จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : รัชดา ธราภาค
จิมฯ เผชิญวิกฤติ ตลาดโตได้ แต่ขาดวัตถุดิบ เหลือเส้นไหมป้อนโรงทอแค่ 20% ผู้บริหารแจงเหตุเกษตรกรสูญที่ดินทำกิน แห่ทิ้งถิ่น-เปลี่ยนอาชีพ
ถูกเล่าขานจนกลายเป็นตำนาน สำหรับเรื่องราวของ จิม ทอมป์สัน นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างชื่อเสียงให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ของไทยโด่งดังไกลถึงต่างแดน ทว่า ล่าสุด ธุรกิจผ้าไหมชื่อดังของไทยกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะขาดวัตถุดิบที่จะมาป้อนโรงงาน
"เมื่อก่อนคนมายืนรอขายเส้นไหมคิวยาวออกไปนอกถนน เดี๋ยวนี้มีแค่วันละ 6-7 ราย ถ้าเทียบปริมาณที่เคยรับซื้อสูงสุดประมาณ 2 ตันต่อวันเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้เหลือแค่วันละไม่เกิน 100 กิโล" ชาติชาย ปุลิเวคินทร์ ผู้จัดการศูนย์รับซื้อเส้นไหม จังหวัดขอนแก่น เป็นคนเก่าแก่ของ จิม ทอมป์สัน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาถูกส่งตัวมาตระเวณรับซื้อเส้นไหมทางภาคอีสาน ก่อนที่ จิมฯ จะตัดสินใจเปิด 'ศูนย์รับซื้อเส้นไหม' ในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น จนถึงปัจจุบัน
'ชาติชาย' เทียบสัดส่วนปริมาณเส้นไหมดิบที่ลดลงจากที่เคยรับซื้อสูงสุด วันนี้เหลือเพียง 20 เปอร์เซนต์เท่านั้น หรือดูตัวอย่างเมื่อปี 2550 การซื้อรังไหมสดลดลงจาก 235 ตัน เหลือเพียง 146 ตันในปี 2551 ทั้งๆ ตอนแรกตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะซื้อถึง 200 ตัน
สถานการณ์ล่าสุด แม้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักจะซึมๆ กระนั้น ภาพรวมยังถือว่าพอไปได้ แค่รอจังหวะจะโตต่อ แต่ที่ทำให้ราชาผ้าไหมต้องหันมาเปิดฟาร์ม 'ปักธงชัย' ซึ่งตั้งอยู่ที่เดียวกับโรงทอผ้าไหม เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว หรือการรุกธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งออกหลายผลิตภัณฑ์จากใบหม่อนใต้แบรนด์ จิม ทอมป์สัน ล้วนเป็นความพยายามที่จะหารายได้เพื่อจุนเจือธุรกิจหลัก ที่วันนี้ โจทย์ใหญ่ยากยังไม่มีคำตอบ
อะไร เป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณวัตถุดิบเส้นไหมลดลงจนถึงจุดวิกฤติ ทั้งที่ทุกคนยืนยันว่าตลาดยังโตได้ อีกทั้งราคารับซื้อผลผลิตก็ไม่ขี้เหร่ ?
เลี้ยงไหม : เลี้ยงตัว-ครอบครัว-ชุมชน
จิม ทอมป์สัน มีโรงงานในย่านสุขุมวิท ที่คอยแปรรูปผ้าไหมให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สวยๆ หากย้อนรอยทางสายไหม พบว่าโรงงานทอผ้าซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จะรับวัตถุดิบเส้นไหมและรังไหมซึ่งถูกรวบรวมจากทั่วอีสาน โดยมี ศูนย์รับซื้อเส้นไหมขอนแก่น เป็นจุดรับซื้อ
ผู้ที่นำเส้นไหมและรังไหมมาขายให้กับ ศูนย์ฯ มีทั้งเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมถึง 'นายฮ้อย' ซึ่งเป็นคนกลางรับซื้อวัตถุดิบมาส่งขายต่อ
จิมฯ ไม่เพียงนั่งรอวัตถุดิบ แต่ยังมีการสร้างเครือข่ายเกษตรกรทั่วอีสาน เพื่อผลิตและป้อนเส้นไหมและรังไหมอย่างเป็นระบบ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมจะรวมกลุ่มรับการฝึกอบรม ก่อนจะรับไข่ไหมจากฟาร์มโคราช มาเพาะเลี้ยง ควบคู่ไปกับการปลูกหม่อนเพื่อเป็นอาหารของเจ้าหนอนไหมตัวขาวอวบ หลังจากนั้นหนอนอ้วนนับพันหมื่นตัวก็จะถักทอเส้นไย เพื่อให้เกษตรกรได้นำกลับมาขาย โดย จิมฯ มีการประกันราคา รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำในทุกพื้นที่เพื่อคอยดูแลให้คำแนะนำช่วยเหลือ เครือข่ายเกษตรกรอย่างใกล้ชิด
วงษ์จันทร์ พลบูรณ์ หัวหน้ากลุ่มเลี้ยงไหม หมู่บ้านชุมชนสัมพันธ์ บ้านถิ่น ตำบลบ้านถิ่น อำเภอโนนสังข์ จังหวัดหนองบัวลำพู กลุ่มของเธอมีสมาชิกราว 30 ราย ในวัย 42 ปี 'วงษ์จันทร์' และเพื่อนบ้าน ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานจิม ทอมป์สัน มากว่า 20 ปี
ทุกวัน ตี 3 เป็นเวลาที่เธอตื่นนอน และเริ่มทำงานในโรงเลี้ยงไหมและไร่หม่อนไม่หยุดมือไปจนถึง 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาเข้านอน
ทุกเดือน หนอนไหมจะให้ผลผลิต สร้างรายได้เฉลี่ยถึงหลักหมื่น ในปีที่ผลผลิตดีและได้ราคา เธอเคยมีรายรับสูงถึง 30,000-40,000 บาทต่อเดือน
ทุกเทอม เธอมีภาระคือการส่งลูกเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา หนึ่งคนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนอีกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา 'วงษ์จันทร์' ไม่เคยทิ้งถิ่นไปทำมาหากินนอกหมู่บ้าน
"ทำไร่ทำนา เหนื่อยก็พัก ไม่เหมือนไปเป็นลูกจ้างเขา" ไม่ใช่ 'วงษ์จันทร์' คนเดียว แต่เพื่อนๆ ในหมู่บ้านล้วนมีวิถีทำกินเช่นนี้ ที่พวกเขาเรียกมันว่าความ 'พอเพียง' แม้ไม่มีเงินมากมาย แต่ไม่มีหนี้ และมีพืชผลไว้กินใช้ โดยไม่ต้องซื้อหา 'วงษ์จันทร์' ไม่เพียงทำหม่อนไหม แต่ยังมีที่นาและสวนยางกว่า 30 ไร่
'บ้านถิ่น' จึงเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ป้อนผลผลิตให้ จิมฯ มาตลอดหลายสิบปี แต่ปัญหาที่ จิมฯ กำลังเผชิญ คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เหมือนที่นี่
ooo
"ขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อไหม ครึ่งเดือนถึงจะเอามาขายให้ศูนย์ฯ เมื่อก่อนขายทีละ 200 กว่ากิโล เดี๋ยวนี้ได้ 20 กิโล ก็เก่งแล้ว" ชมพู กะแจเหิน 'นายฮ้อย' วัย 70 ปี เป็นคนชัยภูมิ ลุงตระเวณรับซื้อเส้นไหมตามหมู่บ้าน เพื่อรวบรวมมาส่งขายให้กับศูนย์ฯ ในช่วงหลายสิบปี 'ลุงชมพู' เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือเกษตรกรทิ้งหม่อนไหมไปเกือบหมดสิ้น ทั้งที่ลุงเองยอมรับว่าราคาผลผลิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
"เขาไม่ทำกันเพราะมันได้น้อย ส่วนใหญ่หันไปปลูกมัน (สัมปะหลัง) ปลูกอ้อยกันหมด" ลุงชมพู เล่าสถานการณ์
'ได้น้อย' ทั้งที่ราคาดี มันเป็นอย่างไร ?
ชาติชาย ปุลิเวคินทร์ ผู้จัดการศูนย์รับซื้อเส้นไหม จังหวัดขอนแก่น ชี้ปมปัญหาหนึ่งว่าอยู่ที่ 'ไลฟ์สไตล์' ของคนชนบทยุคใหม่ ซึ่งไม่นิยมชีวิตเหนื่อยยากในไร่นา ส่วนหนึ่งจึงหันหน้าเข้าโรงงานหรือเป็นลูกจ้างในเมือง อีกประเด็นใหญ่กว่าคือ 'ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดิน'
"จะมีรายรับให้พออยู่ได้แปลว่าต้องมีที่ดินอย่างน้อย 5-10 ไร่ แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านมีที่ดินกันแค่ 1-2 งาน"
ดูเหมือนปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบของ จิม ทอมป์สัน จะเป็นเพียงผลพวงของวิกฤติที่ใหญ่กว่าคือการสูญเสียที่ดินของบรรดาเกษตรกร และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่กำลังจะกลายเป็น 'ตำนาน' เช่นเดียวกับเรื่องราวของ จิม ทอมป์สัน เห็นจะไม่พ้นเป็นภาคการเกษตรของไทย