จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :วันพรรษา อภิรัฐนานนท์: |
วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552
|
เศรษฐกิจช่วงนี้ แม้หลายคนว่าเริ่มฟื้น แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่ชัดเจน ปัญหาคนตกงานครั้งนี้หนักกว่าครั้งใด เพราะถูกตอกย้ำด้วยปัญหาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเมืองในประเทศ
จำนวน คนตกงานที่เชื่อว่าจะมีมากกว่า 1 ล้านคน ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามอันใหญ่ หลายคนหันมายึดอาชีพอิสระทำธุรกิจของตัวเอง ในแง่การลงทุน มองกลุ่มผู้ถูกเลิกจ้างเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก กำเงินก้อนออกจากบริษัทมาด้วย ถือเป็นกลุ่มพร้อมลงทุน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ถูกเลิกจ้างเหมือนกัน แต่ต้องออกมาตัวเปล่า ได้เงินชดเชยน้อยถึงน้อยมาก หรือไม่ได้เลย(ก็มี) ถือเป็นกลุ่มไม่มีเงินทุน
ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ก็สามารถลงทุนและเป็นเถ้าแก่ได้ด้วยกันทั้งสิ้น พลิกวิกฤตสู่โอกาส จากคนตกงานกลายเป็นเถ้าแก่ แต่...จะทำอย่างไรล่ะ?
ตกงานก็ได้...ไม่ง้อ
“สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเพิลมีเดีย ผู้ผลิตนิตยสาร SMEs ชี้ช่องรวย กล่าวว่า ในทุกวิกฤตคือโอกาส ใครเห็นใครรอด คนที่มองเห็น...อย่างน้อยมีโอกาส(รอด)กว่าคนที่มองไม่เห็น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ต้องรีบมองหาโอกาสจากวิกฤตให้พบก่อนคู่แข่ง ต่อจากนั้นคือการไม่หยุดนิ่ง สำหรับผู้มองเห็น พบแล้วรีบเหลา “โอกาส” ให้แหลมคม
ตกงาน...มองในมุมหนึ่ง ถือเป็นโอกาสที่หลายคนได้ดิบได้ดีเพราะตกงานแล้วออกมาสู้ จนกลายเป็นเถ้าแก่ร่ำรวยด้วยตัวของตัวเอง บางคนเริ่มจากการเป็นเถ้าแก่น้อย เริ่มจากเล็กๆ แล้วสานต่อไปถึงใหญ่ มีสถิติเกี่ยวกับคนในระบบเงินเดือนที่ออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ข้อมูลจากทั่วโลกพบว่า 30% เท่านั้นที่รอด ส่วนที่เหลือ 70% คว่ำไม่เป็นท่า แม้ตัวเลขจะค่อนข้างน่ากลัว แต่ก็ท้าทายอยู่ในที ไม่ว่าใครหากกล้าสู้ กล้าทุ่มเท ดีที่สุดคือเป็นหนึ่งใน 30% ของผู้หลงรอด ได้ทำงานที่ชอบและได้ทำเงินให้กับตัวเอง...ดีไหมเล่า
โค้งอันตราย จากมนุษย์เงินเดือน จะหันลงทุนในธุรกิจส่วนตัว อันดับแรก จัดกลุ่มตัวเองก่อนว่าจัดอยู่ในกลุ่มพร้อมลงทุน หรือจัดอยู่ในกลุ่มไม่มีเงินทุน กรณีเป็นกลุ่มไม่มีเงินทุน อาจเริ่มจากธุรกิจขายตรง ซึ่งลงทุนต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการขายประกันหรือการขายบริการต่างๆ ปัจจุบันมีเครือข่ายให้เลือกมากมาย วิธีการเข้าสู่อาชีพไม่ซับซ้อน ได้แก่ การหาสมาชิกและขายของให้คนใกล้ชิด มาแรงในช่วงนี้คือสินค้าด้านความงาม เช่น โสม สมุนไพร ยาบำรุงกำลัง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ฯลฯ ปัจจุบันหลายเครือข่ายไม่เก็บค่าสมาชิก หรือค่าอบรม ซึ่งถือว่าน่าลองสำหรับคนไม่มีอะไรต้องเสีย
“กลุ่มอาชีพที่ประกอบการคนเดียว ใช้เงินไม่มาก เน้นที่ทำง่าย ได้เงินเร็ว ไม่ต้องเรียนรู้มาก ที่กำลังฮิตคือธุรกิจให้บริการเพนต์เล็บ ต่อผม ต่อคิ้ว งานบริการเหล่านี้เรียนรู้ง่าย คนทำบ่อย ต้นทุนคงที่ ธุรกิจที่กำลังนิยมอีกอย่างคือสปาเดลิเวอรี รับจ้างไปนวดหรือสปาให้ถึงที่ทำงานหรือที่บ้าน” สมใจ เล่า หลายคนทำรายได้จากงานเหล่านี้ได้มากกว่าตอนทำงานกินเงินเดือนเสียอีก
เอสเอ็มอี...ไม่ยาก
สำหรับคนที่มีเงิน(ทุน)ให้ลงทุน สมใจ กล่าวว่า ธุรกิจที่ต้องใช้เงินแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ เอสเอ็มอี หรือธุรกิจขนาดเล็กกะทัดรัด ใช้เงินลงทุนน้อย อาจเริ่มต้นด้วยการพิจารณาถึงแฟรนไชส์ต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 200 แบรนด์ในท้องตลาด ธุรกิจเหล่านี้ไม่ซับซ้อน บางประเภทใช้เวลาเตรียมตัวแค่ 2 วันก็เพียงพอ ส่วนเงินลงทุนส่วนใหญ่เฉลี่ยในราว 3.5 หมื่นบาท ค่าแฟรนไชส์ บวกกับเงินสดหมุนเวียนที่ควรมีอย่างน้อย 1.5 หมื่นบาท หรือเท่ากับมีทุนเพียง 5 หมื่นบาท ก็เข้าสู่ธุรกิจได้แล้ว แฟรนไชส์ที่ค่อนข้างแอ็กทีฟ มีการเคลื่อนไหวคึกคักตลอดกาลคือ อาหารและเครื่องดื่ม
2.ธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องใช้เงินทุนมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง แต่การตอบแทนการลงทุนก็สูงและมั่นคงกว่า ธุรกิจซับซ้อนขึ้น ผู้ลงทุนต้องมีความรู้ในธุรกิจ ต้องเรียนรู้เทคโนโลยี หรือซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจบริการไปรษณีย์ ธุรกิจล้างรูปอัตโนมัติ ธุรกิจรับชำระหนี้
3.ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนหลักล้านบาทขึ้นไป เช่น ธุรกิจการเปิดร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ร้านสะดวกซื้อชุมชน และธุรกิจตู้บริการ เป็นต้น
4.ธุรกิจระดับแอดวานซ์ หรือธุรกิจที่ต้องสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง ผู้ลงทุนต้องมีทั้งประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจ และเงินทุน อยากมีแบรนด์ของตัวเอง เลือกลงทุนได้หลายช่องทาง ตั้งแต่การสรรหาโรงงานรับจ้างผลิต ซึ่งก็มีทั้งสูตรเขาสูตรเรา เช่น ต้องการผลิตแชมพูหรือโลชัน หากมีสูตรของตัวเองก็จ้างผลิตในสูตรที่มี หรือหากไม่มีแม้กระทั่งสูตร ก็ทำได้ด้วยการซื้อสูตรของโรงงาน แล้วให้โรงงานนั้นเองรับจ้างผลิตไปพร้อมกัน จากนั้นสร้างทีมการตลาด ทีมตลาดที่เก่งสร้างแบรนด์ที่ดี สำคัญคือกระบวนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่ต้องทำอย่างเป็นระบบ รองรับการเติบโต แตกแล้วโต โตแล้วแตก ต่อยอดไปเรื่อยๆ
ชีวิตทั้งชีวิตรออยู่
ถ้าบังเอิญให้ต้องตกงานช่วงนี้ ก็อย่าเพิ่งกลัวถึงอนาคต สำรวจต้นทุนในชีวิตของตัวเอง อาจพบว่า “มี” อะไรมากกว่าที่รู้ เช่น มีที่ดินอยู่ที่บ้านต่างจังหวัด อย่างนี้อาจพิจารณาการทำไร่นาสวนผสม พัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับการตลาดสมัยใหม่ หลายคนทำแล้วถูกโฉลกจนร่ำรวย มีกินมีใช้ในชีวิตแบบน่าอิจฉา บางคนมีบ้านในกรุงเทพฯ ก็อาจพิจารณาทำเลว่าสามารถเปิดเป็นร้านค้าอย่างหนึ่งอย่างใดได้หรือไม่ มีสูตรอาหารเครื่องดื่มของตระกูลหรือไม่ มีเงินเหลือเก็บเท่าไหร่ หรือมีสินทรัพย์เก็บไว้ในรูปแบบใดบ้าง ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงนำมาประมวลเพื่อหาทางเลือก
“ถึงตอนนี้คงมีเวลาให้คิดเยอะ เพราะฉะนั้นให้คิดอย่างจริงจังว่า อะไรที่เหมาะกับเรา คุณพูดเก่งหรือเปล่า คุณมีความสามารถในการทำอาหาร มีความสามารถในการดมกลิ่น มีจิตวิทยาในการพูดหรือนำเสนอสิ่งใดๆ และคุณสมบัติโดดเด่นที่เคยมองข้าม” สมใจ กล่าว
หัวใจการทำธุรกิจเอสเอ็มอี ปัจจัยภายในสำคัญกว่าปัจจัยภายนอก เพราะแม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมซบเซา กำลังซื้อหดตัว แต่ธรรมชาติของตลาดของเอสเอ็มอีก็ไม่ได้เป็นตลาดใหญ่อยู่แล้ว ถ้าจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะของตัวเองได้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับธุรกิจ หลักการคือต้องสู้กับตัวเอง ต้องขยัน อดทน ธุรกิจมีขึ้นมีลง ต้องมองในมุมบวก และหาจุดแข็งของตัวเองให้ได้ พยายามแสวงหาตลาดเฉพาะ (นิชมาร์เก็ต) จากนั้นก็อย่าลืมรักษาฐานตลาดไว้ให้ได้ด้วย
“จุดอ่อนของผู้ประกอบการใหม่ คือการขาดความรู้รอบ โดยมากมักรู้เป็นส่วนๆ ซึ่งไม่พอต่อการทำธุรกิจในโลกความจริง” สมใจ กล่าว ธุรกิจที่เติบโตสวนกระแสยังคงเป็นธุรกิจด้านความงามและธุรกิจลดความอ้วน ซึ่งปัจจุบันยังมีตลาดและช่องทางอีกมาก
ชีวิตทั้งชีวิตรออยู่ข้างหน้า ชีวิตที่ตื่นเต้นกว่า ท้าทายกว่า บทพิสูจน์สำหรับคนเลือกใช้ชีวิต...พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ขอให้ร่ำรวย เป็นเถ้าแก่ใหญ่กันทุกคน