จากประชาชาติธุรกิจ
ดร.อภิชัย พันธเสน ผอ.สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม เสนอไอเดียเรื่อง ทางรอดรัฐวิสาหกิจไทย พร้อมเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลเลิกแทรกแซงสั่งการ เลือกคณะกรรมการที่ดีเข้าไป และสร้างความสมดุลกับสหภาพแรงงาน
ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2505) จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ ณ สหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2510 และ พ.ศ. 2516 ตามลำดับ
ดร.อภิชัย พันธเสน มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมทั้งในเชิง วิชาการและเชิงปฏิบัติ โดยผลงานทางวิชาการต่างๆของอาจารย์ ได้ถูกหยิบยกไปใช้ในการอ้างอิงเพื่อการศึกษา และนำไปเป็นฐานในการประยุกต์ใช้และส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ ชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่เกี่ยวข้องกับพุทธเศรษฐศาสตร์ และเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นผลงานที่เปลี่ยนโฉมหน้าการศึกษาทางด้านวิชาการเศรษฐศาสตร์ในประเทศ ไทย
ปัจจุบัน ศ.ดร.อภิชัย ดำรงตำแหน่งผอ.สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ล่าสุด ดร.อภิชัย นำเสนอไอเดียเรื่อง ทางรอดรัฐวิสาหกิจไทย ประชาชาติออนไลน์ นำมาเสนอผู้อ่าน ดังนี้
การพัฒนารัฐวิสาหกิจต้องให้มีความเหมาะสม ต้องตีความว่าถ้าแบบที่เป็นการบริการประชาชนการแสวงหากำไรไม่ได้เป็นจุดมุ่ง หมายหลัก เช่น ขสมก. หรือรถไฟ ซึ่งความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐวิสาหกิจประเภทนี้ เพราะว่าประเทศเราใช้นโยบายเน้นการส่งสินค้าออกที่ใช้แรงงานราคาถูก ทำให้มีช่องว่างรายได้สูง ซึ่งถ้าเป็นประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีปัญหาในเรื่องอัตราค่าโดยสาร เพราะรายได้ของคนที่นั่นเขารับได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีรัฐวิสาหกิจที่ดูแลในเรื่องสวัสดิการ ซึ่งก็ดูว่าส่วนไหนที่เป็นการให้บริการประชาชน รัฐบาลก็ซื้อการบริการไปเลย ก็เหมือนอย่างกรณีที่มีปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ ก็มีรถเมล์ฟรี รัฐบาลก็ซื้อ
ขณะเดียวกันตัวรัฐวิสาหกิจเองก็ควรที่จะดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ให้คุ้มทุน มีเงินเหลือพอที่จะนำไปลงทุนขยายกิจการ นั่นคือ หลักการที่ควรดำเนินการ ส่วนรัฐบาลก็ต้องอุดหนุนให้แบบตรงไปตรงมา แบบนี้รถไฟ หรือ ขสมก. ก็จะได้รายได้เต็ม คือ ได้ตามต้นทุนการดำเนินงาน ดังนั้นไม่ควรบริหารให้ขาดทุน ซึ่งถ้าหากขาดทุนก็แสดงว่ามีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล
แต่อยากจะชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่น่าสนใจมากกว่านี้ นั่นคือ หลักในการดำเนินงาน นอกจากประสิทธิภาพในการดำเนินงานของตนเองแล้ว ก็ต้องมาถึงประสิทธิภาพเชิงสังคมด้วย ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
หมายความว่าทำอย่างไรถึงจะใช้ทรัพยากรให้น้อยและได้ผลลัพธ์มาก แต่ประสิทธิภาพเชิงสังคมคือว่าจะต้องไม่ไปสร้างปัญหาให้กับสังคมด้วย ดังนี้
(1) ด้านสิ่งแวดล้อม
(2) สภาพแวดล้อมการทำงาน
(3) การสร้างให้คนมีงานทำ ถ้าหากว่าเรายิ่งดูแลคนทำงานของเราดี เราจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูง ทำให้คนซื่อสัตย์และภักดี เขาก็จะทุ่มเทเต็มที่ ผลที่ได้จากคนงานที่ให้กับเรามันสูงกว่าเงินเดือนกับสวัสดิการที่เราให้ เป้าหมายจึงไม่ใช่เป็นเรื่องกำไรแต่เป็นเรื่องความสุข
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจไทยที่ผ่านๆ มาอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ความเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งรัฐวิสาหกิจคล้ายๆ กับไม่มีเจ้าของ และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการล่มสลาย เป็นเรื่องที่ทุกคนพยายามหาผลประโยชน์เข้าตนเอง มันก็เกิดคอร์รัปชันเพราะไม่มีเจ้าของที่ชัดเจน ตรงนี้มันเป็นปัญหาพื้นฐานของการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถ้าหากว่าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิดของพนักงาน ไม่เปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริหารว่า องค์กรนี้เป็นของประชาชนหรือต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน มันก็มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหา
นอกจากนี้ยังมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพราะว่าเมื่อรัฐวิสาหกิจเป็นฐานให้กับพรรคการเมือง
ดังนั้นพรรคการเมืองก็เข้ามาครอบงำรัฐวิสาหกิจและจะส่งต่อผลประโยชน์ให้กับ พรรคการเมืองและพวกพ้อง พวกกรรมการทั้งหลายพรรคการเมืองก็จะตั้งขึ้นมา จะเห็นได้ว่าจะเกิดการล้วงลูกหมด สรุปก็คือรัฐบาลก็ต้องทำให้มันโปร่งใส และคนที่อยู่ในจุดที่ควรจะตัดสินใจต้องทำหน้าที่ที่ควรจะเป็น
ขณะที่การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานถือเป็นการเฝ้าระวังฝ่ายบริหาร ต้องสร้างให้ถ่วงดุลกันได้ แต่บางครั้งฝ่ายสหภาพฯ ก็แข็งจนเกินไป
ยกตัวอย่างเช่น การรถไฟ ก็มีปัญหาสะสมมาช้านาน มีหนี้สินเจ็ดถึงแปดหมื่นล้านบาท แล้วไม่มีใครที่จะตั้งคำถาม
เราปล่อยเอาขยะรถไฟใส่ใต้พรมเอาไว้ จากการสะสมปัญหาเอาไว้มานานมาก เพราะคนไทยทนได้ รัฐบาลก็หาทางออกโดยที่เข้ามาแก้ปัญหาที่ง่ายกว่า มองผลประโยชน์ระยะสั้น พวกวิศวกรของเราไปเรียนมาจากอเมริกาก็มาทำถนนแบบอเมริกา หันไปพัฒนาถนนขนาดใหญ่จำนวนมากทั้งที่เราไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน พอมาถึงจุดๆหนึ่งก็ต้องกลับสู่ความจริง
เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่รัฐบาลเป็นคนสั่งการ แต่ว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องเลือกคณะกรรมการที่ดีเข้าไป และสร้างความสมดุลกับสหภาพแรงงาน และถ้าหากคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพลี่ยงพล้ำให้กับสหภาพแรงงาน ก็ต้องมาสร้างฝ่ายบริหารกับคณะกรรมการที่เข้มแข็งขึ้นมาใหม่ อย่าให้ฮั้วกันกับสหภาพฯ
ในทำนองเดียวกันถ้าสหภาพแรงงานเพลี้ยงพล้ำก็ต้องอย่าไปซ้ำเติมสหภาพ ต้องหาทางที่ต้องไปลดอำนาจคณะกรรมการและฝ่ายบริหาร รัฐบาลต้องใช้วิธีนี้คอยดูว่าสมดุลอยู่ตรงไหน ตัวอย่างที่มีการถ่วงดุลกันกันได้ดี เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การประปานครหลวง เป็นต้น
ดังนั้นการพัฒนาจำเป็นต้องมีนวตกรรมจากสังคม คือจริงๆ แล้วเรื่องทำนองนี้แทนที่จะมองหาทางแก้ ต้องพยายามไล่ไปถึงสาเหตุทั้งหมดให้สังคมเห็นชัดจะดีกว่า เพราะเป็นการให้การศึกษากับสังคม แล้วให้สังคมตื่นตัวที่จะจัดการ เรื่องทั้งหมดเราจะต้องมองในเชิงกลไก เป็นเรื่องจิตสำนึก ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะแก้ได้หมดโดยเร็ว เพราะปัญหาเป็นเรื่องวัฒนธรรม เรื่องโครงสร้างของจิตใจ
เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นปัญหาทำนองนี้ ในองค์กรไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยตนเอง ก็ต้องแก้จากสังคมภายนอก แต่กำลังของสังคมภายนอกในปัจจุบันยังไม่เข้มแข็งพอ มีช่องว่างเรื่องความรู้ของคนในเมืองกับคนในชนบท คนชนบทก็ปล่อยไปเลย แล้วคนในเมืองก็ไม่ใช่ทุกคน คนที่หาเช้ากินค่ำก็เอาชีวิตรอดก็ไม่สนใจเรื่องพวกนี้หรือเรื่องมันซับซ้อน เกินไปที่จะเข้าใจ
ทีนี้ก็จะเหลือคนชั้นกลางปัญญาชนจำนวนไม่มากซึ่งก็ไม่มีแรงพอที่จะสู้กับสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล
เราจึงต้องหันมาพัฒนาสังคมควบคู่กันไปด้วย.