สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สวนกระแส"อัมพวา" เที่ยว"ท่าคา"นอนโฮมสเตย์ ยลเสน่ห์ตลาดน้ำไม่เหมือนใคร

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา "ตะลอนเที่ยว" ได้ไปเยือนอำเภออัมพวา ที่จังหวัดสมุทรสงครามมา ใครๆต่างก็เข้าใจว่าต้องไปเที่ยวที่ตลาดน้ำอัมพวา เพราะที่นี่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดในจังหวัด สมุทรสงครามก็ว่าได้ ในวันเสาร์-อาทิตย์จะมีผู้คนจากแหล่งใกล้เคียงเดินทางไปเที่ยวกันจนแน่นตลาด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลยิ่งไม่ต้องพูดถึง
       

       แต่แท้จริงแล้วจุดมุ่งหมายของเรากลับมุ่งไปที่ "ตลาดน้ำท่าคา" ตลาดน้ำเล็กๆ ในอำเภออัมพวา ที่มีเสน่ห์แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสงบ ความเป็นธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก

พ่อค้าแม่ขายนำผลผลิตจากบ้านของตนมาขาย
       ที่ตลาดน้ำท่าคานี้ยังมีความเป็นเอกลักษณ์ไม่มีใครเหมือน ที่ "ตะลอนเที่ยว" ถือว่าเป็นความ "เก๋" ซึ่งไม่ได้หมายถึงการมีร้านกาแฟน่ารักๆ หรือมีร้านขายของที่ระลึกแนวๆ แต่อย่างใด แต่อยู่ที่การกำหนดวันเวลาของการติดตลาดที่จะยึดเอาข้างขึ้นข้างแรมเป็นหลัก เพราะดวงจันทร์นั้นจะมีผลต่อน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการเดินทางทางเรือ โดยวันที่ชาวบ้านจะพายเรือมาขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากันก็คือในวันข้าง ขึ้น-แรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ รวม 6 วันด้วยกัน
       
       ในช่วงวันเหล่านี้น้ำจะทะเลจะหนุนขึ้นสูง ทำให้น้ำในคลองขึ้นตามไปด้วย พอตอนเช้าตรู่ชาวบ้านก็เริ่มมีความเคลื่อนไหว คนจากปากอ่าวจะพายเรือนำสินค้าจากทะเลประเภทปลาเค็ม กะปิ น้ำปลา เข้ามาขายในคลอง ส่วนคนในสวนก็จะพายเรือเข้าคลองเอามะพร้าว น้ำตาลปี๊บ พืชผัก พืชผลอย่างหอม กระเทียม พริกสดจากสวนตนเองออกมาขายแลกเปลี่ยนกัน พ่อค้าแม่ขายส่วนมากก็จะเป็นคุณลุงคุณป้าเจ้าของสวน สวมงอบใส่เสื้อแขนยาวพายเรือบรรทุกสินค้ามาเต็มลำ ขายของกันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ได้มาเพื่อขายอย่างเดียว แต่เพื่อมองหาข้าวของที่ต้องการซื้อกลับบ้านกันไปด้วย ซื้อขายกันจนถึงช่วงบ่ายๆ ตลาดก็จะวาย ต่างคนต่างแยกย้ายกลับบ้านกัน

พระสงฆ์พายเรือมารับบิณฑบาตทุกเช้า
       แต่เนื่องจากการติดตลาดตามข้างขึ้นข้างแรมนั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการ ท่องเที่ยวอยู่บ้าง เพราะอาจจะไม่ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ที่จะมีคนมาเที่ยวชม ดังนั้น ตลาดน้ำท่าคาจึงมีการปรับตัว เปิดให้มีตลาดในวันเสาร์-อาทิตย์เพิ่มเติมขึ้นจากวันข้างขึ้นข้างแรมทั้งหก วัน นักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสบรรยากาศของตลาดชาวสวนจริงๆ จึงไม่ควรพลาดโอกาสมาชมสักครั้งหนึ่ง
       
       แต่ตลาดน้ำท่าคาจะติดตลาดกันตั้งแต่เช้าตรู่ พอพระอาทิตย์เริ่มแรงกล้าสักประมาณบ่าย 2-3 โมง ตลาดก็วายแล้ว เพราะฉะนั้น "ตะลอนเที่ยว" ขอแนะนำว่าหนทางที่ดีที่สุดที่จะมาเที่ยวตลาดน้ำท่าคาโดยไม่ต้องเหน็ด เหนื่อยรีบขับรถมาแต่เช้า แถมยังได้สัมผัสบรรยากาศความเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างใกล้ชิดด้วยก็คือการ มานอนค้างโฮมสเตย์ที่นี่กันก่อนสักคืนหนึ่ง แล้วตอนเช้าก็ตื่นมาใส่บาตรกับพระสงฆ์ที่จะพายเรือมาตามคลอง แล้วจึงออกไปเที่ยวตลาดน้ำท่าคา

ร้านก๋วยเตี๋ยวลอยน้ำให้บริการคนในคลอง
       ที่ตำบลท่าคานี้เขาก็มีการรวมกลุ่มกันทำโฮมสเตย์ขึ้นในชื่อ "โฮมสเตย์กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคา"
       
       โฮมสเตย์ของบ้านแต่ละหลังก็จะมีความน่าสนใจต่างกันไป อย่างเช่นที่ "บ้านสวนตาลอาจารย์ศิริ" ที่นอกจากจะเป็นที่พักให้แก่ผู้มาเยือนแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งความรู้ในการทำน้ำตาลมะพร้าวอย่างไม่มีหวงอีกด้วย เราได้เจอกับอาจารย์ศิริ ธรรมสวัสดิ์ เจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นผู้อธิบายให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องราวของการทำน้ำตาลมะพร้าวว่า ในแถบนี้เขาทำน้ำตาลมะพร้าวกันแทบจะทุกหลังคาเรือน สังเกตได้จากทิวต้นมะพร้าวที่ปลูกกันเป็นแถวสลับกับท้องร่อง และเตาตาลที่ใช้เคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวซึ่งทำเป็นปล่องไฟอิฐขนาดค่อนข้างใหญ่ ที่เห็นมีอยู่แทบทุกบ้าน โดยมะพร้าวที่ปลูกอยู่นี้ส่วนมากจะไม่ค่อยมีลูกให้เห็น เพราะการทำน้ำตาลมะพร้าวจะต้องตัดลูกทิ้ง เหลือไว้แต่จั่นหรืองวงไว้สำหรับปาดเอาน้ำตาล

ที่เขาเพิ่งจะได้รับตราสัญลักษณ์ว่าผ่านการประเมินมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว มาสดๆร้อนๆ จึงรับรองได้ว่าถ้าใครมาพักก็ย่อมได้รับความสะดวกสบายตามมาตรฐานที่โฮมสเตย์ พึงมีแน่นอน
บรรยากาศร่มรื่นไปด้วยทิวมะพร้าวและต้นไม้ใหญ่
       อาจารย์ศิริยังอธิบายถึงลักษณะของมะพร้าวพันธุ์ดีที่จะใช้ทำน้ำตาล มะพร้าวว่าจะต้องมีลักษณะทางมะพร้าวถี่ จั่นหรืองวงยาวและนิ่ม และให้น้ำตาลมาก ทุกวันในตอนเช้าและเย็น จะมีคนปีนพะองขึ้นไปปาดงวงตาลและใช้กระบอกรองเอาน้ำตาลจากต้นมะพร้าวไว้ เมื่อรวมแต่ละกระบอกได้มากๆแล้วก็จะนำน้ำตาลมาใส่ในกระทะใบใหญ่เคี่ยวบนเตา ตาลจนเริ่มงวด แล้วจึงปล่อยให้น้ำตาลเย็นตัวลง จากนั้นจึงบรรจุใส่ปี๊บหรือหยอดเป็นก้อนใส่ถุงขาย ซึ่งอาจารย์ศิริบอกว่า ทำมาเท่าไรก็มีคนรอรับซื้อ ไม่ต้องกลัวขายไม่หมด
       
       โฮมสเตย์อีกหลังหนึ่งที่เป็นทั้งบ้านพักและเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยก็คือที่ "โฮมสเตย์บ้านคุณทวีป" ที่ จะมีเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำการเกษตร และเครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณที่หลายคนอาจไม่เคยเห็นเพราะไม่ค่อยมีคน นิยมใช้แล้ว เช่น อุปกรณ์ทำยาเส้น ยาจืดสำหรับกินกับหมาก เพราะในอดีตนั้นมีการปลูกยาจืดกันมากในตำบลดอนมะโนราและตำบลบางกระบือ บางบ้านจึงมีอุปกรณ์สำหรับทำยาเส้นไว้ในบ้าน แต่เมื่อการกินหมากเสื่อมความนิยมแล้ว ยาจืดก็เป็นที่ต้องการน้อยลงไปด้วย เครื่องมือเหล่านี้จึงไม่ค่อยได้ใช้

การทำน้ำตาลมะพร้าว อาชีพหลักของคนในแถบนี้
       นอกจากนั้นก็ยังมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการทำนาข้าว โดยเมื่อก่อนนี้ชาวสวนท่าคาจะปลูกข้าวในท้องร่องสวนสลับกับยาจืด แต่ในฤดูแล้งน้ำจะเค็มมากจนปลูกข้าวไม่ได้ ช่วงหลังจึงเลิกการปลูกข้าวในท้องร่องไป ยังคงเหลือเครื่องมือทำนาเช่น เครื่องฝัดข้าวที่ต้องใช้มือหมุนวงล้อ ครกตำข้าว ถังไม้ขนาดใหญ่ติดลูกล้อไว้ขนผลผลิตข้าว เป็นต้น นอกจากนั้นก็ยังมีอุปกรณ์ทำน้ำตาลมะพร้าว เช่น กระบอกตาล มีดปาดตาล และตราปั๊มยี่ห้อลงบนผลิตภัณฑ์น้ำตาลของแต่ละบ้านอีกด้วย
       
       จากบ้านคุณทวีป "ตะลอนเที่ยว" เดินลัดเลาะไปตามทางเดินในสวน ผ่านร่มเงาของต้นมะพร้าวเลียบไปตามริมคลองเล็กๆ เพื่อไปยัง "บ้านกำนันจัน" บ้านหลังนี้ไม่ได้เปิดเป็นโฮมสเตย์ ทว่ามีความสำคัญตรงที่เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสต้นเมื่อปี พ.ศ.2447

คุณทวีปกำลังสาธิตเครื่องมือหั่นใบยาจืด
       กำนันจันท่านนี้เป็นคหบดีอยู่ในย่านท่าคา และเคยมีการค้าทาสในบ้าน หลังจากที่รัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาสแล้ว พระองค์ท่านจึงเสด็จประพาสต้นผ่านมาดูที่บ้านของกำนันจันว่ายังมีการค้า ทาสอยู่หรือไม่ เมื่อปรากฏว่ากำนันจันได้เลิกค้าทาสแล้ว พระองค์จึงพระราชทานยศให้เป็นหมื่นปฏิคมคุณวัติ
       
       บ้านกำนันจันนี้เป็นเรือนไทยหลังใหญ่สองหลัง เชื่อมติดกันด้วยระเบียงตรงกลางบ้าน เจ้าของบ้านได้จัดมุมหนึ่งของบ้านเพื่อประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาล ที่ 5 มีพานพุ่มสักการะ เพื่อให้คนที่มาเยี่ยมชมได้กราบสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ และอีกมุมหนึ่งจัดจำลองที่นั่งที่รัชกาลที่ 5 เคยประทับนั่งบนบ้านกำนันจันหลังนี้ นอกจากนั้น บนบ้านก็ยังมีจุดที่น่าสนใจอย่างเสาไม้ต้นหนึ่งที่ดูจากสภาพแล้วเชื่อว่า ต้องเก่าแก่มากๆ ที่โคนเสานี้มีโซ่เส้นใหญ่พันไว้ ซึ่งเป็นเสาและโซ่ที่กำนันจันเคยใช้ล่ามทาสเมื่อก่อนนั่นเอง

บ้านเรือนไทยของกำนันจันที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสต้น
       กว่าจะเดินเที่ยวกันหมดทุกที่ก็ได้เวลาเย็นย่ำแล้ว หากกินข้าวกันอิ่มหนำสำราญแล้วก็ขอเชิญไปที่ตลาดน้ำท่าคาอีกครั้ง คราวนี้เพื่อลงเรือไปชมหิ่งห้อยอันเป็นกิจกรรมที่ไม่ควรพลาด สำหรับคนที่อาจจะเคยไปชมหิ่งห้อยที่ตลาดน้ำอัมพวามาแล้ว "ตะลอนเที่ยว" ขอแนะนำให้มาลองชมความแตกต่างกันที่ตลาดน้ำท่าคากันบ้าง เพราะที่นี่จะไม่ใช้เรือเครื่องในการชมหิ่งห้อย แต่เป็นเรือพายที่ให้บรรยากาศแบบชาวบ้านโดยแท้
       
       เสียงพายกระทบน้ำดังเป็นจังหวะอยู่ทางหัวเรือและท้ายเรือ ขณะที่เรือลำโตนั่งได้แปดคนก็เต็มลำแหวกสายน้ำไปอย่างเงียบๆ การจะชมหิ่งห้อยให้ได้บรรยากาศที่สุดก็คือต้องทำตัวให้เงียบกลมกลืนไปกับ ธรรมชาติรอบๆตัว คลองที่เราใช้เป็นเส้นทางชมหิ่งห้อยกันนั้นเป็นลำคลองเล็กๆ บ้านเรือนของชาวบ้านก็ปลูกอยู่ใกล้กับริมน้ำ ดังนั้นจึงไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้าน และที่สำคัญไม่ควรส่งเสียงรบกวนแมลงรักสงบอย่างหิ่งห้อยด้วย

พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 ที่บ้านกำนันจัน
       ไม่ช้าเราก็ได้เห็นแสงวิบๆ แวบๆ ของแมลงเปล่งแสงได้อยู่บนยอดไม้ข้างหน้า เรือค่อยๆลอยลำผ่านแสงไฟมีชีวิตที่กระพริบพร้อมกันอย่างเป็นจังหวะ เสียงฝีพายเล่าให้ฟังจากท้ายเรือว่าเมื่อตอนเด็กๆในลำคลองเคยมีหิ่งห้อยเป็น ฝูงใหญ่ กระพริบวูบวาบมากกว่านี้หลายเท่า นึกแล้วก็อยากเห็นภาพนั้นด้วยตาตัวเอง เพราะเท่าที่เห็นนี้ก็สร้างความประทับใจให้กับการมาท่องเที่ยวที่ท่าคาได้ มากมายแล้ว
       
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       
       "ตลาดน้ำท่าคา" ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สอบถามที่ อบต.ท่าคา โทร.0-3476-6208 สอบถามเรื่องโฮมสเตย์ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคาได้ที่คุณฐานิดา สีเหลือง ผู้ใหญ่บ้านท่าคาหมู่ 2 โทร.08-6789-8130

view