สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้นำกับบรรษัทภิบาล (ตอนที่ 1)

จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :ยุทธ วรฉัตรธาร:


คำว่า “ผู้นำ” โดยความเข้าใจทั่วไปหมายถึง ผู้ที่สามารถพูดหรือกระทำให้ผู้อื่นทำตาม คนทั่วไปจึงมักคาดหวังคุณสมบัติของผู้นำว่าจะต้องเป็นคนเก่งและคนดี แล้วใครล่ะคือผู้นำ?

เป็น ที่เข้าใจว่าผู้นำองค์กรคือ ผู้บริหารระดับสูงสุด (Chief Executive Officer) ซึ่งอาจรวมถึงผู้บริหารระดับรองลงมา และประธานกรรมการ ส่วนจะมีคุณสมบัติทั้งดีและเก่งหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หลักการบรรษัทภิบาลที่ดีที่แนะนำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พูดเรื่องผู้นำอย่างน้อย 3 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1.ในหมวดที่เกี่ยวกับ “ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ” ระบุไว้ว่า คณะกรรมการควรมีภาวะผู้นำ วิสัยทัศน์ และมี ความเป็นอิสระในการตัดสินใจ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม แสดงว่า “กรรมการ” ทุกคนคือผู้นำด้วย

2.การสรรหากรรมการและผู้บริหารระดับสูงสุดควรมีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใสเพื่อให้ได้ผู้นำที่มีคุณสมบัติทั้งเป็นคนดี มีความสามารถ

3.คณะกรรมการควรส่งเสริมให้มีการจัดทำจรรยาบรรณทางธุรกิจเป็นลาย ลักษณ์ เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานยึดถือเป็นแนวทางบริหารธุรกิจ และปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรม มีความระมัดระวังรอบคอบ และมีประสิทธิภาพ

ที่ต้องเสนอแนะหลักการและแนวปฏิบัติข้างต้น ก็เพราะธุรกิจจะเติบโตยั่งยืนหรือล้มเหลว ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนที่ดีหรือหมดตัวก็อยู่ที่ฝีมือการกำกับดูแลและ การจัดการของ ผู้นำเหล่านี้ เพราะฉะนั้นผู้ถือหุ้นต้องให้ความสำคัญโดยการเลือกผู้นำที่มีทั้งความสามารถ และมีคุณธรรม เพราะในตลาดทุนมีการแสวงหาประโยชน์ด้วยการเอารัดเอาเปรียบ ทุจริต คดโกงผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนด้วยกันอย่างไร้จริยธรรมและศีลธรรม จอห์น เอ็ม. ฮันต์สแมน (John M. Huntsman) ผู้เขียน หนังสือ Winners Never Cheat (คุณภัทรพงศ์ และคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย นำไปแปลและเรียบเรียงโดยใช้ชื่อ “รวยได้... ไม่ต้องโกง”) ให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการลงทุนในตลาดทุนไว้ว่า

“ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความโลภของนักลงทุนกลายมาเป็นความหมกมุ่นอำนาจและอิทธิพล บริษัทมหาชนถูกกดดันให้ ต้องสร้างผลกำไรแต่ละไตรมาสให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเกรงว่าผู้ถือหุ้นจะกบฏ รายงานฐานะการเงินที่ไม่โปร่งใสเป็นสื่อล่อใจ ยามที่ตลาดมุ่งจะลงโทษพวกที่มีผลประกอบการไม่ดี และคนที่เปิดเผยตัวเลขบัญชีจริงๆ พวกที่วอลสตรีตให้สัญญาณออกมาอย่างสม่ำเสมอว่า พวกเขายอมรับคำโกหกที่ว่าบริษัทมีกำไร มาก”

เพื่อเป็นการเตือนให้นักลงทุนต้องรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนและเลือก คบบริษัทที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี มีผู้นำที่มีความสามารถและมีคุณธรรม ขอนำเสนอเรื่องราวพฤติกรรมผู้นำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาให้เห็นเป็นตัวอย่างสัก 4-5 เรื่อง

เรื่องแรกสั้นๆ ตรงๆ เพราะผมได้รับข่าวสั้นโดยไม่มี รายละเอียดประกอบ เรื่องมีว่า คอนราด แบล็ก เจ้าพ่อหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ถูกศาลสหรัฐพิพากษาจำคุก 6 ปี โทษฐาน โกงผู้ถือหุ้น

เรื่องที่สอง บริษัท Federal National Mortgage Association (Fannie Mae) ยินยอมจ่ายเงิน 350 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท) ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ถูกโกงกรณีทุจริตของบริษัทโดยการตกแต่งงบการเงินในช่วง ปีพ.ศ. 2541-2547 เพื่อยุติคดี โดยก.ล.ต.สหรัฐจะส่งมอบเช็คมูลค่าดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นที่ได้รับความเสีย หาย กรณีนี้ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการเปรียบเทียบปรับ มา

เรื่องที่สาม วันที่ 15 ต.ค. 2550 ก.ล.ต.สหรัฐยื่นกล่าวโทษบริษัท Nortel Network Corporation บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สื่อสาร เนื่องจากมีการตกแต่งงบการเงินในช่วงปีพ.ศ. 2543-2546 เพื่อให้ตัวเลขผลประกอบการเป็นไปตามประมาณการ Nortel ยอมยุติคดีด้วยการยอมรับข้อตกลงว่าจะไม่กระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์อีก และยินยอมจ่ายค่าปรับจำนวน 35 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,190 ล้านบาท) เพื่อนำไปชดเชยผู้ถือหุ้นที่ได้รับความเสียหายผ่าน Fair Fund

เรื่องที่สี่ ตกแต่งบัญชีอีกแล้ว แต่เรื่องนี้มีความผิดที่น่าสนใจหลายประเด็น เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2550 ก.ล.ต.สหรัฐยื่นฟ้อง David H. Brooks อดีต CEO ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัท DHB Industries ซึ่งเป็นผู้ขายอาวุธและเสื้อเกราะให้แก่กองทัพสหรัฐ ส่วนความผิดจะเป็นเรื่องอะไรบ้างนั้น ขอนำมาเล่าต่อในตอนหน้า

view