จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯย้ำมั่งคั่งกระจุกตัว,ระบบรวมศูนย์-คณาธิปไตย คือเหตุเลื่อมล้ำขัดแย้ง ชี้สร้างมิติการคลัง,ปชต.ที่ถูกทิศทาง สร้างสังคมแฟร์ได้
ระบุ ตัวชี้วัดความมั่งคั่งปี 49 กลุ่มรวยสุด20% มีทรัพย์สินรวม 69%ของทั้งประเทศ จนสุด20% ทรัพย์รวมกันแค่1% สถิติธปท. มิ.ย.52 ร้อยละ42 เงินฝาก7หมื่นบัญชีๆ ละกว่า10ล้านบาท ถ้ามีคนละ 2บัญชีจะเท่ากับ42%ของประเทศหรือแค่ 35,000คน ตัวชี้วัดถือหุ้นปี2538-2542 ครอบครัวถือหุ้นสูงสุด 11ตระกูล เช่น มาลีนนท์ ชินวัตร ดำรงชัยธรรม จิราธิวัฒน์ ดัชนี้ที่ดินถือครองมากสุด 50อันดับ เฉลี่ย10% ของแต่ละจังหวัด ไม่มีที่ดินเลย20% มีน้อยกว่า10 ไร่42%ของประชากร
วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2552 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก นางผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาเรื่อง “สู่สังคมที่ยอมรับกันว่าแฟร์(Fair)” โดยกล่าวถึงการที่คนในสังคมต้องปรึกษาหารือเพื่อหาความเห็นพ้องต้องกันเป็น เรื่องที่สำคัญมาก สังคมที่ยอมรับกันว่าแฟร์ ไม่จำเป็นต้องเท่าเทียมกันทั้งหมด แต่ต้องเท่าเทียมกันในเรื่องโอกาส ความมั่นคงในชีวิต การมีส่วนร่วมทางการเมือง และลูกหลานจะมีอนาคตที่แจ่มใสพอๆ กัน
ปัจจัยสำคัญที่ต้องมี คือ ระบบรัฐบาลตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ ได้อย่างสมดุล กลไกสำคัญที่เป็นเครื่องมือ คือ นโยบายการคลัง การเก็บภาษีและจัดสรรเงินภาษีเพื่อทำนุบำรุงเศรษฐกิจ และประชาธิปไตย หากรัฐบาลไม่สามารถบรรลุเป้าดังกล่าวได้ สังคมนั้นๆ ก็จะไปสู่ ความไม่เท่าเทียมกัน ที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น จนกลายเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งระหว่าง ความมั่งมีมหาศาลและคนชั้นกลางฝ่ายหนึ่ง กับคนจนส่วนใหญ่อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่รอวันปะทุ ซึ่งขณะนี้ปัญหาทางการเมืองไทยก็มีต้นตอจากความเหลื่อมล้ำนั่นเอง
นางผาสุก กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจสูง หากดูตัวชี้วัดเรื่องความมั่งคั่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) แสดงข้อมูลปี 2549 เกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัวไทยกลุ่มต่างๆ พบว่า ครอบครัวกลุ่มรวยที่สุด ร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 69 ของทั้งประเทศ ขณะที่ครอบครัวจนสุด ร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกัน แค่ร้อยละ 1 แสดงถึงความมั่งคั่งกระจุกตัว
ถ้าดูจากเงินออมในธนาคาร สถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทยเดือนมิถุนายน 52 พบว่า ร้อยละ 42 ของเงินฝากมาจากประมาณ 7 หมื่นบัญชีมีเงินมากกว่า 10 ล้านบาทต่อบัญชี คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของจำนวนบัญชีทั้งหมดในประเทศ ซึ่งปกติคนๆ หนึ่งมีบัญชีมากกว่า 1 บัญชี สมมติว่าโดยเฉลี่ยมีคนละ 2 บัญชี ก็เท่ากับ ร้อยละ 42 ของประเทศมีคนเพียง 35,000 คน เป็นเจ้าของ แสดงถึงนัยการกระจุกตัวของรายได้ที่สูงมาก
ขณะที่ตัวชี้วัดเรื่องการถือหุ้น การสำรวจในปี 2538-2542 กลุ่มครอบครัวที่ถือหุ้นสูงสุดของประเทศ 11 ตระกูล ผลัดกันเป็นเจ้าของหุ้นมีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก เช่น มาลีนนท์ ชินวัตร ดำรงชัยธรรม จิราธิวัฒน์ เป็นต้น
ส่วนดัชนี้เรื่องที่ดิน ข้อมูลของกรมที่ดินพบว่า การถือครองที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรก มีที่ดินโดยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 10 ของที่ดินในแต่ละจังหวัด หรือกลุ่มที่ไม่มีที่ดินเลย มีประมาณร้อยละ 20 หากรวมกลุ่มที่มีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ ก็จะสูงถึงร้อยละ 42
จากสถิติทั้งหมด แสดงถึงความมังคั่งในสังคมสูงอยู่ในมือคนจำนวนน้อยมากคงจะไม่ถึงร้อยละ 10 ของประเทศ และคนกลุ่มเหล่านี้ ลูกหลานก็มักจะมาแต่งงานดันด้วย หรือหากจะดูรายได้ครัวเรือนเป็นรายภาค พ.ศ.2550 กทม.อยู่ที่ 187.6 ขณะที่ภาคอีสาน 69.6
ส่วนเหตุสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง นั้น เนื่องมาจากระบบราชการรวมศูนย์ การเมืองคณาธิปไตย ทหารพาณิชย์ ประชาธิปไตยแต่ในนาม กองทัพทำรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ นับว่าเป็นการขัดขวางสู่ความเป็นประชาธิปไตยในทางหนึ่ง
จากการศึกษา ความเหลื่อมล้ำในช่วงแรก พบการออมกระจุกตัวในคนกลุ่มน้อยที่สามารถลงทุนหารายได้ ได้มากกว่าคนอื่นๆ แม้ต่อมาจะมีพ.ร.บ.ประกันสังคม ก็มีผลเพียงร้อยละ 14 ของคนทั้งประเทศ คนจำนวนน้อยสามารถกุมอำนาจไว้ได้ แต่ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว มักไม่ประสบปัญหาดังกล่าวมาก เนื่องจากมีการใช้ระบบภาษีอัตราก้าวหน้าและเงินโอน รวมถึงมีสหภาพแรงงานต่อรองกับนายจ้าง โดยเฉพาะญี่ปุ่น จะมีปัญหาการเหลื่อมล้ำในสังคมน้อยมาก
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นปฏิรูปการเมืองยอมให้พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายสีสรรพ์ มีส่วนร่วมในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย การปฏิรูปที่ดิน การล้มเลิกชนชั้นอภิสิทธิ์ และมีการสนับสนุนให้สหภาพแรงงานมีการต่อรองกับนายจ้าง มีการนำภาษีมรดกมาใช้
นางผาสุก กล่าวต่อว่า ขณะที่ปัญหาระบบภาษีของไทย มีลักษณะพึ่งภาษีทางอ้อมมาก ภาษีทางตรงมีคนเสียน้อย ไม่ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำ และระบบภาษีเป็นภาระกับคนจนมากกว่าคนรวย ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องมีระบบภาษียอมรับกันว่าแฟร์ คือ ไม่ได้หมายความว่า ต้องเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อเอาไปให้คนจนสถานเดียว แต่คนรวยกว่าน่าจะจ่ายได้มากกว่า คือ จ่ายตามฐานะ
"ระบบภาษีที่ดี จะต้องไม่ส่งผลเสียต่อแรงจูงใจอย่างมากมาย จนทำให้มีการขนถ่ายเงินทุน หรือย้ายไปอยู่ในประเทศอื่นที่เก็บภาษีต่ำกว่า หลักการน่าจะเป็นว่า ทุกคนต้องเสียภาษี อาจจะจ่ายตามฐานะ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์มากจากการใช้จ่ายภาครัฐ ก็น่าจะยอมจ่ายภาษีเป็นสัดส่วนต่อรายได้สูงกว่าคนที่ได้รับประโยชน์น้อยกว่า นอกจากนี้ ระบบภาษีควรจะรวมถึงมาตรการที่บังคับให้ผู้ที่มีความมั่งคั่งล้นเกิน ใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์เพื่อช่วยสร้างผลผลิตและจ้างงาน ไม่ใช่เก็บเอาไว้เพื่อเก็งกำไรหรือเป็นเสือนอนกิน ทั้งนี้ มาตรการการคลังต้องพิจารณาทั้งระบบภาษีในทางตรงและทางอ้อม และการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งภาระภาษีของไทยมีความไม่แฟร์เกิดขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับต่างชาติ ซึ่งถ้าอัตราภาษีทางอ้อมสูง เท่ากับว่าภาษีเป็นภาระต่อคนจนมากกว่าคนรวย ของไทยลี่ยนที่ร้อยละ 60 แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วเฉลี่ยที่ร้อยละ 50"
นางผาสุก กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาษีทางตรงแม้ไทยจะมีอัตราภาษีก้าวหน้าในปัจจุบันคือร้อยละ 37 แต่มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียงร้อยละ 4 เพราะรัฐบาลมีการลดหย่อยภาษีมาโดยตลอด ซึ่งต้องมีการทบทวนนโยบายดังกล่าว อีกทั้งมีการหลีกเลี่ยงภาษีกันมาก กระทรวงการคลังต้องมีการปฏิรูประบบภาษี ทั้งนี้ ภาษีทางตรงอื่นๆ ที่ต่างประเทศใช้เพื่อเป็นมาตรการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ของไทยยังไม่มีหรือยังไม่พัฒนาคือ ภาษีทรัพย์สิน ภีมรดก ภาษีเก็บจากรายได้การขายหุ้น ภาษีรายได้จากดอกเบี้ย ทำให้ภาพรวมระบบภาษีของไทยพึ่งภาษีทางอ้อมมากกว่าทางตรง จึงส่งผลให้เรามีระบบภาษีไร้ประสิทธิภาพ เป็นภาระแก่คนจน ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วที่จะได้รับเงินจากภาษีทางตรงเป็นหลัก
นางผาสุก กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐ ปัจจัยหลักที่ดำนหนดการแบ่งสรร คือ อำนาจ ซึ่งก็มีการปรับตัวตามกาลสมัย และระบอบการปกครองและสถานการณ์ แต่รายจ่ายภาครัฐของไทย คิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีแล้ว ยังต่ำมากคือเพียง ร้อยละ 18 ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่ร้อยละ 36 และรายจ่ายยังเน้นไปที่เงินเดือนข้าราชการ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
งานศึกษาพบว่า การใช้จ่ายของรัฐบาล สามารถทำให้การกระจายรายได้มีความเท่าเทียมกันเพิ่มขึ้นได้ โดยนพบว่า การใช้จ่ายเพื่อการศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุด ตามมาด้วยเพื่อการรักษาพยาบาล และการใช้จ่ายเพื่อภาคเกษตร ยังมีงานวิจัยอีกว่า การใช้จ่ายของภาครัฐมีปัญหา คือการให้เงินอุดหนุนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นค่าประปา ค่าไฟ ค่าขนส่งแบบที่เป็นอยู่ แต่ให้หันไปอุดหนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา และสุขภาพ ซึ่งที่รัฐบาลปัจจุบันทำ นับว่าเดินมาถูกทางแม้จะยังไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ที่รัฐบาลควรทำคือ ต้องมีโครงการและบริการสาธารระ ที่ประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์พอๆ กันให้มากกว่านี้ และควรจะเป็นสินค้าและบริการซึ่งจะส่งผลลดความเหลื่อมล้ำโดยพาะเกี่ยวกับ สุขภาพและการศึกษา เพื่อการนี้รัฐบาลจะต้องหารายได้ภาษีเพิ่มขึ้น จึงต้องเต้าเป้าที่จะเก็บภาษีคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพี เพิ่มขึ้นในอนาคตให้ได้มากกว่าร้อยละ 17 หมายรวมถึงการเพิ่มจำนวนคนที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ปรับปรุงภาษีรายได้จากดอกเบี้ยที่ยังต่ำ การปฏิรุประบบภาษีและการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพ โดยให้การลดความเหลื่อมล้ำเป็นเป้าหมาย และต้องหลีกเลี่ยงระบบภีที่จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำ คือการหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาษีทางอ้อม แต่หันไปเพิ่มชนิดของภาษีทางตรงใหม่ๆ ไทย มีการศึกษาว่า หากไทยสามารถเพิ่มรายได้จากภาษีทางตรงเพียงร้อยละ 10 จะทำให้อัตรคนยากจนลดลงร้อยละ 3 นอกจากนี้ ต้องคิดถึงภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน รวมถึงการพยายามเลิกเงินอุดหนุนประเภทต่างๆที่ให้ประโยชน์กับคนรวยมากกว่าคน จน
นายผาสุก กล่าวต่อว่า ในส่วนระบบการเมือง ที่ต้องดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ หรือ political will แต่ที่ผ่านมายังไม่เกิดแต่มันมีโอกาสเกิดได้มากสุดในระบอบประชาธิปไตยที่มี รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและรับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง
อย่างไรก็ดี ก็มักจะมีความพยายามโต้แย้ง เช่น ระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะคนไทยมีการศึกษาต่ำ เพื่อเป็นข้ออ้างให้ยอมรับ ความเหลื่อมล้ำแบบเดิมๆ และการปกครองแบบคณาธิปไตย บางครั้งก็อ้างว่า ประชิปไตย คือ ม็อบเป็นใหญ่ แต่ก็มีทางแก้คือ ต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญป้องกันไม่ให้เสียงข้างมากเป็นภัยกับเสียงส่วนน้อย และคุ้มครองเสียงส่วนน้อยอย่างพอเพียง
นอกจากนี้ ยังมีข้ออ้างอีกว่า ประชิปไตยเปิดช่องให้นักการเมืองซื้อเสียง ซึ่งประชาธิปไตยทำให้นักการเมืองคอรัปชั่นเป็นไปโดยง่าย แต่ก็แก้ได้โดยให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งประชาธิปไตย สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งโดยเสียต้นทุนน้อยที่สุด สามารถควบคุมกับการคอรัปชั่นของการเมืองได้ โดยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพสื่อ การพัฒนาระบบตรวจสอบ การพัฒนากรอบกฎหมายแต่ก็ต้องยมอรับว่า ประชาธปไตยไม่สามารถสร้างได้ชั่วข้ามคืน ดังนั้น จึงต้องทำไปเรียนไป ลองผิดลองถูก ซึ่งความต่อเนื่องของระบบมีความสำคัญ "ฉะนั้นต้องช่วยกันป้องกันการรัฐประหารอย่างเต็มกำลัง สรุปแล้ว มิติมาตรการการคลังและประชาธิปไตย ที่ถูกทิศถูกทาง จะทำให้เกิดสังคมที่ทุกคนยอมรับว่าแฟร์ มีระบอบรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพและกำหนดกฎเกณฑ์เกมการเมือง ก็จะนำไปสู่การบรรลุเป้าคือสังคมที่สันติสุข" ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว