จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :สมาคมบริษัทจัดการลงทุน: |
การลงทุนในตรา สารหนี้มีความเสี่ยงหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญก่อนตัดสินใจลงทุน คือ ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารหนี้อาจผิดนัดชำระดอกเบี้ยและ/หรือเงินต้น (Credit Risk)
ซึ่ง สัปดาห์ก่อนเราแนะนำเครื่องมือหนึ่งในการช่วยพิจารณาเลือกลงทุน อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ซึ่งมีการกำหนดลำดับ AAA ถึง D เพื่อบ่งบอกความเสี่ยงในเชิงเปรียบเทียบ และช่วยให้เราสามารถเข้าใจตรงกันได้ง่ายขึ้นว่าผู้ออกตราสารหนี้และตัวตรา สารหนี้นั้นๆ มีความเสี่ยงมากกว่า เท่ากัน หรือน้อยกว่าตราสารอื่น แต่ผู้ลงทุนอยากรู้ไหมครับว่าการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทำกันอย่างไร และเราจะมั่นใจกับข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จะถูกจัดทำโดยบริษัทผู้จัดอันดับเครดิต ซึ่งมีนักวิเคราะห์อันดับเครดิตทำหน้าที่จัดอันดับ โดยนักวิเคราะห์จะขอข้อมูลเชิงลึกจากบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ ทั้งในส่วนการผลิต การตลาด การขาย การแข่งขันของธุรกิจ และข้อมูลทางการเงิน เช่น แหล่งเงินทุน เงินกู้ยืม การชำระหนี้ การนำเงินไปใช้ในการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารงานภายใน นอกจากนี้จะหาข้อมูลจากอุตสาหกรรมเพื่อเป็นการสอบยันความน่าเชื่อถือที่ได้ รับจากบริษัท ผู้ออกตราสารหนี้
แหล่งข้อมูลที่นำมาใช้ต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ สำหรับประเทศไทยแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่มาจากงบการเงินที่เปิดเผยของบริษัทจด ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลัก ทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงานก.ล.ต.) แต่ถ้าบริษัทนั้นไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นักวิเคราะห์จะคัดลอกงบการเงินของบริษัทนั้นจากกระทรวงพาณิชย์ การนำข้อมูลงบการเงินมาใช้จะพิจารณาจากงบการเงินย้อนหลังต่อเนื่องหลายปี เพื่อครอบคลุมวัฏจักรการขึ้นลงของธุรกิจทั้งในช่วงเติบโตและซบเซา และสามารถวิเคราะห์ผลทั้งในเชิงคุณภาพ เช่น ประสิทธิภาพของนโยบายการบริหารงาน และในเชิงปริมาณ เช่น การวิเคราะห์ อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อให้ทราบถึงความสามารถในการทำกำไร การบริหารสภาพคล่อง ความพอเพียงของกระแสเงินสด โครงสร้างเงินทุน เป็นต้น อัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้นักวิเคราะห์จะนำมาใช้เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย ผลประกอบการของอุตสาหกรรมเพื่อเป็นค่าอ้างอิงในการวัดประสิทธิภาพด้วย
นอกจากข้อมูลงบการเงินแล้วนักวิเคราะห์จะใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงในภาวะอุตสาหกรรม และ ข้อมูลของคู่แข่งในแต่ละอุตสาหกรรม โดยอาจได้จากการสำรวจตลาด และการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อใช้เป็นหลักฐานการเปรียบเทียบกับข้อมูลของบริษัทที่ทำการวิเคราะห์ อันดับ ว่าข้อมูลที่เก็บมานั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงใด ซึ่งหากนักวิเคราะห์มีข้อสงสัย บริษัทที่ประสงค์จะจัดอันดับจะต้องมีข้อมูลและหลักฐานเพียงพอในการตอบข้อ สงสัย นอกจากนี้นักวิเคราะห์จะมีการสัมภาษณ์ฝ่ายงานต่างๆ เพื่อหารายละเอียดในการปฏิบัติงาน รวมทั้งสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเพื่อทราบนโยบายการบริหารงาน ซึ่งนักวิเคราะห์จะนำไปใช้วิเคราะห์แนวโน้มในการดำเนินธุรกิจในอนาคตว่ามี ความเสี่ยงด้านใด มีการเตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยงอย่างไรในการรักษาเสถียรภาพของบริษัท และนักวิเคราะห์จะมีการติดตามผลการดำเนินงานรวมถึงปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อ บริษัทนั้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งข่าวสารถึงนักลงทุนในการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือที่มีผล ต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทนั้นได้ทันท่วงที
ความน่าเชื่อถือในการจัดอันดับ นักวิเคราะห์อันดับเครดิตมี การทำงานอย่างโปร่งใส ไม่มีอคติส่วนตัว หรือมีผลประโยชน์ใดๆ ในบริษัทที่ประสงค์จะจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และจะไม่ตัดสินการให้อันดับความน่าเชื่อถือเพียงลำพัง แต่จะมีการทำสรุปผลการให้อันดับความน่าเชื่อถือนำเสนอต่อที่ประชุมคณะ กรรมการพิจารณาอันดับเครดิต ซึ่งมีผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการวิเคราะห์ นอกจากนี้หากเป็นตราสารหนี้ที่มีโครงสร้างซับซ้อนทั้งลักษณะการกู้ยืมเงิน และการชำระเงิน รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจยากต่อการทำความเข้าใจของนักลงทุน หรือบางกรณีอยู่นอกเหนือกรอบความรู้ของนักวิเคราะห์ นักวิเคราะห์จะมีการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ เช่น ด้านกฎหมาย ในเรื่องการตีความตามสัญญาหนี้ที่มีการค้ำประกัน เนื่องจากการออกตราสารหนี้ที่มีการค้ำประกันจะต้องมีสัญญาค้ำประกันที่มีผล บังคับใช้กับผู้ค้ำประกันได้ทันที ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้เป็นต้น
ทีนี้คุณก็รู้มากขึ้นอีกนิดแล้วนะครับสำหรับการลงทุน เมื่อตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้ก็ขอให้พิจารณาตราสารหนี้ที่มีการจัดอันดับ ความน่าเชื่อถือที่เหมาะสำหรับการลงทุน โดยตราสารหนี้ที่จัดเป็นตราสารหนี้ที่เหมาะสำหรับการลงทุน (Investment Grade) จะอยู่ที่ระดับ BBB ขึ้นไป แต่จะเป็นระดับใด ขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนพอใจ ซึ่งโดยปกติตราสารหนี้ที่มีระดับ ความน่าเชื่อถือที่ต่ำ เช่น BBB จะให้ผลตอบแทนที่สูงเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูง เช่น AAA แต่ความเสี่ยงที่ ตราสารหนี้ BBB จะผิดนัดชำระหนี้จะสูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ AAA เมื่อศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนแล้ว ก็ขอให้การลงทุนเป็นเรื่องที่สนุกกันนะครับ