างงานคนชนบทถูกผนวกเป็นแรงงานรับจ้างในตลาดโลก อุตสาหกรรมขนาดเล็กขยายตัวเข้ามาในชนบท แรงงานออกไปรับจ้างนอกภาคเกษตร  มีการรับงานมาทำที่บ้านมีการเหมาช่วง  การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการเกษตร บางหมู่บ้านมีแรงงานออกจากภาคเกษตร ชุมชนชนบทกลายเป็นหอพักไปแล้ว

"ภาพปรากฏ การปรับโครงสร้างชนบทไม่ได้มองอย่างกรอบคิดคู่ตรงข้ามที่ชาวนาต้องล้มละลาย จากภาคเกษตร  เพราะในชนบทมีการระบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ที่ชาวนาทำการผลิตมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์อยู่ แต่เป็นแรงงานรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม   ที่ดินเป็นสถานที่ปลูกพืชอุตสากรรมการเกษตรอินทรีย์ของบริษัทต่างชาติ แต่คนชนบทต้องทำงานในโรงงาน แรงงานได้กลายเป็นสินค้า คนงานที่อยู่ในโรงงาน ถูกครอบงำความคิด กลายเป็นค่าจ้างในโรงงาน เมื่อให้ทำงานเพิ่มแล้วบอกว่ามีค่าจ้างเงินขยัน  แรงงานคนชนบทได้กลายเป็นทาสของค่าจ้าง"

ดร.อานันท์ กล่าวว่า เป็นปัญหาที่มองไม่เห็น ที่มีการยอกย้อนกลับไปกลับมา มองแบบเหมารวมไม่ได้ โดยแรงงานเหล่านี้สามารถกลับมาเป็นชาวนาใหม่ (Re-Peasantization)ได้ หรือมีความสัมพันธ์อยู่กับโลกาภิวัตน์ หรือหันกลับมาปลูกพืชตามบงการของตลาด โลก ทำอุตสาหกรรมอาหาร  แต่ชีวิตคนเหล่านี้มีชีวิตอยู่อย่าง"ไร้ตัวตน" ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลก ที่ไร้กำกับการควบคุม มีชีวิตเสี่ยง ที่เป็นคนงานอยู่บนที่ดินของตน

"โครงสร้างชีวิตในชนบท แฝงค่าเช่าและส่วนเกินไว้สูงมาก(High Rent) จากการถูกกีดกันเข้าถึงทรัพยากร ไร้กลไกควบคุมตลาด การครอบงำอุดมการณ์ และความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน  จนเกิดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต( High Risk)มีการสูญเสียสูง(High Lost)ไร้ตัวตน ไร้อำนาจในการควบคุมชีวิตตนเอง และไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"

ดร.อานันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า บทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้สอนที่มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ถือเป็นโชคดีที่ได้มองทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม มีความสัมพันธ์กัน ได้เห็นชาวบ้านมีการเรียกร้องซึ่งเป็น"จุดตัด"สำคัญ พยายามกดดันให้เกิดกลไกสถาบันใหม่ๆเคลื่อนไหวต่อรองกับอำนาจรัฐและไม่ให้ ตลาดทำงานฝ่ายเดียว เช่นให้มีป่าชุมชน  โฉนดชุมขน เพื่อให้ชุมชนเข้าถึงทุน มีการต่อรองที่มี"ตัวตนและอัตลักษณ์"ในการจัดสรรทรัพยากรเอง นอกจากรัฐและตลาด ที่เป็นตัวกำกับและผู้กระทำฝ่ายเดียว

view