สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เหรียญ มหาสมบัติ

เหรียญ มหาสมบัติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



ช่วงเงินทองฝืดเคือง จะหยิบแบงก์มาใช้ทีก็เสียดาย ไม่เหมือนเหรียญที่นอนตุงกระเป๋า ใช้กันเพลินมือ เผลอๆ จะผลาญไปเยอะกว่าเงินกระดาษ

เงิน เหรียญ.. อาจไม่ดึงดูดใจในสายตาของใครหลายคน เมื่อรับทอนมาจากพ่อค้าแม่ขายหรือกระเป๋ารถเมล์ ส่วนใหญ่มักหย่อนทิ้งไว้ในลิ้นชักหรือกล่องใส่เศษเงิน โดยบอกกับตัวเองว่าจะหยิบมาใช้เมื่อต้องการ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เศษเงินเหล่านั้นก็ยังคงซุกตัวตามซอกลิ้นชักต่อไป โดยไร้การเหลียวแล

แต่ในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด เหรียญเหล่านี้กลับผงาดขึ้นมาในสายตาของผู้คนอีกครั้ง เพราะหากไม่หลงลืมที่จะหยิบออกมานับ เก็บเล็กผสมน้อยกันแล้ว จะพบว่าเงินบาทก็สามารถทวีค่าเป็นร้อยเท่าพันเท่าได้อย่างน่าอัศจรรย์

เหรียญนี้มีที่มา

กระบวนการในการผลิตออกมาเป็นเหรียญหนึ่งเหรียญในมือของเราๆ ท่านๆ นั้น ไม่ได้ง่ายเพียงแค่กระดิกนิ้วเคาะตัวเลขออเดอร์ไปที่โรงกษาปณ์ เครื่องจักรก็จะปั๊มเหรียญออกมาได้ทันที เพราะเบื้องหลังก่อนที่คำสั่งผลิตจะมาถึงโรงกษาปณ์นั้น ต้องผ่านการประมาณการโดย "กรมธนารักษ์" ถึงจำนวนที่เหมาะสมของเหรียญผลิตใหม่แต่ละชนิดราคา ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กันกับเส้นกราฟเศรษฐกิจในแต่ละช่วงซึ่งส่งผลต่อความต้อง การการใช้เหรียญของผู้บริโภคขณะนั้น

เทวัญ วิชิตะกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เล่าถึงเบื้องหลังก่อนจะมีคำสั่งผลิตเหรียญเก็บเข้าสต็อกรอให้คนมาแลกนั้น ส่วนงานที่สำคัญ คือ "สำนักบริหารเงินตรา" สังกัดกรมธนารักษ์ ในฐานะยามเฝ้าประตูทางเข้าและออกของเหรียญ จะเป็นผู้รับหน้าที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของจำนวนเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ใน ตลาด โดยจะทราบถึงความต้องการใช้เหรียญทุกชนิดราคา ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกปี แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงดีมานด์ ณ ขณะนั้น ก่อนจะผนวกเข้ากับข้อมูลประมาณการด้านเศรษฐกิจจากหลายสำนัก เพื่อสั่งผลิตเหรียญสำรองในสต็อกให้ใกล้เคียงกับความต้องการในอนาคตมากที่ สุด โดยอย่างน้อยๆ ต้องไม่ต่ำกว่าดีมานด์ในประมาณการ

"ยิ่งเศรษฐกิจดี ความต้องการในการใช้เหรียญก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น" อธิบดี ว่าไว้

ก่อนจะเล่าต่อถึงจำนวนสั่งผลิตในปีงบประมาณ 2553 (ต.ค.2552-ก.ย.2553) ว่าจะสั่งผลิตทั้งสิ้น 1,500 ล้านเหรียญ คิดโดยเฉลี่ยจากเครื่องจักรที่มีกว่า 30 เครื่อง ซึ่งสามารถผลิตเหรียญได้ในความเร็วเฉลี่ยนาทีละ 700 เหรียญ ก็เท่ากับว่าผลิตได้ราว 4.2 ล้านเหรียญต่อวัน ซึ่งยังเหลือเฟือสำหรับกำลังในการผลิตเต็มที่ซึ่งสามารถทำได้ถึงวันละ 5 ล้านเหรียญ

เศรษฐกิจเศษสตางค์

สำหรับจำนวนเหรียญกษาปณ์ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ อัพเดท ณ เดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งมีอยู่ราว 18,000 ล้านเหรียญนั้น เมื่อเจาะลึกลงในแต่ละชนิดราคาของเหรียญ พบว่าแทบทุกชนิดราคามีจำนวนเหรียญหมุนเวียนมากขึ้นกว่าปีงบประมาณ 2551 ทั้งสิ้น ยกเว้นก็เพียงแต่เหรียญสิบบาท ที่มีจำนวนเหรียญหมุนเวียน ณ เดือนสิงหาคม 2552 อยู่ที่ 1,263.748 ล้านเหรียญ น้อยกว่าปี 2551 ที่มีอยู่ 1,749.525 ล้านเหรียญ

นำมาสู่การสั่งลดจำนวนการผลิตเหรียญสิบบาทจาก 120 ล้านเหรียญตามแผนเดิม เหลือเพียง 81.9 ล้านเหรียญ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการน้อยลงของตลาด

การตัดสินใจลดการผลิตเหรียญสิบบาทนั้น เนื่องจากสถิติการจ่ายแลกเหรียญสิบออกจากสำนักบริหารเงินตราน้อยลงอย่างเห็น ได้ชัด จากที่เคยจ่ายแลกออกไปราว 171 ล้านเหรียญในปีงบประมาณ 2551 ก็ลดลงเหลือเพียง 119 ล้านเหรียญในปีงบประมาณ 2552 (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2552) ซึ่งหากมองตัวเลขดังกล่าวอย่างผิวเผิน อาจคิดได้ว่าคนใช้เหรียญสิบน้อยลง แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นในทางตรงกันข้าม

เพราะการที่ธุรกิจห้างร้าน มาแลกเหรียญสิบออกจากสำนักบริหารเงินตราน้อยลงนั้น หมายความว่า เหรียญสิบจำนวนมากที่ถูกซุกไว้ตามซอกลิ้นชัก หรือ ในกระปุกออมสิน เริ่มถูกผู้บริโภคนำออกมาใช้จับจ่ายเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ความต้องการเหรียญสิบสำหรับทอนเงินในภาคธุรกิจลดน้อยลงนั่นเอง

ตู้หยอดเหรียญพันล้าน

ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ ซึ่งเติบใหญ่ขึ้นทุกวันนั้น น่าจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของพฤติกรรมการจับจ่ายโดยนำเอา เหรียญกลับมาใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

จากการประเมินโดยแหล่งข่าวในวงการธุรกิจตู้หยอดเหรียญรายหนึ่งที่ลองดีด ลูกคิดคำนวณมูลค่าตลาดของเครื่องหยอดเหรียญในเมืองไทยวันนี้ น่าตกใจว่า เรามีเงินเหรียญหมุนเวียนอยู่ในเครื่องขายสินค้าและบริการอัตโนมัติเหล่านี้ มากถึง 2,500 ล้านบาทต่อเดือน

โดยแหล่งข่าวคนดังกล่าวได้คำนวณบนฐานข้อมูลประมาณการจากจำนวนเครื่องหยอด เหรียญทั้งตลาดวันนี้ที่น่าจะมีอยู่ราว 950,000 เครื่อง แบ่งออกเป็น ตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ 6 แสนตู้ ทำยอดขายโดยเฉลี่ย 1,500 บาท/เครื่อง/เดือน เท่ากับเดือนละ 900 ล้านบาท, เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ 1 แสนเครื่อง มียอดขายโดยเฉลี่ย 3,000 บาท/เครื่อง/เดือน เท่ากับเดือนละ 300 ล้านบาท

ตู้หยอดเหรียญประเภทให้บริการ (เครื่องชั่ง/เกม/คาราโอเกะ/ของเล่น/เก้าอี้นวด) รวม 1 แสนเครื่อง มียอดขายโดยเฉลี่ย 3,000 บาท/เครื่อง/เดือน เท่ากับเดือนละ 300 ล้านบาท, ตู้หยอดเหรียญประเภทขายสินค้า (กระดาษชำระ/ผ้าอนามัย/ถุงยาง/ฯลฯ) รวม 5 หมื่นเครื่อง มียอดขายโดยเฉลี่ย 2,000 บาท/เครื่อง/เดือน เท่ากับเดือนละ 100 ล้านบาท, ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 5 หมื่นเครื่อง มียอดขายโดยเฉลี่ย 3,000 บาท/เครื่อง/เดือน เท่ากับเดือนละ 150 ล้านบาท

เครื่องเติมเงินมือถือหยอดเหรียญ 3 หมื่นเครื่อง มียอดขายโดยเฉลี่ย 2 หมื่นบาท/เครื่อง/เดือน เท่ากับเดือนละ 600 ล้านบาท, ตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ 1 หมื่นเครื่อง มียอดขายโดยเฉลี่ย 1 หมื่นบาท/เครื่อง/เดือน เท่ากับเดือนละ 100 ล้านบาท และ เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มหยอดเหรียญ (น้ำอัดลม/เครื่องดื่ม/กาแฟ) 1 หมื่นเครื่อง มียอดขายโดยเฉลี่ย 5,000 บาท/เครื่อง/เดือน เท่ากับเดือนละ 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามไปยัง ณัฐพล ประดิษฐผลเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอเตอร์ เน็ท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญภายใต้แบรนด์เดลี่เฟรช และวอเตอร์เน็ท เกี่ยวกับการเติบโตของมูลค่าตลาดตู้หยอดเหรียญเทียบกับพฤติกรรมการใช้เหรียญ ของผู้บริโภคซึ่งเติบโตขึ้นในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยนั้น ณัฐพลมองว่า นี่คือการเอื้อเหตุผลซึ่งกันและกัน เมื่อเศษเหรียญในกระเป๋าพบกับช่องทางจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ใช้จ่ายด้วย เหรียญได้นั้น แน่นอนว่าผู้บริโภคย่อมเลือกที่กำจัดเหรียญออกไปจากตัว และเมื่อผู้บริโภคคุ้นชินกับการซื้อสินค้าบริการผ่านเครื่องหยอดเหรียญ อัตโนมัติ ก็จะยิ่งขยายตลาดธุรกิจนี้ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น

ซึ่งที่ผ่านมา ธุรกิจตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ มีการเติบโตเฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องมาตลอด จนมาชะลอก็เมื่อเศรษฐกิจถดถอย โดยในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ส่วนชนิดของเหรียญราคาใดที่คนนิยมนำมาซื้อสินค้าและบริการผ่านตู้ขาย สินค้าและบริการมากที่สุด ณัฐพล วิเคราะห์ว่า “เหรียญบาท” น่าจะถูกนำมาใช้มากที่สุด เพราะมูลค่าต่ำ

ขณะที่ ปัจจัยสำคัญซึ่งจะมีผลต่อการเลือกใช้เหรียญราคาไหนกับเครื่องขายสินค้าและ บริการแบบไหนนั้น ณัฐพล บอกว่า ขึ้นอยู่กับราคาของสินค้าและบริการนั้นๆ

"อย่างตู้โทรศัพท์สาธารณะ ส่วนมากจะหยอดเหรียญบาท และ 5 บาทก็โทรได้แล้ว ขณะที่เครื่องซักผ้าถูกบังคับให้ใช้เหรียญสิบบาทราคาเดียว ส่วน ตู้เติมเงินมือถือนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เหรียญ 5 และ เหรียญ 10 ซึ่งเป็นเหรียญราคาสูง เพราะมูลค่าการเติมเงินต่อครั้งส่วนใหญ่จะไม่น้อย ซึ่งไม่สะดวกแก่การหยอดเหรียญราคาต่ำ"

เหรียญใหม่.. ไฉไล หรือ ไร้ค่า

ข่าวคราวการนำเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชุดใหม่ออกมาใช้ โดยเริ่มทยอยจ่ายแลกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ที่เป็นปัญหาตกเป็นขี้ปากมากที่สุด ก็คือเหรียญบาท ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าของเดิม ตลอดจนวัสดุที่ใช้ในการผลิตเหรียญก็เปลี่ยนไป ก่อให้เกิดปัญหาโดยตรงกับการใช้บริการตู้หยอดเหรียญซึ่งไม่สามารถใช้เหรียญ รุ่นใหม่หยอดซื้อสินค้าหรือบริการได้

นอกจากนี้ ในหลายความเห็น ก็มองว่า วัสดุซึ่งนำมาผลิตเหรียญชุดใหม่ดูแล้วค่อนข้างจะมีคุณภาพต่ำ อาจทำให้คนเข้าใจไปว่าเป็นเหรียญปลอม ทั้งยังอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเงินตราในไทยด้วยนั้น

อธิบดีกรมธนารักษ์ เล่าถึงเหตุผลความจำเป็นของการปรับเปลี่ยนทั้งวัสดุและดีไซน์ในครั้งนี้ว่า เพื่อให้ต้นทุนของเหรียญเหมาะสมกับราคาหน้าเหรียญ ซึ่งที่ผ่านมาการผลิตเหรียญกษาปณ์นั้นต้องเรียกว่าขาดทุนอย่างหนักในเหรียญ ราคาต่ำ ตั้งแต่ 1 บาทลงมา โดย เหรียญสลึงขาดทุน 0.23 สตางค์ต่อเหรียญ, เหรียญ 50 สตางค์ ขาดทุน 0.20 สตางค์ต่อเหรียญ และ เหรียญบาท ขาดทุน 0.12 สตางค์ต่อเหรียญ (ข้อมูลจาก รายงานการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ ประจำปีงบประมาณ 2546)

ซึ่งแม้จะชดเชยด้วยกำไรของการผลิตเหรียญราคาสูง อย่างเหรียญ 5 และ เหรียญ 10 และทำให้มีกำไรในภาพรวมก็ตาม แต่ในทางหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ต้นทุนการผลิตเหรียญ ไม่ควรที่จะเกินไปกว่า 50-60 เปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าเหรียญชนิดนั้นๆ

"การทำเหรียญแต่ละชนิดราคาก็ต้องให้เหมาะสมกับราคาหน้าเหรียญ ไม่ใช่ว่าคุณจะเอาเงิน หรือ ทอง มาทำเหรียญบาท มันก็ไม่ไหว หรือเอาโลหะอะไรที่มีมูลค่าสูงกว่าราคาหน้าเหรียญก็ไม่ไหว

"สิ่งที่เราต้องทำ ก็คือ บริหารต้นทุนให้เหมาะสมกับราคาหน้าเหรียญ โดยหลักแล้วไม่ควรจะเกินราคาหน้าเหรียญ ให้ดีควรอยู่ที่ 50-60 เปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าเหรียญ แต่ทุกวันนี้ บางเหรียญเราทำไม่ได้ เพราะราคาโลหะมีแต่จะสูงขึ้น แต่เราไม่สามารถขึ้นราคาเหรียญกษาปณ์ได้เพราะมันมีราคาหน้าเหรียญกำกับอยู่ 10 ปี 20 ปี เหรียญก็ต้องมีราคาเท่านี้ แต่ต้นทุนมีแต่จะสูงขึ้น"

และนั่นจึงเป็นเหตุผลของเหรียญบาทรุ่นใหม่ที่น่าจะผ่านมือกันไปบ้างแล้ว นั้น หากใครช่างสังเกตหน่อยจะรู้สึกได้ถึงน้ำหนักที่เบาหวิว ทั้งยังชวนให้คิดไปว่าเป็นเหรียญปลอม ตรงจุดนี้ อธิบดี บอกว่า เหรียญบาทรุ่นใหม่ทำมาจากเหรียญตัวเปล่า ซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเป็นเหรียญสอดไส้เหล็ก ชุบด้วยนิกเกิลบริสุทธิ์ซึ่งจะแวววาวกว่าเหรียญบาทแบบเก่าที่ผลิตจากคิวโป รนิกเกิล

โดยย้ำให้ฟังด้วยว่า นี่เป็นวัสดุที่ถูกที่สุดเท่าที่จะหาได้ในคุณภาพซึ่งยังเป็นสากลในตอนนี้ ทั้งยังลดต้นทุนได้ราว 30 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย

"แม้จะเปลี่ยนทั้งโลหะและเทคโนโลยีการผลิตแล้วก็ยังขาดทุน แต่เราก็ต้องทำ เพราะเหรียญพวกนี้คือสื่อกลางในการใช้จ่าย" อธิบดีสรุป

    * เหรียญเล็ก ยิ่งจำกัดวงเงิน

เงินทุกบาททุกสตางค์ไม่ว่าจะเหรียญหรือธนบัตร ไม่ว่าจะเล็กใหญ่แค่ไหนก็ตาม ก็ล้วนแต่เป็น "เงิน" ซึ่งสามารถชดใช้หนี้ตามกฎหมายได้ทั้งสิ้น

แต่ทราบหรือไม่ว่า เหรียญแต่ละชนิดราคานั้นจะถูกกำหนดจำนวนเหรียญในการใช้ต่อครั้งไว้ในกฎกระทรวงด้วย

เหตุผลของการออกกฎข้อนี้ขึ้นมา ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแกล้งกัน โดยจ่ายเงินด้วยเหรียญราคาเล็กคราวละมากๆ ซึ่งจะทำให้ผู้รับเงินยุ่งยากในการนับจำนวน จนถึงอาจนับผิดพลาดได้ กฎกระทรวงกำหนดไว้ถึงจำนวนที่จำกัดในการใช้เหรียญชำระเงินในแต่ละครั้ง แยกตามชนิดราคา ดังนี้

เหรียญ 5,10,20,25,50 สตางค์ ใช้ได้คราวละไม่เกิน 10 บาท
เหรียญ 1 บาท ใช้ชำระได้คราวละไม่เกิน 500 บาท
เหรียญ 2 บาท ใช้ชำระได้คราวละไม่เกิน 500 บาท
เหรียญ 5 บาท (ทองขาว) ใช้ชำระได้คราวละไม่เกิน 1,000 บาท
เหรียญ 5 บาท (โลหะสีขาวเคลือบไส้ทองแดง) ใช้ชำระได้คราวละไม่เกิน 500 บาท
เหรียญ 10 บาท ทุกชนิด ใช้ชำระได้คราวละ ไม่เกิน 1,000 บาท
เหรียญ 20 บาท ใช้ชำระได้คราวละไม่เกิน 500 บาท

view