สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปาฐกถาพิเศษ บทบาทขององค์กรอิสระต่อการพัฒนาประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "บทบาทขององค์กรอิสระต่อการพัฒนาประเทศ" โดยนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวาระกทช.ครบรอบ 5 ปี

ท่านประธานและคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  ท่านเลขาธิการ  ผู้บริหารสำนักงาน กทช. เจ้าหน้าที่  และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน
 
ผม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติในวันนี้  และก็ขอแสงความยินดีกับการได้ปฏิบัติหน้าที่มาเป็นระยะเวลา 5 ปี และได้มีโอกาสในการจัดทำกิจกรรม  ทั้งที่เป็นภารกิจหลัก  ตลอดจนกิจกรรมที่เป็นการเผยแพร่ความรู้ความก้าวหน้าของกิจการโทรคมนาคม  ซึ่งก็จะทำให้พี่น้องประชาชนผู้สนใจรับทราบ  มีส่วนร่วม  และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
 
หัวข้อที่ได้มีการกำหนดให้ผมบรรยายในวันนี้  คือ  เรื่องของบทบาทขององค์กรอิสระกับการพัฒนา

ผมคงจะต้องเริ่มต้นก่อนนะครับว่า  คำว่าองค์กรอิสระ เป็นคำที่ทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย  เพราะว่าองค์กรอิสระมีหลายประเภท  มีหลักคิด  ที่ไปที่มา  ซึ่งแตกต่างกัน  ในประเทศของเราคำว่าองค์กรอิสระดูจะเป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายหลังจากที่เรามี รัฐธรรมนูญ ปี 2540  ซึ่งสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ  ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดคำว่าองค์กรอิสระเองไม่ได้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ  แต่ว่าหลักคิดของปี 2540  ทีการจัดทำรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ซึ่งผมก็ได้ติดตามและได้สนับสนุนมาตั้งแต่ต้น  ก็คือหลักคิดที่ว่า ภารกิจหลายอย่างซึ่งเป็นการทำงานโดยภาครัฐไม่จำเป็นจะต้องทำโดยฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลอยู่เพียงฝ่ายเดียว  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราตระหนักว่าในระบบรัฐสภา  ฝ่ายนิติบัญญัติเองก็คือฝ่ายที่เป็นเสียงข้างมากของฝ่ายบริหาร
 
จุด ที่ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 คิดถึงเรื่องขององค์กรที่ไม่สังกัดทั้งสองฝ่ายนี้  ก็คือ  ต้องการที่จะให้กระบวนการทางการเมืองนั้นถูกขีดวง  คือ  มีขอบเขตที่จำกัดว่าอะไรถือเป็นสิ่งที่พึงทำและไม่พึงทำตามระบบของการบริหาร จัดการที่ดี  โดยสรุปงานที่เป็นงานนโยบายและงานบริหารโดยแท้  ก็ควรที่จะดำเนินการไปตามรูปแบบปกติ  แต่ว่าในเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเป็นการจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจรัฐ  ก็คิดค้นรูปแบบขององค์กรใหม่ขึ้นมา  ซึ่งจะทำให้ไม่ตกไปอยู่ภายใต้ภาวะของการที่การเมืองเข้าไปครอบงำ  หรือฝ่ายบริหารเข้าไปครอบงำได้  เพราะฉะนั้นองค์กรอิสระบางประเภท  บางองค์กรก็เป็นลักษณะของการมาใช้อำนาจตุลาการหรือกึ่งตุลาการ  ศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลปกครอง  แน่นอนที่สุด  และก็มีองค์กรซึ่งทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบส่งต่อข้อขัดแย้งหรือข้อโต้ แย้งในทางกฎหมายไปสู่องค์กรในลักษณะนี้ก็มีเช่น ปปช  ผู้ตรวจการแผ่นดิน อย่างนี้เป็นต้น

แต่ว่าองค์กรอิสระอีกประเภทหนึ่ง  ซึ่ง กทช. เป็นตัวอย่างนั้น ความจริงแล้วเป็นเรื่องของการที่จะต้องมีองค์กรที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแล

โดยปกติการกำกับดูแลก็จะเป็นงาน ของกระทรวงบางกระทรวงซึ่งทำหน้าที่ควบคุมหรือกำกับการประกอบกิจการต่าง ๆ ของภาคเอกชนอยู่แล้ว  เพียงแต่ว่าในกรณีของธุรกิจหรือการประกอบการในบางกิจการนั้น  บังเอิญเป็นกิจการซึ่งมีลักษณะพิเศษ  ความพิเศษก็เริ่มต้นตั้งแต่ว่า  โดยธรรมชาติของการแข่งขันหรือการประกอบการนั้นมีลักษณะของปัญหาการผูกขาด อยู่ในตัว  ที่ผมต้องเริ่มต้นจากตรงนี้เพราะว่า  ไม่ว่าเราจะวางรากฐานของตัวองค์กรโครงสร้างหรือกติกา

รวมทั้งมาตรการในการกำกับดูแลอย่างไร  ที่สุดแล้วสิ่งที่เป็นตัวรักษาผลประโยชน์ของประชาชนของผู้บริโภคได้ดีที่ สุด  ไม่มีอะไรดีไปกว่าการแข่งขัน  เพียงแต่ในบางกิจการนี่  การแข่งขันโดยธรรมชาติมีได้น้อย  เช่น  บรรดากิจการทั้งหลายซึ่งจะต้องมีการอาศัยเครือข่ายหรือโครงข่ายของโครงสร้าง พื้นฐาน  ซึ่งต้องการการลงทุนเป็นจำนวนมาก  ไม่ค่อยมีประโยชน์ที่จะมีโครงข่าย  เครือข่าย  ที่วางทับซ้อนกันในลักษณะของการแข่งขันกันแล้วเกิดความสิ้นเปลือง อย่างนี้เป็นต้น

ประการที่สอง  ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่ากิจการบางกิจการนั้นเป็นกิจการซึ่งมีความสำคัญ  ไม่เพียงแต่ชีวิตประจำวันของประชาชน  แต่ว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในภาพรวมด้วย  การสื่อสาร  การโทรคมนาคม  ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีมิติในเรื่องของความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องอย่าง ชัดเจน

และประการที่สาม  โดยเหตุผลทางประวัติศาสตร์  การทำงานในเรื่องนี้ก็พบว่า  ภาครัฐจะเป็นผู้เข้ามาประกอบกิจการเสียเองในรูปของรัฐวิสาหกิจในยุคหนึ่ง  และต่อมาก็อาจจะมีการยกสิทธิหรือให้สิทธิผ่านรูปแบบของการสัมปทานหรือการทำ สัญญากับเอกชนในลักษณะซึ่งมีการผูกขาดอยู่ในตัวบ้างไม่มากก็น้อย  ผูกมัดผูกพันกันเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร

การเอาองค์กรอิสระที่ทำงานใน ด้านการกำกับดูแลจึงเข้ามาเพื่อที่จะแก้ปัญหาว่า  ทำอย่างไรเราจะดูแลให้การประกอบกิจการที่มีลักษณะอย่างนี้ หนึ่งไม่ประสบกับปัญหาความล้มเหลวของกลไกตลาด และสองหลีกหนีความล้มเหลวของรัฐบาลที่มีการเมืองเข้าไปแทรกแซงในการทำงาน นี้  หรือแม้กระทั่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของตัวองค์กรที่ทำหน้าที่ใน การประกอบกิจการ  แล้วก็ในอดีตทำหน้าที่กำกับดูแล  แม้กระทั่งทำงานในเชิงนโยบายพร้อมกันไปด้วย  ซ้อนกันอยู่  ซึ่งก็จะเป็นรูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับเมื่อมีการเปิดการแข่งขันในลักษณะที่มี ความเสรีมากยิ่งขึ้น

ตรงนี้แหละครับคือ ที่มาหลักคิดขององค์กรอิสระประเภทนี้  ซึ่งผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงตระหนักดีอยู่  แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องซึ่งไม่มีการทำความเข้าใจกันเท่าที่ควร  และความจริงก็ไม่ใช่เฉพาะสำหรับกิจการนี้เท่านั้นนะครับ  ขณะนี้ในเรื่องของกิจการทางด้านพลังงาน  กิจการในเรื่องของการขนส่ง  และในวันข้างหน้าผมคิดว่ากิจการในเรื่องของน้ำ  จำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบของการกำกับดูแลในลักษณะอย่างนี้เช่นเดียวกัน

ปัญหาใหญ่ขององค์กรอิสระประเภท นี้  ผมมองว่ามีสองประการ ประการแรกเป็นปัญหามรดกตกทอด  คือ  เป็นเรื่องง่ายที่เราจะพูดถึงระบบการกำกับดูแลในอุดมคติ จะกำหนดกติกากันอย่างไร  ใครจะเป็นองค์กรกำกับดูแล  จะวางโครงสร้างของการแข่งขันอย่างไร  อันนี้ไม่ยากละครับ  ไม่ถึงกับง่ายแต่ว่าไม่ยาก  แต่นั่นหมายถึงเราสามารถขีดเขียนระบบโครงสร้างนี้บนกระดาษเปล่า  เริ่มต้นกันใหม่

แต่กรณีของโทรคมนาคม  ผมว่าทุกท่านผ่านมา 5 ปี ตระหนักดีครับว่าความรุงรังของสิ่งที่ท่านรับมาในเชิงมรดกนี่  ก่อนที่จะมาวางอะไรกันใหม่  แกะของเก่า ก็ยังถกเถียงกันเรียกว่าไม่จบไม่สิ้น  หลายท่านคงนึกออกนะครับแค่คำพูดเรื่องว่า  การจะแปลสัญญาสัมปทานหรือแปลงสัมปทาน  พูดกันมาผมไม่ทราบว่ากี่รัฐบาลแล้วนะครับหรือกี่นายกรัฐมนตรีแล้ว  แต่ว่าสุดท้ายก็ไม่เป็นเรื่องง่ายเลย  เพราะว่าปัจจัยในเชิงการบริหารก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

ปัจจัยในทางกฎหมายข้อสัญญาก็เป็นอีก ปัจจัยหนึ่ง  ไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่าธุรกิจในลักษณะนี้ก็มีผลประโยชน์มหาศาล  สัญญาข้อเดียวตัวเลขต่างกันเพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์  แต่ว่าคำนวณออกมาแล้วมันเป็นมูลค่ามหาศาล อาจเป็นจะเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสนล้านก็ได้  เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย  แต่ผมก็เห็นใจ  5 ปีของการทำงานที่ผ่านมาซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคตรงนี้อยู่พอสมควรที่ เดียว
 
ประการที่สอง  ความยากของงานทางด้านนี้  ก็คือเส้นแบ่งระหว่างเรื่องที่เป็นนโยบายกับเรื่องที่เป็นเรื่องการกำกับ ดูแล  เส้นแบ่งที่จะพยายามแยกการประกอบกิจการออกมา  เส้นแบ่งที่พูดถึงว่าตรงไหนเป็นเรื่องของมิติความรับผิดชอบ  ทางด้านความมั่นคง  ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามา  หรือเป็นมิติของทางด้านการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค  ความเป็นธรรมซึ่งจะต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามา  ก็เป็นเส้นแบ่งซึ่งไม่ชัดเจนนัก

เพราะฉะนั้น  แรงกดดันทั้งหลาย  ความหลากหลายที่มีอยู่  ก็จึงเป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  และก็ทั้งสองปัจจัยนี้ละครับ  อย่าว่าแต่ท่านทำงานเลยครับ  แค่กระบวนการสรรหาเข้ามาสู่ตำแหน่ง  ก็มีเส้นทางซึ่งถึงวันนี้หลายคนก็จำไม่ได้แล้วครับ  นี่ยังดีว่าเทียบเคียงกับพี่น้องมั้งครับ  กสช. นี่น่ะ  นั่นเรียกว่าในที่สุดก็ทำกันไม่ได้เลย  และก็วันนี้ก็กำลังจะยังต้องมาอยู่ในเรื่องของ กสทช  และก็จะต้องมาทำกันใหม่

เพราะฉะนั้น  สิ่งหนึ่งซึ่งขอได้รับความเห็นใจจากผม  ก็คือ  ผมทราบดีว่าข้อจำกัดเหล่านี้เป็นข้อจำกัดที่หนักหนาสาหัส  แต่ว่าสิ่งที่ผมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็คือว่า  ปัญหาอุปสรรคจะมากน้อยแค่ไหน อย่างไร  ถ้าเราไม่เดินหน้า  ความสูญเสียจากการเสียโอกาสมันยิ่งมากกว่า  จนถึงปัจจุบันก็ต้องยอมรับครับว่า  ปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความล่าช้าในหลายต่อหลาย เรื่องด้วยกัน  ท่านกรรมการทราบดีครับ  สมัยผมอยู่ฝ่ายค้าน  ผมทวงเรื่องของการคงสิทธิเลขหมาย  หลายปีทีเดียว  มาวันนี้ก็ดีใจว่า  ประกาศราชกิจจาแล้วใช่มั้ยครับ  อยู่ที่ว่าจะส่งผลลงไปถึงผู้ใช้อย่างไรให้รวดเร็วและก็เป็นที่ เข้าใจนะครับ  และก็สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น

แต่แรงกดดันเรื่องอื่น ๆ ยังมีไม่จบไม่สิ้นนะครับ  ความคาดหวังซึ่งขณะนี้ก็เป็นประเด็นที่ร้อนพอสมควร  ก็คือเรื่อง 3 G  และก็เรื่อง  Wi-Max  ก็จะเป็นประเด็นที่ท้าทาย  ผมเองก็เป็นผู้เร่งรัดท่านมา  เมื่อพบปะกันในช่วงแรกที่ผมเข้ารับตำแหน่งเพราะว่าผมก็ต้องการให้โครงสร้าง พื้นฐานของประเทศไทยได้รับการปรับปรุงยกระดับอย่างรวดเร็ว  และก็คาดหวังว่าจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในการกระตุ้นของ เศรษฐกิจด้วย  ก็รับปากกับผมมาตลอดว่า  ภายในปีนี้  และก็ตอนนี้ก็ดูกำหนดกรอบเวลาให้เป็นเช่นนั้นนะครับ  แต่ว่าขณะเดียวกันก็มีความเห็นที่ยังหลากหลายอยู่ซึ่งจะเป็นที่จะต้องรับ ฟัง

ทั้งหมดจึงอยู่ที่ความพอดี  ว่าทำอย่างไรเราจึงจะเดินหน้าได้  อย่าปล่อยให้สิ่งที่เป็นอุดมคติหรือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่เป็นสมบูรณ์นี่มาเป็นตัวที่ทำให้เราเลยไม่มีแม้แต่สิ่งที่ดี  แต่ขณะเดียวกันก็คงไม่ได้หมายความว่า  จะเร่งรีบแล้วก็มองข้ามความเห็นข้อท้วงติงที่มีความสำคัญ  ผมก็ยังคาดหวังนะครับว่า งานนี้ก็จะเดินหน้าได้ในเวลาที่รวดเร็วพอสมควร  แต่ว่าขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะให้ท่านได้มีความรอบคอบ  และก็มีคำตอบที่ชัดเจนต่อเสียงท้วงติงในทุก ๆ เรื่อง

เพราะว่า  ผมก็มีหน้าที่ในการที่จะดูแลในเชิงนโยบาย  แต่ว่าในเรื่องทั้งหลายที่เป็นรายละเอียดทางเทคนิคนั้นก็คงเป็นเรื่องที่ ท่านจะต้องเป็นผู้ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ

ผมได้กล่าวไปแล้วว่านโยบายข้อ หนึ่งก็คือ ผมต้องการเห็นความรวดเร็วในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน  อันนี้เพื่อประโยชน์ทั้งในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพื่อประโยชน์ใน เรื่องของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  และก็อยากจะเรียนว่าถ้าช้าไปกว่านี้มาก  ผมว่าก็ต้องเลิกคิดถึง 3G แหล่ะครับ  ต้องไปสูงกว่านั้น  เพราะว่าถ้าเราช้าไปอีกมากนี่  สุดท้ายทำเสร็จก็ต้องมานั่งทำของใหม่กันอีกรอบ  เพราะคนอื่นเขาก็ก้าวโดยไม่หยุดอยู่กับที่เหมือนกัน  แต่ว่าถ้าเรามองว่าการก้าวเข้าสู่ 3G เหมือนกับเป็นการมาวางโครงสร้างของการแข่งขันใหม่  คือถ้าเรามีความเชื่อว่าโดยธรรมชาติของผู้บริโภคก็จะก้าวเข้าไปหาสิ่งที่ดี กว่า ทันสมัยกว่า สะดวกรวดเร็วกว่า

จริงอยู่บางช่วงแรกๆ อาจจะมีต้นทุนที่สูง  แต่ว่าสุดท้ายก็จะยอมรับ  ผมว่าเราเห็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาครับ  เหมือนเราชอบคิด  นึกออกไหมครับ  คนชอบบอกว่า ของไฮเทคทั้งหลายเนี่ย ไม่ต้องรีบร้อนหรอก  รอไปสักพักมันจะถูกลง  มันไม่ถูกลงหรอกครับ  เพราะว่าเขาเพิ่มสเปคให้มันสูงขึ้นตลอดเวลา  และก็จะเป็นคอมพิวเตอร์  จะเป็นโทรศัพท์มือถือ จะเป็นกล้องนี่  ว่าตามจริงแล้วคนส่วนใหญ่นี่ใช้ประโยชน์ไม่ถึง  บางทีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของศักยภาพของมันนะครับ แต่ก็อยากจะมี 90 เปอร์เซ็นต์ อาจจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์  ก็ไม่ทราบได้  มันเป็นข้อเท็จจริงและก็ดูจะเกิดขึ้นกับทุกสังคม

ถ้าเราเชื่อย่างนั้น  ผมกำลังจะบอกว่าการก้าวเข้าไปสู่ยุค 3G มันจึงต้องเป็นโอกาสของการที่มาวางกรอบและโครงสร้างการแข่งขันกันให้ดี  ผมยังหวังจะเห็นว่าการเดินหน้าในเรื่องนี้มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องเทคนิคของการ ที่จะประมูลแข่งขันกันเฉยๆ  แต่ในที่สุดมันต้องมีคำตอบ  คำตอบว่าโครงสร้างการแข่งขันกิจการโทรคมนาคมในส่วนของยุค 3G นี่มันเป็นอย่างไร  ตกลงบทบาทของรัฐวิสาหกิจเดิม 2 แห่ง  เขาจะอยู่ตรงไหน  บริษัทเอกชนซึ่งเคยรับสัมปทานเขาจะอยู่ในฐานะที่มาเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ หรือเขาจะอยู่ในฐานะซึ่งเป็นผู้ที่ปรับปรุงสิทธิสัมปทานเดิม  อย่างนี้เป็นต้น  ตลาดจะรองรับได้กี่ราย

ขณะนี้ผมเองผมอาจจะไม่ได้ตาม เรื่องนี้ลึกหรือละเอียดมากนัก  แต่ความเข้าใจของคนอีกจำนวนมากก็คือ  ยังไม่มีความมั่นใจหรือชัดเจนว่าโครงสร้างการแข่งขันในที่สุด  หลังจากที่รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง  ก็เดินหน้าโครงการของเขา  แล้วก็จะมีการประมูลคลื่นความถี่  สุดท้ายจะเป็นจะเป็นอย่างไร  และถ้าการประกอบการมีลักษณะซึ่งเหลื่อมกันอยู่  บางรายมีโครงข่าย  บางรายไม่ได้เป็นเจ้าของ  บางรายยังบอกว่ายังมีลักษณะของการเป็นองค์กรของรัฐอยู่  ผมว่าจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าในที่สุดโครงสร้างของกิจการโทรคมนาคมของ ประเทศ  ก็ยังคงจะรุงรัง  เหลื่อมล้ำอีกต่อไป

ผมก็ไม่ทราบว่าความคาดหวังของผมจะสูง เกินไปหรือไม่ว่า  มันน่าจะใช้โอกาสนี้ในการสะสาง  แต่ผมทราบว่าไม่ได้  เพราะมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่อาจจะต้องมีการเจรจา  แต่ตรงนี้ผมอยากให้เป็นจุดที่มีความชัดเจนด้วย  เพราะไม่อยากให้มองว่า 3G ก็เป็นเพียงแค่หนึ่งเมกกะโปรเจค  3G เป็นเพียงแค่มาบริหารจัดการประมูลแล้วก็เรียบร้อยกันไป  อันนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ

และก็ผมหวังว่าท่านคณะกรรมการก็จะได้ ให้ความกระจ่างกับทางสังคมได้ เมื่อการดำเนินการในเรื่องนี้มีแผนที่ชัดเจน  ที่เข้าใจว่ามีกรอบเวลาด้วยซ้ำที่ชัดเจนแล้ว  แต่เพื่อให้เห็นโครงสร้างของการแข่งขัน  เพราะมันจะเป็นตัวที่บ่งบอกว่า ที่สุดแล้วนี่การคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนหรือผู้ใช้จะเป็นอย่างไร  และจะมีผลอย่างมากต่อการทำงานของคณะกรรมการต่อไปในเรื่องของการกำกับดูแล  เพราะถ้ากติกายังเหลื่อมอยู่  การกำกับดูแลของท่านจะถูกโต้แย้งโต้เถียงตลอดเวลาในทุกเรื่อง  เพราะผู้เล่นแต่ละรายก็จะอ้างได้ว่ามีกติการพิเศษหรือเงื่อนไขพิเศษของตัว เองตลอดเวลา  อันนี้ก็เป็นเรื่องซึ่งเป็นประเด็นแรกที่ผมอยากจะเห็นมีความชัดเจนเกิดขึ้น
 
ประเด็น ที่ 2  ก็คือว่าเรื่องของ 3G  ก็มีประสบการณ์ที่ค่อนข้างจะหลากหลาย  แล้วก็ท่านทั้งหลายก็คงทราบดีกว่าผม  แต่ว่ารายงานที่มีการศึกษา  วิเคราะห์  วิจัยกันออกมาก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง  และก็ได้บ่งบอกว่าขั้นตอนของการอนุญาตโดยการเปิดประมูลแข่งขันนั้น  หลายแห่งก็ต้องถือว่าเกิดความผิดพลาดขึ้น ตัวอย่างที่จะเป็นลักษณะของความผิดพลาดที่จะถูกหยิบยกขึ้นมามากที่สุด  ก็คือ  การประมูลที่มุ่งเน้นในเรื่องของการเสนอค่าตอบแทนที่สูงๆ  อันนี้เป็นปัญหาโดยธรรมชาติของการประมูลอยู่แล้วนะครับ  ใครเป็นนักเศรษฐศาสตร์ทราบเรื่องนี้ดีว่า  ผู้ชนะก็คือผู้ที่ต้องคำสาบนะครับคือประเมินสูงกว่าชาวบ้านเขา เพราะฉะนั้นก็มีโอกาสประมูลสูงกว่าความเป็นจริงในเรื่องของผลตอบแทน

แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าใครประเมินผิด มาเสนอจ่ายสูงแล้วก็ต้องคำสาบแล้วจะเป็นคนเดือดร้อน  ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่เป็นไรหรอกครับท่าน  คนเดือดร้อนจริงๆ สุดท้ายหนีไม่พ้นผู้ใช้บริการกับภาครัฐ  ผู้ใช้บริการถ้าหากว่าในที่สุด  การเสนอค่าตอบแทนที่สูงนั้นก็เปลี่ยนเป็นถูกส่งต่อมาเป็นค่าบริการที่สูง หรือเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับธุรกิจอื่นๆ  และก็ส่วนใหญ่ที่จะปวดหัวก็คือว่าพอเกิดกรณีเช่นนั้นไม่ช้าไม่นานก็จะมีการ ยื่นเงื่อนไขขอเจรจาในเรื่องของการปรับสัญญาหรืออะไรก็ตามซึ่งอาจจะมีเหตุ ระหว่างทาง  จะเป็นภาวะเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตาม  ซึ่งถูกหยิบยกมาอ้างได้เสมอ  และก็สุดท้ายก็เป็นความลำบากใจของผู้บริหารสัญญา  ผู้กำกับดูแลว่าจะทำอย่างไร  ถ้าไม่รับฟังเสียเลย  สัญญาเดินไม่ได้ก็จะกระทบ  ครั้นจะไปทำก็ถูกจับจ้อง  ตรวจสอบอยู่ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่

เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมคิด ว่าคงต้องคำนึงถึงในการออกแบบในเรื่องของการประมูล และการอนุญาตเสียตั้งแต่ต้น  ยิ่งไปกว่านั้นครับ  ผมเองก็อยากจะให้การเดินหน้าครั้งนี้มีคำตอบในอีกหลายๆ ด้านด้วย  เช่น  ถ้าหากว่าการแข่งขันโดยการกำหนดกติกานั้นไม่เอื้อให้มีผู้ที่สามารถเข้ามา ยื่นแข่งขันได้หลากหลายเท่าที่ควร  อาจจะเป็นเพราะว่าข้อจำกัดในเรื่องทุนความได้เปรียบเสียเปรียบกันในเรื่อง นี้  อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพราะว่า อย่างที่ผมกล่าวตั้งแต่ต้นในทุกๆ เรื่องที่สุดแล้วในการแข่งขันน่าจะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด  และก็แน่นอนครับหนีไม่พ้นความห่วงใยที่ว่าถ้าจะแข่งขันกันเรื่องความหนาแน่น ทุนแล้ว  ผู้ประกอบการภายในประเทศก็อยู่ในฐานะที่ค่อนข้างจะเสียเปรียบ  ไม่นับว่าในธุรกิจนี้ผู้ประกอบการในต่างประเทศ  ไม่เพียงแต่เป็นเอกชนเท่านั้น  หลายรายเป็นรัฐวิสาหกิจหรือมีรัฐบาลของต่างประเทศเป็นเจ้าของอีกต่างหาก  ก็ต้องคิดครับว่าประเด็นเหล่านี้เราจะให้ความสำคัญ  และก็ดูแลแก้ไข รองรับได้อย่างไร
 
และก็สุดท้ายอย่างที่ผมได้ย้ำไปแล้ว ธุรกิจนี้ก็เกี่ยวข้องกับความมั่นคง  มิติทางด้านความมั่นคงเรามีความชัดเจน มั่นใจในกรอบของการที่จะมากำกับดูแลควบคุมมากน้อยแค่ไหนอย่างไรต่อไป  ผมอยากจะเรียนครับว่า  เรื่องความมั่นคงนี้กรุณาอย่ามองข้าม  ภาวะที่เราเห็นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ปัจจุบันสงครามในเรื่องข่าวสาร  เป็นสงครามที่อาจจะรุนแรงที่สุด  และเดี๋ยวนี้อย่างที่ท่านพูดละครับกิจการของวิทยุกระจายเสียง  วิทยุโทรทัศน์  กับโทรคมนาคมนี่มันหลอมรวมเข้ากัน  ไม่รู้ละครับอะไรสื่อมวลชน  อะไรสื่อบุคคล

ผมว่าพวกเราเดี๋ยวนี้ก็รับข่าว จาก SMS มากกว่าจากที่อื่น  บางทีมาโดยไม่ได้ขอละครับ  และไม่รู้จะยกเลิกยังไงก็ต้องเป็นสมาชิกตลอดไป  นี่ก็เป็นตัวอย่างแล้วก็การใช้เทคโนโลยีซึ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นๆ  ก็ยิ่งทำให้การต่อสู้ในเรื่องของข่าวสารนี่แหลมคมมากขึ้น  ซึ่งถ้าหากว่ามันเป็นการต่อสู้ที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง  ไม่กระทบต่อความมั่นคงในภาพรวมก็ไม่เป็นไร  แต่ใครจะให้หลักประกันได้ว่ามันจะไม่เป็นเช่นนั้น  และก็สถานการทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ชี้ถึงความล่อแหลมของเรื่องของการใช้เทคโนโลยีและก็ทำให้เกิด ปัญหาความมั่นคงหรือความวุ่นวายเกิดขึ้นได้โดยยังไม่มีความชัดเจนอยู่เช่น เดียวกันว่าระบบการกำกับดูแลที่เหมาะสม ที่ดี การใช้อำนาจขอบเขตต่างๆ อยู่ที่ไหนอย่างไร

เพราะฉะนั้นที่ผมเรียนทั้งหลายนี้ก็ เป็นเพียงแค่ ข้อคิด คำถาม ในฐานะที่เป็นผู้แทนประชาชนด้วย ในฐานะซึ่งก็มีหน้าที่ดูแลในเชิงของนโยบายภาพรวมของบริการหรือกิจการที่มีผล กระทบต่อประชาชนในวงกว้าง อย่างที่ผมเรียนครับความอิสระเป็นของท่านในการที่จะพิจารณาตัดสินใจ  แต่ผมเพียงแต่คาดหวังว่า คำถามเหล่านี้ก็จะมีคำตอบ  และก็จะสามารถทำให้ประชาชนทั่วไปมีความอุ่นใจ  มีความมั่นใจในความรอบด้านของการบริหารจัดการในเรื่องนี้

แต่ว่าเรื่องกิจการโทรคมนาคม ไม่ได้มีเฉพาะใน 3G นะครับ  เดี๋ยวจะไปกังวลวิตกแต่เฉพาะตรงนั้น  หรือการปรับยกระดับของเทคโนโลยี  ปัญหาอีกหลายปัญหาก็ยังมีอยู่กับเรา  ปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างผู้มีกับไม่มีโดยเฉพาะช่องว่างทางดิจิตอลมันก็ ยังเป็นปัญหาใหญ่  แม้ว่าเราเริ่มมีกลไก  เช่น  การมีกองทุน แล้วก็รัฐบาลเองก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ผ่านโครงการการลงทุนของภาครัฐที่ มุ่งเน้นในเรื่องของการกระจาย

แต่ว่าอย่างที่ผมเรียนละครับ  ตัวกิจการนี้มันไม่เคยมีอยู่กับที่ มันมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ผมนึกภาพว่าเวลาที่เราฝันกันบอกว่าจะให้ทุกโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์  แม้กระทั่งให้เด็กนักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์ติดตัวนี่ครับ  กว่าเราจะทำเสร็จนะครับถึงวันนั้นก็สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะตกรุ่นหรือล้าหลัง ล้าสมัยไปอีกก็ต้องดำเนินการไม่จบไม่สิ้น  แต่ที่บอกก็คือกิจการนี้เป็นกิจการที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล  เพราะฉะนั้นการมีกติกาที่ดีเป็นหลักประกันว่าส่วนเกินส่วนกำไรที่ไหนที่ สามารถนำไปช่วยสนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมเท่าเทียมกันได้  ในยุคซึ่งทางเอกชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงขึ้น  ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่ผมอยากจะให้ท่านได้ทำอย่างต่อเนื่อง

ถัดมาก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการคุ้ม ครองผู้บริโภคและก็สิทธิ  อย่างที่ผมยกตัวอย่างไปเมื่อสักครู่นี่ครับ  ทีเล่นทีจริง  ก็ต้องยอมรับว่ายังมีผู้ให้บริการมากมายซึ่งยังมีเสียงบ่นเรื่องนี้อยู่ว่า บางเรื่องเขาก็ไม่รู้จริงๆ ว่ามันเป็นเรื่องที่เขาเป็นสมาชิกรับบริการแล้ว  บางเรื่องเขาไม่ต้องการ  เช่น  การโฆษณาที่เข้ามา  ไปจนถึงผลกระทบในเรื่องของสิทธิความเป็นส่วนตัว  ก็เป็นเรื่องท้าทายค่อนข้างมาก  ผมอยู่ในวงการเมืองนี่ก็ยังเป็นข้อสันนิษฐานอยู่

แม้กระทั่งเป็นฝ่ายรัฐบาลว่า พูดโทรศัพท์นั้นไม่ปลอดภัย  สภาพอย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์ละครับ  ซึ่งบางเรื่องก็อาจจะเกินเลยไปจากวงของอำนาจหน้าที่ของท่าน หรืออาจจะไม่เกินในทางกฎหมายนะครับ  แต่ในทางปฏิบัติเป็นหน่วยงานที่มันมีศักยภาพทำอย่างนี้ก็อาจจะอยู่เกินขอบ ที่ท่านเข้าไปได้  แต่ว่าเป็นเรื่องใหญ่  ผมก็ไม่อยากให้สังคมทั้งธุรกิจและการเมืองก็ต้องมีปัญหาอย่างนี้  ก็เพราะว่าทำให้ในที่สุด  มีเทคโนโลยีความจริงก็เหมือนไม่มี  ผมไม่ได้กลัวหรอกครับเพราะว่าผมก็พูดอะไรใครอยากฟังก็อยากให้ฟังอยู่แล้ว  แต่ว่าหลายคนเค้าไม่ยอมพูดกับผม  เสียเวลาบอกว่าถ้าอย่างนี้ต้องไปพบกันต้องนัดพบกันอย่างนี้เป็นต้น

แล้วก็แน่นอนที่สุด  เรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามามีผลต่อการละเมิดสิทธิ  ก็เป็นปัญหา  ผมก็เพิ่งโดนด้วยตัวเองไปเรื่องหนึ่งนะครับ  เรื่องคลิป  เรื่องสั่งฆ่าคนนี่  เขาขู่ผมอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ว่าเรื่องหลังผมก็ยัง งงๆ อยู่ว่ามันเรื่องอะไร  เข้าใจว่าไม่ใช่ผมหรอกครับ  เขาคงเข้าใจผิดแน่  แต่ว่าของแบบนี้จะมีอยู่ตลอดเวลาและก็ไม่ใช่เฉพาะแวดวงการเมืองครับแต่ว่า การละเมิดสิทธิของคนโดยทั่วๆ ไปก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  อันนี้ก็เป็นเรื่องท้าทายมาก  และก็เวลาที่เราใช้กฎหมาย  กฎระเบียบในลักษณะที่ยึดลายลักษณ์อักษรนี่มันจะเป็นปัญหาที่มักจะตามไม่ค่อย จะทัน

นอกจากนั้นก็อยากจะบอกว่านอก เหนือจากการดูแลเรื่องของความเป็นธรรม  ดูแลเรื่องของสิทธิ  การคุ้มครองผู้บริโภค  ความเป็นส่วนตัวแล้ว  สุดท้ายที่อยากจะเรียนก็คือว่าประเทศไทยเองก็อยู่ในช่วงซึ่งจะต้องเชื่อมโยง เข้ากับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคมากขึ้น  ในส่วนของอาเซี่ยนและก็มีข้อตกลงระหว่างประเทศในด้านต่างๆ  ซึ่งเรื่องของข่าวสารเทคโนโลยีกิจการโทรคมนาคมก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น  ตรงนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าตรงนี้แหละครับที่เส้นแบ่งบอกระหว่างฝ่าย นโยบายกับ ฝ่ายกำกับดูแล  ฝ่ายเทคนิค จะต้องประสานงานกันอย่างไร  ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่ามันจะเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของการลงทุนใน โครงสร้างพื้นฐาน  เกี่ยวข้องในเรื่องของมาตรฐานที่จะต้องสามารถที่จะมาใช้ร่วมกันได้แล้วก็ไป ถึงเรื่องของกฎระเบียบข้อจำกัดต่าง ๆ

และก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบกิจการ อย่างนี้  หลายเรื่องต่อไปข้างหน้าก็ไม่รู้จะขีดเส้นพรมแดนกันตรงไหนนะครับ  เราคงมีปัญหาตั้งแต่ระดับนานาชาติ  ก็อย่างที่ว่าละครับ  เดี๋ยวนี้โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนี่ก็มีปัญหากันแล้วว่าตกลงเป็นอำนาจของใคร  รัฐบาลไหนในการกำกับดูแล  เพราะว่ามีขั้นตอนที่ต่อเนื่องไปตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการอัพลิงค์ไปจนถึง การส่งสัญญาณกลับเข้ามาจนถึงการเผยแพร่ออกอากาศอย่างนี้เป็นต้น  หรือแม้กระทั่งระดับเล็กๆ  ที่เราบอกว่าบางอย่างเป็นเรื่องของสิทธิของชุมชน  แล้วก็ขีดวงว่าชุมชนใหญ่แค่ไหน  รัศมีเท่าไร เทคโนโลยีมีการเชื่อมโยงได้หรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น  ประเด็นเหล่านี้ท้าทายทั้งสิ้นครับ

แต่ว่าสุดท้ายผมก็ยังเชื่อมั่นครับว่า ทุกปัญหาก็จะสามารถที่จะแก้ไขได้  แต่ทุกๆ เรื่องเราก็สามารถจะมีการกำหนดกรอบกติกาที่ดีได้  ความอิสระที่ออกมาจากการแทรกแซงทางการเมือง  จากฝ่ายบริหาร  ผมก็หวังว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปด้วยดี  แต่ว่าอิสระจากทางภาครัฐ  ภาคฝ่ายบริหารอย่างเดียวก็คงไม่พอ  ก็คงจะต้องเป็นอิสระ  มีภูมิคุ้มกันจากเรื่องของปัญหาผลประโยชน์  ความขัดแย้งต่างๆ ด้วย  จึงจะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด
 
สุด ท้าย  ก็ต้องบอกว่า  อย่างที่เรียนครับ  ไม่มีอะไรดีไปกว่าสภาพการแข่งขันที่เข้มข้นสมบูรณ์  สร้างสรรค์  แต่ว่าถ้าโดยธรรมชาติของบางกิจการทำไม่ได้  ก็อยากจะเห็นระบบของการกำกับดูแลที่ยังคงที่อยู่กับพลังของการแข่งขันให้มาก ที่สุด  จะเป็นแนวทางที่ผมยังมั่นใจว่ามีทั้งประสิทธิภาพและก็มีความยั่งยืนในการ แก้ไขปัญหาต่างๆ ต่อไป
 
ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้กับท่านทั้ง หลายในการปฏิบัติภารกิจที่มีความสำคัญยิ่งเช่นนี้  และก็ขออวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จตามเจตจำนงทุกประการครับ  ขอขอบคุณครับ

view