จากประชาชาติธุรกิจ
สัมภาษณ์
การ แต่งตั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่แทน นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง เนื่องจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตีกลับรายชื่อ "ยรรยง พวงราช" อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นบุคคลที่ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอชื่อให้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ จนทำให้การเสนอชื่อล่าช้าเกือบ 1 เดือน จนท้ายที่สุด "อภิสิทธิ์" ยอมพบ "ยรรยง" และอนุมัติ ให้เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "ยรรยง" ถึงเบื้องหลังการหารือกับ "อภิสิทธิ์"
- ประเด็นที่หารือกับนายกฯ
การ พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ความจริงแล้ว ได้คุยกันหลายครั้ง ไม่ใช่วันที่ไปพบที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 16 ก.ย.เพียงวันเดียว แต่ก่อนหน้านี้ ผมได้พบท่านในงานนิยมไทย ซึ่งทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้น ท่านได้พูดคุยถึงหลายเรื่อง เช่น เรื่องความคืบหน้าเกี่ยวกับนอมินีต่างประเทศที่เข้ามาซื้อที่นา ก็มีความเป็นห่วง ว่าเป็นอย่างไร ผมเห็นว่า เราควรมีเกณฑ์หรือแนวทางให้ชัดเจนว่าอะไรคือนอมินีที่ผิด ตรวจสอบอย่างไร
ประเด็น สำคัญคือเรื่องนโยบายการประกันราคาสินค้าเกษตร ที่จะเริ่มใช้ในปีนี้เป็นปีแรก อยากให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยอย่างเต็มที่ เพราะโครงการนี้อาจจะเรียกได้อีกแบบหนึ่ง คือการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรในสินค้าสำคัญ 3 ชนิด คือข้าว มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกร นับล้านครัวเรือน 3.7 ล้านครัวเรือน ข้าวโพด 3 แสนครัวเรือน และ มันสำปะหลัง 4 แสนครัวเรือน
- บทบาทในการประกันราคา
กระทรวง ในฐานะที่ดูแลโครงการรับจำนำมาก่อน โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการจังหวัดทุกจังหวัด นายกฯเห็นว่ากระทรวงควรช่วยส่งเสริมการประกันราคา เพราะต้องทำหน้าที่กำหนดราคาตลาดอ้างอิง จึงต้องดูแลทุกพื้นที่ให้ได้ราคาที่สะท้อนความเป็นจริง ทั้งราคาภายในส่งออกไม่สูง ไม่ต่ำเกินไป เพราะหาก ราคาต่ำเกินไป รัฐบาลจะต้องเสียงบประมาณในการชดเชยจำนวนมาก แต่ถ้าสูงเกินไป เกษตรกรได้รับการชดเชยต่ำ มีผลต่อ รายได้ของเกษตรกรอีก ที่สำคัญยัง เกี่ยวข้องกับโรงสี ผู้ส่งออก พ่อค้าข้าว หรือหยง ถ้าหยงเบี้ยวกดราคา แค่ 1-2 เดือน รัฐบาลก็ต้องเสียงบประมาณมาก กระทรวงจึงต้องดึงเอากฎหมาย พ.ร.บ.ราคา, แข่งขันทางการค้า, ค้าข้าว มาดูแล ซึ่งสามารถถอนใบอนุญาตค้าข้าวได้ หากพบความไม่ปกติ
กระทรวงต้อง ดูแลการค้าปกติ ไม่ทำให้การประกันรายได้เกษตรกรบิดเบือน ซึ่งในวันที่ 1-2 ตุลาคมนี้ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะหารือกับตัวแทนชาวนา ผู้ประกอบการโรงสีและผู้ส่งออก เพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยซื้อข้าวในตลาดปกติ ที่น่าห่วง เพราะโรงสีไทยที่ผ่านมา มีการเจริญเติบโตจากการรับจ้างรัฐบาล ในโครงการรับจำนำ โดยอาศัยเงินกู้จากธนาคารเพื่อหมุนเวียนสภาพคล่อง
แต่ วิธีนี้เราอาจจะไปตัดประโยชน์ของโรงสีเดิม จึงต้องหารือเพื่อไม่ทำให้นโยบายนี้ล้มเหลว และชาวนาพอใจ กับรายได้ เพราะต้องดูดซัพพลายออกจากตลาด รัฐบาลต้องมาช่วยในช่วงต้นฤดูกาลที่ข้าวสุกพร้อมกัน และเป็นช่วง ที่ชาวนาต้องใช้เงิน จึงต้องขอความร่วมมือให้ ธ.ก.ส.ไม่เร่งรัดหนี้ในช่วงนี้ แต่ต้องจ่ายเงินให้ชาวนาภายใน 3 วัน ซึ่งจะแก้ปัญหาสินค้าทะลักจนอาจจะทำให้ราคาตก
ส่วนที่สองคือแนวทาง รักษาเสถียรภาพราคาข้าว ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่สำคัญจะต้องดูแลราคาข้าวในตลาดปกติด้วย เพื่อไม่ให้ดึงราคาอ้างอิงตกลงไปตาม โดยกรมได้เสนอ กขช.เห็นชอบในหลักการไปแล้ว ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ราคาตกลงจากราคาประกันที่กำหนด และลดลงราคาตลาดอ้างอิงมาก หรือเรียกว่าราคาท้องช้าง โดยจะให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการที่รับซื้อข้าวในราคาตลาด รัฐบาลจะรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้ ในอัตรา 3% จากอัตราปกติ
รวมทั้ง จะให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปรับซื้อข้าวมาส่งออกในช่วงที่จำเป็น โดยรัฐบาลจะช่วยเสริมสภาพคล่อง นอกจากนี้จะเร่งให้กรมการค้าต่างประเทศระดมส่งออกในช่วงที่มีสินค้าออกมามาก และให้ขอความร่วมมือผู้ส่งออกดำรงสต๊อกเพิ่มขึ้นตามระเบียบของกรมการค้าภาย ใน ที่บังคับที่ 500 ตัน เป็นต้น เพราะผู้ส่งออกถือเป็นผู้ที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุดจากการประกันราคา ดังนั้นผู้ส่งออกจะต้องไม่สร้างแรงกดดันทางด้านราคากับรัฐบาล ไม่ใช่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโบรกเกอร์โลก
- นโยบายเกี่ยวกับกฎหมายค้าปลีก
กฎหมาย ค้าปลีกเป็นนโยบายระยะกลางของรัฐบาล เป็นเรื่องของระยะเวลาจะต้องเหมาะสม และสาระต้องถูกต้อง ทำให้ระบบเศรษฐกิจการค้าไม่บิดเบือน เกิดการแข่งขันถูกต้อง ตอนนี้กรมการค้าภายในทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้ทุกภูมิภาครวม 9 ครั้ง เชื่อว่าอีก 1 ปี ก็น่าจะผ่านและสรุปเสนอต่อรัฐสภาได้ แต่เอกชนจะทนไม่ไหวและเสนอเรื่องนี้ผ่าน ส.ส.และรัฐสภาก่อน
- จุดอ่อนด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย
ผม เคยเป็นรองปลัดดูแลคลัสเตอร์ต่างประเทศ ผ่านงานหลายกรม ด้านการค้าระหว่างประเทศ สิ่งสำคัญ เราต้องรู้ตัวเราก่อน ว่าเรามีจุดแข็งอะไร ต้องการขายอะไร แล้วจึงคิดต่อไปว่า จะขายให้กับใคร อย่างไร ผมจะต้องประสานการทำงานภายในกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด โดยอาจตั้งทีมดูแลสินค้าเป็นรายชนิด โดยเน้นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย จะต้องมีคนรู้เรื่องตั้งแต่ภายในจนถึงการเจรจาการส่งออก เพื่อให้เกิดประโยชน์กับไทย เพราะที่ผ่านมา แต่ละกรมมีการแบ่งแยกบทบาทการทำงานจนอาจจะทำให้มีคนที่รู้เรื่องเฉพาะด้าน เท่านั้น เราต้องมีคนที่รู้เรื่องแต่ละด้าน มาแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์กัน ก่อนที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศออกมา
ไทยจำเป็น ต้องเพิ่มสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศ แต่ไม่ใช่ลดสัดส่วนของ รายได้จากการส่งออก แต่เราต้องรู้จุดแข็งของเรา และต้องมีบทบาทประสานงาน และเสนอแนวคิดกับหน่วยงานภายในนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ภาษี ระบบโลจิสติกส์ หรือดอกเบี้ย ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสัมพันธ์กันกับเรา โดยตระหนักว่าบทบาทของกระทรวง คือการที่รัฐเป็นผู้จัดทำนโยบาย ดูแลกฎระเบียบทางการค้า ส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชน