จากประชาชาติธุรกิจ
กางผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการของสมาคม การจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้น แต่เจ้าของบริษัทและผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ตั้งธงเอาบริษัทอยู่รอดไว้ก่อน 23.31%บอกยังไม่มีการจ่ายโบนัสปลายปีนี้ ส่วนแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนปีหน้านั้นยังเป็นไปได้ยาก หรือขึ้นเฉลี่ยไม่ถึง5% ระบุอุตฯปิโตรเลียม ก๊าซ วัสดุก่อสร้างได้ขึ้นมากสุด ส่วนโบนัสมากสุดยังเป็นอุตฯรถยนต์
แม้หลายฝ่ายจะออกมาชี้ตรงกันว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มเห็น แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ไม่ว่าจะเป็นนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ โฆษกกระทรวงการคลัง ที่ออกมาระบุว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 2552 มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนแสดงถึงทิศทางเชิงบวกของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะทำให้ทั้งปีนี้คาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะติดลบที่ 3% ซึ่งการเข้ามาเก็บรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจไทยของบริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือเอสแอนด์พี เพื่อประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอีก 1-2 เดือนนั้น คาดว่าเอสแอนด์พีจะประกาศอันดับความน่าเชื่อถือออกมาในทิศทางที่ดีขึ้น
ในขณะที่นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน กันยายน 2552 อยู่ที่ 95.5 เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 34 เดือน เนื่องจากเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน
ด้านนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายนอยู่ที่ 186.59 เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 เดือน
ส่วนนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ตอกย้ำการผลิตรถยนต์เดือนกันยายนอยู่ที่ 103,390 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.51% แต่เป็นอัตราการผลิตเกิน 1 แสนคันครั้งแรกในรอบปี และคาดว่าทั้งปีจะผลิตได้ 968,186 คัน สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ถึง 28,186 คัน
แต่ ทว่าความผันผวนของเศรษฐกิจยังส่งกลิ่นอายอยู่ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายยังตกอยู่ในอาการหวาดผวา ต้องตั้งการ์ดอยู่ตลอดเวลา การปรับค่าจ้างเงินเดือนและโบนัสจึงเป็นไปตามที่คาดการณ์กัน คือออกอาการนิ่ง และในบางอุตสาหกรรมมีแนวโน้มดิ่งลง
ผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ที่เพิ่งเปิดเผยสู่สาธารณชนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังอึมครึมอยู่ จะเห็นชัดว่าวันนี้บรรดาผู้ประกอบการ เจ้าของบริษัท และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้บริษัทของตนอยู่รอดเอาไว้ก่อน ส่วนเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนนั้นยังไม่ต้องมาพูดกัน เพราะบริษัทเองก็แทบเอาตัวไม่รอด แล้วพนักงานจะมาเรียกร้องเรื่องเงินเดือนค่าจ้างคงจะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่ นอน
นอกจากนี้ทางสมาคมเองได้จัดทำการสำรวจกลยุทธ์ในการบริหารบุคคลแบบใดที่ เอามาใช้ในช่วงเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ ผลที่ออกมาเป็นดังนี้ จากผลการสำรวจมาตรการในการบริหารบุคคลที่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ 3 อันดับแรกที่บริษัทส่วนใหญ่ทำกันก็คือ 23.31% ไม่มีการจ่ายโบนัสปลายปีนี้ เหตุผลก็คือผลประกอบการไม่ดี หรือบางทีก็อยู่ในภาวะขาดทุนมาทั้งปี เลยไม่มีทุนที่จะไปจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน 22.56% มีการลดเงินเดือนพนักงานลง ซึ่งบริษัทที่ใช้มาตรการนี้จะลดเงินเดือนพนักงานลง 15-30% และ 21.05% มีการปรับลดเวลาการทำงานลงจาก 5 วัน เหลือ 3 หรือ 4 วัน เพื่อทำให้อัตราค่าจ้างเงินเดือนลดลงตามวันเวลาที่ลดลงไป
ส่วนเรื่องของการขึ้นเงินเดือนสำหรับปีหน้านั้น ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจระบุชัดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.86 ซึ่งแนวโน้มของการขึ้นเงินเดือนตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มีแนวโน้มที่ลดลงมาเรื่อย ๆ ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลงตามลำดับ แต่หากเปรียบเทียบกับ GDP และ CPI ของตลาดที่ผ่านมาจะพบว่าการลดลงของอัตราการขึ้นเงินเดือนยังไม่รุนแรงมากนัก
ปี 2552 บริษัทขึ้นเดือนให้พนักงานเฉลี่ย 5.05% ส่วนแนวโน้มในปี 2553 บริษัทส่วนใหญ่จะขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 4.86% ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับภาวะค่าครองชีพในปีนี้ ภาวะค่าครองชีพที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีตัวเลขไว้ ณ ปัจจุบันคือ -1.9% ถ้าบริษัทขึ้นเงินเดือนให้พนักงานที่ 4.86% นั่นแสดงว่าพนักงานจะได้รับเงินขึ้นตอบแทนผลงานเพียว ๆ เลย โดยไม่มีเรื่องของค่าครองชีพที่สูงขึ้นเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เพราะในขณะนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคติดลบอยู่ ซึ่งแปลว่าสินค้าในตลาดไม่ได้แพงขึ้นในช่วงปีนี้ (อาจจะแพงไปแล้วก่อนหน้านี้)
โดยอุตสาหกรรมที่มีการปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย ให้กับพนักงานสูงสุดในปี 2553 คือกลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซ วัสดุก่อสร้าง เฉลี่ยอยู่ที่ 5.50 รองลงมาเป็นกลุ่มพาณิชยกรรม 5.33 กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มตามมาเป็นอันดับ 3 อัตราเฉลี่ย 5.22
สำหรับ โบนัสรวมปี 2553 อุตสาหกรรมที่มีอัตราการจ่ายสูงสุดได้แก่กลุ่มพาณิชยกรรม คือ 7 เท่าของเงินเดือน โดยอัตราโบนัสเฉลี่ยจ่ายกันอยู่ที่ 1-3.75 เท่าของเงินเดือน กลุ่มยานยนต์ที่เคยทำสถิติจ่ายโบนัสสูงในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.60 ............................................................................................. กลยุทธ์บริหารค่าตอบแทนยุคถดถอย
ทำดีได้ดี-โปร่งใส-จริงใจ-ยุติธรรม สำหรับกลยุทธ์ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนในช่วงเศรษฐกิจถดถอยที่นายจ้างนำมาใช้กันประกอบด้วย
1.Pay for Performance คือการจ่ายตามผลงานของพนักงานที่ทำได้ ใครที่สร้างผลงานให้กับบริษัทได้ดีกว่าจะได้รับอัตราค่าตอบแทนที่สูงกว่าคน ที่สร้างผลงานได้ในระดับที่น้อยกว่า ยิ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ด้วยแล้ว บริษัทต่าง ๆ อยากจะสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้น ดังนั้นถ้าพนักงานคนไหนสามารถสร้างผลงานให้กับบริษัท และมีส่วนทำให้บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้น ก็จะได้รับรางวัลตอบแทนสูงกว่าคนที่สร้างผลงานน้อยกว่า วิธีนี้ยังเป็นการเสริมสร้างแรงจูงใจในการสร้างผลงานของพนักงานอีกด้วย คือ "ทำดีได้ดี" แต่ข้อพึงระวังก็คือบริษัทจะต้องสร้างวิธีการในการชี้วัดผลงานที่ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับของพนักงานด้วย มิฉะนั้นวิธีนี้จะกลายเป็นการสร้างปัญหามากกว่า
2.Market Competitiveness ในการกำหนดนโยบายเรื่องของการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนนั้น บริษัทจะต้องพิจารณาจากอัตราของตลาดเป็นเกณฑ์ ไม่ควรที่จะหลับตาจ่ายค่าจ้างเงินเดือน หรือจ่ายตามใจเจ้าของบริษัท ในสภาวการณ์แบบนี้บริษัทต้องการคนเก่งและคนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานกับ บริษัท ดังนั้นการที่จะดึงดูดคนเก่งเข้ามาร่วมงานให้ได้นั้นจะต้องพิจารณาว่าอัตรา ค่าตอบแทนในงานแบบเดียวกันนั้น ตลาดเขาจ่ายอยู่ที่เท่าไร ในการขึ้นเงินเดือนประจำปี ก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาจากอัตราตลาดด้วยเช่นกัน เพราะจะเป็นการรักษาระดับการแข่งขันในเรื่องค่าตอบแทนของพนักงานในบริษัทให้ อยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับตลาดเช่นกัน เพื่อรักษาพนักงานไม่ให้เปลี่ยนงานไปอยู่บริษัทอื่นที่จ่ายมากกว่า
3.Communication การสื่อความเรื่องของนโยบายและวิธีการบริหารค่าตอบแทน การสื่อความเรื่องของค่าตอบแทนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่บริษัทส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยอยากสื่อความกับพนักงาน เพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้ตามที่สื่อ หรือกลัวว่าพนักงานจะเรียกร้อง หรือเข้าใจผิด และคิดไปเองต่าง ๆ นานา จริงๆ แต่การสื่อความเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานมีความเข้าในนโยบายและวิธี การบริหารค่าตอบแทนของบริษัทได้ชัดเจนขึ้น โดยที่พนักงานไม่ต้องคิดเอง ถ้าเมื่อใดที่พนักงานคิดเอง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือข่าวลือต่าง ๆ มากมาย และมักจะเป็นข่าวลือในทางลบ การมาแก้ข่าวเป็นวิธีการเชิงรับ ซึ่งไม่สร้างความประทับใจให้กับพนักงานเลย ฝ่ายบริหารควรใช้นโยบายเชิงรุกมากกว่า ก็คือสื่อสารในเรื่องของวิธีการบริหารค่าตอบแทนว่าบริษัทจะจ่ายอย่างไรและ จ่ายทำไม ด้วยวิธีการอย่างไรให้ชัดเจนไปเลย โดยที่ไม่เปิดโอกาสให้พนักงานต้องคิดไปเอง นอกจากนั้นยังจะได้ใจพนักงานด้วย เพราะบริษัทไม่ได้ปิดบังอะไรเลย มีอะไรก็สื่อให้ทราบทั้งหมด พอถึงเวลาจะขอความร่วมมือจากพนักงาน พนักงานก็มักจะเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
เมื่อทราบข้อมูลทั้งด้านตัวเลขแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนและกลยุทธ์ในการ บริหารค่าตอบแทนในยุคนี้แล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือนำไปประยุกต์ใช้กับแนวนโยบายและวัฒนธรรมขององค์กร โดยสิ่งที่จะต้องระลึกไว้เสมอคือความโปร่งใสและความจริงใจที่บริษัทมีให้กับ พนักงาน เพราะในยุคนี้อะไร ๆ ก็สื่อถึงกันไปหมด ไม่ว่าจะปิดบังสักแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นถ้าบริษัทโปร่งใสและจริงใจกับพนักงานแล้ว สิ่งที่บริษัทจะได้รับตอบแทนกลับมาก็คือความจริงใจและความทุ่มเทของพนักงาน ต่อองค์กร หรือที่เรียกว่า Engagement นั่นเอง