สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อผู้แทนเจ้าของ ไม่ดูแลเจ้าของ

"เมื่อผู้แทนเจ้าของ ไม่ดูแลเจ้าของ"
By ดร.วรภัทร โตธนะเกษม
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด
warapatr




คน ที่เป็นผู้ถือหุ้น ก็คือเจ้าของบริษัท แต่การที่บริษัทโดยทั่วไป มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก  ทำให้เจ้าของทุกคนไม่สามารถไปดูแลบริษัทด้วยตัวเองได้ จึงต้องเลือกบุคคลจำนวนหนึ่งให้เข้าไปดูแลบริษัทแทน  เราเรียก ผู้แทนเจ้าของ ว่า  คณะกรรมการ

ถ้าพูดถึงระดับประเทศ ก็ในทำนองเดียวกัน คือพวกเราทุกคน เป็นเจ้าของประเทศ แต่การที่ประเทศมีเจ้าของจำนวนมากมาย กว่าหกสิบล้านคน ทำให้เจ้าของไม่สามารถดูแลประเทศด้วยตัวเองได้ จำเป็นต้องเลือกบุคคลจำนวนหนึ่งให้เข้าไปดูแลประเทศแทน ผู้ที่เราให้เข้าไปดูแลแทน นั้น เราเรียกว่า สมาชิกวุฒิสภา และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากที่ได้เกิดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง เจ้าของบริษัทเริ่มเรียนรู้ว่า คนที่พวกเขาได้เลือกให้เป็นผู้แทนเพื่อไปดูแลบริษัทนั้น กลับไม่ได้ทำหน้าที่ในการดูแลเท่าที่ควร ผลก็คือ บริษัทล่มสลายไปหลายแห่ง และเจ้าของ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าของตัวเล็กๆ) ต่างเสียหาย และหมดเนื้อหมดตัวกันเป็นแถว

ความล่มสลายของธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นนั้น ในทางวิชาการ มีทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ ซึ่งเรียกว่า “Principal-Agent Theory” โดยทฤษฎีดังกล่าวระบุว่า ผู้เป็นเจ้าของ (Principal) ได้มอบหมายให้ ผู้แทน (Agent) ไปทำหน้าที่ดูแลแทนให้ดีที่สุด แต่ Agent กลับไม่ได้ทำหน้าที่เช่นนั้น เพราะมีเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้พวกเขาได้รับประโยชน์เป็นการส่วนตัว มากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการดูแลเจ้าของ พวกเขาจึงละเลยการดูแลกิจการของเจ้าของ ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

กระแสสังคมธุรกิจในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา จึงรุกเร้าไปยังคนที่ทำหน้าที่เป็น Agent ให้ทำหน้าที่ดูแลเจ้าของให้ดีกว่าที่เคยเป็นมา และถ้าหากไม่ทำหน้าที่เท่าที่ควร ก็มีเวทีที่จะถูกเจ้าของซักถาม หรือบางครั้งหนักหน่วงถึงขั้นประจานกันกลางที่ประชุมสามัญประจำปี ของบริษัท ซึ่งจะได้ผลหรือไม่ได้ผลนั้น ก็แล้วแต่สถานการณ์ของแต่ละบริษัท รวมทั้งแรงกดดันจากนักลงทุนสถาบัน และ/หรือสื่อต่างๆ ด้วย

ในระดับประเทศก็เช่นกัน เราทุกคนเป็น Principal คือ เจ้าของประเทศ และพวกเราก็หย่อนบัตรเลือก ส.ว. และ ส.ส. ทั้งหลาย ให้เข้าไปดูแลประเทศ หรือเป็น Agent ของเรา รวมทั้งเรายังจ่ายเงินเดือนและให้สิทธิพิเศษอีกมากมาย คล้ายๆ กับการที่ผู้ถือหุ้น จ่ายค่าเบี้ยประชุม และ โบนัสประจำปี ให้กรรมการ นั่นแหละ

ถ้าถามว่า Agent ระดับประเทศของเรานั้น ได้ทำหน้าที่ดูแล Principal สมกับความคาดหวังหรือไม่  เรื่องนี้ถ้าหากตอบจากความรู้สึกของคนชั้นกลางแล้ว ก็คงตอบว่า ยังไม่สมความคาดหวัง  และอาจจะ ต่ำกว่าความคาดหวังค่อนข้างมาก และเป็นอย่างนี้มานานแล้ว

เวลาคณะกรรมการบริษัท ละเลย หรือ ไม่ดูแลบริษัทอย่างดีพอ ก็จะสะท้อนออกมาในรูปของ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท และผลประกอบการของบริษัท ที่ถดถอยลง  และในที่สุด บริษัทอาจจะล่มสลายไป หรือไม่ก็จะถูกซื้อกิจการโดยบริษัทอื่นที่เข้มแข็งกว่า ซึ่งในระหว่างที่บริษัทเสื่อมถอยลงไปนั้น ผู้ถือหุ้นบางราย มีโอกาสที่จะตัดสินใจขายหุ้นทิ้ง เพื่อปลดความเป็นเจ้าของออกไปเสีย เนื่องจากมองไม่เห็นอนาคตของบริษัท

แต่เวลาที่สมาชิกรัฐสภาละเลยต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติตนในลักษณะที่ทำให้เจ้าของผิดหวัง การที่เจ้าของจะทำอะไรได้นั้น ก็ยากขึ้นอีกระดับหนึ่ง เพราะไม่มีเวทีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ให้มาต่อว่าต่อขาน เหมือนเช่นคณะกรรมการบริษัท

นอกจากนั้นนักลงทุน อาจขายหุ้นทิ้งไปได้เลย แล้วไปเป็นเจ้าของบริษัทอื่นที่ดีกว่า แต่ในฐานะเจ้าของประเทศ เราไม่สามารถขายหุ้นทิ้งไปเสียเฉยๆ เพราะนั่นหมายถึงการที่เราสละความเป็นเจ้าของประเทศนี้ไป บางคนได้ตัดสินใจทำเช่นนี้ไปแล้ว คือไปตั้งรกรากปักฐานอยู่ในประเทศอื่น และเปลี่ยนสัญชาติไปเลย แต่คนส่วนใหญ่ รวมทั้งคนอย่างผมด้วย จะไม่ทำเช่นนั้นแน่ๆ

เจ้าของประเทศ ก็เลยต้องกล้ำกลืน และเป็นเช่นนี้ มาเป็นเวลานานแล้ว
 ทฤษฎี ว่าด้วย Principal-Agent นั้น ได้เสนอ แนวทางแก้ไข ที่จะช่วยให้ Agent ทำหน้าที่ดูแล Principal ให้ดียิ่งขึ้นหลากหลายวิธี แต่ที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ ก็คือแนวความคิดที่ว่า ควรจะต้องทำให้ Agent มี “ความเป็นเจ้าของ” ด้วย พวกเขาจะได้ระมัดระวังดูแล และทำหน้าที่อย่างดี

กล่าวคือ ควรจะต้องมีกติกากำหนดให้กรรมการทุกคน ถือหุ้นในบริษัทนั้นๆ จำนวนหนึ่ง  เช่น ในอเมริกาได้กลายเป็นแนวปฏิบัติที่ดีไปแล้ว ที่จะให้กรรมการบริษัทควักเงินออกมาซื้อหุ้นของบริษัท คนละ $100,000 หรือ $150,000 เพื่อให้มีความเป็นเจ้าของบริษัทนั้นๆ เกิดขึ้น และถ้าบริษัทใดไม่มีกติกาเช่นนี้ ก็ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานปัจจุบันไปแล้ว เป็นต้น

แต่วิธีคิดแบบฝรั่ง กับไทย ก็มีบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น ในเรื่องนี้ ก็มีกรรมการไทยจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เห็นด้วย เพราะในขณะที่ฝรั่งคิดว่า การถือหุ้นในบริษัท จะทำให้กรรมการคิดและทำในสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของเจ้าของมากขึ้น (เพราะตนก็เป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน) แต่กรรมการไทยหลายๆ คนกลับคิดว่า การถือหุ้นในบริษัท อาจจะทำให้ผู้อื่นมองว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้การตัดสินใจใดๆ มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง และอาจเกิดภาพลักษณ์ว่า ขาดความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็น อย่างนี้เป็นต้น

ผมมองว่าจะถือหุ้น หรือไม่ถือหุ้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะถ้าหากคนคนนั้น มีความตั้งใจจริง และมีจริยธรรมในวิชาชีพที่สูงแล้ว เขาย่อมดูแลองค์กร เสมือนเจ้าของตัวจริงเสมอ เพราะความภาคภูมิใจของคนแบบนี้ ก็คือการที่ได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด และเมื่อหมดหน้าที่แล้ว ก็เดินออกไปอย่างภาคภูมิใจที่สุด เช่นกัน

นั่นเป็นเรื่องของบริษัท แต่ในเรื่องของชาตินั้น ผู้แทนปวงชนชาวไทยทั้งหลาย ไม่มีประเด็นนี้ให้ต้องถกเถียงกันเลยว่าเขาควรถือหุ้นหรือไม่ เพราะ ทุกคนต่างถือหนึ่งหุ้นในประเทศไทยอยู่แล้ว

นอกจากนั้น ผู้แทนของเรา ยังทำงานกันหนักมาก หนักกว่ากรรมการบริษัททั่วไปหลายเท่านัก  เพียงแต่ปัญหาก็คือ มักไม่ค่อยได้ผลลัพธ์ที่ดีเท่าที่ควร เพราะต้องเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่ (น่าจะ) เป็นเรื่องเสียเยอะ

ต้องพูดกันตรงๆ ว่า คนไทยที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทน เพื่อดูแลประเทศนี้ ที่เป็นผู้แทนคุณภาพสูง ก็มีจำนวนมากทีเดียว แต่กลไกต่างๆ ทำให้ประเทศเรานั้น วนเวียนไม่ไปไหนมาหลายปีเต็มทีแล้ว ถึงแม้ ต่างฝ่ายต่างพูดว่าจะต้องหันหน้าเข้าหากัน แต่ความจริง ก็ยังไม่เป็นเช่นนั้น

คนที่ถือหุ้นในประเทศนี้ หนึ่งหุ้นเช่นเดียวกับท่าน ต่างท้อแท้กันพอสมควรเลยนะครับ

view