จากประชาชาติธุรกิจ
ซีอีโอ.ทรู ศุภชัย เจียรวนนท์ สวมบทนักรบกู้ชาติในสงครามชิงคลื่น 3G ท้าชนทั้ง กทช. และยักษ์มือถือต่างชาติ แบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ลั่นถ้าทรู เอาข้อมูลไปให้ต่างชาติ ถือว่า ทรยศชาติ ลูกหลานของเขาต้องถูกสาปแช่ง หลุมฝังศพเขาต้องมีคนเดินแล้วถ่มน้ำลายใส่
... การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างสรุปข้อสนเทศ (Draft Information Memorandum : IM) การจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G and beyond เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2552 ที่ผ่านมา อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยครั้งสำคัญ
แต่ที่สำคัญ การประมูล 3G อาจเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของ ค่ายทรู ที่มี ซีอีโอ. ชื่อ "ศุภชัย เจียรวนนท์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
ไม่เคยมีครั้งใดที่ ทัศนะของ"ศุภชัย เจียรวนนท์" จะดุเดือดและดุดัน เท่าครั้งนี้
เรียกว่า สิ้นน้ำเสียงของ ศุภชัย น้ำตาของพนักงานและลูกหลาน ทรู แทบนองพื้นห้องประชุม
ประชาชาติออนไลน์ เห็นประเด็นและน้ำหนักในคำพูดของ ซีอีโอ. ทรู
เราเชื่อว่า ถ้าคุณผู้อ่านได้อ่านทัศนะของเจ้าสัวน้อย อาจคาดเดาได้ไม่ยากว่า สงครามครั้งใหญ่ในธุรกิจโทรคมนาคม ใกล้ระเบิดแล้ว ....
ต่อไปนี้คือ การถอดเทป คำกล่าวของ ศุภชัย เจียรวนนท์ แบบคำต่อคำ
... ครับ..สวัสดีครับ ท่านกรรมการกทช.และก็ผู้แทน รวมทั้งเพื่อนๆผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานเสวนาหรือว่าประชาพิจารณ์นี้นะครับ
เอ่อ.. ก่อนอื่นเลยนี่ ผมต้องขออนุญาตพูดว่า ในช่วงต้นนี้ ผมขอพูดแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือขอสวมหมวกนะครับ เอกชนไทยนะครับ และก็โดยตำแหน่งก็คือเป็น CEO นะครับของทรู คอร์ปอเรชั่น ผมคิดว่า เอ่อ การประมูลคลื่น 3G ในครั้งนี่ คือความชัดเจนในแง่ของเป้าหมายนะครับ ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยนี่ ผมคิดว่ามันไม่ชัดเจนนะครับ
การ ที่เราพูดถึง 3G นี่ มันคงไม่ได้หมายความว่า แค่เราเอาคลื่นความถี่มาประมูลแล้วก็ใช้งาน แต่การพูดถึงคลื่นความถี่ 3G แล้วก็ไลเซนส์หรือว่าใบอนุญาต 3G มันหมายถึงการนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าของประเทศ การพัฒนาทั้งในแง่ของเทคโนโลยี ทั้งในแง่ของคอนเทนต์นะครับ
การ พัฒนาที่ไม่ใช่หมายถึงทางด้านของเอ่อ ฮาร์ดแวร์นะครับ แต่รวมไปถึงซอฟท์แวร์ ซอฟท์แวร์ในที่นี้หมายรวมไปถึง ethic หรือจริยธรรม ค่านิยมนะครับ ขนบธรรมเนียมของ..ของบ้านเราด้วย มันตีความหมายไปค่อนข้างที่จะกว้างนะครับ และถ้าพูดถึงในแง่ของผู้ที่มาจาก Telecom Industry นี่ การประมูลหรือว่าการเปิดใบอนุญาต 3G ในครั้งนี้นี่ มันหมายถึงการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เสรีและเป็นธรรมนะครับ
คำว่า Level Playing Field คือ Objective ของการที่จะนำไปสู่การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ในที่สุดก็นำไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคเช่นเดียวกัน มันไม่ได้มีความชัดเจนตรงนี้ครับว่า Objective ในแต่ละด้านนี่นะครับ ท่านอยากจะเห็นว่ามันออกมาเป็นอย่างไรนะครับ
ตอนนี้เรามีแต่ได้พูด ถึงแค่ว่า เราจะประมูลได้เงินเท่าไหร่ เราพูดถึงว่าวิธีการประมูลเป็นวิธีการที่โปร่งใสที่สุดจริงหรือเปล่าครับ ถ้าพูดถึงการประมูลในครั้งนี้นี่ เอาตั้งแต่ผมเข้า Industry นี้มานี่ ปี 1992 นะครับ ก็มีการประมูลนะครับ แต่ก็มีความเหลื่อมล้ำ ในสมัยนั้นนี่ รัฐเป็นผู้ผูกขาด เอกชนก็ต้องประมูลโดยการจ่ายผลตอบแทนให้กับภาครัฐ ต่างกรรมต่างวาระ แต่ละบริษัทมี เงื่อนไขในการที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ไม่เท่ากัน วันนั้นนี่ รัฐยังเป็นเจ้าของทุกอย่าง
เพราะฉะนั้น ไลเซนส์ที่ออกมา ก็คือเป็น Build-Transfer และก็ Operate สร้างนะครับก็คือสร้าง โอนก่อน แล้วค่อยรวมกิจการ เป็นการ encourage ให้เอกชนไทยนี่ เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนานะครับอุตสาหกรรมนี้ วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปเยอะนะครับ และเราก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 มุม 2 ด้านนะครับ
ด้าน หนึ่งคือการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ถ้าบอกว่าการประมูลครั้งนี้ ใครจะยอมที่จะลง..ลงเงินสูงกว่ากัน คือผู้ที่ให้มูลค่าที่ถูกต้องนี่ ผมเห็นว่าตรงนี้มันยังไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะว่าอะไรครับ ผู้ที่..ผู้ที่มีส่วนแบ่งรายได้สูง หรือจ่ายส่วนแบ่งรายได้อยู่สูงนี่ ก็ย่อมที่ต้องการที่จะประมูลในราคาที่สูงได้มากกว่าผู้ที่มีส่วนแบ่งรายได้ ต่ำ
อันนี้ผมพูดถึงใน Industry ก่อนนะครับ เพราะฉะนั้น มุมมองของเขานี่ ก็ไม่ได้มองแค่ว่าคลื่นอันนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ในการประกอบธุรกิจ แต่แน่นอน มันมีมูลค่าเท่าไหร่ในการที่จะไปลดเรื่องส่วนแบ่งรายได้ในสัมปทานเดิมด้วย โดยวิธีการที่บางท่านก็ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้แล้วนี่ งั้นบางรายที่จ่ายส่วนแบ่งรายได้อยู่ 2หมื่นล้านต่อปี ก็แน่นอนนะฮะ อาจจะประมูลทีหนึ่ง 3-4หมื่นล้านก็ยังทำได้ ส่วนรายที่มีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้อยู่หมื่นล้านต่อปี ก็อาจประมูลได้ที่หมื่นล้านหรือ 2หมื่นล้าน
ส่วนรายที่อย่างกรณี เรา อย่างผมนี่ จ่ายส่วนแบ่งรายได้ในส่วนของมือถือนี่ อยู่ปีหนึ่งประมาณ 5-6พันล้าน ก็อาจจะประมูลได้ 5-6พันล้านถึงหมื่นล้าน ถามว่าความโปร่งใสและความเท่าเทียมกัน และการที่จะทำให้ Industry มันเกิด Level Playing Field หรือการแข่งขันที่เป็นธรรมมันอยู่ตรงไหนครับ
ถ้า พูดกันถึงรายใหม่นี่ บริษัทไทยรายใหม่ที่จะเข้ามาร่วมประมูลนี่ จะมาแข่งกับอีก 3 เจ้านี่ยังไง เพราะจุดเริ่มต้นนี่ เราก็สามารถที่จะเดินหน้าได้เยอะพอสมควรแล้ว กับการที่จะผันตัวเองออกสู่การเปิดเสรี รายใหม่ๆที่เป็นคนไทยนะครับ ขออนุญาตมีบางท่านก็อาจจะมีการสบประมาทเป็นระยะว่าทรูอาจจะมีหนี้เยอะ อาจจะประมูลไม่ไหวนะครับ ผมยืนยันว่าเราต้องสู้ขาดใจครับ ถึงไหนก็ถึงกัน ในฐานะบริษัทไทย
แต่ถ้า..ถ้าเผื่อว่าทรูยังสู้ไม่ได้นี่นะครับ ถามว่าแล้วบริษัทไทยที่ไหนจะสู้ได้ครับ ท่านกำลังเปิดไลเซนส์ 4 ไลเซนส์นี้เพื่ออะไรครับ การประมูลให้ได้เงินจากต่างประเทศ หรือให้ได้เงินเข้ารัฐสูงที่สุด ถือว่าการทำให้เกิดการครอบคลุมในโครงข่ายอย่างทั่วถึง การสร้างและพัฒนาคอนเทนต์นะครับ กิจกรรมต่างๆผ่านบรอดแบนด์ไร้สาย 3G การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม Level Playing Field ซึ่งนำผลประโยชน์สูงสุดมาสู่ผู้บริโภค
คำว่า Level Playing Field คืออะไรครับ ถ้าเกิดว่าท่านเปิดให้รายหนึ่งประมูลเป็นหลักหมื่นล้านหรือหลายหมื่นล้าน ซึ่งเป็นรายใหญ่ แบกน้ำหนักได้มากกว่าท่านก็รู้ดี เหมือนกับแข่งฟุตบอลนะครับ ฝ่ายหนึ่งก็มีน้ำหนักอยู่แล้วนะฮะ ผู้เล่นแต่ละคนมีน้ำหนัก 100 กิโล
ส่วนฝ่ายไทยนี่ มีน้ำหนัก 50 กิโล ท่านบอกว่าไม่เป็นไรหรอก แบกเท่ากัน เขาประมูลใส่เข้าไปอีก 50 กิโล แบกบนหลังแล้ววิ่งแข่ง แต่คนที่หนัก50 โลนี่ แบก 50 โล ขึ้นหลังแล้ววิ่งแข่งนี่ ตรงนี้เรียกว่า Level Playing Field หรือเปล่า แล้วในที่สุด Industry หรืออุตสาหกรรมอันนี้นี่ ที่ปัจจุบันนี้อ่อนแออยู่แล้ว เพราะว่าขาดความสมดุล ขาดการแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรม แล้วเอกชนไทยแต่ละราย ก็ถูกเก็บไปทีละรายเก็บไปทีละราย จนปัจจุบันนี้ก็เหลืออยู่
ถ้าพูด ถึงเอกชนนะครับ ไม่นับรัฐวิสาหกิจ ก็เหลืออยู่รายเดียว นะครับ ผม..ผมอยากจะขออนุญาตพูดตรงนี้ เพราะว่าในฐานะเอกชนไทยรายหนึ่งนี่ ในฐานะ CEO ของบริษัทก็ท้อใจหลายครั้ง แล้วก็คิดว่าการประมูลคงไม่ใช่แค่ 3G ต่อไปก็คงมี 4G มี 5G มี 6G อีก
ถามว่าเอกชนไทยรายหนึ่งนี่จะยืน หยัดสู้กับบริษัทต่างประเทศข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยแล้วนี่นะครับ ของต่างประเทศนี่จะยืนระยะสู้ยังไง อันนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Industry ไทยนะครับ วันนั้นได้ถูกเปลี่ยนมาอยู่ในมือของเอกชนส่วนหนึ่งเมื่อประมาณเกือบ 20 ปีก่อน มาช่วยกันพัฒนาประเทศซึ่งเป็นเอกชนไทยทั้งสิ้น
วันนี้ถ้า เราเกิดเปิดการประมูล 3G แล้วก็เปลี่ยนรูปของอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง ท่านอาจจะไม่เห็นเอกชนไทยเลย ท่านอาจจะเห็นบริษัทที่มีการถือหุ้นใหญ่โดยต่างประเทศ และรัฐวิสาหกิจต่างประเทศทั้งหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งทรูหรือทรูมูฟ
เพราะ ในฐานะ CEO คนหนึ่งนี่ผมก็ต้องพูดว่า ถ้าคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนี่ก็ดีเหมือนกันถ้าสามารถที่จะมี Nominee Structure คือการถือหุ้นแทน แล้วก็บอกว่านี่เป็นบริษัทไทย ผมก็อยากได้ความชัดเจนตรงนี้เหมือนกัน เพราะว่าเสร็จแล้วนี่ผมก็ต้องเสนอผู้ถือหุ้นเหมือนกันว่าเราอย่าสู้เขาอีก ต่อไปเลย เราถอยเถอะ ขายให้กับต่างชาติเขาไป ให้ยักษ์ต่างชาติเขามาสู้กันเอง
ผมอยากจะถามท่านถึงอนาคตของประเทศ ไทย บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าเอ๊ะ แล้วมันมีความสำคัญยังไง ก็อยู่ในมือต่างชาติก็อยู่ในมือต่างชาติสิ คนไทยไม่เห็นจะต้องเกี่ยวต่อไปแล้ว Industry นี้แต่ท่านก็ทราบดีว่าหมวดสื่อสารนี่เป็นสื่อนะครับ เป็นสื่อและต่อไปจะเป็นสื่อที่สำคัญของประเทศ
วันนี้มีต่างชาติรู้ ไหมครับ ที่ถือหุ้นของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทีวีในบ้านเรานี่เกิน 50% หรือสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโยกย้ายกรรมการบอร์ดได้มากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือเปลี่ยนแปลงโยกย้าย CEO ได้ ผมขอถามนี่ฮะ สื่อที่มาฟังร่วมกันในวันนี้ครับ ท่านอาจจะยังมองไม่เห็น แต่วันหนึ่งโทรคมก็คือสื่อนั่นเองหนีไม่พ้น ไม่ว่ามีสายหรือไร้สาย เมื่อเข้าสู่ยุคบรอดแบนด์แล้วย่อมกลายเป็นสื่อทั้งสิ้น แล้วใครจะเป็นคนคุมสื่อของประเทศนี้เล่าครับ
ผมอาจจะใช้เวลา อาจจะเกินมานิดหนึ่งนะครับ แต่ผมขอสวมหมวกใบที่สองของผม กระผมนายศุภชัยนะครับ เลยหมายประจำตัวประชาชน 3........ ครับ วันหนึ่งที่ผมสิ้นชีพ แผ่นดินที่กลบหน้าผม คือแผ่นดินไทยครับ แต่ว่าสำหรับผู้ถือหุ้นที่เป็นประเทศอื่น ถ้าเขาต้องทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเขา ผมไม่โทษเขาเลยนะครับ ถ้าวันหนึ่งเขาจะต้องมาอาศัยเครือข่ายอันเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ เช่น โทรคมนาคม 3G และต่อไปถึง 4G 5G 10G ก็แล้วแต่ ในการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเขา ก็แล้วแต่ เราต้องไม่โทษเขาครับ เราต้องโทษตัวเราเอง ว่าวันนี้ เราไม่ปกป้องทรัพยากร เราไม่ปกป้องความเป็นไทยของเราเอง
ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง แน่นอน ผมไม่อยากที่จะเสนอผู้ถือหุ้นผมนี่ จะต้องนำเอารัฐวิสาหกิจต่างประเทศหรือผู้ประกอบการต่างประเทศนี่ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในทรู คอร์ปอเรชั่น แต่ถ้ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันก็ต้องเกิดขึ้นล่ะครับ แล้วท่าน กทช. จะตัดสินยังไงครับ ถ้าผมมี Nominee Structure ก็ผมจะเป็นไทยหรือเป็นเทศ วันหนึ่งถ้าต้องมีผู้ที่กระทำผิดกฏหมายไทย ในการเข้าถึงข้อมูล ในการเข้าถึงโครงข่ายของประเทศ ที่เป็นชาวต่างชาติ เพื่อผลประโยชน์ของต่างประเทศ
ผมไม่ได้ Accuse(กล่าวหา) ใครนะครับ แต่ถ้ามี เขาคนนั้นนี่ เมื่อได้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วกลับไปสู่ประเทศเขา เขาเป็น ฮีโร่ครับ แต่ถ้าคนไทยนะครับ กระทำการในการเอาข้อมูล เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย ของคนไทย ไปให้กับต่างประเทศ คนๆนั้นเขาเรียกว่า ทรยศชาติครับ ลูกหลานของเขาต้องถูกสาปแช่งครับ หลุมฝังศพเขาต้องมีคนเดินแล้วถ่มน้ำลายใส่
เพราะฉะนั้นความเป็นไทย ครับ ก็มีความสำคัญ นอกเหนือจากการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ความเป็นไทยของการที่รักษาไว้ซึ่ง Industry นี้ ในการที่จะทำให้มันถูกต้องตามกฏหมาย เป็นหน้าที่ของคนไทยครับ ผมไม่ได้ว่าชาวต่างชาติ ที่เขาพยายามสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศเขาเอง และเขามีวิธีการ แล้วเขาหาวิธีการ เพื่อประโยชน์ ให้เกิดสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและประเทศของเขา
แต่ผมก็จะว่า ถ้าคนไทยเราไม่รักษา และปกป้องความเป็นไทยของเราเอง และทรัพยากรอันมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อนาคตของประเทศชาติ และลูกหลานของเราครับ ขอบคุณครับ