จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ CSR Talk
โดย ดร.อัศวิน จินตกานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโสกลุ่มบริษัททีม และมูลนิธิอนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย
CSR ที่น่าจะได้รับการสนับสนุนในประเทศไทย CSR ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าในบางเรื่อง แต่ก็มีบางเรื่องที่เดินหน้าช้ามาก เช่นในด้านการบริหารจัดการ ที่ดี (good corporate governance) แม้ว่าจะก้าวหน้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ทั้งนี้เป็นเพราะวัฒนธรรมไทยสอนให้คนไทยมีความเกรงใจและความเกรงกลัว "ผู้ใหญ่" และเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่มีคอร์รัปชั่นมาเป็นเวลาช้านาน คนไทยเป็นจำนวนมากจึงไม่ทราบหรือแกล้งไม่ทราบว่าอะไรคือคอร์รัปชั่น ดังนั้นการรายงานที่ไม่ "โปร่งใสนัก" เพื่อเอาใจ "ผู้ใหญ่" การให้ "เงินใต้โต๊ะ" แก่ผู้มีอำนาจจึงไม่ถูกสังคมประณามหรือไม่มีการลงโทษผู้ที่กระทำผิดในกรณี เช่นนี้มากนัก เป็นที่น่ายินดีที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงและการยอมรับการกระทำเช่นนี้จะ ค่อย ๆ ลดน้อยลง
CSR ในด้าน community develop ment (การพัฒนาชุมชน) เท่าที่ทำกันมีดังนี้
ด้าน การศึกษา มีการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีและขาดแคลน การให้หนังสือและอุปกรณ์แก่ห้องสมุด การให้อุปกรณ์การศึกษา เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องมือทดลองในห้องทดลอง ที่อำเภอ ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มีการสร้างโรงเรียนตัวอย่างที่ให้ความสำคัญแก่นักเรียนโดยให้นักเรียนเรียน ด้วยการทดลอง โดยมีครูเป็นเพียงผู้แนะนำ จากรายงานที่ได้รับ โรงเรียนนี้ประสบความสำเร็จมากและได้รับคำชมเชยจากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ในประเทศออสเตรเลีย ในด้านอื่น ๆ มีการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในหมู่บ้าน มีการช่วยเหลือในด้านสุขอนามัย การสร้างระบบน้ำประปา การสร้างส้วมให้ถูกสุขลักษณะ การพัฒนาความรู้ในเรื่องประชาธิปไตยและเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคม การผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทนจากชีวมวล ฯลฯ
แม้ว่าจะยังมีอีกมากมายผม จะขอพูดเพียงเท่านี้ เพราะท่านผู้อ่านอาจจะอ่านจนเหนื่อยและเบื่อแล้ว ผมอยากจะขอนำเข้าเรื่อง CSR เพื่อคนพิการในประเทศไทยมาเสนอท่านผู้อ่าน
CSR เพื่อคนพิการในประเทศไทย
เป็น เรื่องไม่แปลกและจริงที่มนุษย์มักจะมองไม่เห็น หรือไม่มองปัญหาที่ไม่กระทบตนหรือครอบครัวหรือคนใกล้ตัว แต่ทันทีที่ครอบครัวของตนหรือตนเองถูกกระทบ ก็จะเห็นเป็นเรื่องใหญ่ทันที และจะวิ่งเต้นแก้ปัญหาจึงทำให้การแก้ปัญหาสำหรับคนพิการดำเนินด้วยความล่า ช้า หากคนเรามีจิตใจให้คนอื่นบ้าง ปัญหาของคนด้อยโอกาสจะได้รับการแก้ไขเร็วกว่านี้ และโลกก็จะสดใสมากกว่านี้
ใน วันนี้ผมอยากจะให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงคนพิการและคนสูงอายุที่ต้องนั่งรถ เข็น อย่างคุณกฤษณะ ไชยรัตน์ (นักข่าวมนุษย์ล้อ) ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 1 แสน 5 หมื่นคนทั่วประเทศไทย คนกลุ่มนี้มีความลำบากมากที่จะเดินทางใน กทม. เพราะอาคารเป็นจำนวนมากใน กทม.ไม่มีทางลาดหรือลิฟต์ไว้บริการ
เมื่อ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552 กลุ่มมนุษย์ล้อ ทั้งคนพิการ คนสูงอายุ และคนด้อยโอกาส ได้มารวมตัวกันประมาณ 100-200 คน ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยามสแควร์-มาบุญครอง เพื่อจัดตั้งเป็นกองกำลังมนุษย์ล้อ ออกเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค โดยใช้ชื่อปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "กองทัพมนุษย์ล้อ ปฏิวัติสังคมไทย เพื่อความเสมอภาค และเท่าเทียม" โดยกองทัพมนุษย์ล้อได้ออกลาดตระเวนสำรวจตรวจสอบดู "สิ่งอำนวยความสะดวก" ที่จำเป็นต่อการดำรง ชีวิตปกติของคนพิการ และมนุษย์ล้อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางลาดขึ้น-ลง ฟุตปาททางเท้า ทางลาดขึ้น-ลงตึกอาคารสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนที่จอดรถมนุษย์ล้อ ห้องน้ำคนพิการ และลิฟต์ขึ้น-ลงตึก-อาคาร และสถานีรถไฟฟ้า ชานชาลาต่าง ๆ เป็นต้น
ท่านนักธุรกิจที่สนใจที่จะทำ CSR ไม่ต้องไปหาโครงการในที่กันดารหรอกครับ ขอเพียงรับคนพิการที่มีความสามารถเข้าไปทำงานตามพระราชบัญญัติฟื้นฟู สมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2550 ท่านก็จะทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกมีค่ามีความภาคภูมิใจและมีศักดิ์ศรีขึ้นมา ทันที
บทสรุป
CSR ที่ดำเนินการทั่วโลกมีหลากหลาย แต่ละชุมชนมีความต้องการไม่เหมือนกัน และบริษัทที่ให้ความช่วยเหลือต่างก็มีจุด มุ่งหมายที่ต่างกัน การผสมผสานกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมจะต้องใช้ความสามารถและความ พยายามอย่างมาก แต่ที่แน่ ๆ ท่านที่ได้ร่วมจะได้รับความพึงพอใจและความสุขอย่างมาก
ในปัจจุบัน ความพยายามที่จะลดก๊าซ เรือนกระจกเป็นโครงการ CSR ที่เร่งด่วนที่สุด และถ้ารัฐบาลและเอกชนไม่ร่วมมือกัน ก็จะทำให้บุตรหลานของท่านต้องได้รับความลำบาก ที่คนรุ่นเราได้สร้างกรรมให้ แก่เขา
บริษัทและองค์กรที่มีความสนใจในการที่จะร่วมกิจกรรม CSR ควรมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าต้องการร่วมทำ CSR เพื่ออะไร และมีความมุ่งมั่นเพียงใด เพื่อความยั่งยืนของโครงการ ชุมชนเป้าหมายควรจะรับรู้และมีส่วนร่วมในโครงการตั้งแต่แรก ควรมีการรับฟังความเห็นและความต้องการของชุมชนตั้งแต่แรก และต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมในชุมชนนั้นด้วย
อย่านึกเอาเองว่าเรารู้ ปัญหาและความต้องการของเขาแล้ว ผู้ดำเนินการโครงการ CSR จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และวางแผนในการถอนตัวจากโครงการชุมชนว่าจะกระทำเมื่อใดและอย่างไร พนักงานในองค์กรควรเข้าใจวัตถุประสงค์ของ CSR และควรสนับสนุนโครงการด้วยความเต็มใจ
ทั้งยังต้องวางกลยุทธ์ให้ดี และควรทำอย่างต่อเนื่อง และดำเนินโครงการโดยไม่ท้อแท้แม้ว่าโครงการจะเดินช้ากว่าที่ควร หากบริษัทไม่มีความคุ้นเคยกับชุมชนที่สนใจจะเข้าไปทำ CSR บริษัทควรทำงานร่วมกับมูลนิธิหรือองค์กรเอกชน (NGO) ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนนั้น ๆ เพื่อให้การดำเนินการมีพลังยิ่งขึ้น