จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ webbiz
โดย siripong@kidtalentz.com
ขณะ ที่เรามักจะพูดถึงข้อดีของโลกไซเบอร์ต่อโลกธุรกิจ ในแง่ที่ผู้ทำการตลาดสามารถทำโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือการสนับสนุนการขายที่ สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้สะดวกขึ้น แม้กระทั่งดัดแปลงให้สอดคล้องกับลูกค้าเป็นราย ๆ ไป โดยจำแนกตามเพศ วัย อาชีพ ที่อยู่ หรือรสนิยม
นั่นคือความสามารถของเทคโนโลยีเว็บยุคใหม่ที่จะให้การตลาดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าการหว่านโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบกว้าง ๆ
แต่ การจะทำเช่นนั้นได้เว็บไซต์จะต้องติดตามข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ และพฤติกรรมการใช้งาน เก็บข้อมูลเหล่านั้นมาเพื่อจำแนกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
ปัญหามีอยู่ว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายยินยอมพร้อมใจกับการถูกติดตามข้อมูลส่วนตัวบนเว็บมากน้อยแค่ไหน
ใน สหรัฐอเมริกามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย และมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่หรือราว 2 ใน 3 จากการสำรวจปฏิเสธหรือไม่ยินยอมให้ ผู้ทำการตลาดหรือโฆษณาติดตามพฤติกรรมการใช้งานเว็บของพวกเขา
มากถึง ร้อยละ 66 บอกว่า ไม่ต้องการให้ผู้โฆษณาดัดแปลงโฆษณาให้สอดคล้องกับความสนใจเฉพาะตัวของพวกเขา ขณะที่ 69 เปอร์เซ็นต์คิดว่าควรมีกฎหมายให้สิทธิกับผู้บริโภคที่จะรู้ว่าเว็บไซต์แต่ และแห่งรู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขาบ้าง
หากมองกันจากผลสำรวจดังกล่าวก็ หมายความว่า การโฆษณาแบบเข้าถึงกลุ่มเฉพาะด้วยการติดตามข้อมูลการใช้งาน ส่วนตัวนั้น คนส่วนใหญ่ไม่นิยม หรือไม่ยินยอมพร้อมใจ ดังนั้นมันจึงกลายเป็นดาบสองคมสำหรับนักการตลาดออนไลน์ ไปในตัว
เว้นแต่โฆษณาทั่ว ๆ ไปที่ไม่อาศัยการติดตามข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ความรู้สึกถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวก็จะไม่เกิดขึ้น
การ ทำการตลาดออนไลน์จึงไม่อาจคำนึงถึงแต่ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีเพียงอย่าง เดียวโดยไม่คำนึงถึงความคิดและความรู้สึกของผู้บริโภค ซึ่งอาจกลายเป็นดาบสองคมไปก็ได้
เพราะความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นในใจ ผู้บริโภคเมื่อถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวนั้น หากเกิดขึ้นแล้วการแก้ไขทำได้ไม่ง่ายนัก
สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลวิจัยที่ชี้ชัดถึงประเด็นเดียวกันนี้ แต่นักการตลาดออนไลน์ก็ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน