สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Thailand Tomorrow : พลวัตธุรกิจ ขับเคลื่อนประเทศไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



"กรุงเทพธุรกิจ" จะนำเสนอมุมมองของ "ผู้นำ" ทางความคิดในแวดวงต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางประเทศในวันพรุ่งนี้

โดยเริ่มต้น ข้อเสนอของ "ประเวศ วะสี" ในหัวข้อ "พลวัตธุรกิจขับเคลื่อนประเทศไทย แนวทางรัตนโกสินทร์"

ในยามที่ประเทศไทยอ่อนล้า ติดอยู่ในหลุมดำแห่งวิกฤตการณ์ และเสี่ยงต่อการเกิดมิคสัญญีกลียุค จำเป็นต้องมองหาพลังที่จะมาขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากสภาวะวิกฤติไปสู่จุดลง ตัวใหม่ พลังจากภาคส่วนต่างๆ ดูเหมือนจะใช้ไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง ภาคราชการ ภาควิชา ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน แต่ยังมีอีกภาคส่วนหนึ่งซึ่งมีพลังมหาศาล แต่ยังไม่ได้นำมาใช้เพื่อการพัฒนา นั่นคือภาคธุรกิจ เราติดอยู่ในความเคยชินของการคิดแบบแยกส่วน ว่าธุรกิจก็เพื่อธุรกิจ ควรคิดแบบเชื่อมโยงว่าธุรกิจนอกจากเพื่อธุรกิจแล้ว ธุรกิจยังเพื่อพัฒนา (Business for development) ได้ด้วย เราจะลองมาดูเรื่องพลวัตธุรกิจขับเคลื่อนประเทศไทยกันดู

พละ 4 หรือ จตุพละธุรกิจ

พลังของภาคธุรกิจที่เป็นจุดเด่นต่างจากภาคอื่นๆ มีอย่างน้อย 4 ประการ คือ

1. พลังคนที่มีคุณภาพ ตามธรรมชาติของภาคธุรกิจกำลังคนที่มีคุณภาพ คือ ความอยู่รอด ภาคธุรกิจจึงขวนขวายแสวงหา พัฒนา ทะนุบำรุงคนที่มีคุณภาพ จนสรุปในด้านหนึ่งก็ได้ว่า ภาคธุรกิจคือ สถาบันพัฒนาคน ในเรื่องนี้ภาคราชการอ่อนแออย่างยิ่ง ภาคธุรกิจทั้งหมดรวมกัน เป็นเสมือนกองทัพที่มีพลังกำลังคนที่มีคุณภาพ จำนวนมโหฬารยิ่งกว่าภาคใดอื่น เป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศไทยที่มีจำนวนและคุณภาพสูงที่สุด

2. พลังแห่งการใช้และสร้างความรู้ Peter Drucker ปรมาจารย์แห่งวิชาการการจัดการ กล่าวว่า “Management is utilization of knowledge to create knowledge” การจัดการนั้นต้องใช้ความรู้และต้องสร้างความรู้ทุกขั้นตอน ดูเรื่องการตลาดก็ได้ ที่มีพลังอย่างยากที่จะมีอะไรทานได้ เพราะใช้การวิจัยตลอดเวลา ภาคอื่นๆ นั้นใช้อำนาจมากว่าการใช้ความรู้ จึงทำอะไรไม่ค่อยสำเร็จ เพราะการใช้ความรู้และสร้างความรู้ในการทำการ การจัดการจึงทรงพลังอย่างยิ่งในการทำให้เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ (Mangement makes the impossible possible) อะไรที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้ใส่การจัดการเข้าไปจะทำให้เป็นไปได้ การจัดการจึงเป็นปัญหาที่ทำให้สำเร็จหรืออิทธิปัญญา (อิทธิ = สำเร็จ) ภาคธุรกิจมีพลังในการจัดการหรืออิทธิปัญญามากว่าภาคใดๆ ทั้งหมด ในปัญหาที่ซับซ้อนและยากของประเทศใช้อำนาจได้ผลน้อย (Power is less and less effective) ควรจะนำพลังของการจัดการหรืออิทธิปัญญาเข้าไปใช้

3. พลังแห่งการสื่อสาร การสื่อสารทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง ภาคธุรกิจชำนาญในการใช้การสื่อสาร ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด พฤติกรรมคนนั้นเปลี่ยนยากสุดๆ แต่ภาคธุรกิจชำนาญการเปลี่ยนพฤติกรรมคนในการบริโภคมากกว่าภาคอื่นๆ แม้ภาคการศึกษาหรือภาคการศาสนา ในการขับเคลื่อนประเทศไทยจะต้องใช้พลังในการสื่อสารเป็นอย่างมาก ภาคธุรกิจจะทำเรื่องนี้ได้ดีกว่าภาคอื่นๆ

4. พลังทางนวัตกรรม ธรรมชาติของธุรกิจนั้น ถ้าทำอะไรแล้วได้กำไร แต่ยังทำอย่างเดิมต่อไปจะขาดทุน เพราะอะไรๆ เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นเพื่อความอยู่รอดธุรกิจจะต้องมีนวัตกรรมตลอดเวลา ตรงนี้มีสัจธรรมที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นอนิจจัง คือ เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเรายังทำอะไรแบบเดิม ก็จะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงใหม่ ลองไปดูสถาบันต่างๆ ในสังคมดูสิครับ ล้วนยึดมั่นถือมั่นในวัตรปฏิบัติแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ราชการ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ขาดพลังทางนวัตกรรม เป็นเหตุให้บ้านเมืองติดขัดมาจนถึงชายขอบแห่งความล่มสลายแล้ว มีความต้องการนวัตกรรมในแทบทุกด้าน ภาคธุรกิจจะเป็นพลังทางนวัตกรรม

เมื่ออธิบายมาถึงขั้นนี้แล้ว คงจะไม่มีใครปฏิเสธพลัง 4 หรือ จตุพละธุรกิจ ว่ามีศักยภาพเหนือภาคอื่นอย่างไร พลังเป็นเครื่องมือ การที่จะใช้เครื่องมือให้เกิดประโยชน์มากขึ้นกับ

- วิธีคิด

- จุดมุ่งหมายปลายทางและเส้นทาง

- การออกแบบ

ซึ่งเป็นเรื่องที่จะคุยต่อไป ดังนี้

เป็นก้อนหรือเป็นคลื่น

การเป็นก้อน คือ ตายตัว เป็นเอกเทศ แยกส่วน

การเป็นคลื่น คือ ความเคลื่อนไหวเชื่อมโยง

มนุษย์นั้นมักคิดแบบตายตัว แยกส่วน อันนำไปสู่ความสุดโต่ง คนยุโรปก็คิดอย่างนั้น อย่างมาก ทำนองว่า ถ้าเป็น 1 ก็ไม่ใช่ 0 ถ้าเป็น 0 ก็ไม่ใช่ 1 แบบวาทะอันลือลั่นของบุชที่ว่า “ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา คุณก็เป็นศัตรูของเรา” การคิดแบบตายตัวและแยกส่วนนำไปสู่ความติดขัด ขัดแย้ง และ รุนแรง ดังที่เป็นอยู่ในโลก

วิทยาศาสตร์ก็คิดแบบแยกส่วนตายตัว เพิ่งมาเมื่อไม่ถึง 100 ปีนี่เอง ที่วิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าหรือวิทยาศาสตร์ใหม่พบว่า มันไม่จริงเสียแล้ว สรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเชื่อมโยง เช่น อิเล็กตรอนเป็นอนุภาคหรือเป็นคลื่น ถ้าความคิดแบบแยกส่วนตายตัวก็ว่า ถ้าเป็นอนุภาคก็ไม่ใช่คลื่น ถ้าเป็นคลื่นก็ไม่ใช่อนุภาค แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบและถึงกับช็อกเลยว่า อิเล็กตรอนมันเป็นทั้งอนุภาคและคลื่นในขณะเดียวกัน

ส่วนทางพุทธนั้น ค้นพบมากว่า 2,500 ปีแล้ว ว่า สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง คือ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเชื่อมโยง ตามเหตุปัจจัยที่เรียกว่า หลักอิทัปปัจจยตา การคิดแบบนี้บางทีก็เรียกการคิดแบบเป็นกลางตามธรรมชาติ หรือมัชฌิมาปฏิปทา

การคิดแบบแยกส่วนและการพัฒนาแบบแยกส่วนนำไปสู่ความติดขัดและวิกฤติและเรา คิดแบบแยกส่วนหมดเลย การศึกษาก็แยกเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การศึกษาก็แยกส่วนไปเอาวิชาเป็นตัวตั้งไม่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง การพัฒนาก็คิดว่าคือการพัฒนาเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อม พระก็อยู่ส่วนพระไม่เกี่ยวกับฆราวาส การเมืองก็เป็นเรื่องของนักการเมืองเท่านั้น

การชำแหละออกเป็นส่วนๆ คือ การทำให้สิ้นชีวิต เช่น ชำแหละโค ชำแหละสุกร

ความมีชีวิตเกิดจากการเชื่อมโยง

การพัฒนา คือ การเชื่อมโยง

การคิดแบบเป็นกลางตามธรรมชาติ หรือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เข้าไปตีตรา (label) ว่าอะไรเป็นอะไรแบบตายตัว เช่นว่า เป็นทุนนิยม หรือสังคมนิยม หรือมองอะไรเป็นขาวเป็นดำ เป็นบวกเป็นลบ แล้วยกเข้าโค่นล้มทำลายกัน เพราะสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย การพัฒนาตามแนวทางมัชฌิมาปฏิปทาจึงไม่ทำโดยการใช้อำนาจ เพราะการใช้อำนาจทำให้แยกส่วนตายตัว ซึ่งแก้ปัญหาที่ซับซ้อนไม่สำเร็จ แต่ใช้การเรียนรู้และปัญญา ด้วยศรัทธาในความเป็นมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพสูงในการเรียนรู้และมี เมล็ดพันธุ์แห่งความดีในหัวใจ

ด้วยแนวคิดเชื่อมโยงสัมพันธ์ตามหลักทางสายกลาง เราจะไม่คิดถึงภาคธุรกิจแบบตายตัวแยกส่วนอีกต่อไป ว่าธุรกิจก็เพื่อธุรกิจเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการพัฒนา แต่คิดว่าธุรกิจเพื่อธุรกิจด้วย และธุรกิจเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้วย ทำนองเดียวกับอิเล็กตรอนเป็นทั้งอนุภาคและคลื่นในขณะเดียวกัน

ถ้าจับแนวคิดแบบเป็นกลางตามธรรมชาติ หรือความเป็นปัจจัยเชื่อมโยงกันทั้งหมดทั้งสิ้น ภาคธุรกิจก็จะเป็นพลังมหาศาลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย เพราะพละ 4 หรือ จตุพละธุรกิจ ดังกล่าวข้างต้น

อนาคตประเทศไทยแนวทางรัตนโกสินทร์

การมองอนาคตประเทศไทย จะมองเฉพาะการรักษาตามอาการ แบบตัดแปะนั่นนี่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นไม่ได้ เพราะวิกฤตการณ์ประเทศไทย และวิกฤตการณ์โลกเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เป็นวิกฤตการณ์อารยธรรม จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ใหญ่เห็นความเป็นไปทั้งหมด และทิศทางใหม่ที่จะต้องเป็นไป

ความเจ็บป่วยทุกชนิดเกิดจากการเสียดุลยภาพ

อะไรที่เสียดุล ก็ไม่ปกติ วุ่นวาย ล่มสลาย เสมือนร่างกายของเราถ้ากายใจและความสัมพันธ์กับภายนอก ถูกต้องลงตัวมีดุลยภาพ เราก็มีความเป็นปกติ สุขสบายดีและอายุยืน แต่ถ้ามีอะไรที่รบกวนหรือทำลายดุลยภาพ เช่น เชื้อโรค เซลล์มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน สารพิษ อุบัติเหตุ เราก็ไม่สบาย หรือไม่สบายอย่างยิ่ง และถึงชีวิตสิ้นสุดลงได้

ประเทศไทยป่วยและโลกป่วย เพราะเสียดุลยภาพอย่างรุนแรง แนวทางการพัฒนาปัจจุบัน ถึงจะมีเหตุผลดีเพียงใด ก็นำไปสู่การเสียดุลยภาพอย่างรุนแรง

เพราะคิดแบบแยกส่วนและทำแบบแยกส่วน อะไรที่ทำแบบแยกส่วนจะนำไปสู่วิกฤตการณ์เสมอ เพราะทุกส่วนต้องเชื่อมโยงอย่างบรรสานสอดคล้อง แล้วไปทำแบบแยกส่วนโดยไม่คำนึงถึงความบรรสานสอดคล้อง ก็จะรบกวนดุลยภาพของส่วนรวม

การสูญเสียดุลยภาพนั้นเห็นได้ในทุกมิติ เช่น

- การเสียดุลยภาพระหว่างกายกับใจ

- การเสียดุลยภาพทางสังคม

- การเสียดุลยภาพทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

- การเสียดุลยภาพทางเศรษฐกิจ

- การเสียดุลยภาพทางการเมือง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

- การเสียดุลยภาพระหว่างประชากรและทรัพยากรที่มีในโลก

การเสียดุลยภาพเกิดจากสภาพจิตเล็กของมนุษย์ที่ไม่สามารถเห็นทั้งหมด จึงเห็นเฉพาะ

ส่วน เช่น เห็นเฉพาะตัวและพวกของตัว เพราะเห็นเล็กจึงเข้าไปสู่ความเชื่อว่าความโลภนั้นดี (Greed is good) เพราะทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจ แต่ในที่สุดระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความโลภก็ล้มครืนลง

โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอกุศลมูล

อกุศลมูล นำไปสู่ความดีนั้นไม่มี

อย่าไปหวังลมๆ แล้งๆ ว่าการอัดฉีด (bail out) เข้าสู่ระบบการเงินจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว อาจฟื้นชั่วคราวและก็พังอีก จะพังซ้ำแล้วซ้ำอีก ตราบใดที่วิถีทางยังเป็นวิถีที่ขาดดุลยภาพ ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่เชื่อมโยงกันหลายมิติ ซับซ้อน และเกิดเป็นระบบซับซ้อน (Complex system) ความโกลาหล (Chaos) ไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่เกิดขึ้นเป็นประจำ อะไรที่เกิดผิดปกติขึ้นที่ไหน อย่างไม่มีใครควบคุมได้ ก็จะส่งผลกระเพื่อมมาตามความเชื่อมโยง ขยายใหญ่มีผลร้ายใหญ่โตและที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก” ความโกลาหลอันพยากรณ์ไม่ได้ส่งให้ชีวิตมนุษย์ขาดความมั่นคง การถูกปลดออกจากงาน และการว่างงานเป็นสิ่งที่สั่นสะเทือนจิตวิญญาณของมนุษย์อย่างถึงรากถึงโคน ลองดูตัวอย่างเมืองดีทรอยต์ที่อดีตเคยรุ่งเรือง บัดนี้กำลังเป็นนครร้างที่มีการว่างงานถึง 28.6 เปอร์เซ็นต์

มนุษย์มีความจำกัดในความทนทานต่อการเสียดุลยภาพ

ความจำกัดนี้จะทำให้การพัฒนาแบบเสียดุลยภาพดำเนินต่อไปไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ กำลังก่อตัวขึ้น เป็นบุพภาคของสิ่งใหม่ที่กำลังจะผุดบังเกิดขึ้น กระแสใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น คือ

- กระแสจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness)

- กระแสชุมชนเข้มแข็ง

- กระแสเศรษฐกิจดุลยภาพ เช่น เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) CSR ทุนนิยมที่มีจิตวิญญาณ (Conscious Capitalism) เป็นต้น

(ฉบับพรุ่งนี้มาติดตามรายละเอียดกันต่อถึง อนาคตประเทศไทยแนวทางรัตนโกสินทร์)

Tags : ประเวศ วะสี

view