จากประชาชาติธุรกิจ
รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการเงินการคลังสำหรับการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวใน เขตกรุงเทพฯ และภูมิภาค ซึ่งสนับสนุนโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนอาคารจำนวน 50 บล็อก ซึ่งกระจายอยู่ใน 50 เขต ของกรุงเทพฯ จำนวน 1,297 ครัวเรือน มีผู้สูงอายุที่ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,623 คน จากจำนวนนผู้สูงอายุทั้งหมด 6 แสนคน พบว่าร้อยละ 90 มีการพึ่งพาระดับน้อยที่สุด ร้อยละ 5.4 มีระดับการพึ่งพามากหรือพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมด โดยในกลุ่มหลังคิดเป็นจำนวน 32,641 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมดจำนวน 24,783 คน และผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากจำนวน 7,858 คน จากการสำรวจพบว่า การดูแลผู้สูงอายุเองภายในครอบครัวลดลง ทำให้ต้องพึ่งพาสถานบริการหรือศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ แต่กระนั้นบางแห่งมีเงื่อนไขไม่รับบริการผู้สูงอายุที่มีอาการทางจิตเวช เฉลี่ยร้อยละ 68-90 กลุ่มที่มีอาการหนักบางประเภท เช่นมีอาการเสี่ยงทางกายอย่างเฉียบพลันร้อยละ 19-50 และกลุ่มที่ต้องให้ออกซิเจนร้อยละ 14-18 ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจ้างในการดูแลผู้สูงอายุ ในสถานบริการ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ผู้ที่มีใบประกาศนียบัตร เฉลี่ย 8,275 -10,633 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีประสบการณ์แต่ไม่มีใบประกาศนียบัตร เฉลี่ย 8,214-10,286 บาทต่อเดือน และกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ เฉลี่ย 8,033-9,180 บาทต่อเดือน
รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวต่อว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ พบว่า ค่าใช้จ่ายรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 หมื่นบาทต่อคนต่อปี หากเป็นผู้สูงอายุที่มีระดับการพึ่งพาสูงและต้องจ้างคนนอกดูแลทั้งหมด จะสูงถึง 1.4 แสนบาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้การคาดการณ์ต้นทุนรวมในการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวทั้งหมด 6 แสนคน อยู่ที่ 12,933 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายประจำด้านการดูแลสุขภาพหรือการดูแลชีวิตประจำวัน 8,614 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสของผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกของครัวเรือน ประมาณ 2,567 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ดูแลจากนอกครัวเรือน 783 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในสถานบริการแบบค้างคืนประมาณ 558 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์และกายอุปกรณ์ประมาณ 61 ล้านบาท และค่าซ่อมแซมบ้านเพื่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุประมาณ 348 ล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะรายการการซื้อบริการดูแลจากภายนอกครอบครัว (จ้างผู้ดูแลจากนอกครัวเรือนและใช้บริการสถานบริการแบบค้างคืน) รวมเป็น 1,341 ล้านบาท
จากผลการวิจัยดังกล่าว ได้มีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการประกันดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว รวมถึงการออกมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ควรสร้างกฎกติกาที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้สูงอายุและครอบครัวที่ จะใช้บริการจากสถานบริการหรือศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ เพื่อกำหนดกติกาที่เป็นธรรม ขณะที่ กทม. ควรสร้างศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ ในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ทั่วถึง พร้อมทั้งให้คำปรึกษากับผู้ดูแลเพื่อลดความเครียดจากการดูแลผู้สูงอายุ