จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ องค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้
โดย ผศ.ดร.มงคลชัย วิริยะพินิจ Mongkolchai@acc.chula.ac.th
คำ ว่า creative economy หรือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นคำพูดที่ติดหูพอสมควรในสังคมประเทศไทยในขณะ นี้ โดยส่วนตัวแล้วผมดีใจมากที่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ถูกให้ความสำคัญ เพราะผมเชื่อว่าแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์นี้มีผลกระทบเชิงบวกทางอ้อมกับคนทั่ว ๆ ไป เพราะคำว่า "สร้างสรรค์" มีความหมายที่แสดงให้เห็นถึงภาพของความไม่ยึดติด ความคล่องตัว ความสบาย ๆ และความยึดติด ความไม่คล่องตัว ความไม่สบาย ๆ นี้เองที่เป็นอุปสรรคของการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลง และการนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะส่งผลต่อความอยู่รอดของคนหรือองค์กรในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันกัน สูงขึ้นเรื่อย ๆ
จากการเกริ่นของผมในย่อหน้าที่แล้ว อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านบางท่านพอจะเห็นภาพกันบ้างว่า การจัดการความรู้เกี่ยวข้องกับ creative economy อย่างไร ก่อนอื่นผมต้องขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ทั้งสองสิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกันมาก มากจนเรียกได้ว่า เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จะไม่สามารถถูกทำให้ยั่งยืนในประเทศชาติได้เลยถ้า เกิดขาดการจัดการความรู้ และที่จำเป็นต้องกล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า การจัดการความรู้นั่นก่อขึ้นจากรากฐานของความใฝ่รู้และความต้องการที่จะเห็น ความเปลี่ยนแปลงของมวลมนุษยชาติ เป็นธรรมดาที่คนเรามักจะไม่ชอบที่จะทำอะไรที่ซ้ำซากจำเจ อาทิ การรับประทานอาหารที่ร้านอาหารเดิม ๆ อาหารจานเดิม ๆ เรื่องการรับประทานเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับมนุษย์ ปุถุชนทั่วไป เพราะการรับประทานดี ก็สามารถที่จะก่อให้เกิดสุขภาพดี และก่อให้เกิดความสุขไปในตัว เพราะฉะนั้น ในเมื่อการรับประทานเป็นเรื่องสำคัญต่อคนเราทั่ว ๆ ไป จึงเป็นสิ่งที่ผมมองว่าเป็นพฤติกรรมทางธรรมชาติที่คนเราหลาย ๆ คนจะใฝ่รู้ในเรื่องของการรับประทาน หรือถ้าเขียนให้เข้ากับหัวข้อของบทความนี้ก็ต้องกล่าวว่า คนเรานั้นมักจะ "สร้างสรรค์" ในเรื่องของการรับประทาน และในความเป็นจริงก็จะเห็นได้ว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานนั้น ได้รับการสร้างสรรค์อย่างมากมายอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นการคิดสูตรอาหาร เครื่องดื่ม หรือของหวานที่แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา รูปแบบหรือบรรยากาศของร้านอาหารหรือภัตตาคารที่ดูแปลกใหม่ วิธีการบริหารจัดการของร้านอาหารหรือภัตตาคารที่ดูแปลกใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารแก่ลูกค้าผู้ที่มารับ ประทาน
เมื่อลูกค้ามารับประทานที่ร้าน แล้วเกิดความรู้สึกพึงพอใจ กล่าวคือ ได้ "รู้" ว่าร้านอาหารนี้อร่อย ได้ "รู้" ว่าร้านอาหารนี้มีอาหารจานเด็ดอะไรบ้าง และเมื่อลูกค้าคนนั้น ๆ ได้พบปะกับเพื่อนฝูง ก็นำสิ่งที่ได้ "รู้" ไปบอกต่อกับเพื่อน ๆ ว่ามีร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ดีและทำอาหารอร่อย และเมื่อเพื่อน ๆ ได้ "รู้" และเมื่อมีโอกาส ก็ไปลิ้มลองรับประทานที่ร้านนั้น ๆ ทางด้านร้านอาหารเอง ก็ได้ "รู้" ว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอาหารประเภทไหน หรือได้ "รู้" ว่าอาหารจานไหนเผ็ดเกินไป เปรี้ยวเกินไป เค็มเกินไป หรือหวานเกินไป และเมื่อได้ "รู้" อย่างนี้แล้วก็นำสิ่งที่ได้เรียน "รู้" ไปปรับปรุงให้รสชาติของอาหารดีขึ้นและถูกใจลูกค้าส่วนใหญ่ และลองคิดสูตรอาหารใหม่ ๆ เพื่อให้ลูกค้าลองรับประทานเพื่อจะได้ "รู้" ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ชอบอาหารประเภทไหนอย่างไร เพื่อจะได้คิดสูตรอาหารใหม่ ๆ เพื่อจะได้ถูกใจลูกค้าต่อไปเรื่อย ๆ
ท่านจะสังเกตว่าจากตัวอย่าง ที่ผมได้เขียนกล่าวอธิบายมาตั้งแต่ข้างต้นนั้นมีคำว่า "รู้" อย่างหลายคำซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการจัดการความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันความรู้ การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ อันเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ ซึ่งในที่นี้ก็คือการที่ทางร้านอาหารสร้างสรรค์อาหารจานใหม่ หรือสูตรใหม่ เพื่อให้ถูกปากลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านอาหาร และถ้าจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ knowledge economy ก็ต้องขออธิบายเพื่อให้เกิดความชัดเจน กล่าวคือ มูลค่าที่สร้างขึ้นในการบริหารจัดการร้านอาหารนี้ มิได้เกิดจากการบริหารจัดการให้มีความสามารถในการทำอาหารให้ได้ปริมาณเยอะ ๆ เพื่อจะได้สามารถให้บริการลูกค้าได้เยอะ ๆ ดังเช่นมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ใช้วัดกันในอดีต แต่ทว่ามูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ เกิดจากการที่ร้านอาหารสามารถที่จะสร้างสรรค์อาหารสูตรใหม่ หรือการสร้างสรรค์ที่เกิดจากการปรับปรุงสูตรอาหารจานเดิมที่ได้คิดสร้าง สรรค์ขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วลูกค้าอาจจะมิได้ชื่นชอบเท่าไรนัก เพื่อให้เกิดเป็นสูตรอาหารจานใหม่ที่อร่อยกว่า ถูกปากผู้รับประทานมากกว่า และด้วยเหตุนี้ทำให้ร้านอาหารมีลูกค้าในปริมาณที่เยอะ หรือเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นผลก่อให้เกิดรายได้และกำไรที่ดี
เพราะ ฉะนั้นผมจึงอยากจะเขียนกล่าว ณ ตรงนี้เพื่อความกระจ่างชัดว่า ความสามารถในการสร้างสรรค์มิใช่จะเป็นอะไรที่ท่านหลับตานึก และสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้ทันทีเมื่อท่านลืมตาขึ้นมา ความคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดสรรหานวัตกรรมนั้น ต้องอาศัยการเรียนรู้ หรือในที่นี้ก็คือการจัดการความรู้ในสิ่งที่ท่านกำลังจะคิดสร้างสรรค์นั่น เอง และความคิดสร้างสรรค์ก็มิใช่จะเป็นแต่เรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์สูตร อาหารใหม่ตามที่ผมได้เขียนกล่าวแสดงไว้เป็นตัวอย่าง แต่การคิดสร้างสรรค์สามารถทำได้ในทุกบริบท ถ้าในบริบทเชิงธุรกิจ อาทิ การคิดสร้างสรรค์วิธีการบริการลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งท่านจำเป็นที่จะต้องเรียน "รู้" จากลูกค้าว่าสิ่งใดที่ลูกค้าชอบหรือไม่ชอบ หรือการคิดสร้างสรรค์ในการเป็นผู้นำที่ดี ซึ่งท่านจะต้องเรียนรู้อย่างน้อยก็จากผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านว่ามีทัศนคติ ต่อการบริหารงานของท่านอย่างไร หรือแม้กระทั่งการบริหารชีวิตประจำวันของท่าน อาทิ การสร้างสรรค์วิธีการดูแลรูปร่างของท่านให้สมส่วน แทนที่จะเป็นการเน้นรับประทานน้อยเข้าไว้ หรืออดมื้อกินมื้อ ซึ่งท่านก็จะได้เรียน "รู้" ว่าอาจจะมีผลทำให้รูปร่างของท่านผอมเพรียว แต่ก็มิได้ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของท่าน และท่านก็สามารถสร้างสรรค์วิธีการดูแลรูปร่างของท่านได้ด้วยการลองเปลี่ยนไป รับประทานอาหารให้เพียงพอ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายให้เพียงพอ
ถ้า จะลองพิจารณาดูตามหลักของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์นั้น เราไม่ได้มาเน้นดูว่า ท่านเป็นคนที่สร้างคุณค่ามากต่อโลกใบนี้ตามจำนวนอายุของท่าน กล่าวคือ ยิ่งอาศัยอยู่บนโลกใบนี้นานวันมาก ก็ยิ่งมีคุณค่ามาก แต่ทว่า คุณค่าของความเป็นคนอยู่ในสิ่งที่ท่านทำท่านประพฤติปฏิบัติ ถ้าท่านสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางการทำงาน หรือผ่านทางการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าสมมติว่าท่านมีชีวิตอยู่บนผืนโลกแห่งนี้เพียงแค่วันเดียว ผมก็จะถือว่าชีวิตของท่านมีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ หรือมีคุณค่า มากกว่าบุคคลที่อาศัยอยู่บนโลกแห่งนี้นานเกือบร้อยปี แต่เป็นการอาศัยบนโลกแห่งนี้แบบอยู่ไปวัน ๆ หรืออยู่แบบซึมเศร้ากับอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ หรือวิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
เพราะฉะนั้น ที่ผมเคยเขียนกล่าวในบทความที่เขียนขึ้นในอดีตว่าเรื่องของการจัดการความรู้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันนั้น ผมคิดว่าบทสรุปนี้มิต่างอะไรกับเรื่องของเศรษฐศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ที่ว่า จริง ๆ ความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์พึงจะกระทำให้เป็นส่วนหนึ่งของ ชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนเอง การนำหลักเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ creative economy มาประยุกต์ใช้ในประเทศชาติ ก็เหมือนกับเป็นการกระตุ้นให้คนในประเทศชาติตื่นตัวและใฝ่รู้ที่จะสร้าง สรรค์สิ่งดี ๆ และถ้าคนไทยทุกคนมีความรู้สึกอยากที่จะ "สร้างสรรค์" อยู่ในใจทุกคน ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยเราจะเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความเจริญในด้านวัตถุ ที่คนไทยจะสามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีหรือวัตถุอื่น ๆ ที่เป็นสิ่งใหม่ ๆ อันเป็นประโยชน์ แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญเหนือกว่านั้นก็คือ ผมว่า จิตใจที่ฝักใฝ่ในการสร้างสรรค์ จะช่วยสร้างความเจริญทางจิตใจในประเทศชาติด้วย เพราะใจที่เปิดรับสิ่งใหม่และใจที่คิดสร้างสรรค์ มักจะเป็นใจที่มีความสุขและยอมรับในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต่างโดยสิ้นเชิงกับใจที่ยึดติดหรือมืดขุ่นหมองมัวกับสิ่งเดิม ๆ ที่ไม่ช่วยก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย และด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงขอให้สังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นและยั่งยืนอยู่ในประเทศไทยต่อ ไป