จากประชาชาติธุรกิจ
หลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี ซื้อเวลาโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (CNG) จำนวน 4,000 คัน มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท บิ๊กโปรเจ็กต์ของพรรคภูมิใจไทยมากว่า 3 เดือน ในที่สุดวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โครงการนี้ก็ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.ฉลุย ภายในเวลา 30 นาที ทั้งที่เคยถูกหลายฝ่ายท้วงติงมากมาย โดยเฉพาะวิธีการเช่าที่ "โสภณ ซารัมย์" รมว.คมนาคม เสนอซึ่งแพงกว่าการจัดซื้อ จนทำให้ "ครม." ต้องชะลอโครงการออกไป โดยเตะถ่วงให้คณะ กรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) กลั่นกรองอีกครั้ง
แต่สุดท้ายก็เคาะใช้ "วิธีเช่า" ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และตามเหตุผลของบอร์ด สศช.ที่ระบุว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าวิธีการซื้อ
ว่า กันว่าสาเหตุที่ "ครม.มาร์ค" ยอม ไฟเขียวอนุมัติโครงการให้พรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นไฟต์บังคับตามเกมการเมือง และถึงเวลาที่ "พรรคประชาธิปัตย์" ต้องมี คำตอบให้ "พรรคภูมิใจไทย" หลังเล่นเกมยื้ออยู่เป็นนาน เพื่อรักษาเสถียรภาพรัฐบาล
อนุมัติแบบมีเงื่อนไข
แม้ จะเปิดทางให้เดินหน้าโครงการนี้ได้ แต่เป็นเพียงอนุมัติในหลักการ โดยมีเงื่อนไขที่ "โสภณ" จะต้องทำรายละเอียดแผนงานต่าง ๆ เสนอให้ ครม.พิจารณา อีกรอบ ก่อนจัดหารถและระบบต่าง ๆ
ประกอบ ด้วย 1.ลดจำนวนพนักงานตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด 7,009 คน รองรับระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ และ จัดเตรียมมาตรการลดผลกระทบจากการว่างงาน เพื่อลดรายจ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องกับรายได้ โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณ 6,143 ล้านบาท
2.จัดซื้อที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ ขสมก. และก่อสร้างอู่จอดรถโดยสารและสถานี ก๊าซธรรมชาติให้เสร็จเรียบร้อยก่อน
3.กำหนด เงื่อนไขการจัดหารถโดยสาร ระบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และระบบสารสนเทศต่าง ๆ อย่างโปร่งใส และติดตั้งอุปกรณ์สำหรับผู้พิการและทุพพลภาพด้วย
4.รัฐบาล จะต้องรับภาระหรือบริหารหนี้สินเดิมของ ขสมก. 62,499 ล้านบาท เพื่อแยกออกจากแผนปรับปรุงการบริหารจัดการและบริการที่จะปรับปรุงใหม่ให้มี ความชัดเจน สามารถพลิกฟื้นฐานะการเงินขสมก.ได้ในระยะยาว หากไม่ดำเนินการขสมก.ขาดทุนปีละ 4,192 ล้านบาท และรัฐต้องอุดหนุนกรณีมีนโยบายคุมค่าโดยสาร
เปิดประมูลไม่ทันปีนี้
จึง ไม่ง่ายที่การจัดซื้อรถเมล์ 4,000 คัน จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพราะกว่าจะจูงใจให้พนักงานเออร์ลี่รีไทร์ได้ตามเป้า ต้องใช้เวลานาน และจากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการพบว่ามีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 2,500 คนเท่านั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าจะจูงใจอย่างไรให้ได้จำนวนพนักงานตามเป้า
ด้าน การจัดหาอู่และตั้งสถานีจ่ายก๊าซทั้ง 19 แห่ง ก็ไม่ง่ายกว่าจะหาที่ดินส่งมอบให้ บมจ.ปตท.ล่วงหน้า 1 ปี เพื่อวางท่อก๊าซเข้าพื้นที่ ก่อสร้างอาคารและวางระบบ
ส่วนภาระหนี้ 62,499 ล้านบาท แม้จะแขวนไว้ก่อน แต่รัฐบาลต้องรับภาระดอกเบี้ยให้ ขสมก.ตลอด 10 ปี (2553-2563) รวม 32,719.401 ล้านบาท หรือ 3,000 ล้านบาท/ปี รัฐบาลจะนำเงินจากไหนมาอุดหนุน ทั้งดอกเบี้ยและซื้อที่ดินอีก 2,936.703 ล้านบาท ไม่พ้น ขสมก.กู้เงินเอง
"ขอดูมติ ครม.ก่อนให้ทำอะไรบ้าง บอร์ดจะประชุมวันที่ 5 ตุลาคมนี้ ยังตอบไม่ได้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะเปิดประมูลได้ จะดูว่าสามารถทำควบคู่กันไปได้หรือไม่ระหว่างมติ ครม.ที่สั่งให้ทำ และ การประมูล" "ชัยรัตน์ สงวนชื่อ" อธิบดี กรมการขนส่งทางบกและกรรมการบอร์ด ขสมก.กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
ด้าน "ปิยะพันธ์ จัมปาสุต" ประธานบอร์ด ขสมก.กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ไม่ค่อยมั่นใจว่าจะเปิดประมูลทันในปีนี้ และไม่รู้ว่าจะต้องปรับปรุงทีโออาร์ใหม่อะไรบ้าง
เปิดไส้ใน 6.3 หมื่นล้าน
เมื่อ ดูรายละเอียดโครงการที่ ครม.ไฟเขียว ไม่ได้ต่างจากของที่ "โสภณ" เคยชงเข้าพิจารณา ยกเว้นเส้นทางเพิ่มจาก 145 เส้นทางเป็น 155 เส้นทางและวงเงิน ที่ปรับลดลง โดยตลอดการเช่า 10 ปี จาก 64,853.20 ล้านบาท เหลือ 63,568 ล้านบาท หรือลดไป 1,285.2 ล้านบาท เนื่องจาก สศช.ให้คิดอัตราดอกเบี้ยที่ MLR 5.75% ไม่บวก 3% เหมือนเดิม
ทำให้ ค่าเช่า/คัน/วัน จาก 4,442 บาท เหลือ 4,354 บาท หรือลด 88 บาท เป็นค่าตัวรถ 1,804 บาท ค่าซ่อมบำรุง 2,250 บาท ค่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ 134 บาท ค่าประกันภัย 31 บาท ค่าภาษี 8 บาท ค่าบริหารจัดการ 127 บาท
แต่ ในวงเงิน 63,568 ล้านบาท ยังไม่รวมกับค่าซื้อที่ดินและสร้างอู่จอดรถอีก 2,936.703 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จ ขสมก.ต้องใช้เงินลงทุนทั้งโครงการ 66,504.8 ล้านบาท หลังเซ็นสัญญา 15 เดือน หรือปี 2554 รถลอตแรกส่งมอบ 1,500 คัน และครบ 4,000 คันใน 2 ปี
ซึ่ง ขสมก.ประมาณการผู้โดยสารและ ผลการดำเนินงานโครงการไว้ 2 กรณี คือ 1.เดินรถ 155 เส้นทาง บรรจุเต็ม 7,405 คัน ให้บริการ 4,000 คัน ปีแรก มีผู้ใช้บริการ 326 คน/คัน/วัน รายได้เฉลี่ยคันละ 8,955 บาท กรณีนี้ปีแรกจะขาดทุน 2,304 ล้านบาท จากนั้นจะค่อย ๆ มีกำไร
2.เดิน รถ 155 เส้นทาง มีรถบรรจุ 4,000 คัน (วิ่งไม่เต็ม) มีผู้ใช้บริการ 330 คน/คัน/วัน รายได้ เฉลี่ยคันละ 9,058 บาท และผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นปีละ 2% กรณีนี้ปีแรกขาดทุน 2,245 ล้านบาท จากนั้นจึงจะมีกำไร
งานนี้จึงต้องจับตาดูว่า "คมนาคม" จะพลิกแก้เกมอย่างไร