จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ hc corner
โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ tamrongsakk@yahoo.com
คำว่า OT หรือ overtime หรือที่เราเรียกกันว่า "ค่าล่วงเวลา" หรือ "ค่าโอที" นั้น ในทางกฎหมายแรงงาน หมายถึง
- ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน
- ค่าทำงานในวันหยุด และ
- ค่าล่วงเวลาในวันหยุด
ซึ่ง กำหนดเอาไว้ว่า การที่ลูกจ้างจะทำงานเพื่อรับ "ค่าโอที" นั้น นายจ้างจะบังคับให้ลูกจ้างทำไม่ได้ ต้องให้ลูกจ้างยินยอมที่จะทำเป็นครั้ง ๆ ไป แต่ยกเว้นงานที่ "...ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น..." (มาตรา 24, 25) ซึ่งก็จะมีข้อยกเว้นดังกล่าวสำหรับงานบางงานที่จำเป็น แต่ทั้งนี้กฎหมายแรงงานก็กำหนดเอาไว้อีกนะครับว่าในการทำงานล่วงเวลานั้น ห้ามไม่ให้เกินสัปดาห์ละ 36 ชั่วโมง แม้ว่าลูกจ้างยินยอม และนายจ้างก็พร้อมจะจ่ายค่าล่วงเวลาให้ก็ตาม จึงเป็นข้อคิดสำหรับบริษัทที่ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เอาไว้ด้วยว่ากำลังทำผิดกฎหมายแรงงานอยู่นะครับ
ใครบ้างที่มีสิทธิได้รับหรือไม่ได้รับค่าล่วงเวลา
ถ้า ผมจะถามท่านว่า "หากมีงานที่จำเป็นต้องทำติดต่อกันไป หากหยุดจะเกิดความเสียหายต่องาน ผู้จัดการฝ่ายทำงานล่วงเวลาจะได้ค่าล่วงเวลาเหมือนพนักงานทั่วไปหรือไม่"
ผมคิดว่าหลายท่านคงจะตอบว่า "ไม่ได้"
ถ้าจะถามต่อว่า "ทำไมถึงไม่ได้ล่ะ" คำตอบน่าจะเป็น "ก็เป็นผู้บริหารน่ะสิ... ผู้บริหารเขาไม่ได้โอทีกันหรอก..." ใช่ไหมครับ
ถ้าตอบอย่างนี้ เขาเรียกว่าตอบจาก "สมองซีกขวา" หรือใช้ความรู้สึกน่ะสิครับ
ลองมาหาคำตอบด้วย "สมองซีกซ้าย" คือ หลักเหตุและผลตามกฎหมายแรงงานกันดูไหมครับ ?
เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ผมก็เลยนำข้อกฎหมายมาบอกเล่าให้เข้าใจตรงกัน คือ
"มาตรา 65 ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
ไม่ มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม (3) (4) (5) (6) (7) (8) หรือ (9) มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตาม จำนวนชั่วโมงที่ทำ
(1) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง
(2) งานเร่ขายหรือชักชวนซื้อสินค้าซึ่งนายจ้างได้จ่ายค่านายหน้าจากการขายสินค้าให้แก่ลูกจ้าง
(3) งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวกแก่การเดินรถ
(4) งานเปิดปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ
(5) งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ
(6) งานดับเพลิงหรืองานป้องกันอันตรายสาธารณะ
(7) งานที่มีลักษณะหรือสภาพต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้
(8) งานอยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันมิใช่หน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้าง
(9) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง"
จากข้อกฎหมายข้างต้นอธิบายเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจได้อย่างนี้ครับ
1.หาก พนักงานคนใดไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือพนักงานธรรมดาก็ตามที่ได้รับมอบอำนาจ จากบริษัทให้จ้างคนเข้าทำงานได้ หรือมีอำนาจในการพิจารณาให้บำเหน็จ เช่น พิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือโบนัสให้กับพนักงาน หรือมีอำนาจในการ พิจารณาเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งพนักงาน หรือมีอำนาจในการเลิกจ้างพนักงาน (หมายถึงมีอำนาจในการเซ็นหนังสือเลิกจ้างพนักงานนั่นแหละครับ)
ถ้าพนักงานคนใดมีอำนาจอย่างใด อย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ ก็ไม่มีสิทธิได้รับ ค่าล่วงเวลาครับ !
ดัง นั้นในกรณีตัวอย่างข้างต้นที่ผมถามท่านว่า ผู้จัดการฝ่ายทำงานล่วงเวลาจะได้ค่าล่วงเวลาหรือไม่นั้น จึงต้องมาดูว่า ผู้จัดการฝ่ายคนนั้น ๆ มีอำนาจในการจ้าง (หรือรับคนเข้าทำงาน), มีอำนาจในการ ให้บำเหน็จ เช่น ขึ้นเงินเดือนประจำปี, โบนัส หรือเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง, และมีอำนาจในการเลิกจ้าง หรือไม่ หากมีอำนาจ อย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ (ไม่จำเป็นต้อง มีครบทั้ง 3 อย่างนะครับ) ก็ไม่มีสิทธิได้ "ค่าโอที" ครับ
2.หากพนักงานเป็นพนักงานขาย หรือที่เราเรียกว่า "เซลส์" ที่ได้ค่าคอมมิสชั่นจากการขายอยู่แล้ว แม้จะทำงานเกินเวลาหรือทำงานในวันหยุดก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา เช่นเดียวกันครับ
3.สำหรับข้อ (3) ถึงข้อ (9) นั้น ก็ไม่ได้ค่าล่วงเวลาเช่นเดียวกัน แต่จะได้รับเป็น ค่าทำงานตามชั่วโมงการทำงาน โดยคำนวณว่าทำงานปกติได้ชั่วโมงละกี่บาทก็จ่ายให้เป็นค่าทำงานตามชั่วโมงทำ งานครับ
คราวนี้เราคงจะเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ ว่าใครบ้างที่จะได้หรือไม่ได้ค่าล่วงเวลา