สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พิษมาบตาพุดลามโรงไฟฟ้า กฟผ.หวั่นระงับก่อสร้างวิกฤตทั่วภาคใต้

พิษ มาบตาพุดลามไม่หยุด กฟผ.หวั่นถูกหางเลข NGO ฟ้อง เข้าข่ายกิจการกระทบชุมชนรุนแรง ชี้หากศาลสั่ง ระงับก่อสร้างโรงไฟฟ้า กระทบความมั่นคงระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ ภาคใต้อาการหนัก ด้านเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกไม่รับมติ ครม. "มาร์ค" ให้แก้ ม.51 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม อ้างขัดรัฐธรรมนูญ แนะรัฐหยิบร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมใหม่เข้าสู่รัฐสภา กรมโยธาฯเล็งรื้อผังเมืองมาบตาพุด หลังผังเมืองเดิมหมดอายุ พ.ค. 2553



กรณีศาลปกครองกลางมีคำ สั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการดำเนินการ 76 โครงการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียง นอกจากจะเกิดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจที่ทำให้การลงทุนมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาทของทั้ง 76 โครงการต้องชะลอ ยังส่งสัญญาณขยายผลกระทบไปถึงการลงทุนของโครงการต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากการที่กลุ่มองค์กรเอกชนจะมีการเคลื่อนไหวยื่นฟ้องศาลปกครองต่อโครงการ ต่าง ๆ ทั่วประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงด้วย

หวั่น "ไฟฟ้าขาด" หากระงับก่อสร้าง

นาย วิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีที่กลุ่ม NGO เตรียมยื่นฟ้องร้องศาลปกครองกลาง เพื่อให้ระงับโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อาจจะเข้าข่าย เบื้องต้นยังไม่ทราบรายละเอียด ทั้งนี้หากมีการฟ้องร้องจนถึงขั้นเลื่อนหรือระงับโครงการ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศแน่นอน โดยเฉพาะในภาคใต้

ยก ตัวอย่าง โครงการโรงไฟฟ้าจะนะ ยูนิต 2 กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น 8% ต่อปี และขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) หากมีคำสั่งแค่ให้ "เลื่อน" ออกไปจะส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าในภาคใต้แน่นอน เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะนะ ยูนิต 2 นี้อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2007 ฉบับปรับปรุง ให้เข้าระบบเร็วขึ้น บางส่วนในปี 2556 จากเดิมที่ต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบทั้งหมดภายในปี 2557

ทั้งนี้ในปี 2556 โรงไฟฟ้าจะนะ ยูนิต 1 จะหยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ และจะต้องหยุดการผลิตไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 1 เดือนกว่า หากต้องเลื่อนเข้าระบบออกไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านระบบสายส่ง และเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเข้ามาเสริมซึ่งมีต้นทุนสูง ฉะนั้นย่อมส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ด้วย นอกจากนี้โรงไฟฟ้าขนอมจะได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะโรงไฟฟ้าขนอมที่เดินเครื่องในปัจจุบันจะต้องปลดออกจากระบบในปี 2559 ซึ่งจะต้องมีโรงไฟฟ้าขนอมยูนิตใหม่เข้ามาแทน

ครม.ผ่านหลักการ

แก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม

นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่สำนักงานกฤษฎีกาเสนอ ให้มีการแก้ไขมาตรา 51 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นการวางแนวทางสำหรับการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หลังจากนี้จะมีการส่งร่างแก้ไข พ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แล้วนำส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ก่อนจะถึงขั้นตอนของ รัฐสภานั้น ได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประสานงานกับภาคประชาชนและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อทำความเข้าใจ เรื่องแนวทางของรัฐบาลตามมาตรา 67 วรรค 2 และในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ ออกมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งจะมีการประชุมภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ จะพิจารณาออกระเบียบเพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ได้

มธ.ติงรัฐปรับ กม.สอดคล้องกับ รธน.

ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ประเด็นของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้หน่วยราชการสามารถดำเนินการอนุมัติโครงการได้ เป็น "สิ่งที่ถูก" เพราะการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ "สิ่งที่ผิด" คือ การตีความระบุว่า ไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ ควรจะตีความในลักษณะที่ให้หน่วยงานราชการพิจารณาอนุมัติโครงการได้ โดยให้มีการออกกฎหมาย หรือระเบียบให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67

การ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 รัฐบาลสามารถทำได้ แต่ต้องทำให้ครบองค์ประกอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดประเภทกิจการที่อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน และการตั้งองค์กรอิสระ ซึ่งการจัดตั้งองค์กรอิสระก็ไม่ควรจำกัดสิทธิ์สำหรับองค์กรที่มาขึ้นทะเบียน เท่านั้น แต่ต้องเปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีหลายองค์กรก็ได้ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ

"สิ่งที่รัฐบาลต้อง เร่งดำเนินการคือออกระเบียบ หรือมาตรการต่าง ๆ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีผลบังคับทางกฎหมายในระยะสั้นก็ได้ แต่ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ" ผศ.ดร.กิตติศักดิ์กล่าว

NGO เตรียมยื่น ก.ก.สิทธิฯ

นาย สุทธิ อัชฌาศัย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า เตรียมจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน รัฐสภาพิจารณา เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า มติ ครม.แก้ไข ม.51 ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภาคประชาชนต้องการให้รัฐบาลนำร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับที่นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำและรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชน 6 ครั้ง ซึ่งน่าจะตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

น.พ.นิ รันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หากภาคประชาชนเห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของคณะรัฐมนตรีมีสิ่งที่ขัดกับหลัก สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 คณะกรรมการสิทธิฯก็มีสิทธิ์รับเรื่องเสนอให้ ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้รัฐบาลต้องเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมชั่วคราว ประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ความเห็นต่อโครงการ

โยธาฯเล็งรื้อผังเมืองมาบตาพุด

แหล่ง ข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า เดิมในปี 2536 มาบตาพุด จะกำหนดให้เป็น "พื้นที่วางผังเฉพาะ"มีการจัดโซนที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่ทำงานในนิคมอุตฯ ด้วย แต่ปรากฏว่าไม่สามารถออกได้ จึงออกผังเมืองรวมบังคับใช้แทน ชื่อ "ผังเมืองรวมอุตสาหกรรมหลัก และชุมชน จ.ระยอง (มาบตาพุด)" จนมาหมดอายุอยู่ช่วงหนึ่งปี 2542-2545 กลายเป็นช่วงสุญญากาศจากนั้นปี 2546 ถึงมีผังเมืองรวมประกาศใช้จนมาถึงปัจจุบันและมีการต่ออายุผังเมืองรวมมา 2 ครั้งครบแล้ว ซึ่งจะหมดอายุวันที่ 11 พ.ค. 2553

ดังนั้น ทางกรมโยธาฯและผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้หารือและมอบหมายให้ทางองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 7 เทศบาลที่อยู่ในพื้นที่ผังเมืองรวมมาบตาพุด ออกเทศบัญญัติมารองรับบังคับใช้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าผังเมืองรวมมาบตาพุดฉบับใหม่จะปรับปรุงเสร็จ ซึ่งเนื้อหาของเทศบัญญัติจะเหมือนกับผังเมืองรวม มาบตาพุดทุกอย่าง

"ประเมิน ดูแล้วมาบตาพุดกลายเป็นพื้นที่อ่อนไหว การปรับปรุงผังเมืองรวมฉบับใหม่คงเสร็จไม่ทันแน่นอน เพราะปกติการปรับปรุงผังเมืองรวมตามกฎหมายจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ยิ่งมาบตาพุดมาเจอปัญหากรณีที่ศาลปกครองสั่งระงับการก่อสร้างโรงงาน 76 โครงการคาดว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่าพื้นที่อื่น ๆ และมี แนวโน้มว่าอาจจะต้องรื้อใหม่ทั้งหมด เพราะมีประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย"

ปตท.ยันต้นทุนเพิ่ม2หมื่นล.แก้พิษมาบตาพุด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
กรมโรงงานเตรียมหารือคำสั่งศาลปกครองอีกรอบ ชี้ 76โครงการมาบตาพุดเดินหน้าได้ เพราะข้อยุติในคำสั่งศาลยังไม่เคลียร์ ด้านปตท.ลงทุนเพิ่ม2หมื่นล้าน

สมาคม นักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาเรื่อง  “มาตรา 67 ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม” โดยนายยงยุทธ   ทองสุข   รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม   กล่าวว่า กรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการลงทุน 76 โครงการในมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านความเห็นชอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวด ล้อม (อีไอเอ)จากสผ.แล้ว   แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ โดยแบ่งออกเป็น 25 โครงการของกลุ่มปตท. และ 21 โครงการของเครือซิเมนต์ไทย โดยในจำนวนนี้มีอุตสาหกรรมเหล็กส่วยขยายอีก   3 แห่งที่กรมโรงงานออกใบอนุญาติไปแล้วก่อนมีคำสั่งศาลปกครองกลางด้วย   และบางโครงการเป็นการลงทุนเพื่อลดมลพิษ เช่น การนำน้ำเสีย กลับมาบำบัดใช้ใหม่ เป็นต้น

นายยงยุทธ   กล่าวว่า คำสั่งศาลปกครองที่ออกมาอย่างกว้างๆ และมีข้อยกเว้น ด้วยนั้น ทำให้กรมโรงงาน และหน่วยงานที่จะใช้อำนาจในการใช้คำสั่งทางปกครอง เพื่อให้เจ้าของโครงการเหล่านี้ระงับการดำ เนินการไว้ก่อน ตามคำสั่งศษลปกครองยังไม่สามารถหาข้อยุติที่ชัดเจนได้   โดยสัปดาห์หน้า เตรียมนัดหารือภาค เอก ชน กระทรวงพลังงาน สำนักอัยการ และกฤษฎีกา มาหารือในประเด็นนี้ให้ชัดเจนก่อน   พร้อมกับจะอัพเดทสถานภาพของโครงการต่างๆทั้งหมดด้วย เพราะบางแห่งก็ยังก่อสร้างอาคารต่อไป หรือ บางแห่งได้ใบอนุญาติไปแล้วก่อสร้างหรือยังก็ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อน จะได้ไม่เกิดผลเสียภายหลัง อย่างไรก็ตาม   ขณะนี้เกิดความขัดแย้งเพราะต่างคนก็ต่างออกมาพูด และต้องการเอาแพ้เอาชนะกัน ดูเหมือนขัดแย้งกันรุนแรง แต่ความจริงก็คือ ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่ออกมาเหมือนกันหมด อีกทั้งควรจะให้ทุกฝ่ายมาหาทางออกร่วมกัน ดีกว่าให้ทุกอย่างหยุดโดยไม่มีคำตอบว่าเป็นอย่างไรแต่กลายเป็นว่าเอกชนเป็น ผู้ร้ายไปแล้ว

ส่วนนายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.อะโรเมติกส์ และการกลั่น   จำกัด   (มหาชน) กล่าวว่า    ในส่วนของปตท.มีโครงการใหม่ในพื้นที่มาบตาพุด   25 แห่ง ที่ถูกคำสั่งถูกศาลปกครองกลางระงับชั่วคราว   ทั้งนี้ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมากความไม่ชัดเจนจากมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินการภายใต้มาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550   ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้อยู่ในข้อเรียกร้อง และข้อกำหนดให้เอกชนต้องปฏิบัติมาก่อน  เพราะในปี 2550   สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งให้ทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษระยอง 2550-2554 ขึ้น

พร้อมกับมาตรการลดอัตราการระบายมลพิษในโรงงานเก่า และโรงงานใหม่สัดส่วน 80 :20 จนผลให้ปตท.ต้องลงทุนเพิ่มเติมอีก 2 หมื่นล้านบาทเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์รองรับในการลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ ไดออกไซด์   ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์   และลดสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ ( VOCs ) ตามจุดรั่วซึมข้อต่อท่อต่างๆ และปตท.ก็ดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่องมาตลอด 2-3 ปี

"ไม่เห็นด้วยที่ถูกสังคมกล่าวหาว่าปตท.ละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางสุขภาพของชุม ชนในพื้นที่มาบตาพุด   เพราะที่ผ่านมาเราปฏิบัติตามเงื่อนไขอีไอเอมาโดยตลอด   และทำอย่างเคร่งครัดตามที่รัฐบาลกำหนด ไม่ได้เร่งรีบหรือทำอะไรท่ามกลางความอึมครึม เพราะตอนนั้นยังไม่มีอะไรชัดเจนเลย อย่างไรก็ตาม แต่ภาคเอกชนพร้อมปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองอยู่แล้ว แต่ขอความชัดเจน"นายชายน้อย กล่าว

ส่วนนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส   ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย   กล่าวว่าเชื่อว่าสามารถทำให้อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พัฒนาควบคู่ไปด้วยกันได้ แม้จะยอมรับว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมบางรูปแบบอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ขึ้นอยู่กับว่า ทำอย่างไรให้ลดผลกระทบ และลดความรุนแรงดังกล่าวให้ทุกฝ่ายยอมรับให้ได้ ทั้งนี้เอสซีจี พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฏหมายที่กำหนดไว้ทุกอย่าง และที่ผ่านมาการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองก็ปฏิบัติมาโดยตลอด 

ทั้งการทำอีไอเอ  การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ  ซึ่งอาจจะมีความบกพร่องบ้างในเรื่องการของการรับฟังความคิดเห็น แต่ก็พร้อมที่จะแก้ไขและปฏิบัติตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือ เมื่อศาลปกครองมาสั่งให้ระงับการดำเนินการชั่วคราวทุกอย่างก็ต้องระงับไปหมด ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจริง เพราะการลงทุนแสนล้านบาท หากสร้างไปแล้วไม่ได้ประกอบกิจการจะกระทบมาก ทั้งนี้ยอมรับว่า เครือซิเมนต์เตรียม การลงทุนในมาบตาพุด มาตั้งแต่ปี 2548-2549   และดูทุกอย่างอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ได้ลงทุนท่ามกลางความอึมครึมอย่างที่ถูกกล่าวหา

view