จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในโลกเศรษฐกิจยุคขับเคลื่อนด้วย GDP ทำให้คนวิ่งไล่ตามกระแสสตีฟ จ็อปส์ และวัตถุนิยมก็กลายเป็นสิ่งวัดค่า ของ "ความสุข"
แต่ระหว่างทางของการเดินหาความสุข เรากลับพบ "ความทุกข์" มากมาย
มุมมองของ ดร.เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮอดจ์ จึงเชื่อว่า เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข (Economics of Happiness) หรือ การกลับมาสู่ "รากเหง้า" เดิม เป็นคำตอบของความสุข
ดร. เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮอดจ์ เป็นนักคิดเชิงปรัชญาชาวสวีเดน ผู้ก่อตั้งและพัฒนาชุมชนระหว่างประเทศเพื่อนิเวศวิทยาและวัฒนธรรม (ไอเส็ค) และเป็นเจ้าของรางวัลสัมมาอาชีวะ ปี ค.ศ. 1986 ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นรางวัลโนเบลทางเลือก จากการสนับสนุนคนในท้องถิ่นให้จัดตั้งโครงการพัฒนาทางนิเวศวิทยาของลาดัก (Ladakh Ecological Development Project) ขึ้น
แนวความคิดของ เฮเลนา แตกต่างสิ้นเชิงกับโลกของ "ทุนนิยม" ที่ขับเคลื่อนด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) การต่อต้านกระแสโลกสมัยใหม่ (Modernization) และโลกาภิวัตน์ (Globalization) แต่มีความเชื่อเปี่ยมล้นในเรื่อง เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข (Economics of Happiness)
เฮเลนา เดินทางไปรอบโลกเพื่อขายความคิดนี้ ซึ่งล่าสุด มูลนิธิสัมมาชีพ ได้เชิญเธอมาเพื่อเปิดมุมมองใหม่
เธอ ยืนยันแนวความคิดว่า ระบบทุนนิยมกัดกร่อนสิ่งที่ดีงามในสังคมเล็กๆ ทำให้คุณค่าแห่งความเป็นคน และคุณภาพชีวิตของคนลดทอนลง กลายเป็นสังคมที่มีแต่ความเร่งรีบ การแก่งแย่งแข่งขัน และท้ายที่สุดลัทธิทุนนิยมก็กลายเป็นตัวที่ทำลายระบบเศรษฐกิจ จนนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้
ในโลกทุนนิยม ประเทศต่างๆ เรียกร้องให้เปิดโลกการค้าเสรี เพื่อความคล่องตัวทางการค้า และมองว่า นี่คือการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่าง "คุ้มค่า" แต่ในสายตาของนักกิจกรรมคนนี้เห็นต่างว่า ระบบการค้า และธุรกิจที่ใหญ่เป็นปัญหา เป็นการครอบงำโลก
"โครงสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ ใหญ่จนทำให้คนแขนยาวจนยืดไปอีกซีกโลกได้โดยไม่เห็นมือตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนผลิต คนขาย หรือแม้แต่คนบริโภค แต่ความใหญ่ได้ทำลายชุมชน ความเป็นตัวของตัวเอง และสิ่งแวดล้อม"
แท้จริงแล้ว "ต้นตอ" ของปัญหาเกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ทำให้โครงสร้างธุรกิจมีความมหึมาจนกำหนดเทรนด์โลก
ความใหญ่โต และกรอบความคิดที่มุ่ง "กอบ และโกย" ทำให้ความสมดุลขาดหายไป โดยเฉพาะกิจกรรมการผลิต การทำธุรกิจที่เน้นกิจกรรม "เชิงเดี่ยว" เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจด้านความ "คุ้มค่า" (Economy of scale)
ในเชิงเศรษฐศาสตร์ Economy of scale ทฤษฎีที่สั่งสอนกันมา เพื่อให้สินค้ามีมาตรฐานเดียวกัน ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ขายได้มาก และได้กำไรที่มากขึ้น
แต่สำหรับเฮเลนา ทฤษฎีนี้เป็นสิ่งที่นำความหายนะมาสู่สังคม ลามไปถึงปัญหาการว่างงาน
"เป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว ที่รัฐบาลต่างๆ ผลักดันให้ประชาชนปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อสร้างผลผลิตให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ความหลากหลายของโครงสร้างถูกทำลาย แต่แท้จริงแล้วการปลูกพืชหลากหลายให้ผลผลิตที่มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว"
เฮเลนา บอกว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกฝึกมาในกระแสหลักไม่อาจแยกแยะคุณค่าของการผลิต "อาวุธ" กับ "ข้าว" หรือผลผลิตต่างๆ ได้ เพราะพวกเขามีเพียงเป้าหมายแค่ "กำไร"
"เพราะหากเราต้องการผลิตลูกบอล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ให้มีขนาดเดียวกัน การผลิตแบบโครงสร้างขนาดใหญ่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่า"
แต่หลงลืมไปว่า ประสิทธิภาพที่มาจากเครื่องจักรได้ไปเบียดเบียนแรงงานคน กลายเป็นปัญหาคนว่างงาน
"ในสภาวะที่โลกเรามีประชากรมากถึง 6 พันล้านคน เราต้องเลิกการผลิตเชิงเดี่ยว และการใช้เครื่องจักร เพราะทำให้คนตกลงมากขึ้น สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย"
เธอเรียกร้องชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกคุณค่าแห่งสังคมกลับมา เรียกร้องให้รัฐบาลหันมามองความผิดพลาดของระบบโครงสร้างที่ผิดปกติเหล่านี้
พร้อมกับยกตัวอย่างคนใน "ลาดัก" ชุมชนอันเก่าแก่ซึ่งอยู่ตอนเหนือของอินเดียที่เธอเชื่อว่า เป็นชุมชนที่มีความสุขที่สุดในยามที่ยังปิดตัวเองจากโลกภายนอกนอก
"คนในลาดักมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีคุณค่ามีศักดิ์ศรี ทำให้เขามีความสุขที่สุด"
แต่หลังจากลาดักเปิดรับ "ความศิวิไลซ์" ชั่วระยะเวลาสั้นๆ ศักดิ์ศรีของคนลาดักถูกกดลงต่ำจากการประเมินด้วยตาฝรั่งตาน้ำข้าว
"คนลาดักเห็นว่าตัวเองด้อยกว่าสังคมโลก และหันมาให้ความสำคัญกับโลกภายนอก มันอาจจะฟังดูเกินจริง แต่นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เปลี่ยนจากขาวกลายเป็นดำ กลายเป็นเศรษฐศาสตร์แห่งความไม่เป็นสุข"
เธอบรรยายไว้ในหนังสือ "อนาคตอันเก่าแก่" ไว้ว่า ถ้าคนลาดักตัดสิน เขาเหล่านั้นย่อมเป็นคนจน เพราะชีวิตยากไร้ แร้นแค้น ไม่สะดวกสบาย ขาดทรัพย์ศฤงคารนานาประการ แต่เขามีวัฒนธรรมอันงดงาม แม้จะมีผ้าเพียงน้อยชิ้น แต่ละชิ้นก็ผลิตด้วยตนเอง อย่างประณีต แสดงว่าเขามีกุสุมรส ทั้งยังรวยน้ำใจกันแทบทั้งนั้น
เขาพอใจในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย พึ่งตนเองได้ ภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนเอง พร้อมๆ กับการพึ่งพากันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยนับถือธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ว่าเป็นดังหนึ่งพี่ดังหนึ่งน้อง เขาเห็นคนแปลกหน้าเป็นดังหนึ่งมารดาของเขา เขาจึงมีทั้งสุขภาพ อิสรภาพและภราดรภาพ โดยที่คุณธรรมข้อหลังนี้ไม่มีเอาเลยในเมืองฝรั่งก็ว่าได้
เพียงไม่นานที่กระแสสมัยใหม่เข้าครอบงำ หนุ่มสาวลาดักทำงานด้วยความเครียด และกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยการแข่งขันแก่งแย่ง มีคนมากถึง 6 พันคนจบปริญญา แย่งงาน "เสิร์ฟน้ำชา" ที่รับเพียง 300 คน
และสถิติการฆ่าตัวตายของคนลาดักมีเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ
การตระเวนไปทั่วโลก ทำให้เห็นชัดว่า คนส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทาง "ศิวิไลซ์" ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองตามแบบอารยธรรมตะวันตกที่ถูกยกย่องว่าเป็น "ผู้นำ" กลายเป็นการปฏิเสธตัวเอง และพากันทำศัลยกรรม เสริมจมูก เปลี่ยนสีผิว
อุตสาหกรรมศัลยกรรมกลายเป็นเรื่องฮิตๆ ไปทั่วโลก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ คนยังตัดแต่ง ดัดแปลงตัวเองให้เหมือนนางแบบในทีวี
เฮเลนา บอกว่า ถึงเวลาที่เราจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ด้วยการกลับไปสู่ "รากเหง้าเดิม"
เธอ เชื่อว่า ในหลายสังคม ชุมชน เริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจท้องถิ่น และเริ่มสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่เป็นอยู่ กลับมาสู่เศรษฐกิจที่มีขนาดเหมาะสมกับชุมชน
แค่นั้นคงไม่พอตราบใดที่รัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนการค้าเสรี ให้เงินสนับสนุนกิจการขนาดใหญ่ แต่ควบคุมและรีดภาษีกับธุรกิจขนาดเล็ก เธอ บอกว่า ขบวนการรากแก้วของประเทศจะต้องร้องเสียงดังๆ ให้เกิดการผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่น "เชิงนโยบาย" เพื่อให้ชุมชนเล็กๆ มีความเข้มแข็งและเลี้ยงตัวเองได้ และพร้อมเป็นที่พึ่งแก่กัน
เธอยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะให้รัฐบาลขานรับแนวคิดที่อยู่คนละขั้วกับทุนนิยม เพราะตราบใดที่ความสุขมวลรวมของประชาชนไม่สามารถขับเคลื่อนให้จีดีพีประเทศ เติบโตขึ้นไปแข่งขันในเวทีโลกได้ ก็เมินซะเถอะ
"การที่ชุมชนเดือนร้อนแล้วพี่ช่วยน้องไม่ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น แต่กิจการค้าขายต่างหากที่ทำให้จีดีพีเพิ่ม หรือถ้าพวกเราเป็นมะเร็ง มีการฉายแสดง ผ่าตัด ยิ่งมากก็ยิ่งทำให้จีดีพีโต แต่การทำเกษตรอินทรีย์ แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ไม่ได้ทำให้จีดีพีโตหรอกนะ"
วาทะเปรียบเปรยทำให้เห็นภาพชัดแจ่มแจ๋ว
ในความเห็นของเฮเลนา การสร้างเศรษฐศาสตร์แห่งความสุขได้ คนในชุมชนต้องเป็นหลัก และมีจุดยืนที่เด็ดเดี่ยว ต้องทำให้สังคม ชุมชนพึ่งตนเองให้ได้ ภายใต้ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมที่มี หรือการกลับสู่ "รากเหง้า" เดิม แต่แค่นั้นไม่พอคนในสังคมต้องเรียนรู้เท่าทันระบบโครงสร้างเศรษฐกิจในองค์ รวม เพื่อ "เอาชนะ" ให้ได้
แม้จะเป็นเรื่องยากก็เถอะ
เธอเชื่อว่า เศรษฐกิจแนวทางโลกยุคปัจจุบันทำให้โลกไปไม่รอด ไม่มีใครอยากอยู่ การปฏิวัติเศรษฐกิจเพื่อไปสู่เศรษฐกิจแห่งความสุขต่างหากคือสิ่งที่คนทั้ง โลกกำลังไขว่คว้า