จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์: |
2 ฉบับที่แล้วผมเขียนถึงการกำกับดูแลกิจการครอบครัว พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของธุรกิจครอบครัวในการเริ่มต้นธุรกิจจะ พัฒนาไปได้ 3 ระดับ คือ
ระดับ ครอบครัว ในช่วงเริ่มแรก (มักจะใช้ได้กับรุ่นที่ 1) ที่มีลักษณะเป็นที่สังสรรค์หรือพูดคุยกันในระหว่างสมาชิกในครอบครัวอยู่เสมอ เป็นการพูดคุยและสร้างสัมพันธภาพพูดคุยกันในระหว่างสมาชิกในครอบครัว มีการปรึกษาปัญหาธุรกิจ รวมถึงการปลุกความรักครอบครัวและธุรกิจของครอบครัว
ช่วงที่ 2 ก็จะมีการประชุมภายในครอบครัว (เริ่มเป็นทางการกว่าที่ผ่านมา) โดยจะเป็นการประชุมที่กำหนดเวลาให้มีการเลือกตัวแทนหรือเรื่องสำคัญที่ต้อง พิจารณา และเอกสารต่างๆ ในการลงนามผูกพัน (อาจรวมถึงการมีข้อบังคับและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น)
ช่วงที่ 3 เมื่อสมาชิกในครอบครัวใหญ่มากขึ้น ธุรกิจขยายใหญ่ขึ้น สภาครอบครัวจึงอาจมีความจำเป็น มีการกำหนดโครงสร้าง การประชุม กระบวนการตัดสินใจ และบทบาทหน้าที่ของสมาชิกครอบครัวก็จะมีความสำคัญต่อไป ซึ่งอาจต้องไปกำหนดไว้ในธรรมนูญหรือข้อพึงปฏิบัติของครอบครัว
ขณะเดียวกันก็ตั้งโจทย์ให้ช่วยขบคิดว่า สมาชิกในสภาครอบครัวควรเป็นใคร ซึ่งผมคิดว่าสภาครอบครัวก็จะต้องประกอบด้วยสมาชิกของครอบครัวทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเขย สะใภ้ และไม่ว่าจะได้ประกอบธุรกิจในครอบครัวหรือไม่ เว้นแต่ยังเป็นเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องในธุรกิจ เพื่อสมาชิกในครอบครัวจะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยเพื่อพิจารณาประเด็นกลยุทธ์การ ดำเนินธุรกิจของครอบครัว
ผมได้ทิ้งข้อคิดว่า สมาชิกสภาครอบครัวควรเป็นสมาชิกครอบครัวทุกคน แต่อาจจะไม่ใช่เป็นผู้ถือหุ้นทุกคน
เช่นเดียวกันนั้น การจัดประชุมอาจจะมีรูปแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ เช่น อาจจะเป็นการร่วมรับประทานอาหารกันทุกเดือน และมีหัวข้อที่สำคัญที่เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาพูดให้ฟัง
ประเด็นสำคัญน่าจะมีการเลือกตั้งประธานสภาครอบครัว รองประธาน ในกรณีที่มีการจัดการประชุมอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็น ทางการก็ได้
เรื่องสุดท้ายผมได้ตั้งคำถามว่า สภาครอบครัวควรจะมีที่ปรึกษา ของสภาครอบครัวหรือไม่ ผมคิดว่าการที่สภาครอบครัวใหญ่การมีที่ปรึกษาธุรกิจของครอบครัวนั้นมีความจำ เป็นอย่างยิ่ง บางคราวอาจ มีการส่งที่ปรึกษาสภาครอบครัวไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทประกอบการของบริษัท ครอบครัวก็ได้ โดยที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
(1) เป็นผู้ชำนาญทางวิชาชีพ เช่น อาจจะเป็นนักการเงิน นักบัญชี นักกฎหมาย นักการตลาด นักบริหาร ที่จะเข้าไปแนะนำปัญหาต่างๆ หรือให้แนวทางการประกอบธุรกิจครอบครัว โดยอาจเป็นเรื่องทั่วไปหรือเรื่องเฉพาะกิจ
บุคคลเหล่านี้อาจเป็นผู้อบรมให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่สมาชิกในครอบครัวในเชิงธุรกิจ
(2) บุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสมาชิกในครอบครัว โดยบุคคลเหล่านี้อาจมีความรู้ในทางวิชาชีพเฉพาะหรือทางธุรกิจก็ได้ หรืออาจเป็นผู้มีประสบการณ์ในภาคราชการ การเมือง และเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับยกย่องในสังคม
บุคคลกลุ่มนี้อาจจะช่วยเป็นตัวกลางนอกเหนือจากการพัฒนาธุรกิจของ ครอบครัวโดยมีเครือข่ายแล้ว ก็อาจเป็นบุคคลที่เป็นตัวกลางคอยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสมาชิกในครอบครัว อีกด้วย
คนที่จะมาเป็นที่ปรึกษาของสภาครอบครัวได้นั้น นอกเหนือจากความรู้ในทางวิชาชีพหรือทางธุรกิจแล้ว ก็จะต้องเป็นที่ยอมรับของสมาชิกในครอบครัวโดยส่วนใหญ่ มีประสบการณ์ มีเครือข่ายที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้ธุรกิจครอบครัวได้ด้วย โดยเฉพาะในประเทศไทยการเลือกที่ปรึกษามักจะเลือกจากข้าราชการผู้ใหญ่ หรืออดีตนักการเมืองเป็นที่ปรึกษาบริษัทบ้าง ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ในแง่เครือข่าย โดยอาจส่งไปเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาในบริษัทลูก หรือบริษัทประกอบการที่บุคคลเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้
ผมเห็นว่าหากบุคคลเหล่านี้มีความเข้าใจในบทบาทและสนใจ ศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว อาชีพที่ปรึกษาของบริษัทครอบครัวหรือสภาครอบครัวน่าจะเป็นอาชีพที่สำคัญ โดยบุคคล เหล่านี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของสภา ครอบครัวได้
ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ชำนาญหรือผู้ที่จะมาเป็นที่ปรึกษาของสภา ครอบครัวนั้น ควรจะต้องพิจารณาเลือกจากความเห็นชอบของบรรดา สมาชิกสภาครอบครัวโดยเสียงข้างมากหรือทั้งหมด เพราะที่ปรึกษาเหล่านี้ถ้าหากได้รับเลือกโดยสมาชิกสภาครอบครัวโดยเสียงข้าง มากหรือทั้งหมดแล้ว ก็ย่อมเป็นที่ยอมรับและมีบทบาทในการช่วยเหลือกิจการธุรกิจครอบครัวได้อย่าง แท้จริง โดยอาจดำเนินการในรูปกระบวนการสรรหาได้
แต่หากว่าที่ปรึกษาของสภาครอบครัวได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกคนใด คนหนึ่งก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับของคนอื่น เพราะถูกกล่าวหาว่า ไม่เป็นกลางได้ และจะทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ยากลำบาก