จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานโดย :กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์: |
การสืบทอดธุรกิจ หรือการส่งผ่านธุรกิจของเจ้าของธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ อย่างยิ่ง ในการที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวมีอายุยืนยาวอยู่หลายชั่วอายุ
เพราะ หากธุรกิจครอบครัวใดไม่มีกระบวนการสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรมแต่ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาตินั้น ก็เป็นการยากที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวดำรงอยู่ได้ มีนักธุรกิจที่คาดหวังให้ธุรกิจรุ่นต่อมาเจริญเติบโตมากกว่ารุ่นเก่าก็เป็น เรื่องยาก เพราะแค่เพียงรักษาไว้ให้ธุรกิจคงอยู่ก็ยากยิ่งกว่า จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า...
“ธุรกิจครอบครัวนั้น อย่างดีก็จะเติบโตได้ไม่เกิน 3 ชั่วคน บางคนบอกว่า นี่เป็นเสมือนคำสาปหรือบาปที่เกิดขึ้นกับวงจรธุรกิจ ทั่วโลก เช่น รุ่นที่ 1 คือ รุ่นเจ้าของ อาจเหนื่อยมาก เป็นช่วงก่อร่างสร้างตัว รุ่นที่ 2 คือ รุ่นลูกที่ธุรกิจมักจะเจริญเติบโตและมีรากฐานมั่นคง แต่อาจมีข้อขัดแย้งกันบ้างแต่ไม่รุนแรง และรุ่นที่ 3 ก็คือ รุ่นหลาน เป็นช่วงที่มีการขยายกิจการ แต่จะมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องผลประโยชน์”
ธุรกิจครอบครัวนั้นมักจะมีปัญหา ไม่ว่าอาจเกิดจากสภาพของธุรกิจเอง หรือเกิดจากการขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัว
ในประเทศไทยเราก็จะเห็นตัวอย่างอยู่อย่างมากมาย เพราะบางครั้งลูกคนโตก็คาดหวังว่าจะได้สืบทอดธุรกิจ ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีความสามารถและการไม่มีกระบวนการสืบทอดอำนาจที่เหมาะสม เราจึงเห็นได้ว่าธุรกิจไทยที่อยู่กว่า 3 ชั่วคนก็มีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจทั้งประเทศ
แต่อยู่รอดเพียง 2 ชั่วคนก็น้อยแล้ว และบางครอบครัวก็จบลงด้วยการฟ้องร้องคดีและจุดจบที่เป็นเรื่องโศกนาฏกรรม
ดังนั้น ปัญหาประการหนึ่งของธุรกิจครอบครัวก็คือ จะทำอย่างไรที่จะกำหนดการสืบทอด หรือการส่งผ่านธุรกิจครอบครัวที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวนั้น เป็นไปด้วยความราบรื่นด้วยความเห็นชอบจากบรรดาสมาชิกในครอบครัวเพื่อให้มี ความยั่งยืนเติบโตต่อไปตราบนานเท่านาน
การสืบทอดหรือการส่งผ่านธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ในต่างประเทศได้เคย มีการวิจัยมา โดยจากวารสารที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศคือ Journal Business ซึ่งมีรายงานการวิจัยมาในปี ค.ศ. 1997 ปรากฏว่าการสืบทอดธุรกิจของครอบครัวจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งนั้น 60% ก็มักจะล้มเหลว เพราะส่วนใหญ่ก็เกิดจากความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัว
แผนสืบทอดธุรกิจอาจแบ่งได้เป็น 7 ข้อ ดังนี้ คือ
1.รักษาอำนาจการจัดการและความเป็นเจ้าของเฉพาะบุคคลในครอบครัว
2.จ้างมืออาชีพมาบริหาร แต่ยังคงรักษาความเป็นเจ้าของไว้ให้บุคคลในครอบครัว
3.แบ่งความเป็นเจ้าของในการบริหาร
4.ขายธุรกิจออกไปและแจ้งว่าเจ้าของธุรกิจใหม่จะจ้างลูกหลานให้ทำงานต่อไป
5.ขายธุรกิจและลงทุนใหม่
6.ขายธุรกิจบางส่วนให้ลูกจ้าง
7.ขายหุ้นกับประชาชน
เมื่อใดที่ต้องมีการสืบทอดหรือการส่งผ่านธุรกิจของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการโอนขายหุ้น การมอบอำนาจให้สมาชิกบุคคลใดบุคคลหนึ่งในครอบครัวเป็นกรรมการ ผู้จัดการบริหาร หรือผู้นำในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว หรือการดำเนินการในแบบสืบทอด 7 ข้อข้างต้น ย่อมอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งของสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวเป็นอย่างมาก
หากไม่มีการทำความเข้าใจหรือการถ่ายทอดปรัชญาการดำเนินธุรกิจ โดยให้สมาชิกในครอบครัวยึดถือเป็นจารีตประเพณีและคุณค่าของครอบครัวเป็น สำคัญ
ในกรณีการสืบทอดหรือการส่งผ่านธุรกิจในครอบครัวจากสมาชิกครอบครัว หนึ่งไปยังสมาชิกอีกครอบครัวหนึ่ง หรือเป็นการโอนทรัพย์สินหรือธุรกิจจากสมาชิกครอบครัวหนึ่งไปยังอีกครอบครัว โดยไม่เท่าเทียมกัน หรือมอบหมายให้สมาชิกในครอบครัวหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นผู้นำทางธุรกิจ แล้ว สมาชิกในครอบครัวผู้ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง ก็ย่อมเกิดความไม่เห็นด้วยหรืออาจก่อกระแสความขัดแย้งขึ้น
ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องผลประโยชน์ และบางทีอาจเป็นเรื่องหน้าตาก็ได้ (โดยเฉพาะวัฒนธรรมเอเชีย)