จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์: |
น่าเห็นใจธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายที่กำลังถูกสังคมมองว่าเป็น ตัวปัญหาในการปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบาย ของรัฐบาล
อย่าว่าแต่ธนาคารพาณิชย์เลยครับ...แม้แต่ธนาคารของรัฐก็ถูก ยัดเยียดข้อหาดังว่านี้เช่นกัน
ที่สำคัญ...คนที่ออกมาให้ข่าวในเรื่องนี้เป็นคนที่อยู่ในตำแหน่ง ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ ทุกแห่งของประเทศนี้
แบงก์ชาติออกมาให้ข่าวทำนองนี้หลายครั้ง และครั้งสุดท้ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็คำรามฮึ่มๆ ประมาณว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ควรอ้างเรื่องติดเครดิตบูโรแล้วไม่ให้กู้ เพราะแบงก์ชาติไม่เคยกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ว่าคนที่ติดปัญหาเครดิตบูโรจะกู้ไม่ ได้ เรื่องคุณสมบัติผู้กู้เป็นเรื่องของแต่ละธนาคารเองที่จะใช้เกณฑ์ของตัวเอง พิจารณา แถมสำทับว่าแต่ละแบงก์มีนักกฎหมายมากมายย่อมรู้ว่าอะไรควรไม่ควร เพราะฉะนั้นอย่ามาอ้างนะว่าเป็นกฎของแบงก์ชาติ!!!
ติดตามข่าวนี้...ผมถึงต้องจั่วหัวแต่ต้นว่าน่าเห็นใจบรรดาธนาคารพาณิชย์และต้องรวมถึงธนาคารของรัฐที่พะอืดพะอมกับประเด็นนี้ พอสมควร
แน่นอนที่สุด สังคมต้องเชื่อถือข่าวของแบงก์ชาติมากกว่าคำแก้ตัวของเหล่าบรรดาธนาคารทั้ง หลายอยู่แล้ว ใครเป็นพระเอก...ใครเป็น ผู้ร้าย นาทีนี้ถูกฟันธงตอกฝาโลงไปเรียบร้อย
แต่ผมคิดว่ายังมีบางมิติที่สังคมยังไม่ค่อยรู้และไม่มีการพูดถึง
เดาใจนายแบงก์ทั้งหลายก็คิดว่าอยากบอกให้สังคมได้รับรู้ แต่เกรงว่าพูดไปภัยจะถึงตัว เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แต่คนพูดความจริงมากไปก็อาจตายได้เหมือนกัน
เอาล่ะ...ผมขอใช้คอลัมน์เล็กๆ นี้ช่วยนำความจริงบางด้านมาสร้างความกระจ่างและสร้างความเป็นธรรมกับคนทำงาน จำนวนมากในระบบธนาคารของบ้านเรา
พูดถึง...เครดิตบูโร ข้อมูลประวัติการเงินรายบุคคลนี้ มีคนนำไปใช้หลักๆ อยู่ 2 คน
คนแรกคือคนปล่อยกู้ทั้งส่วนของธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ เอาไปใช้เพื่อตรวจดูว่ามีหนี้รวมๆ มากน้อยแค่ไหน เป็นหนี้ที่กู้เองและค้ำประกันไว้มากน้อยเกินตัวเกินความสามารถหรือไม่ บางคนมีบัตรเครดิตกว่า 20 ใบ บางคนค้ำหนี้รถ ค้ำหนี้บ้านเต็มไปหมด ที่สำคัญหนี้เหล่านั้นถ้าปกติดีก็ไม่มีปัญหา ถือว่ามีเครดิตดี แต่ถ้าไม่...นั่นถึงจะเป็นประเด็น กรณีค้างชำระถ้ามีการปรับโครงสร้างหนี้และผ่อนได้ก็ถือว่าใช้ได้ แบงก์ทั้งหลายก็ยอมรับและให้โอกาส เพียงแค่เอาหลักฐานการจ่ายหนี้มายืนยันก็ไม่มีปัญหาอะไร
คนที่สองคือ แบงก์ชาติ ที่กำกับและตรวจสอบการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ และด้วยเหตุที่กระทรวงการคลังไปขอให้แบงก์ชาติมาช่วยตรวจแบงก์รัฐด้วย ก็เลยเหมารวมทุกธนาคารไปอยู่ในอ้อมกอด
แบงก์ชาติไม่ได้ดูเครดิตบูโรโดยตรง แต่จะดูว่าธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเครดิตบูโรก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ แบงก์ชาติจะดูประกอบเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ปล่อยกู้ลูกค้าหนึ่งราย ถ้าไม่เป็นหนี้เสียก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ากลายเป็นหนี้เสียแล้วพบว่าก่อนกู้ก็มีประวัติเครดิตบูโรไม่ดี ก็จะเจอคอมเมนต์ว่าทำไมถึงไปปล่อยกู้เพิ่มหนี้ให้อีก ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ามีประวัติการเงินไม่ดี ไม่มีความสามารถชำระหนี้เดิมได้
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดอีกนิด เช่น ผู้กู้มีประวัติค้างหนี้แค่ 1-2 หมื่นบาท มุมมองของลูกค้าบอกว่าเป็นหนี้แค่นิดเดียว ทำไมไม่ให้โอกาสขอสินเชื่อเพื่อไปสร้างรายได้เพิ่ม แต่มุมมองของคนตรวจสอบจะมองว่า...แค่หนี้ไม่กี่หมื่นยังรับผิดชอบจ่ายตาม เงื่อนไขไม่ได้ แล้วจะจ่ายหนี้ของใหม่ได้ยังไง คนพิจารณาสินเชื่อต้องใช้ความระมัดระวังและดูความเสี่ยงให้มาก
นี่ล่ะครับ ข้อเท็จจริงประมาณนี้...ธนาคารอยากช่วยลูกค้า ช่วยแล้วถ้าลูกค้าชำระคืนได้ก็ไม่มีปัญหา แต่วันดีคืนร้ายจ่ายไม่ได้ คนปล่อยกู้ก็อาจถูกเล่นงานอย่างน่าเห็นใจ
แม้ไม่มีกฎเกณฑ์ห้ามไว้ แต่ในทางปฏิบัติมันมีประเด็นซ่อนอยู่ตลอดอายุการปล่อยกู้เลยทีเดียว
หลายธนาคารถูกรายงานแบงก์ชาติคอมเมนต์เรื่องเหล่านี้จนแหยง ยิ่งแบงก์รัฐยิ่งหนาวเพราะต้องรับนโยบายในการช่วยเหลือปล่อยกู้ให้กับ ประชาชนและผู้ประกอบการในยามเศรษฐกิจไม่ดี
เรื่องนี้น่าจะทำความเข้าใจและกำหนดวิธีปฏิบัติให้ชัดเจนได้ แต่ไม่อยากให้ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบออกมาฟาดงวงฟาดงาใส่ผู้ปฏิบัติ งานเลย