จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่แค่พื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารทั้งหมด กัมพูชาแสดงตัวเป็นเจ้าของอย่างเต็มที่ ผู้นำเขมรเคยพูดอย่างเป็นทางการว่า สักวันหนึ่งจะต้องทวงปราสาทและดินแดน จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ที่(คิดว่า)เคยเป็นของเขากลับคืน
ย้อนไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเอกภาพของชาติและประชาธิปไตย ตอนหนึ่งระบุถึงปัญหากับกัมพูชาว่า (ตั้งแต่ยุคสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ โดดลงมาเป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๐๑) สถานีวิทยุพนมเปญอ้างว่า เขมรปัจจุบันเป็นทายาทขอม ที่เรียกตัวเองว่า ขแมร์ ยังอ้างว่ามีคนเขมรอยู่ในไทยตามรอยต่อชายแดน พูดเขมรหรือพูดไทยและเขมรได้มีประมาณ ๒.๕ ล้านคน เรียกร้องให้เหล่านี้นับถือกษัตริย์เขมร วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ของไทยต้องออกมาตอบโต้เป็นการใหญ่
นี่เป็นความคลั่งชาติเขมรที่เจ้าสีหนุยกมาจุดกระแสปมเขื่อง หลังจากถูกกดขี่ใต้เท้าฝรั่งเศสนานนับร้อยปี และก่อนนั้นอย่างน้อยร่วมสามร้อยปี ถูกขนาบบีบจากญวนและสยาม
สำหรับ สมเด็จอัครมหาเตโชนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ก็เคยจุดไฟคลั่งชาติเป็นระยะเพื่อการเลือกตั้ง และเพื่อเบี่ยงเบนเรื่องภายในเขมร ล่าสุด ประกาศให้ทหารยิงคนที่เข้าไปในบริเวณพิพาทเขาพระวิหารที่พวกเขายึดไว้ ข่มขู่ให้หวาดกลัว เพื่อเร่งดำเนินการให้ปราสาทเขาพระวิหารได้รับอนุมัติเป็นมรดกโลกในปีหน้า
ฝรั่งเศสแสบ แบ่งแยกปกครอง ขีดเส้นแดนให้แตกต่าง
พ.ศ.๒๔๐๑(ค.ศ.1858) ฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามได้แล้ว ก็เล็งจะเอากัมพูชา ลาว รวมถึงสยามด้วย
พ.ศ.๒๔๑๐(ค.ศ.1867) ยึดเมืองโพธิสัตว์ กำปงชนัง กำปงจาม ไปรยเวง กัมโพช และพนมเปญ
พ.ศ.๒๔๓๐(ค.ศ.1887) ฝรั่งยึดแคว้นสิบสองจุไทย คือ เมืองแถน เมืองไหโฮ เมืองสวย และยึดเอาแคว้นหัวพันทั้งหก คือ เมืองซ่อน เมืองสาด
พ.ศ.๒๔๓๖(ค.ศ.1893) เหตุการณ์ รศ.๑๑๒ ใช้เรือปืนปิดปากน้ำเจ้าพระยา ยึดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปทั้งหมด
พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.1904) บังคับยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง บางส่วนไป โดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.๑๙๐๔ ยึดชายแดนติดอุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ ฮุบปราสาทเขาพระวิหารไปด้วย
พ.ศ.๒๔๕๐(ค.ศ.1907) ให้ลงนามสนธิสัญญาปักปันดินแดนโดยใช้ “สันปันน้ำ”เป็นเส้นแบ่ง จึงเท่ากับปราสาทเขาพระวิหารยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของสยาม แต่ก็เสีย ศรีโสภณ พระตะบอง และเสียมราฐ มณฑลบูรพาทั้งหมด
ต่อมา ญี่ปุ่นสอดเข้ามาเป็นคนกลางเจรจาเชิงบีบให้ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนให้สยามคืน โดยยกเลิกสนธิสัญญา พ.ศ.๒๔๔๗ และ พ.ศ.๒๔๕๐ ลงนาม ณ กรุงโตเกียว ลงนามรับรองในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทย กับ ฝรั่งเศส หรือเรียกพิธีสารโตเกียว เมื่อ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ซึ่งรัฐสภาไทยให้สัตยาบัน ๕ กรกฎาคม ๒๔๘๔
หลังกัมพูชาได้เอกราช พ.ศ.๒๕๐๑ เจ้าสีหนุ ที่สละตำแหน่งกษัตริย์ให้พระราชบิดา ตัวเองรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็จุดประเด็นนี้ นำไปสู่ศาลโลก พ.ศ.๒๕๐๒ และตัดสิน พ.ศ.๒๕๐๕ ไทยพ่ายคดีเพราะศาลโลกอ้างว่า ไทยไม่คัดค้านแผนที่ปี พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.1904)
โดยที่ฝ่ายไทยไม่ได้ยกแผนที่สันปันน้ำ(Watershed) พ.ศ.๒๔๕๐ มาต่อสู้ เพราะกระทรวงบัวแก้วค้นไม่เจอ!
ขณะที่ พล.ท.ประสิทธิ์ นวาวัตน์ ทหารกลุ่มประชาธิปไตย เสนอเมื่อปี ๒๕๕๑ ให้ใช้หลักฐานพิธีสารกรุงโตเกียว ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ ประกอบกันเพื่อยื่นเรียกร้องให้พิจารณาปักปันเขตแดนใหม่ทั้งหมด(อ่านเพิ่มใน http://special.bangkokbiznews.com/detail.php?id=7457&username=phavihan)
พ.ศ.๒๕๕๐ นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศ(ของไทย) ลงนามแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพียงชาติเดียว และนำเข้าครม.มีมติเห็นชอบด้วย นี่เป็นการยอมโง่ครั้งที่ ๓ ตามที่ *รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ชี้ไว้
ใครเป็นบรรพบุรุษผู้สร้างปราสาทพระวิหาร
ถ้าประวัติศาสตร์ตามฝรั่งเศส ยอร์ช เซเดย์ ซึ่งอ่านศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ ตีความให้ขอมยิ่งใหญ่ครอบงำรัฐชาติอื่น อย่างไร้มิติสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ และจงใจไม่ตีความศิลาจารึกหลักที่ ๒ (วัดศรีชุม) ซึ่งมีนัยสำคัญ ความว่า
"แคว้นสุโขทัยมีพ่อขุนศรีนาวนำถมปกครอง มีโอรสองค์หนึ่งคือพ่อขุนผาเมือง ซึ่งเป็นราชบุตรเขยกษัตริย์ขอม ได้รับพระราชทานนามว่า ศรีอินทรบดินทราทิตย์ ต่อมาพ่อขุนศรีนวนำถมสิ้นพระชนม์ ขุนนางขอมชื่อ สบาดโขลญลำพง เข้ายึดกรุงสุโขทัย"
*จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่าสุโขทัยน่าจะเคลื่อนไหวปลดแอกจากขอมโบราณในราว พ.ศ.๑๗๖๓ เป็นระยะเดียวกับนครรัฐจามปา และนักประวัติศาสตร์ไทยอีกหลายคน ตีความศิลาจารึกหลักที่ ๒ แสดงว่า พ่อขุนศรีนาวนำถม เป็นกษัตริย์อยู่ก่อนแล้ว
พ่อขุนบางกลางหาว(เมืองศรีสัชนาลัย) ลูกเขย กับพ่อขุนผาเมือง(เมืองราด) รบไล่ขอมสบาดฯ ไปได้ จากนั้นพ่อขุนผาเมือง จึงยกเมืองสุโขทัยให้พี่เขย พร้อมมอบพระขรรค์ชัยศรี รวมทั้งพระนามขุนศรีอินทราทิตย์ (พระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ พระราชทาน) ส่วนตัวเองไปครองศรีสัชนาลัย
ถามว่าได้พระขรรค์ชัยศรีมาจากไหน จดหมายเหตุ "โจวต้ากวน" ทูตจีนที่มาเมืองพระนครช่วงชัยวรมันที่ ๘ (ช่วงเดียวสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.๑๘๓๘) บันทึกว่าชัยวรมันที่ ๘ ต้องการฟื้นศาสนาฮินดู ทำลายพุทธสถานขนานใหญ่ จึงถูกลูกเขยปฏิวัติ จับพ่อตาและรัชทายาทขัง มเหสีขโมยพระขรรค์ชัยศรีมาให้ลูกเขย ถึงขั้นตีความว่า พ่อขุนผาเมืองนี่แหละไปปกครองขอม
แสดงถึงความสัมพันธ์อำนาจเชิงเครือญาติในทางดอง ไม่ใช่รูปแบบจักรวรรดิยุโรปส่งคนไปปกครอง
ขณะเดียวกัน สยามเองได้เลียนแบบรูปการปกครองรัฐเดียว สร้างมายาคติรัฐชาติเป็นต้นมา กระทั่ง พ.ศ.๒๔๘๒ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นักลัทธิทหาร มีกุนซือชาตินิยม(หลวงวิจิตรวาทการ) เปลี่ยนสยามเป็นไทย ทำนองไม่เอาคนเชื้อสายชาติพันธุ์อื่น (ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนขนบ จารีตให้กลมกลืนเป็นไทย)
เครือญาติกินดอง-พี่น้องสายวัฒนธรรม
หลังเสื่อมอำนาจปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ กัมพูชาเป็นเสมือนรัฐกันชนระหว่างสยาม กับ ญวน เพราะกัมพูชาเกิดรบชิงอำนาจกัน นอกจากพ่อขุนผาเมืองเป็นเครือญาติกับขอมแล้ว ย้อนไปไกลอีกถึงยุคสร้างเมืองพิมาย เมืองพนมรุ้ง ก็ล้วนอยู่ในลักษณะดองกันทั้งสิ้น คำว่า "ปรองดอง" ก็มาจากสาเหตุนี้
สำหรับสยามไม่ต้องบังคับครอบงำทางวัฒนธรรม ศิลปะ เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกว่าญวน พงศาวดารกัมพูชาระบุว่า สมัยพระเจ้าหมินหมาง(ประมาณ พ.ศ.๒๓๗๕) นอกจากรวบเอาดินแดน"จามปา" มาอยู่ในปกครองแล้ว ยังครอบงำกัมพูชา ได้มอบเครื่องแต่งกายญวนให้สมเด็จพระอุทัยราชา และขุนนางเขมรแต่งชุดญวนเข้าเฝ้าเจ้ากรุงเวียดนามทุกเดือน กำหนดวันขึ้น ๑ ค่ำ กับ ๑๕ ค่ำ
กระทั่ง พ.ศ.๒๓๘๓ ชาวเขมรลุกฮือต่อต้านญวนลามไปทั่วประเทศ และขอสยามช่วย ขอให้ส่งนักองด้วง (เกิดในกรุงเทพฯ และรัชกาลที่ ๓ ทรงยกเป็นบุตรบุญธรรม) โปรดเกล้าฯ ส่งไปเป็นกษัตริย์เขมรเมื่ออายุ ๔๓ปี โดยให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปช่วยรบ
จนถึง พ.ศ.๒๓๙๐ ญวนเกิดกบฏภายใน ขอสงบศึก และยอมรับอิทธิพลสยามต่อเขมร แต่เจ้าพระยาบดินทรฯ ยังต้องกำราบความแตกแยกในเขมร จนสถาปนานักองด้วงครองราชย์ได้ตอน 52 พรรษา (พระนาม สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี)
จนกระทั่ง ฝรั่งเศสเข้ามาครอบครองอินโดจีนทั้งหมดภายในรัชกาลที่ ๕ และสร้างประวัติศาสตร์แบบจักรวรรดิขึ้นมา
ฝรั่งเศสไม่เพียงศึกษาประวัติศาสตร์ในแง่มุมตีความของตัวเอง ยังส่งนักสำรวจหลายสาขา เข้ามาสำรวจหลายเส้นทาง สร้างฐานข้อมูลเพื่อเป้าหมายต้องการแผ่อิทธิพลจากอินโดจีนรุกขึ้นไปทางจีน ตอนใต้
ชาวฝรั่งเศสหลายคนถูกส่งเข้ามาสำรวจทุก ๆ อย่างในภูมิภาคนี้ ร่วมถึงประเทศสยาม ด้วยการบันทึกอย่างละเอียด ถึงภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ชื่อหมู่บ้าน กลุ่มคน ขนบประเพณี วัฒนธรรม ปัญหาภายใน-ภายนอกของสยามในช่วงนั้น รวมทั้งเก็บในแบบรูปสเก็ตซ์ ภาพถ่าย แผนที่การเดินทางด้วย
จักรวรรดิตะวันตกทำมาตลอด ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาในรูปการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ส่งบาทหลวง นักบวชเข้ามา จุดมุ่งหมายที่แท้จริง เพื่อมุ่งแสวงหาการผูกขาดวัตถุดิบ ทรัพยากร สำหรับป้อนอุตสาหกรรมยุโรป และผูกขาดตลาดรองรับไปด้วย ดังนั้น ชาติตะวันตกจึงแก่งแย่งชิงล่าอาณานิคมไปทุกมุมโลก
ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ผนวกกับความรู้แผนที่เป็นกระแสหลัก โดยเฉพาะปราสาทเขาพระวิหาร นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยเคยโตแย้ง เช่น พลูหลวง (น. ณ ปากน้ำ) พูดทำนองว่าปราสาทแห่งนี้อยู่ห่างไกลจากการควบคุมของพระเจ้าแผ่นดินขอมโดย ตรง ศิลปินจึงสร้างแตกคอกต่างจากศิลปะขอม ไม่เหมือน นครวัด นครธม
ศ.ขจร สุขพานิช บอกทำนองว่า บรรพบุรุษผู้สร้างปราสาทเขาพระวิหาร หาใช่บรรพบุรุษของขอมฝ่ายเดียว และได้อ้างถึงจารึกเขาพระวิหาร ปรากฏพระนาม "พิณสวัณครามวดี" เจ้านายสตรีครอบครองดินแดนแห่งนี้ ไม่ระบุเชื้อชาติ แต่บุตรหลานที่ยังไม่มีพระนามเป็นภาษาสันสกฤต มีชื่อวัยเด็กว่า พง พัน อั๋น อ้าย เป็นคำโดดแบบกลุ่มไทมักใช้ตั้ง
ต่อมา มีเจ้าชายจากต่างแดน(อาจเป็นจัมปาสักหรือสตึงเตรง) มาสู่ขอธิดาพระนางพิณสวัณอภิเษกเป็นมเหสี แล้วจึงคุมกำลังลงไปแย่งชิงดินแดนด้านทะเลสาบ และสร้างกรุงกัมพูชา
ในที่นี่คนจากดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงทิศใต้ จัดเป็นเขมรสูงตามลักษณะที่ตั้งภูมิประเทศ และมีความสันพันธ์ต่อเขมรกลาง และเขมรราบลุ่มต่ำติดเวียดนาม
ฮุนเซน ปลุกกระแสคลั่งชาติ-อคติเชื้อชาติ
ขอให้จำ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปกัมพูชา ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๖ จู่ ๆ เกิดข่าวกระพือว่า กบ สุวนันท์ คงยิ่ง ดาราสาวช่อง ๗ สีของไทย ด่ากัมพูชาขโมยปราสาทนครวัดไปจากไทย ขณะเดียวกันก็ ข่าวเขมรทวงคืนกลุ่มปราสาทตาเมือน และและปราสาทสด็อกก็อกธม จ.สระแก้ว ซึ่งกรมศิลปากรขึ้นเป็นโบราณสถานของไทยตั้งแต่ ๒๔๗๘
เริ่มจาก ๑๘ มกราคม ๒๕๔๖ "รัศมีอังกอร์" ลงข่าว กบ สุวนันท์ คงยิ่ง เหยียดหยามชาวเขมร ต่อมาอีก ๗ วัน “เกาะสันติภาพ เดลี่” นำไปกระพืออีก และ "กัมพูชาใหม่" รับลูกอีก กลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่อนักศึกษาในพนมเปญ ออกแถลงการณ์ประณาม กบสุวนันท์
แทนที่ ฮุนเซนจะแก้ไข กลับนำประเด็นนี้ไปหาเสียงที่กัมปงจาม คนยิ่งโกรธแค้น โดยสั่งงดถ่ายทอดละครไทย “ลูกไม้หล่นไกลต้น” สถานีโทรทัศน์เขมรขานรับงดถ่าย กระทั่งนำไปสู่เผาสถานทูตไทย โรงแรม ห้างร้านของคนไทย ในพนมเปญ และของเขมรเองด้วย
เช่นเดียวกับช่วงเลือกตั้งกัมพูชา ๒๕๕๑ ฮุนเซน ก็ปลุกกระแสรักชาติ ทวงปราสาทเขาพระวิหาร เรียกคะแนนนิยมอีกอย่างได้ผล ได้ครองเสียงข้างมากเกือบเด็ดขาด
ที่ควรพูด คือ ญี่ปุ่นปัจจุบันได้สัมปทานจัดการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ในกัมพูชาเกือบทั้ง หมด และหมายมั่นจะได้ปราสาทพระวิหารมาทำเงินอีกแห่ง แต่เขารู้ว่าองค์ประกอบความเป็นศาสนสถานแห่งนี้ คือ สถูปคู่ สระตราว ฯลฯ ซึ่งเท่านี้ก็จะนำไปสู่ความได้เปรียบในการจัดการครั้งต่อๆ ไป โดยไทยมีส่วนน้อยนิด
ดังนั้น ปัญหาพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร จะจบลงเมื่อใด จะบานปลายหรือไม่ ตอนนี้ไม่อาจเชื่อถือรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ว่าจะกล้ากลับไปเริ่มต้นเจรจาใหม่ ไม่ใช่เดินตามเกมฮุนเซน และคงไม่กล้าหักกลุ่มการเมืองไทยที่ได้ประโยชน์จากรูปการณ์แบบนี้ ขณะเดียวกัน กลุ่มพลเมืองไทยพลังต่อต้านกัมพูชาก็จะยังกดดันต่อไป
ที่เสนอข้อมูลมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะได้ไม่เสียโง่ และพลเมืองไทยจะไม่ยอมให้พวกนี้ทำเป็นโง่อีก!
-----------------------------
ข้อมูลประกอบการเขียน
*เขาพระวิหาร ระเบิดเวลาจากอาณานิคม, ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ , มิถุนายน ๒๕๕๑
* สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา, จิตร ภูมิศักดิ์, พิมพ์ ๒๕๔๗
*เรื่องลับเขมร ที่คนไทยควรรู้, อาทิตย์ ทรงกลด, กรกฎาคม ๒๕๕๒
บรรยาย รูป: เหตุการณ์ รศ.๑๒๒ ทหารฝรั่งเศสขนเงินเหรียญ ๓ ล้านฟรังค์ ไว้บนเรือ"ลูแตง" จะเดินทางไปไซ่ง่อน ต้องใช้เวลาขนเป็นวัน ๆ และนับกันไม่ไหว ต้องใช้วิธีการชั่งได้ ๒๓ ตัน นี่คือส่วนหนึ่งที่ใช้แลกกับ"อธิปไตย" ของสยาม
*รูปจาก siamnavy.blogspot.com