จากประชาชาติธุรกิจ
จาก การสำรวจของ ′ไทม์′ ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามเห็นว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยแรก ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ น่าสนใจว่านี่เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะถดถอยและตัวเลขว่างงาน ที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะ ที่ 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เต็มใจที่จะจ่ายเงิน 2,000 ดอลลาร์ หรือมากกว่านั้น เพื่อซื้อรถยนต์ที่วิ่งได้ระยะทาง 35 ไมล์ต่อน้ำมัน 1 แกลลอน แทนที่จะซื้อรถยนต์ที่วิ่งได้แค่ 25 ไมล์ต่อแกลลอน การที่ผู้บริโภคหันมา ′คิดดี′ และ ′ ทำดี′ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคำนวณแล้วว่าหากซื้อรถยนต์ที่ราคาแพงขึ้นแต่สามารถใช้ น้ำมันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะช่วยประหยัดเงินได้ในระยะยาว และยังทำให้ พวกเขารู้สึกดีจากการตัดสินใจดังกล่าว หลายบริษัทพยายามจะทำให้แนวคิดการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบฝังลึกลงใน ดี เอ็นเอของบริษัท เช่นเดียวกับการทำกำไรสูงสุดให้องค์กร อย่างกรณี ′วอล-มาร์ต′ ซึ่งในอดีตมักใช้วิธีตัดราคาคู่แข่งเพราะยึดโมเดลธุรกิจตาม ′มิลตัน ฟรีดแมน′ นักเศรษฐศาสตร์ที่ยึดหลักสร้าง กำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่ถึงวันนี้วอล-มาร์ตก็ปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำธุรกิจ โดยหันมาคิดถึงอนาคตของโลกมากขึ้น โดย วอล-มาร์ตเรียกร้องซัพพลายเออร์ให้หันมาใส่ใจโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และพยายามจะเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ สีเขียว อาทิ หลอดไฟที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้พื้นที่กับสินค้าเหล่านี้มากขึ้น รวมถึงจัดวางสินค้าในทำเลที่ดี ในเดือนกรกฎาคมวอล-มาร์ตประกาศว่า บริษัทกำลังพัฒนาดัชนีด้านความยั่งยืน (sustainability index) ที่จะสามารถแสดงข้อมูลต่อผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นใส่ใจต่อโลกมากน้อยแค่ไหน อย่าง ไรก็ตามวอล-มาร์ตเองก็ยังไม่สามารถขยับสู่การเป็นธุรกิจที่ใส่ใจสังคมได้ อย่างสมบูรณ์ เพราะแม้จะพยายามคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแต่ก็ยังติดหล่มการใช้แรงงาน ซึ่งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อแรงงานในประเทศกำลัง พัฒนาที่ผลิตสินค้าให้กับซัพพลายเออร์ ′ อินเทล′ เป็นอีกบริษัทที่โฟกัสที่ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยจะเพิ่มการลงทุนเกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในปีนี้ ซึ่งจะช่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ ไปกับการลดต้นทุนของบริษัท บริษัท ลูกอมทั้ง มาร์ส และ แคดเบอรี่ ก็มีแผนจะเพิ่มการเพาะปลูกโกโก้แบบยั่งยืน เพราะดีต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนโกโก้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็มีคำถามว่า นี่เป็นเพียงการตลาดที่ชาญฉลาดเพื่อจะสร้างภาพให้บริษัทหรือไม่ เพราะมีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า แคมเปญ สีเขียวบางชิ้นก็เป็นแค่ ′การฟอกเขียว′ ที่บริษัทต่าง ๆ ใช้ฉาบไว้บนผลิตภัณฑ์ให้ดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นจริง นี่ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วอล-มาร์ตพยายามจะจัดทำดัชนีเพื่อประเมินมาตรฐานของ การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน เพราะหากบริษัทสามารถปรับปรุงการปล่อยคาร์บอนได้ ก็หวังว่าบริษัทจะปฏิบัติต่อพนักงานอย่างดี เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าที่จะกลายเป็นความภักดีต่อแบรนด์ ไม่ เพียงแต่บริษัทใหญ่ ๆ ที่คิดดี ทำดี แต่ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ก็ทำได้เช่นกัน โดยมีบริษัทราว 220 แห่ง ซึ่งมีรายได้รวมกัน 1 พันล้านดอลลาร์ ที่ดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นจุดเริ่มที่ดีแต่ก็ยังมีจำนวน ไม่มาก เพราะมีเพียง 59% ของบริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ 1,000 แห่งที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ขณะที่มีเพียง 8% เท่านั้นที่เปิดให้คนภายนอกตรวจสอบรายงานเกี่ยวกับ CSR ของบริษัทได้
แม้บริษัทอเมริกันจะหันมาใส่ใจกับการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น คือ ความต้องการของ ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น