จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ สามัญ สำนึก
โดย บุญลาภ ภูสุวรรณ
หนังสือ "แพ้แล้วกลับมาชนะได้อย่างไร plus ความรู้จากสิงห์" ของสำนักพิมพ์มติชน เขียนโดยคุณจิตรา ก่อนันทเกียรติ วางแผงแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งก่อนจะมาเป็นเล่มคุณจิตราได้เขียนเรื่องนี้ใน น.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจ ในคอลัมน์ "75 ปี บุญรอดฯ กับการผ่านร้อนหนาวที่ยาวนาน"
เกร็ดความ รู้ที่สอดแทรกอยู่ในหนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่าการทำซีเอสอาร์ หรือ Corporate Social Responsibility ที่ภาคเอกชนหันมาให้ความสนใจกันทุกองค์กรเพราะเป็นดัชนีชี้วัดความรับผิดชอบ ต่อสังคมขององค์กรนั้น ๆ และเป็นเครื่องมือในการแข่งขันยุคนี้ จริง ๆ แล้วภาคธุรกิจหลายแห่งที่มีอายุยาว ๆ ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มานานแล้ว บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ หรือสิงห์ ทำมาตั้งแต่สมัยพระยาภิรมย์ภักดีเริ่มทำธุรกิจ ไม่ได้เพิ่งฮิตอย่างที่เป็นกระแสอยู่
พระยาภิรมย์ภักดีซึ่งทำธุรกิจ เดินเรือรับผู้โดยสาร ปี 2453 พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสู่สวรรคาลัย เรือเมล์ของนายบุญรอด (พระยาภิรมย์ภักดีในตอนนั้น) ได้ช่วยรับส่งคนที่นุ่งห่มสีขาวเพื่อไปสักการะพระบรมศพโดยไม่คิดเงิน
หรือในปีที่น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯถึงลานพระบรมรูปทรงม้าจนพายเรือเล่นได้ เรือของบริษัทบางหลวงของนายบุญรอดก็เข้ามาช่วยชาวสวนในคลอง
หรือ ในปี 2462 ได้ติดเครื่องสูบน้ำซึ่งมีประโยชน์ในเวลา ต่อมาเมื่อกลางปี 2465 เกิดไฟไหม้แพปากคลองโอ่งอ่างซึ่งไม่ไกลจากบ้านนายบุญรอด ไม่มีเครื่องสูบน้ำที่ไหนมาช่วย ก็ได้ยกเครื่องสูบน้ำลงเรือไปช่วยดับไฟ หลังจาก ครั้งนั้น พระยาภิรมย์ภักดี ได้ติดเครื่องสูบน้ำในเรือเมล์ไว้สำหรับช่วยเหลือประชาชนในการดับไฟ 3 ลำ
ใน ตอนนั้นอาจจะไม่เรียกสิ่งที่ทำนั้นว่า "ความรับผิดชอบต่อสังคมหรือซีเอสอาร์" แต่เป็นการทำความดีที่ช่วยเหลือสังคมหรือปัจจุบันที่มักจะเรียกว่ามีความรับ ผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจจะในฐานะเพื่อนบ้านหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแง่ธุรกิจ แต่สรุปแล้วก็เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมคนไทยได้ทำมานานแล้วโดยอิงกับธุรกิจ ที่ทำ อย่างของพระยาภิรมย์ภักดีซึ่งทำธุรกิจเรือเมล์อยู่แล้วก็ต่อยอดโดยติด เครื่องสูบน้ำเพื่อให้บริการดับไฟให้ประชาชน
แม้พัฒนาการเรื่อง ความรับผิดชอบต่อสังคมโลกจะแตกแขนงและพัฒนาไปไกลมากแล้วถึงขั้นที่มี social stock exchange และกรอบแนวคิดเรื่องนี้ก็มีหลายรูปแบบ แตกต่างกันไป
ขณะที่ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมหรือซีเอสอาร์ของภาคธุรกิจเอกชน ไทยยังแตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับที่ยัง เตาะแตะอยู่ไปจนถึงก้าวหน้ามาก ๆ จึงยังมีช่องว่างอยู่ หลายองค์กรพยายามที่จะสร้างเครือข่ายในการทำซีเอสอาร์ อย่าง CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยหวังที่จะเติมเต็มและแบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ หรือการจับมือรวมพลังทำสิ่ง ที่ดี ๆ ร่วมกันในเรื่องเดียวกันก็จะช่วยสร้างพลังแห่งการ ขับเคลื่อนให้มีพลังมากยิ่งขึ้นในการ connect for sharing
จริง ๆ แล้วความรับผิดชอบต่อสังคมทุกคนสามารถทำได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นองค์กรธุรกิจในแง่บุคคลธรรมดา การไม่ทำอะไรที่ทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับตัวเรา ก็นับว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการสร้างบ้าน สร้างโรงงาน เราจะสร้างที่ไหนก็ได้หากเราไม่ทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน ซึ่งนักผังเมืองบางท่านบอกว่า หากทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมก็ไม่จำเป็นจะต้องมีผังเมือง ไม่ต้องขีดเส้นว่าตรงนั้นตรงนี้สีอะไร ทั้งโรงงานและบ้านที่อยู่อาศัยก็สามารถที่อยู่ในบริเวณเดียวกันได้ ไม่ต้องแบ่งโซนให้ยุ่งยาก ขอแต่เพียงมีความรับผิดชอบต่อสังคมเท่านั้น
ทำ ให้นึกถึงนิคมมาบตาพุดที่เป็นปัญหามลพิษในปัจจุบัน หลายอุตสาหกรรมอาจจะมีความรับผิดชอบต่อสังคมปฏิบัติตามกฎกติกาสิ่งแวดล้อม แต่บางรายไม่รับผิดชอบ ประกอบกับคนที่บังคับใช้กฎหมาย ละเลย ปิดตากันคนละข้าง ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อคนไม่รับผิดชอบต่อสังคมมาเจอกัน ยิ่งสร้างปัญหาทวีคูณ
ปัญหาประเทศไทยมีมากมายแล้ว ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาช่วยแก้ปัญหา ใครที่คิดว่าตัวเองสร้างปัญหาก็แก้ไขที่ ตัวเองก่อน แล้วทุกอย่างมันก็จะดีขึ้นเอง