สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

10 บริษัทยักษ์จ่อคิว ล้มละลาย ลุ้นชะตากรรม ใครจะเป็นรายต่อไป ?

จากประชาชาติธุรกิจ



แม้กูรูด้านเศรษฐกิจจะมองว่า ภาวะต่ำสุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว และเริ่มมีต้นอ่อนของเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาหลังเกิดมรสุมการเงินครั้งล่าสุด

แต่ ยังมีบริษัทอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังอยู่ในภาวะยากลำบาก รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลายแห่งที่ยังต้องลุ้นว่าจะหนีพ้นจากชะตากรรม "ล้มละลาย" ได้หรือไม่

"เดอะ บิสซิเนส อินไซเดอร์" อ้างถึงรายงานล่าสุดของ "ออดิต อินทิกริตี้" ที่ระบุว่า 10 บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในสหรัฐมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะต้องเข้าสู่ ชะตากรรมล้มละลาย

โดยพิจารณาจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งไม่นับรวมบริษัทที่มีมูลค่าตลาดต่ำกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ และจัดอันดับรายชื่อโดยพิจารณาจากดัชนีชี้วัดความเสี่ยงภาวะล้มละลายที่ คำนวณจากมูลค่าตลาด (MC-market cap) เทียบกับมูลค่ากิจการ (EV-enterprise value) ซึ่งหากตัวเลข MC/EV อยู่ในระดับต่ำ จะสะท้อนว่าตลาดมีความเชื่อว่า บริษัทนั้นๆ มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายมากขึ้น

"เฮิร์ตซ" (Hertz) บริษัทให้เช่ารถยนต์รายใหญ่สุดของโลก ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของทำเนียบบริษัทจดทะเบียนที่เสี่ยง ล้มละลาย ด้วยค่า MC/EV เท่ากับ 32% เนื่องจากบริษัทมีหนี้จำนวนมหาศาล ขณะที่ความต้องการเช่ารถที่ลดลงอย่างมาก

แม้บริษัทจะยื้อชีวิตด้วยการเพิ่มทุนในเดือนพฤษภาคม แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้ง "ฟิทช์" และ "มูดีส์" ต่างก็ปรับลดอันดับของเฮิร์ตซในเดือนกรกฎาคม

อันดับ 2 คือ "เท็กซ์ทรอน" ที่มีธุรกิจ หลากหลายในมือ ทั้งผลิตเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และการเงิน โดยค่า MC/EV เท่ากับ 39% ซึ่งภาวะเศรษฐกิจได้ส่งผล ต่อการขายเครื่องบินของบริษัท

เท็กซ์ทรอนต้องลดมูลค่าทรัพย์สินลง เพราะบริษัทยกเลิกการออกแบบเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ บวกกับความต้องการซื้อที่ลดลง

"สปรินต์ เน็กซ์เทล" ผู้ให้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต ติดอันดับ 3 ด้วย MC/EV เท่ากับ 41% เพราะบริษัทกำลังสูญเสียลูกค้า โดยอาจเสียลูกค้าแบบ post-paid ราวๆ 4.4 ล้านรายในปีนี้ และยังติดบ่วงปัญหาหนี้ที่จะครบชำระใน 2-3 ปีข้างหน้า

ตามมาด้วยห้าง "เมซีส์" ที่กำลังเสี่ยงกับชะตากรรมล้มละลายเช่นกัน โดยมีค่า MC/EV อยู่ที่ 47% โดยยอดขายในสาขาที่ดำเนินการมานานกว่า 12 เดือนของเมซีส์ มีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องในปีนี้ และมีหนี้ที่จะครบกำหนด 5 ปีข้างหน้า 2.4 พันล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทต้องพยายามลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด

"มาย แลน" (Mylan) ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐ ติดอันดับ 5 ด้วยค่า MC/EV ที่ 51% โดยธุรกิจของมายแลนสะดุดหลังจากควักเงินซื้อธุรกิจผลิตยาสามัญจาก "เมิร์ค" ในปี 2550 แพงถึง 6.6 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ขณะนี้บริษัทเผชิญกับหนี้ระยะยาว 5 พันล้านดอลลาร์

"กู๊ดเยีย ร์" ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อยู่อันดับ 6 ด้วย MC/EV ที่ 53% หลังจากความต้องการยางรถยนต์ลดลง รวมทั้งต้องแบกรับหนี้และภาระเงินบำนาญก้อนโต

อันดับ 7 ได้แก่ "ซีบีเอส" สื่อรายใหญ่ ซึ่งถูกกระทบจากโฆษณาและค่าธรรมเนียมไลเซนส์ที่ลดลง จนทำให้รายได้ของซีบีเอสในปีนี้เหมือนยืนอยู่บนปากเหว และหากยังคงเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างยาวนาน ก็อาจทำให้บริษัทมีปัญหาในการรีไฟแนนซ์หนี้มูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ ที่จะครบกำหนดภายใน 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ค่า MC/EV ของซีบีเอสอยู่ที่ 55% และบริษัทเสี่ยงที่จะเผชิญความยากลำบาก ไม่ว่ารายได้ที่ทรุดหนักจะเกิดขึ้นตามวัฏจักรของธุรกิจ หรือเป็นผลจากเทรนด์ของธุรกิจสื่อดั้งเดิมอย่างทีวี ที่กำลังล้มหายตายจาก

อันดับ 8 ผู้ผลิตโปรเซสเซอร์รายใหญ่ "แอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์" (เอเอ็มดี) ที่มีค่า MC/EV ที่ 55% เช่นกัน โดยบริษัทมีหนี้ระยะยาวมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทอาจขาดทุนมากขึ้นอีกในปีนี้และปีหน้า หลังขาดทุนไปราว 3 พันล้านดอลลาร์ ในระหว่างปี 2550-2551

ตามด้วย "ลาสเวกัส แซนด์ส" ขาใหญ่ในธุรกิจกาสิโน ที่มีค่า MC/EV อยู่ที่ 60% โดยบริษัทติดบ่วงปัญหาจากการโหมขยายธุรกิจมากเกินไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ขณะนี้มีหนี้มากกว่า 10 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้นก็เป็นไปได้ที่บริษัทจะลงเอยที่ศาลล้มละลาย

สุด ท้าย "อินเตอร์พับลิก กรุ๊ป" บริษัทโฆษณาและการตลาด ซึ่งมีค่า MC/EV ที่ 80% โดยบริษัทได้รับแรงกระแทกจากภาวะถดถอยอย่างหนัก โดยตัวเลขรายได้ลดลงในระดับเลข 2 หลัก และมีแนวโน้มที่สถานการณ์ย่ำแย่จะหยั่งลึกและยาวนาน

view