จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เปิดร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะตามข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรีให้เสนอใหม่ หวั่นขัดรัฐธรรมนูญ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ข้อเท็จจริง
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (17 เมษายน 2552) สมควรให้มีกฎหมายเพื่อให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะเป็น ไปตามหลักการสากลและบทบัญญัติของรัฐธรมนูญ และโดยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่ สาธารณะ พ.ศ. .... มาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วครั้งหนึ่ง จึงมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับเรื่องนี้ไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยให้ศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายในเรื่องทำนองเดียวกันของประเทศต่าง ๆ ด้วย แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป
2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และเห็นว่าเป็นกฎหมายอนุวัติการที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญ เพื่อความรอบคอบเห็นควรส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเจ้าของเรื่อง
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ (ร่างมาตรา 4)
2.โดยกำหนดให้การชุมนุมสาธารณะคือการชุมนุมของกลุ่มคนตั้งแต่10คนขึ้นไปมาชุมนุมร่วมกันเพื่อใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
3. กำหนดมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยในการชุมนุมสาธารณะ โดยกำหนดให้ผู้จัด(ผู้นำหรือแกนนำ)ให้มีการชุมนุมสาธารณะมี หนังสือแจ้งต่อเจ้าพนักงานในท้องที่ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ วิธีการ สถานที่ วัน เวลา และระยะเวลาที่จะจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ จำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยประมาณ และชื่อที่อยู่ของผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ (ร่างมาตรา 5) กรณีผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะฝ่าฝืนมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. กำหนดเงื่อนไขที่ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะต้อง ปฏิบัติเพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน เช่น ไม่ชุมนุมใกล้พระบรมมหาราชวัง,พระราชวัง,พระตำหนักในระยะ 500 เมตร ไม่ชุมนุมใกล้โรงพยาบาล หรือโรงเรียนขณะเปิดทำการในระยะ 200 เมตร หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ปิดล้อมสถานที่ราชการหรือสถานที่ทำการของส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ไม่นำ ยินยอม หรือปล่อยปละละเลยให้มีการนำอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น (ร่างมาตรา 6) กรณีผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะฝ่าฝืน มาตรา 6 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานตามมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมและออกไปจากสถานที่ชุมนุมโดยเร็ว ในกรณีที่การชุมนุมสาธารณะฝ่าฝืนกฎหมาย หรือน่าจะมีการกระทำอันเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้ชุมนุม บุคคลอื่น หรือของรัฐ (ร่างมาตรา 7)
6. หากผู้ชุมนุมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้เลิกการชุมนุม ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์การชุมนุมได้เท่าที่จำ เป็นแก่สถานการณ์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 8)
7. เจ้าพนักงานอาจขอกำลังทหารหรืออาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ (ร่างมาตรา 9)
8. กำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิด กรณีผู้เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะมีหรือพกพาอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษเพิ่มเป็นสองเท่าของความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้