จากประชาชาติธุรกิจ
ผู้ ป่วยที่มีอาการคันของผิวหนัง พบว่า เป็นโรคทางกายภายใน ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการคันร่วมด้วย .... การรักษาจึงต้องหาต้นตอของโรคภายใน ไม่เช่นนั้น รักษาไม่หายขาด ทั้งยังทำให้โรคภายในทรุดลงเรื่อยๆ
นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยในบทความวิชาการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ (วารสารคลินิก) ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2552 นี้ว่า ผู้ป่วยคันเรื้อรังร้อยละ10 – 50 พบว่ามีโรคทางกายภายในที่เป็นสาเหตุของอาการคันร่วมด้วย จึงควรได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการรักษาที่เหมาะสม การตรวจที่อาจทำคือ การตรวจนับเม็ดเลือด ในรายที่สงสัยว่าคันจากโรคโลหิตจางจากการขาดเหล็ก คันจากโรคมะเร็งเม็ดเลือด, ตรวจค่าครีอาตินีนและ BUN ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคไต, การตรวจหาเอ็นซัยม์ตับ, ตรวจหาระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์, ตรวจหาระดับน้ำตาล เพื่อหาว่าเป็นเบาหวานร่วมด้วยหรือไม่ ตรวจอุจจาระ ถ้าพบเลือดอาจเป็นมะเร็งระบบทางเดินอาหาร พบไข่พยาธิอาจคันจากการติดเชื้อพยาธิ, การตรวจหา HIV antibody ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นเอดส์ การขูดผิวหนังเพื่อหาเชื้อราหรือหิด และการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ดังนั้นการรักษาอาการคันจากโรคภายในจึงขึ้นกับสาเหตุ หากไม่รักษาสาเหตุต้นตอของโรคภายใน อาการคันก็ไม่หายขาดและโรคภายในก็จะทรุดลงเรื่อยๆ ในผู้ป่วยที่คันจากโรคไตแพทย์อาจพิจารณาฉายแสงยูวีบี, ให้ยาทาลดอาการคันเฉพาะที่, ยากิน, การล้างไตช่วยลดอาการคันลงได้, ในรายที่คันจากโรคตับมียาเฉพาะเช่น cholestyramine, อาการคันจากโรคเลือดจากการขาดเหล็กแก้ไขด้วยการเสริมเหล็ก แพทย์อาจให้ยา aspirin ในผู้ป่วยโรคเลือดข้นผิดปกติที่มีอาการคัน, อาการคันจากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเป็นผลจากผิวแห้ง รักษาด้วยครีมให้ความชุ่มชื้น และเสริมฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร เตือนว่า พบบ่อยว่าผู้ที่คันเรื้อรังอาจหาซื้อยามากินเอง เช่น ยาชุด ยาสมุนไพร ยาหม้อ ยาแผนโบราณ ยาลูกกลอน ยาพระ โดยผู้ที่ใช้ส่วนใหญ่เข้าใจว่าปลอดภัย แท้จริงแล้วอาจมีอันตรายได้เช่นกัน พบว่ายาชุด, ยาสมุนไพรหลายขนานมีการเจือปนสารอันตรายเช่น สเตียรอยด์ และสารหนูลงไป สเตียรอยด์ขนาดสูงทำให้หน้าบวมเป็นดวงจันทร์ คอมีหนอก ผิวแตกลาย ผิวฝ่อ เลือดออกในกระเพาะอาหาร กระดูกผุ, ติดเชื้อง่ายขึ้น,น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการทรุดลง การใช้สเตียรอยด์อาจทำให้อาการดีขึ้นช่วงแรก แต่เมื่อไม่ได้รักษาตรงจุดในที่สุดโรคจึงทรุดลง และยังมีข้อแทรกซ้อนจากยาอีกมาก ผู้ป่วยที่คันเรื้อรังจึงควรรับการตรวจอย่างละเอียด เพื่อการวินิฉัยและหาสาเหตุร่วมจากโรคภายในอย่างตรงจุด ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางตามความเหมาะสมเช่น ปรึกษาแพทย์โรคผิวหนัง อายุรแพทย์ แพทย์โรคทางเดินอาหาร แพทย์โรคเลือดและโรคมะเร็ง แพทย์โรคต่อมไร้ท่อ จิตแพทย์ และศัลยแพทย์ และแม้จะตรวจไม่พบสาเหตุใดๆ ก็อาจต้องรับการตรวจซ้ำทุกๆ 3-6 เดือน